อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


watertax01

การใช้น้ำเพื่อการท่องเที่ยวจัดอยู่ในประเภทที่ ๒ ของมาตรา ๓๙ หมวด ๔ การจัดสรรน้ำ ตาม “ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ….” ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. น่าติดตามว่าการเรียกเก็บภาษีจากผู้ใช้น้ำประเภทต่างๆ ตามกฎหมายนี้จะเป็นจริงหรือไม่ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

หลายเดือนที่ผ่านมาหลายคนคงสังเกตได้ว่ารัฐบาลและหน่วยงานของรัฐได้แสดงออกถึงความพยายามในการเรียกเก็บค่าภาษีจากหลายกิจการด้วยกัน

ราวเดือนมิถุนายน มีประเด็นข่าวว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จัดเก็บค่าระบบสำรองไฟฟ้า (Backup Rate) จากผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟทอป (Solar Rooftop) หรือ โซลาร์เซลล์บนหลังคา ทั่วประเทศ

โซลาร์รูฟทอปเป็นอุปกรณ์เปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้า นับเป็นพลังงานหมุนเวียนรูปแบบหนึ่ง แนวคิดในการเรียกเก็บค่าระบบสำรองไฟฟ้า เนื่องมาจากเดิมต้นทุนในการจัดหาไฟฟ้าจะถูกชดเชยให้กับ กฟผ. ผ่านทางอัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่จ่าย เมื่อมีผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองจากโซลาร์รูฟทอปมากขึ้น ทำให้ค่าไฟของผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟทอปลดลง แต่ทางกฟผ. ก็ยังมีภาระรับผิดชอบ ต้องเตรียมความพร้อมให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้ทันทีที่ต้องการ โดยเฉพาะเวลากลางคืนที่โซลาร์รูฟทอปไม่ทำงาน จึงต้องการเก็บค่าสำรองไฟฟ้าเพื่อช่วยแบกรับภาระการจัดหาและสำรองไฟ นอกจากนี้ยังเพื่อชดเชยค่าไฟให้กับครัวเรือนที่ไม่ได้ติดตั้งโซลาร์รูฟทอป ที่อาจจะต้องแบกรับค่าไฟสูงขึ้นในอนาคตหลัง “ตัวหาร” คือผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มหนึ่งหันไปใช้โซลาร์เซลล์

อย่างไรก็ตาม เมื่อแนวคิดการเรียกเก็บเงินพิเศษนี้ถูกเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง ก็มีเสียงค้านกลับจากสังคม ส่วนใหญ่ตั้งข้อสังเกตถึงท่าทีหน่วยงานของรัฐว่าทำเหมือนไม่ต้องการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน ไม่สนับสนุนคนพึ่งพาตนเองด้านไฟฟ้า จนเจ้าหน้าที่ต้องออกมาชี้แจงว่ายังไม่มีนโยบายเก็บค่าระบบสำรองไฟฟ้าจากผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟทอปตามบ้านพักอาศัย แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าน่าจะต้องมีการทบทวนอัตราค่าไฟสำหรับกลุ่มโรงงาน มหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่ติดตั้งโซลาร์รูฟทอป

ถัดจากเรื่องโซลลาร์รูฟทอป ก็มีข่าวประกาศเก็บค่า “ภาษีความหวาน” จากผู้ผลิตเครื่องดื่มหลายชนิด ด้วยเหตุผลว่าไม่ต้องการให้ประชาชนบริโภคน้ำตาลจนมีปัญหาสุขภาพ

ตามโครงสร้างภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ กำหนดให้เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล ไม่ว่าน้ำอัดลม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลัง ชาเขียว ฯลฯ ต้องเสียภาษีเพิ่มถ้ายังผลิตสินค้าที่มีความหวานเกิดกำหนด ยกตัวอย่าง ค่าความหวานอยู่ที่ ๐ – ๖ กรัมต่อ ๑๐๐ มิลลิลิตรไม่ต้องเสียภาษี ค่าความหวาน ๖ – ๘ กรัมต่อ ๑๐๐ มิลลิลิตรเสียภาษี ๑๐ สตางค์ต่อลิตร ค่าความหวาน ๑๔ – ๑๘ กรัม ต่อ ๑๐๐ มิลลิลิตรเสียภาษี ๑ บาทต่อลิตร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๐ เป็นต้นมา แต่ภาครัฐให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัวอย่างน้อย ๒ ปี

และที่ตามมาติดๆ กันคือ “ภาษีบาป” เรียกเก็บจากผู้ผลิตสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ส่งผลให้ เหล้า เบียร์ ปรับขึ้นราคาทันที ทั้งนี้ เราจะสังเกตได้ว่าการขึ้นภาษีบาปนี้มักราบรื่นไม่ถูกต่อต้านจากสังคมมากนัก

และล่าสุดสดๆ ร้อนๆ กับแนวคิดจัดเก็บ “ภาษีทรัพยากรน้ำ” หรือ “ภาษีน้ำ” ตามร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … ซึ่งผ่านการลงมติจากคณะรัฐมนตรีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา

ความจริงแล้วร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ได้รับการผลักดันมาหลายปี มีการร่างขึ้นมาหลายฉบับ อาทิ ร่างของกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่างของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ร่างของอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร  จนมาถึงร่างล่าสุดที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นการนำร่างฉบับก่อนหน้ามารวมกัน

เนื้อหาของ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … แบ่งออกเป็นหลายหมวดด้วยกัน มีทั้งหมวดการป้องกันและแก้ไขน้ำท่วม น้ำแล้ง การอนุรักษ์แหล่งน้ำสาธารณะ ฯลฯ แต่คงไม่มีหมวดใดจะถูกพูดถึงมากไปกว่า “หมวด ๔ การจัดสรรน้ำ” ที่อาจทำให้มีการเรียกเก็บภาษีจากผู้ใช้น้ำสาธารณะเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ. ได้ให้ความหมายของทรัพยากรน้ำสาธารณะว่าหมายถึง น้ำในแหล่งน้ำที่ประชาชนใช้หรือที่สงวนไว้ให้ประชาชนใช้ รวมถึงแม่น้ำ ลำคลอง บึง แหล่งน้ำใต้ดินลึกจากผิวดินไม่เกิน ๑๕ เมตร ทะเลสาบ ทะเลอาณาเขต พื้นที่ชุ่มน้ำ แหล่งน้ำที่รัฐพัฒนาขึ้นเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งแหล่งน้ำระหว่างประเทศที่รัฐอาจนำมาใช้ประโยชน์ได้

watertax02

การเกษตรหรือเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพน่าจะไม่ต้องเสียภาษีน้ำ  ส่วนการเกษตรเพื่อพาณิชย์น่าจะเสียภาษี ๕๐ สตางค์ต่อ ๑ ลูกบาศก์เมตร  ลองคำนวณจากค่าเฉลี่ย  การทำนา ๑ ไร่ใช้น้ำประมาณ ๑,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อ ๑ รอบการผลิต  ฉะนั้นจะต้องเสียค่าภาษีน้ำประมาณ ๕๐๐ บาทต่อ ๑ รอบการผลิต ต่อ ๑ ไร่ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

เบื้องต้นตามมาตรา ๓๙ กำหนดให้การใช้ทรัพยากรน้ำแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ

(1) การใช้น้ำเพื่อดำรงชีพ อุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ อุตสาหกรรมในครัวเรือน และการใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อย
(2) การใช้น้ำเพื่อการเกษตรหรือเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตไฟฟ้า การประปา
(3) การใช้น้ำเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก จนอาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคุลมพื้นที่กว้างขวาง

รายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภทให้เป็นไปตามกฎหมายลูกที่จะตามมา คาดว่ากลุ่ม (๑) จะไม่ต้องเสียค่าใช้น้ำ กลุ่ม (๒) ถ้าเป็นเกษตรกรเสียค่าน้ำ ๕๐ สตางค์ต่อ ๑ ลูกบาศก์เมตร ถ้าเป็นกลุ่มธุรกิจอื่นๆ เสีย ๑-๓ บาทต่อ ๑ ลูกบาศก์เมตร และกลุ่ม (๓) เสียค่าน้ำไม่ต่ำกว่า ๓ บาทต่อ ๑ ลูกบาศก์เมตร

ล่าสุด ร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. วาระที่ ๒ มีรายงานว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน จากนั้นใน ๑๘๐ วันจะออกจดหมายลูกที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนโดยเฉพาะเรื่องการเก็บค่าน้ำอีกครั้ง

watertax03

คลองส่งน้ำในโครงการชลประทานทำหน้าที่ส่งน้ำไปยังพื้นที่เพาะปลูกเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร  ไม่แน่ว่าต่อไปอาจมีการเรียกเก็บค่าภาษีจากผู้ใช้น้ำในส่วนนี้

ภายหลังจากข่าวการเก็บค่าภาษีน้ำถูกเผยแพร่ออกไป วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๐ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ถึงแม้ ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. แต่ยังไม่มีการหยิบยกมาตรการเก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกรมาพูดถึง จึงเป็นการด่วนสรุปเกินไปว่าจะมีการเรียกเก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกร
ขณะที่เกษตรกรเจ้าของบ่อเลี้ยงกุ้งและบ่อปลาในพื้นที่รอยต่อกรุงเทพมหานคร-ฉะเชิงเทราคนหนึ่งให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า “เรื่องภาษีน้ำจะเก็บบ้างก็ดีเหมือนกัน เพียงแต่ภาครัฐต้องพัฒนาระบบเดิมให้เข้มแข็งก่อน”

เกษตรกรวัยกลางคนชี้แจงว่า “ที่ผ่านมาเกษตรกรลำบาก เพราะน้ำในคลองไม่สะอาด บางทีก็มีขยะมีน้ำเสียมาจากโรงงานอุตสาหกรรม อย่างช่วงหน้าฝนนี่ผมไม่ใช้น้ำในคลองเลยนะ แต่พอถึงหน้าแล้งจะใช้ในคลองก็ไม่ค่อยมีน้ำ”

แนวคิดเรื่องการเก็บภาษีน้ำอาจมีลักษณะเป็นการโยนหินถามทาง คล้ายการจัดเก็บค่าระบบสำรองไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟทอป หรือกระทั่งการจัดเก็บภาษีที่ดิน แต่ก็เป็นไปได้ที่รัฐบาลจะเอาจริง เดินหน้าเก็บภาษีน้ำ

คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้จะผ่านการพิจารณาของ สนช. หรือไม่ เมื่อไหร่ แล้วถ้าผ่านจะดำเนินการอย่างไรต่อไปกับการเรียกเก็บภาษีน้ำเป็นครั้งแรก

เก็บตกจากลงพื้นที่ : บ่อปลาบ่อกุ้ง ทุ่งนา รอยต่อกรุงเพทมหานคร-ฉะเชิงเทรา ๓๐ กันยายน ๒๕๖๐