วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


criticincamp01

ล้อมวงคุย ก่อนวิจารณ์งานสารคดี

ช่วง ๑๐ กว่าปีมานี้ ค่ายนัก(หัด)เขียนดูจะมีมากขึ้นเรื่อย แต่ค่ายฝึกฝนหรือส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้อ่านหนังสืออย่างแตกฉานถึงขั้นวิจารณ์ได้ ยังมีน้อยถึงขั้นหาได้ยาก

ค่าย “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์” อาจเป็นค่ายเดียวในระดับประเทศในเวลานี้ ที่เป็นค่ายสร้างนักวิจารณ์

จัดกันปีละรุ่น ช่วงต้นเดือนตุลาคม ที่อาศรมวงศ์สนิท คลอง ๑๕ นครนายก ปีนี้เป็นรุ่นที่ ๓ แล้ว โดยความร่วมมือของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นกับธนาคารกรุงเทพ เปิดรับเยาวชนระดับอุดมศึกษาจากทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมโครงการด้วยการให้เขียนงานวิจารณ์หนังสือส่งเข้าประกวด

ผู้ได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการรุ่นละ ๔๐ คน จะได้รับเงินรางวัลทันทีคนละ ๒ หมื่นบาท

ถือเป็นมูลค่ารางวัลที่สูงเอาการ ต่อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานโครงการ กล่าวว่าที่จริงไม่ใช่รางวัล แต่ตั้งใจจะให้เป็นทุนการศึกษา

เป็นเรื่องน่าชื่นชมทีเดียว ปกติเมื่อพูดถึงทุนการศึกษา เรามักเคยได้ยินแต่ว่ามอบให้แก่เด็กเรียนดีแต่ยากจน

แต่ทุนการศึกษาก้อนนี้ มอบให้แก่เยาวชนที่รักการอ่านการเขียน

criticincamp02

ทีมวิทยากร

โดยรับมาเข้าค่าย ชวนอ่านหนังสือและเรียนรู้หลักการเขียนวิจารณ์จนเขียนได้ในช่วงเวลา ๓ วัน มีอาจารย์ชมัยภร บางคมบาง และอาจารย์จรูญพร ปรปักษ์ประลัย และผม เป็นทีมวิทยากรในแต่ละกลุ่ม

มีงานเขียน ๓ ประเภทให้ผู้เข้าร่วมโครงการเลือกวิจารณ์ได้ตามความสนใจ

กลุ่มที่สนใจเรื่องสั้น ให้วิจารณ์เรื่อง “จับตาย” ของ มนัส จรรยงค์

กลุ่มกวี ให้วิจารณ์บทที่ชื่อ “คางคก” ของ อุชเชนี

กลุ่มสารคดี ให้วิจารณ์เรื่อง “ประสบการณ์ น้ำตา สาละวิน” ของ ธีรภาพ โลหิตกุล

สารคดีเป็นงานเขียนที่เยาวชนในค่ายรู้จักน้อยที่สุด แต่น่าตื่นเต้นและยินดีที่สมาชิกค่ายในรุ่นที่ ๓ นี้เลือกเขียนวิจารณ์สารคดีกันมากที่สุด

เมื่อลองถามถึงเหตุผล พวกเขาบอกว่าในเมื่องานวิจารณ์เป็นเรื่องหัดใหม่ เขาก็อยากทดลองกับสารคดีซึ่งเป็นสิ่งใหม่สำหรับเขาเช่นกัน

ในฐานการเรียนรู้กลุ่มสารคดี เราเริ่มจากการทำความเข้าใจให้แยกแยะความต่างระหว่างเรื่องจริง (non fiction) กับเรื่องแต่ง (fiction) ที่เป็นเสมือนด่านแรกของการเขียนงานวิจารณ์ ก่อนเข้าไปสู่รายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่อยู่ภายใต้โครงสร้างเดียวกันทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง

criticincamp03

เรียนรู้ร่วมกัน อ่าน จับใจความ เขียนวิจารณ์

หลักสำคัญของนักอ่าน ที่จะเป็น “นักวิจารณ์” ได้ คือต้องอ่านหนังสือ “แตก” และ “จับ” ได้

จับใจความที่ผู้เขียนสื่อสารทั้งโดยตรงและโดยนัยไว้ได้ รวมทั้งการตีความหรือต่อยอด-โดยอิงอยู่บนตัวบท

รวมทั้งจับพื้นฐานพวกโครงสร้างเรื่อง สำนวน ฉาก ตัวละคร (แหล่งข้อมูล) บทสนทนา ภาษา อารมณ์ แอ๊คชั่น บรรยากาศ ฯลฯ ซึ่งองค์ประกอบทั้งหลายนี้มีอยู่ทั้งในเรื่องจริงและเรื่องแต่ง อยู่ในข่ายที่สามารถใช้แบบฝึกหัดในการถอดบทเรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบข้ามกลุ่มงานเขียนได้โดยไม่ติดขัดกรอบเกณฑ์อย่างใดเลย

ผมหยิบเรื่องสั้น “ท่อนแขนนางรำ” วรรณกรรมพุทธประวัติ “คือเมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่” โดย ติช นัท ฮันห์ “ญาติน้ำหมึก” รวมงานสารคดีชีวิต ของ ‘รงค์ วงศ์สวรรค์ ฯลฯ ตัดบางตอนมาตั้งวงอ่านกันในกลุ่มสารคดี แล้วให้สมาชิกช่วยกันจับใจความ และจับจุดเด่นให้ได้ แล้วให้ความเห็น

เพราะถึงที่สุด หัวใจของงานวิจารณ์ก็อยู่ตรงนี้ ตรงที่การให้ความเห็นจากที่มองเห็น อย่างเข้าใจ รู้ทัน มีเหตุผล มีหลักการ ไม่ใช่การวิพากษ์หรือพิพากษาจากความรู้สึกหรือมโนเอาเองของผู้เขียน

เขียนวิจารณ์งานสารคดีครั้งแรกของหลายคน ทำได้ดีอย่างน่าพอใจ ผลงานของทุกคนมีความเป็นงานวิจารณ์ ไม่มีชิ้นไหนเป็นบทรำพึง ระบายอารมณ์แบบหลักลอย หรือบริภาษในลักษณะพูดพร่ำไป

มีการจับใจความ แยกประเด็น บางคนมองลึกผ่านทฤษฎีการวิจารณ์ บ้างจำ แนกแยกแยะออกเป็นส่วน แล้วชี้ข้อเด่นข้อด้อยไปทีละเรื่อง

และเนื่องจากเป็นสารคดีที่เล่าผ่านประสบการณ์ของผู้เขียนที่เชื่อมโยงอยู่กับเหตุการณ์โศกนาฏกรรมทางการเมืองเมื่อ ๔๐ กว่าปีก่อน ผู้วิจารณ์บางคนจึงสืบค้นไปถึงประวัติผู้เขียน และสืบค้นประวัติศาสตร์การเมืองช่วงนั้นมาเทียบเคียงประกอบการวิเคราะห์วิจารณ์อย่างน่าชื่นชมด้วย

criticincamp04

ปรึกษา ปรับแก้ ก่อนส่งประกวดกันภายในกลุ่ม (สารคดี)

ในค่ายรุ่นที่ ๓ นี้ ในแต่ละกลุ่มงานเขียน ทุกคนต้องวิจารณ์งานเรื่องเดียวกัน ซึ่งแยกย้ายกันไปหาแง่มุมของตน แล้วเล่าผ่านโครงสร้างงานวิจารณ์ จึงแน่นอนว่าแต่ละชิ้นต้องมีที่เด่นดีไล่เรียงเป็นลำดับไป ซึ่งสุดท้ายวิทยากรต้องเฟ้นหาบางชิ้นมารับรางวัลเป็นกำลังใจ และเป็นตัวอย่างชิ้นงานที่ดีให้แก่เพื่อน

ก่อนแยกย้ายกันไปเรียนรู้ต่อ และสร้างสรรค์งานวิจารณ์ชิ้นต่อๆ ไป

ส่วนคนรุ่นใหมๆ ที่สนใจทางนี้ ช่วงกลางๆ ปีคอยฟังข่าวการรับสมัครรุ่นที่ ๔ ต่อไป

ค่ายแห่งโอกาสของคนรักการอ่านการเขียน–โอกาสในการเรียนรู้ฝึกฝนตนเอง และมีทุนการศึกษาติดกระเป๋ากลับบ้านด้วย


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา