อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

จอกหูหนูยักษ์ มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ จัดเป็น “เอเลียนสปีชีส์” ในประเทศไทย เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะเบียดแน่นเป็นแพในแหล่งน้ำบดบังแสงแดด และทำให้ออกซิเจนละลายลงสู่แหล่งน้ำได้น้อยลง (ภาพ : ดร.ศิริพร ซึงสนธิพร)

เรื่องชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือ “เอเลียนสปีชีส์” (Alien Species) กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในช่วงครึ่งเดือนที่ผ่านมา โดยมี “หนอนตัวแบนนิวกินี” เป็นตัวละครสำคัญ

เหตุการณ์เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐ มงคล อันทะชัย ชาวลำลูกกา ปทุมธานี ถ่ายภาพสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายหนอนขณะกำลังกินหอยทาก แล้วส่งภาพนั้นให้กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพหรือ siamensis.org เพื่อสอบถามว่าเป็นสัตว์ชนิดใด

ยิ่งยศ ลาภวงศ์ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ผู้รู้เกี่ยวกับชนิดพันธุ์ต่างถิ่นระบุว่าเป็นหนอนตัวแบนนิวกินี เมื่อกลุ่มสยามเอ็นสิสลงพื้นที่ตรวจสอบก็พบว่าเป็นสัตว์ชนิดดังกล่าว

หนอนตัวแบนนิวกินี (Platydemus manokwari De Beauchamp, 1963) ซึ่งพบในเมืองไทยนับเป็นเอเลียนสปีชีส์ หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยปรากฏในถิ่นใดถิ่นหนึ่งมาก่อน ต่อมาได้อพยพเข้ามาหรือถูกนำเข้ามาในถิ่นนั้น อาจติดมากับเครื่องบิน คน พายุ กรณีนกอพยพไม่นับเป็นเอเลียนสปีชีส์ เพราะมาอยู่แค่ช่วงสั้นๆ แล้วบินกลับไปตามธรรมชาติ

หนอนตัวแบนนิวกินีมีถิ่นกำเนิดบนเกาะนิวกินี พบครั้งแรกที่จังหวัดปาปัวตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย (เกาะนิวกีนีเป็นทั้งที่ตั้งของประเทศอินโดนีเซียและปาปัวนิวกินี) เคยมีรายงานการหลุดออกสู่ธรรมชาติต่างถิ่นหลายแห่ง รวมทั้งมีประวัติถูกคนนำไปปล่อยเพื่อให้ช่วยกินหอยทากยักษ์แอฟริกาซึ่งเป็นศัตรูพืช ผลปรากฏว่าหนอนตัวแบนนิวกินีไม่ได้กินแต่หอยทากยักษ์แอฟริกา แต่กลับกำจัดหอยทากท้องถิ่นชนิดอื่นจนสูญพันธุ์ไปเป็นจำนวนมาก

10 เรื่องควรรู้ “เอเลียนสปีชีส์” และ “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน”

หนอนตัวแบนนิวกินี มีถิ่นกำเนิดบนเกาะนิวกินี พบเป็นครั้งแรกที่จังหวัดปาปัวตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย ล่าสุดมีรายงานการพบในหลายจังหวัดของประเทศไทย (ภาพ : ดร.นณณ์ ผาณิตวงค์)

wormalien04

หนอนตัวแบนนิวกินีเมื่อโตเต็มที่มีความยาวประมาณ ๕-๖ เซนติเมตร มีปลายแหลมทั้งสองด้าน  แต่ด้านหัวจะแหลมเล็กกว่า  ในภาพหนอนสองตัวกำลังกินลูกหอยทากเป็นอาหาร  จากรายงานรุกรานกินหอยทากท้องถิ่น  ทำให้สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) จัดให้หนอนชนิดนี้เป็น ๑ ใน ๑๐๐ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานที่น่ากลัวที่สุดของโลก (ภาพ : ดร.นณณ์ ผาณิตวงค์)

หนอนตัวแบนนิวกินีเมื่อโตเต็มที่มีความยาวประมาณ ๕-๖ เซนติเมตร มีปลายแหลมทั้งสองด้าน แต่ด้านที่เป็นหัวจะแหลมเล็กกว่า สีด้านหลังเป็นสีน้ำตาลเข้ม มีลายสีน้ำตาลอ่อนพาดกลางลำตัวตามแนวยาว ลักษณะผิวเป็นมันวาวคล้ายเส้นเฉาก๊วย บางทีก็มีดำสนิทจนแทบมองไม่เห็นลายกลางหลัง ด้านท้องสีขาวและมีจุดสีขาวเล็กๆ ค่อนไปทางด้านหางซึ่งเป็นปาก กินหอยทากเป็นอาหารหลัก ถ้าไม่สามารถหาหอยทากกินได้ จะกินทากเปลือยและไส้เดือน

ในการหาอาหาร หนอนตัวแบนนิวกินีจะเลื้อยออกหากินในเวลากลางคืน ตามล่าหอยทากด้วยวิธีตามกลิ่นเมือกไป ในการกินหอยทาก หนอนจะปล่อยน้ำย่อยออกมาย่อยเนื้อหอยทากก่อนที่จะดูดกิน

จากรายงานรุกรานกินหอยทากท้องถิ่น ทำให้สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) จัดให้หนอนชนิดนี้เป็น ๑ ใน ๑๐๐ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานที่น่ากลัวที่สุดของโลก (100 of the World’s Worst Invasive Alien Species)

คำว่า “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน” (Invasive Alien Species) เป็นกลุ่มย่อยหรือ subset ของคำว่า “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น” (Alien Species)

โดยธรรมชาติของพืชหรือสัตว์ที่ต้องเข้ามาอยู่ในถิ่นใหม่จะเกิดการปรับตัว ถ้าไม่สามารถปรับตัวได้จะล้มตายและสาบสูญไปในที่สุด บางชนิดปรับตัว อาศัยอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นโดยไม่ส่งผลกระทบมากนัก

แต่มีสิ่งมีชีวิตบางชนิดหลังจากปรับตัวให้อยู่รอดแล้วยังคุกคาม รุกราน สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิตประเภทนี้จะแย่งอาหาร ที่อยู่อาศัย ทำให้ระบบนิเวศที่ผ่านการวิวัฒนาการมานานจนเข้าสู่ภาวะสมดุลเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน เราเรียกสิ่งมีชีวิตนี้ว่า ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (invasive alien species)

ถึงแม้จะมีมาตรการป้องกันเอเลียนสปีชีส์ ไม่ว่าตั้งด่านตรวจพืชและสัตว์ที่สนามบินหรือตามแนวชายแดน แต่ก็ยังคงมีเอเลียนสปีชีส์หลายชนิดหลุดลอดเข้ามา
กรณีหนอนตัวแบนนิวกินีสันนิษฐานว่าติดมากับดินหรือต้นไม้ที่เข้ามาในประเทศไทย อาจเป็นขณะที่ยังเป็นไข่หรือตัวหนอน

wormalien02

ผักตบชวา ตัวอย่างคลาสสิกของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน  ครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๖ เคยมี พ.ร.บ.ผักตบชวา ระบุว่าเป็นพันธุ์ไม้ที่ประกอบด้วยโทษ  เป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครองและประชาชนต้องกำจัด (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

ตัวอย่างคลาสสิกของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน คือ ผักตบชวา

ในถิ่นกำเนิดของผักตบชวาที่อเมริกาใต้ พวกมันไม่ได้ก่อปัญหานัก เพราะที่นั่นมีศัตรูตามธรรมชาติทั้งแมลงและโรค ต่อเมื่อนำออกจากพื้นที่ ยกตัวอย่างกรณีนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นเก็บผักตบชวาจากเวเนซูเอล่าไปจัดแสดงในสหรัฐ ผ่านไป ๑๑ ปี บนแม่น้ำเซนต์จอห์นของสหรัฐเกิดแพผักตบชวายาวเหยียดถึง ๑๐๐ ไมล์

ในเมืองไทย ผักตบชวาถูกนำเข้ามาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ทรงตามเสด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ประพาสเกาะชวา ทอดพระเนตรเห็นดอกผักตบชวาสวยงามจึงโปรดให้นำกลับมาปลูกที่วังสระปทุมเพื่อเป็นไม้ประดับในสระน้ำ ผลปรากฏว่างอกงามและขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว

มีบันทึกว่าระยะแรกๆ เจ้านายฝ่ายในตื่นเต้นกันมาก เข้ามาทูลขอไปปลูกกันองค์ละหน่อสองหน่อ ต่อมามีการนำไปปล่อยในแหล่งน้ำ เริ่มจากคลองสามเสน คลองเปรมประชากร คลองผดุงกรุงเกษม จนแพร่หลายในแม่น้ำลำคลองเกือบทุกหนแห่ง

ถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ การแพร่กระจายของผักตบชวาทำให้ต้องมีการตรา พ.ร.บ.ผักตบชวา โดยระบุว่าเป็นพันธุ์ไม้ที่ประกอบด้วยโทษ ทำให้เสื่อมเสียผลประโยชน์ในการทำนา เลี้ยงสัตว์ เดินเรือ เป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครองและประชาชนต้องกำจัดผักตบชวาในพื้นที่ของตน ห้ามเคลื่อนย้ายทิ้งลงแหล่งน้ำ ผู้ฝ่าฝืนต้องโทษทั้งจำและปรับ

แต่จนถึงบัดนี้ผ่านมาร่วมร้อยปี แหล่งน้ำทั่วเมืองไทยก็ยังคงมีผักตบชวา

หลังรายงานการพบหนอนตัวแบนนิวกินีถูกเผยแพร่ออกไป มีผู้ตั้งคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินหอยทากเป็นอาหารของสัตว์ชนิดนี้ ว่าก็น่าจะเป็นเรื่องดี เพราะหอยทากเองก็เป็นศัตรูพืชมิใช่หรือ

ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ siamensis.org อธิบายถึงความสำคัญของหอยทากในธรรมชาติว่า ภายในผืนป่าอุดมสมบูรณ์ หอยทากเป็นสัตว์ที่มีจำนวนมากและมีชีวมวล (biomass) สูง เมื่ออยู่ในฐานะผู้กิน หอยทากช่วยควบคุมปริมาณพืชไม่ให้มีมากจนเกินไป เมื่ออยู่ในฐานะผู้ถูกล่า หอยทากเป็นอาหารของสัตว์ท้องถิ่น หอยทากช่วยเปลี่ยนพืชเป็นโปรตีน เปลี่ยนหินปูนเป็นแคลเซียมในรูปแบบที่สัตว์ท้องถิ่นกินได้ ถ้าหากหอยทากเกิดสูญหายไป ย่อมจะทำให้สัตว์หลายชนิดได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะสัตว์กลุ่มที่กินหอยทากเป็นอาหารหลัก ไม่กินอาหารอื่นเลย เช่น งูกินทาก จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

wormalien05

ภาพ ๑ ใน ๑๐๐ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานที่น่ากลัวที่สุดของโลก นอกจากหนอนตัวแบนนิวกินีแล้วยังมีผักตบชวา หอยทากยักษ์แอฟริกัน ซึ่งมีการแพร่กระจายในเมืองไทย

ท่ามกลางกระแสข่าวพบหนอนตัวแบนนิวกินีในเมืองไทย นักวิชาการบางคนแสดงความเห็นว่าการกระจายพันธุ์ของหนอนชนิดนี้อาจไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แม้ว่าจะติดอันดับ ๑ ใน ๑๐๐ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานที่น่ากลัวที่สุดของโลก ด้วยเหตุผลว่าเกาะนิวกินีไม่ได้อยู่ไกลกับเมืองไทยมาก มีสภาพธรรมชาติคล้ายกัน

นอกจากนี้ยังมีรายงานการพบแล้วในหลายพื้นที่ เท่าที่มีภาพถ่ายยืนยันระบุชนิดได้ชัดเจน เช่น กรุงเทพฯ ปทุมธานี สงขลา ชุมพร เชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลราชธานี ชลบุรี ปราจีนบุรี นครราชสีมา จันทบุรี หนอนตัวแบนนิวกินีจึงน่าจะเข้ามาในเมืองไทยนานแล้ว แต่ก็ยังไม่มีรายงานผลกระทบต่อสังคม ระบบนิเวศที่แน่ชัด

อย่างไรก็ตาม ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ อธิบายว่า ถึงแม้ว่าเกาะนิวกินีกับประเทศไทยจะมีความใกล้กันทางด้านระยะทาง แต่ทางด้านสัตวภูมิศาสตร์นั้นแยกกันมาตั้งแต่มหาทวีป Pangea แยกออกมาเป็น Gondwana (ฝั่งใต้) และ Laurasia (ฝั่งเหนือ) นิวกินีอยู่กับฝั่งใต้มาโดยตลอด ส่วนเมืองไทยก็อยู่กับฝั่งเหนือมาโดยตลอด เรื่องชนิดพันธุ์สัตว์บกเกาะนิวกินีจึงนับว่าอยู่ห่างจากไทย มากกว่าทวีปแอฟริกาด้วยซ้ำ ยกตัวอย่าง นิวกินีเป็นเกาะที่มีจิ้งโจ้ แต่ไม่มีแมว ไม่มีลิง ตามธรรมชาติเลย

สำหรับกลุ่มหนอนตัวแบนนิวกีนีก็ได้รับคำยืนยันว่ามันเป็นชนิดพันธุ์สัตว์ของฝั่งใต้

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ หรือ ค.ศ.๒๐๑๐ องค์การสหประชาชาติประกาศให้เป็นปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ หลังพบว่าการบุกรุกป่า การทำเกษตรเชิงเดี่ยว โรคระบาด ภาวะโลกร้อน รวมทั้งการรุกรานของเอเลียนสปีชีส์ เป็นปัจจัยให้เกิดการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของโลก

ในปีนั้น สำนักความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่าไทยมีเอเลียนสปีชีส์มากกว่า ๓,๕๐๐ ชนิด และยังมีผู้นำเอเลียนสปีชีส์ใหม่ๆ เข้ามาอยู่ตลอดเวลาเพื่อใช้ในการเกษตร เป็นสัตว์เลี้ยง เป็นไม้ประดับ รวบรวมไว้ที่สวนสัตว์ สวนพฤกษศาสตร์เพื่อการศึกษาเรียนรู้

จะเห็นว่าการเคลื่อนย้ายของสิ่งมีชีวิตนั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาทั้งโดยธรรมชาติและมนุษย์ สิ่งมีชีวิตบางชนิดเข้ามาในไทยแล้วกลายเป็นสินค้าเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพด อ้อย ชุมเห็ดเทศ เป็ดเทศ พริก มะละกอ เราจึงไม่รู้สึกถูกคุกคาม แต่มีไม่น้อยเลยที่กลายเป็น “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน” ส่งผลกระทบต่อสังคมและระบบนิเวศ

๑๐

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกมาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น โดยนิยามหลักการจัดกลุ่มเอเลียนสปีชีส์ออกเป็น ๔ รายการ

๑) ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว เช่น ผักตบชวา สาบเสือ หญ้าคา สาหร่ายหางกระรอก ไมยราบยักษ์ หอยเชอรี่ ปลาซักเกอร์

๒) ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีแนวโน้มรุกราน เช่น กุ้งขาว ปลาเทราต์สายรุ้ง ผีเสื้อหนอนเจาะผลเงาะ เพลี้ยแป้งอ้อย หอยนักล่าสีส้ม กบบูลฟร็อก

๓) ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีประวัติรุกรานแล้วในประเทศอื่น แต่ยังไม่รุกรานในประเทศไทย เช่น ป่านมะนิลา บุหงาส่าหรี ถั่วคุดสุ หอยนักล่าสีชมพู ปลาปิรันยา อีกัวนา จระเข้ไคแมน นกกิ้งโครงพันธุ์ยุโรป

๔) ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานที่ยังไม่เข้ามาในประเทศไทย เช่น โรคราของกุ้ง ผักแว่นใบใหญ่ เพลี้ยไฟ ผักไผ่ญี่ปุ่น มดคันไฟ ปลากระพงแม่น้ำไนล์ ดาวทะเลแปซิฟิกเหนือ รวมถึง Platydemus manokwari หรือที่เวลานี้ผู้คนทั่วประเทศรู้จักกันในชื่อ หนอนตัวแบนนิวกินี !

นั่นหมายความว่าราว ๘ ปีก่อน สัตว์ตัวน้อยชนิดนี้ยังอยู่ในสถานะ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานที่ยังไม่เข้ามาในประเทศไทย แต่มาวันนี้มีรายงานยืนยันการพบในหลายจังหวัด

ดร.นณณ์ ผาณิตวงค์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าชื่อวิทยาศาสตร์ Platydemus manokwari นั้น คำว่า manokwari เป็นชื่อเมืองท่าชายฝั่งบนเกาะนิวกินีซึ่งพบหนอนชนิดนี้ นอกจากนี้ ในเมืองไทย ภาพถ่ายเก่าสุดที่มีผู้ถ่ายภาพหนอนชนิดนี้ไว้ได้เกิดในปี พ.ศ.๒๕๕๓ โดย ชยจิตร ดีกระจ่าง

การดำรงอยู่ของหนอนตัวแบนนิวกินีในประเทศไทยจะสร้างผลกระทบกระเทือนต่อระบบนิเวศ สังคม เศรษฐกิจอย่างไรบ้างเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

รายงานมาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น จะเปลี่ยนหนอนตัวแบนนิวกินีจากกลุ่ม ๔ ไปอยู่ในตำแหน่งใด

หมายเหตุ : เก็บตกจากลงพื้นที่ Top Rank ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น กับการสูญสิ้นความหลากหลายทางชีวภาพ นิตยสาร สารคดี ฉบับ ๓๑๑ มกราคม ๒๕๕๔
ขอขอบคุณ : ดร.นณณ์ ผาณิตวงค์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพหรือ siamensis.org