วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


prisoner01
ภาพโดย วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์

หลายปีผ่านมา ไม่รู้ว่าผู้เขียนหนังสือ “เฟซคุก เรื่องเล่าจากแดนหญิงราชบุรี” เดินทางไปถึงไหนกันบ้างแล้ว

แต่หนังสือยังเดินทางของมันต่อไป

ล่าสุดเรื่องราวใน เฟซคุกฯ กำลังจะแปลงรูปเป็น เรื่องสั้น และเอนิมิชั่น

จาก non fiction (เรื่องไม่แต่ง / เรื่องจริง) ผันไปเป็น fiction (เรื่องแต่ง)

นี้คงนับเนื่องอยู่ในข่าย “ศิลปะส่องทางให้แก่กัน”

จากงานศิลปะแขนงหนึ่ง สร้างแรงบันใจ ให้พลังสร้างสรรค์ แตกกอต่อยอด เกิดผลงานใหม่ๆ ต่อเนื่องไปไม่สิ้นสุด

คณะทำงานโครงการ Creative Hero ภายใต้ สสส. คงได้ความบันดาลใจหนึ่งใดจากหนังสือ เฟซคุกฯ จึงเห็นว่าน่าใช้เป็นจุดตั้งต้นให้เยาวชนที่รับเข้ามาร่วมโครงการ ได้พัฒนาต่อเรื่องราวในหนังสือให้เป็นเรื่องสั้น หรือเอมินิชั่น ตามความสนใจ

ผู้สนใจสามารถเลือกตามเข้าไปอ่านได้ตามลิ้งด้านล่าง

prisoner02

อ่านตัวบทที่ปรากฏในหนังสือก็ได้รู้เรื่องราวตามตัวหนังสือ แต่ผู้สร้างสรรค์ต่ออยากรู้ลึกถึงเบื้องหลัง

แรงจูงใจ ที่มา ของโครงการสอนการเขียนเรื่องเล่าจากเรือนจำ?

ทำไมต้องไปช่วยคนทำความผิด?

ความน่าเชื่อถือของงานเขียนที่เล่าจากตัวเองเป็นสำคัญ?

ฯลฯ

พวกเขาเชื้อเชิญผมในฐานะคนร่วมทีมกับครูอรสม สุทธิสาคร และครูวิวัฒน์ พันธะวุฒิยานนท์ ไปสอนการเขียนในเรือนจำนับสิบแห่งทั่วประเทศ เป็นตัวแทนมาเล่าเบื้องหลัง

หลายประเด็นของการสนทนาที่กินเวลาเป็นชั่วโมง พอจะสรุปได้คร่าวๆ ว่า คุกเป็นที่รวมคนทำความผิด แต่ก็มีสัดส่วนไม่ใช่น้อยของคนในนั้น ที่ตกที่นั่งผู้ต้องขังโดยไม่ได้ผิดจริง

และถึงที่สุดแล้ว วันหนึ่งเขาทั้งหลายเหล่านั้นก็จะออกมาร่วมสังคมอยู่กับเรา

จะดีกว่าไหม หากก่อนจะถึงวันนั้น เขาได้รับการเปิดโลกทัศน์ให้เห็นแง่มุมใหม่ๆ ในชีวิต ที่ชักนำให้เกิดความหวัง ความฝัน ความบันดาลใจที่จะเดินทางชีวิตต่อในด้านดีงาม

โดยเชื่อว่างานเขียนเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงดังว่านี้

ตามความจริงที่ได้เห็นมาแล้วว่า หลายคนที่ผ่านโครงการเขียนเรื่องเล่าเมื่อยังอยู่ในเรือนจำ เมื่อพ้นโทษออกไปแล้ว หลายคนตั้งต้นชีวิตใหม่กับการงานที่มั่นคงและภูมิใจได้ตามอัตภาพ

เป็นคนรับเหมาก่อสร้าง คนสวน เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าของกรมป่าไม้ ตั้งต้นเรียนต่ออีกครั้ง รวมทั้งอุปสมบทเป็นพระภิกษุ

ไม่มากก็น้อยช่วงเวลาในห้องเรียนการเขียน และการอ่านการเขียนที่ติดตัวต่อเนื่องมาย่อมมีส่วนหล่อหลอมกล่อมเกลา ไม่ให้กลับไปเดินตามทางสายเก่าที่นำเขามาสู่เรือนจำ

ส่วนความน่าเชื่อถือของงานเขียนในลักษณะที่เล่าจากผู้เขียนเป็นสำคัญนั้น เป็นธรรมดาของนักเขียนในเรือนจำที่ไม่สามารถสืบค้นหรือออกหาข้อมูลได้อย่างหลากหลาย งานเขียนส่วนใหญ่ในเล่มจึงเป็นการเล่าถึงสิ่งที่ผู้เขียนรู้ดีคลุกคลีอยู่ ซึ่งถือเป็นการใช้ข้อมูลอันหนักแน่นที่ติดอยู่กับตัว ยิ่งหากเป็นเรื่องตัวเองด้วยแล้ว ก็ต้องนับว่าผู้เขียนนั่นแหละเป็นผู้รู้ข้อมูลเรื่องนั้นดีที่สุด

กับอีกกลุ่มพวกเขาเขียนเรื่องในเรือนจำ ก็ถือเป็นเรื่องแนว unseen ที่คนทั่วไปไม่รู้ และไม่มีใครสัมผัสข้อมูลเชิงลึกได้มากเท่าคนที่อยู่ในนั้น

เป็นจุดแข็งที่หลายคนหยิบนำมาเขียนเล่าได้อย่างมีพลัง และทำให้งานเขียนจากห้องขัง กลายเป็นหนังสือขายดีของสำนักพิมพ์สารคดี ๒ ปีซ้อน

prisoner03


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา