ดร. นณณ์ ผาณิตวงศ์ จากเด็กเลี้ยงปลา สู่ ASEAN Biodiversity Heroes

ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : สัมภาษณ์
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ

ดร. นณณ์ ผาณิตวงศ์ จากเด็กเลี้ยงปลา สู่ ASEAN Biodiversity Heroes

ดร. นณณ์ ผาณิตวงศ์ กรรมการบริษัทน้ำตาลนครเพชร จำกัด และนักวิชาการอิสระด้านระบบนิเวศน้ำจืด เพิ่งเดินทางกลับจากฟิลิปปินส์ เขาและตัวแทนประเทศอาเซียนทั้ง ๑๐ ได้รับรางวัล ASEAN Biodiversity Heroes จากผลงานอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

ถึงแม้จะเกิดมาในครอบครัวฐานะดี ทางบ้านมีกิจการ มีบริษัทของตัวเอง แต่วัยเด็กของเขาน่าจะแตกต่างจากคนมีอันจะกินทั่วไป ตั้งแต่เล็ก ๆ แล้วพ่อชอบพาเขาออกท่องเที่ยวตกปลาตามป่าเขาและทะเล วันดีคืนดีแม่ก็ส่งไปเข้าค่ายสิ่งแวดล้อมบนยอดดอย  ทุกครั้งที่ครอบครัวออกไปเที่ยวห้าง ก่อนกลับจะนัดรวมพลกันที่ร้านหนังสือ มีส่วนทำให้ชายวัย ๔๒ ปีเติบโตมากับหนังสือสิงสาราสัตว์ ที่สนใจมากเป็นพิเศษคือปลากับสัตว์เลื้อยคลาน  เคยเขียนบทความและเป็นบรรณาธิการนิตยสาร AQUA ตำนานหนังสือปลาที่ดีมากเล่มหนึ่งของไทย

เมื่ออายุ ๒๐ ปลาย ๆ กลับจากเรียนต่อในต่างประเทศ เขาช่วยดูแลกิจการโรงงานน้ำตาล อู่ต่อเรือ ร้านอาหาร สนามกอล์ฟ ฯลฯ  มรดกของครอบครัว พร้อม ๆ กับร่วมกับเพื่อนคอเดียวกันตั้งกลุ่ม Siamensis*  และเว็บไซต์ Siamensis.org ให้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ  ดร. นณณ์หรือที่หลายคนเรียกว่า “ดร. ปลา” ยังคอยตอบกระทู้คนที่เข้ามาถามว่า งู กิ้งก่า สัตว์เลื้อยคลานรูปร่างหน้าตาประหลาด ๆ ที่พบตามบ้านเป็นสัตว์มีพิษหรือไม่ หากตอบช้าไปไม่กี่นาที สัตว์ที่มีชีวิตอยู่เมื่อครู่นี้ก็มักถูกตีตายทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีพิษภัยต่อคน

ดร. นณณ์ให้สัมภาษณ์ สารคดี ว่า เมื่อแรกตั้งกลุ่มสยามเอ็นสิส จุดหมายคือใช้เป็นที่แลกเปลี่ยนความรู้ในกลุ่มเพื่อน นึกไม่ถึงว่าสิ่งที่พวกตนชอบทำจะมีบทบาทกับวงการอนุรักษ์ของไทย

เช่นเดียวกับการรับรางวัลใหญ่ ASEAN Biodiversity Heroes ที่เขาไม่คิดว่าตัวเองจะเดินทางมาไกลขนาดนี้

nontinv01

ดร. นณณ์ ผาณิตวงศ์ คนที่ ๒ จากขวา รับรางวัล ASEAN Biodiversity Heroes ร่วมกับตัวแทนประเทศอาเซียนทั้ง ๑๐ ชาติ ณ กรุงมะนิลา

ขอแสดงความยินดีกับรางวัลที่ได้รับ ไม่ทราบว่ารางวัลนี้มีที่มาอย่างไร

ASEAN Biodiversity Heroes เป็นรางวัลจากศูนย์ ASEAN Centre for Biodiversity (ACB) ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๔๘ มีสำนักงาน
ใหญ่อยู่ที่เมืองลากูนา ประเทศฟิลิปปินส์ รางวัลนี้เป็นส่วนหนึ่งในการฉลองวาระ ๕๐ ปี อาเซียน  และแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมกับทศวรรษแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ [United Nations Decade of Biodiversity (2011-2020)] ของสหประชาชาติ ทางผู้จัดหาตัวแทนจากแต่ละประเทศมารับรางวัล โดยส่วนหนึ่งของหลักการคัดเลือกใช้คำว่า “…individuals that people can identify with and will inspire others to take action for biodiversity…”  หมายความว่าบุคคลที่คนทั่วไปสามารถเชื่อมโยงได้และเป็นแรงบันดาลใจให้ช่วยกันอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

กระบวนการคัดเลือกผมเข้าใจว่าทางผู้จัดแจ้งมายังหน่วยงานภาครัฐของไทย คือ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว สผ. ก็แจ้งไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ว่าสนใจส่งชื่อใครไหม  ทางฝั่งเอ็นจีโอมูลนิธิสืบนาคะเสถียรก็ประชุมตกลงว่าเป็นผม เจ้าหน้าที่โทร.มาบอกว่าสิ่งที่ผมทำตรงที่สุดเรื่องการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ บอกอีกว่าอายุผมไม่มาก แต่มีผลงาน ยังทำต่อได้อีกนาน ถ้าได้รางวัลจะได้มีแรงทำต่อ เลยส่งชื่อผมให้ สผ. ส่งชื่อไปที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ทางกระทรวงฯ คัดเลือกต่ออีกที

ผมไม่รู้ว่าคู่แข่งมีใคร แต่วันหนึ่งเขาก็โทร.มาบอกว่าผมได้ คนที่เซ็นอนุมัติให้ผมคือปลัดกระทรวงฯ หมายความว่าจดหมายที่ประเทศไทยตอบกลับไปยังเอซีบีว่าเลือก ดร. นณณ์ ออกไปจากกระทรวงฯ ทั้งเอ็นจีโอและหน่วยงานราชการจึงเป็นผู้คัดเลือกให้ผมได้รับรางวัลนี้

เมื่อเทียบกับตัวแทนประเทศอื่น ๆ  ทางเวียดนาม คือ ศ. ดร. Dang Huy Huynh คนร่างกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าหลายฉบับและผู้ก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ คล้าย ๆ กับคุณหมอบุญส่ง เลขะกุล เวอร์ชันเวียดนาม  ทางสิงคโปร์ ศ. ดร. Leo Tan Wee Hin ผู้ปฏิรูปการเรียนการสอนด้านความหลากหลายทางชีวภาพในสิงคโปร์ ทำงานมานาน อายุมาก

ทางฟิลิปปินส์ ดร. Angel C. Alcala นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล อุทิศตนเพื่อการศึกษาและอนุรักษ์แนวชายฝั่ง ระบบนิเวศที่สำคัญสำหรับประเทศที่เป็นหมู่เกาะอย่างฟิลิปปินส์  ส่วนลาว คุณ Nitsavanh Louangkhot Pravongviengkham นักธุรกิจเจ้าของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ เขาร่วมกับชาวบ้านและภาครัฐอนุรักษ์ป่ารอบฟาร์ม ดูแลแหล่งน้ำ นำพลังงานทดแทนมาใช้

วันมอบรางวัลมีคนร่วมงานประมาณ ๕๐-๖๐ คน  มีตัวแทนยูเอ็น อียู ตัวแทนรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เป็นรางวัลใหญ่พอสมควร จะเรียกว่ารางวัลซีไรต์ทางวงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพก็คงได้ วันรุ่งขึ้นก็เป็นงานฉลอง ๕๐ ปี อาเซียน ซึ่งเราก็ได้ไปร่วมงานเปิดตัวบนเวทีใหญ่ต่อหน้าผู้นำอาเซียนด้วย

กระบวนการคัดเลือกของตัวแทนจากประเทศไทยใช้เวลานานแค่ไหน
ประมาณ ๑ เดือน ข้อมูลเยอะพอสมควร ผมต้องเขียนส่งไปหน้าครึ่งว่าทำอะไรมาบ้าง และต้องมีจดหมายรับรองจากสององค์กร ว่าทำไมถึงควรได้รางวัลนี้ ผมขอจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กับ International Union for Conservation of Nature (IUCN) เรียกว่ามีโลโก้เอ็นจีโอทั้งในประเทศกับระดับนานาชาติ  ระหว่างนั้นทาง สผ. ก็ขอรูป ขอรายละเอียดต่าง ๆ จนวันหนึ่งเจ้าหน้าที่โทร.มาถามว่าพูดภาษาอังกฤษได้ใช่ไหม หลังยืนยันว่าได้ เขาส่งคำถามสองสามคำถามให้เราทำเป็นคลิปตอบ เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอตอนขึ้นรับรางวัล

ยื่นเรื่องจากเมืองไทยไม่ถึงเดือนก็ประกาศผล

nontinv02

แต่ละประเทศคัดเลือกตัวแทนจากบุคคลที่ทำงานอนุรักษ์ ความหลากหลายทางชีวภาพและสร้างแรงบันดาลใจ บนแผ่นป้ายประกาศเกียรติคุณเป็นภาพขณะลงไปสำรวจความลึกของนาข้าวน้ำลึกที่ทุ่งปากพลี จังหวัดนครนายก  ที่อยู่ของปลาซิวสมพงษ์ปลาหายากชนิดหนึ่ง ที่ถืออยู่ในมือคือต้นข้าว

ชีวิตในวัยเด็กของคุณเป็นอย่างไร
ผมเป็นคนกรุงเทพฯ บ้านอยู่ในเมืองแถวกรมประชาสัมพันธ์ ตอนเด็ก ๆ แถวนั้นยังเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เวลาน้ำท่วมในซอยบ้านมีปลาออกมาเต็มเลย บางทีก็มีเต่าขนาดใหญ่  ตอนนั้นผมไม่รู้หรอกว่ามันมาจากไหน แต่ชอบมากเวลาน้ำท่วม  ผมไม่ได้เลี้ยงสัตว์ แต่รู้ว่าบ้านมีรังมดอยู่ตรงไหน ชอบเอาขนมให้มันกิน

พอโตขึ้นหน่อยอายุ ๑๒-๑๓ ปี พ่อพาไปตกปลาทุกอาทิตย์ เป็นช่วงที่ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับปลา ธรรมชาติ ก่อนตกปลาต้องเรียนรู้ก่อนว่าจะตกปลาอะไร แล้วมันกินอะไร ใช้ชีวิตยังไง จะหลอกล่อยังไงให้มากินเบ็ด

ตอนหนุ่ม ๆ พ่อเคยทำงานในเหมืองปิล็อก กาญจนบุรี ก็เลยมีเพื่อนแถวนั้นมาก หลังเขื่อนวชิราลงกรณหรือเขื่อนเขาแหลมสร้างเสร็จ ๒-๓ ปี มีปลามาก เพื่อนก็โทร.มาบอก ชีวิตผมวันเสาร์อาทิตย์โตที่เขื่อนวชิราลงกรณ ได้เห็นวงจรของการสร้างเขื่อน

เห็นอะไรจากการสร้างเขื่อน
ช่วงแรก ๆ ที่ผมไปถึง เขื่อนเขาแหลมอยู่ในป่า ยังตัดต้นไม้ไม่หมด เหมือนเกิดป่าใต้น้ำ มีซากต้นไม้จมน้ำ บางต้นยังมีกล้วยไม้ขึ้นอยู่เลย  เมื่อต้นไม้จมน้ำก็เกิดการย่อยสลาย มีแบคทีเรียมากินต้นไม้ มีสัตว์เล็ก ๆ มากินแบคทีเรีย มีปลาเล็ก ๆ มากินสัตว์เหล่านี้อีกที แล้วก็มีปลากินตะไคร่ตามต้นไม้และใช้ต้นไม้เป็นที่อาศัย มีแมลงน้ำมาก ดังนั้นเวลาสร้างเขื่อนเสร็จใหม่ ๆ มันจะอุดมสมบูรณ์ เหมือนน้ำอยู่ในทุ่ง ปลากระสูบที่ผมตกได้ตัวแรกก็ตกบนเรือหางยาว เงื้อเบ็ดที่จะเหวี่ยงหลุดมือตกน้ำ เงอะ ๆ งะ ๆ หันไปสาว ปลากินเบ็ดแล้วเพราะมีปลามาก ตอนเช้า ๆ เวลาแมลงเม่าบินตกน้ำก็จะมีปลามากินเร็วมาก ผมจะคอยเล็งแย่งแมลงเม่ากับปลาเพื่อเอามาใช้เป็นเหยื่อ มาถึงปัจจุบันแมลงเม่าลอยเต็มผิวน้ำแต่ไม่มีปลามากิน

ความทรงจำที่ผมชอบมากอย่างหนึ่งคือผมจะพายเรือไปด้านหลังแพ มีดงสาหร่าย มีลูกปลาเสือ ปลาซิว และปลาชนิดอื่น ๆ มากมายออกมาหาอาหาร แต่พอผมโตขึ้นต้นไม้ใต้น้ำเริ่มหายไป ปลาลดน้อยลง แม้แต่ดงสาหร่ายพอแร่ธาตุที่ถูกสะสมจากป่าหมดก็หร็อมแหร็ม ไม่งาม เมื่อผมโตขึ้นรู้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มองย้อนกลับไปจะเห็นว่าวงจรของการสร้างเขื่อนช่วงแรก ๆ มันอุดมสมบูรณ์เพราะอะไร ก็เลยเป็นคำตอบว่าเขื่อนไม่ใช่ที่ของปลา

การใช้ชีวิตในเมืองของคุณต่างจากเวลาออกไปตกปลาตามต่างจังหวัดอย่างไร
ครอบครัวของเราเวลาไปเที่ยวห้าง กินข้าวเสร็จจะแยกย้ายกันไปดูสิ่งที่แต่ละคนอยากดู แล้วนัดเจอกันที่ร้านหนังสือ สุดท้ายเหมือนถูกบังคับให้มาซื้อหนังสือไปอ่าน พอมีบัตรเครดิตจะมีกฎเหล็กอยู่สามข้อ คือต้องขออนุญาตก่อนใช้ ยกเว้นกรณีฉุกเฉินหรือซื้อหนังสือเท่านั้น

แม่สนับสนุนให้ลูกอ่านหนังสือและให้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ หนังสือที่แม่ซื้อให้มีทั้งเรื่องเครื่องยนต์กลไก ไฟฟ้า สัตว์ นก เคมี แต่ผมหยิบเฉพาะเรื่องสัตว์  พอรู้ทางกันแม่ก็ซื้อหนังสือสัตว์มาให้ ไม่ว่าจะแพงแค่ไหน อยากได้คือซื้อให้  เล่มที่ประทับใจมาก ๆ คือหนังสือเหยี่ยว เป็นภาษาอังกฤษ อยากได้มาก แต่ผมยังเด็ก แม่ถามว่าอ่านไม่ออกจะซื้อทำไม ผมบอกอ่านได้ เชื่อสิ เหมือนเด็กปากพล่อยอยากได้อะไรก็บอกว่าทำได้ไปก่อน แต่พอซื้อมาเปิดดูรูปแล้วก็เก็บไว้ จน ๑๕ ปีผ่านไป ผมค้นเจอหนังสือเล่มนี้แล้วหยิบมาอ่าน น้ำตาไหล ผมเอาไปให้แม่ดู บอกว่าอ่านแล้วนะหนังสือที่แม่ซื้อให้ตอนเด็ก

ช่วงปิดเทอมแม่ก็ส่งผมไปเข้าค่ายต่างจังหวัด ให้ไปอยู่ในป่า ๗ วัน ๑๕ วัน ที่ดอยอินทนนท์ หรือเขาใหญ่  การเข้าค่ายกับการไปตกปลาทำให้ผมรู้จักธรรมชาติ ไม่กลัวที่จะต้องอยู่ในป่าหรือในน้ำ

คุณเริ่มถ่ายภาพปลาตั้งแต่เมื่อไร
หลังกลับจากเรียนปริญญาโทที่อเมริกา เริ่มจากชอบปลา ตกปลา เลี้ยงปลา มีทั้งซื้อมาเลี้ยงและเลี้ยงตัวที่ตกได้

การสังเกตสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ก็มาจากเวลาออกไปตกปลา ตามข้างทางจะมีกบ เขียด แมลงปอ นก พืชน้ำ ก็ถ่ายรูปมาลงนิตยสาร ผมเขียนบทความลงหนังสือ AQUA ผ่านไปสักพักเหมือนธุรกิจไม่ดี เจ้าของก็ขอว่าช่วยลงหุ้นได้ไหม ไป ๆ มา ๆ เลยกลายเป็นบรรณาธิการ เป็นเจ้าของไปเลย

เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการแนะนำชนิดปลา วิธีการเลี้ยง อุปกรณ์ ผมเขียนคอลัมน์สำรวจปลาในธรรมชาติ ก็จะออกไปเที่ยว ดูปลาตามสถานที่ต่าง ๆ ถ่ายรูปปลาจากธรรมชาติมาเล่า เพราะบางทีคนเลี้ยงปลาก็เห็นแต่ปลาในตู้ ไม่รู้ว่าปลาในธรรมชาติอยู่กันยังไง และผมพยายามสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์และความรู้ต่าง ๆ เช่น เรื่องชนิดพันธุ์ต่างถิ่น การเลียนแบบกันในธรรมชาติ เหมือนแอบสอนชีววิทยา  ผมทำ AQUA อยู่ ๔-๕ ปี ถึงวันที่ธุรกิจมันไม่ไหวจริง ๆ ก็ปิดตัว แต่ก็ถือเป็นตำนานเหมือนกัน คนรุ่นที่อ่านทันจะรู้ว่าเป็นหนังสือปลาที่ดีมากเล่มหนึ่ง

ช่วงคาบเกี่ยวหลังกลับจากเรียนปริญญาโท ระหว่างทำ AQUA MAG ผมกับเพื่อนก็ตั้งกลุ่มสยามเอ็นสิส จากช่วงแรกที่เข้าไปในเว็บไซต์พันทิป ตอบคำถามในห้องจตุจักรว่าปลาหรือสัตว์ชนิดต่าง ๆ เลี้ยงยังไง รักษาโรคยังไง แล้วพบว่ากระทู้ในพันทิปมันตกไว บางเรื่องเราตอบแล้ว อีกอาทิตย์ก็มีคนถามอีกเพราะบทความเก่าหาย เลยคุยกันว่าทำเว็บไซต์ Siamensis.org ดีกว่า จะได้ดูแลเนื้อหาตัวเองได้ แล้วค่อย ๆ พัฒนาเว็บบอร์ดมาจนเวอร์ชันปัจจุบัน ใครเก่งเรื่องสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ก็เข้ามาช่วยกันเขียนบทความ ตอบคำถาม เกิดสังคมการเรียนรู้ระหว่างคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน เวลาไปออกทริปด้วยกัน คนหนึ่งสอนเรื่องดูปลา อีกคนก็สอนดูนก ดูแมลง

nontinv03 1

คติพจน์ของสยามเอ็นสิส คือ 
‘ไม่รู้จักก็ไม่รักกัน’ ยกตัวอย่าง
ใกล้ตัวเลยคืองู ปรกติคนเจองูก็จะตีทันที 
ยังไม่รู้ว่ามีพิษหรือไม่ด้วยซ้ำ

วัตถุประสงค์ของการตั้งกลุ่มสยามเอ็นสิสคืออะไร
ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยผมเริ่มมีอิสระ มีเงินซื้อหนังสือ เริ่มรู้ว่าสังคมคนเลี้ยงสัตว์มันแคบมาก พอได้เจอคนมากขึ้นถึงเริ่มรู้สึกว่า เฮ้ย ไอ้ที่เรารู้มันคือรู้เยอะนะ รู้มากกว่าคนอื่น

การอ่านภาษาอังกฤษออกมันเปิดโลกสู่อีกแหล่งความรู้หนึ่งที่คนอื่นอาจไม่รู้ ผมจำเจ้าของร้านนกร้านหนึ่งได้แม่นมาก เขามีหนังสือเล่มเดียวกับผม แต่เขาต้องเปิดดิกชันนารีเกือบทุกคำ เขียนคำแปลพร้อยไปทั้งหน้า ผมเห็นว่ามันมีช่องว่างของความรู้ เลยเป็นแรงผลักดันให้ผมเขียนบทความ ตั้งกลุ่มสยามเอ็นสิส ทำนิตยสาร ทำเว็บไซต์ ทุกอย่างเป็นภาษาไทยเพราะคิดว่าสิ่งที่เราถ่ายทอดมันเป็นความรู้ที่คนไทยควรจะได้รับ โดยเฉพาะพวกเยาวชนที่อาจจะยังอ่านภาษาอังกฤษไม่ออก

คติพจน์ของสยามเอ็นสิส คือ “ไม่รู้จักก็ไม่รักกัน” ยกตัวอย่างใกล้ตัวเลยคืองู ปรกติคนเจองูก็จะตีทันที ยังไม่รู้ว่ามีพิษหรือไม่ด้วยซ้ำ แต่ถ้าเราสอนให้เขารู้ว่างูชนิดนี้เป็นงูไม่อันตราย ไม่มีพิษ งูตัวนี้ช่วยพี่กินหนูได้นะ มันก็สร้างความต่างให้งูตัวนั้นว่าอาจรอดหรือไม่รอด  ความจริงไม่มีใครอยากตีงูหรอก ไม่ใช่ประสบการณ์ที่ดีที่เห็นสัตว์ดิ้นทุรนทุราย ดังนั้นถ้ามันไม่มีพิษก็อยู่ด้วยกันได้

การรณรงค์ให้คนอนุรักษ์แหล่งน้ำก็เหมือนกัน ตราบใดที่เรายังไม่รู้ว่าในน้ำมีปลาอะไร หรือมีปลาอะไรใกล้สูญพันธุ์ คนก็ไม่สนใจหรอกว่าเขาจะขุด ถม หรือกั้นเขื่อน  เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพเหรอ…เริ่มจากรู้จักก่อนดีกว่า สยามเอ็นสิสพยายามทำให้คนรู้จักสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ เริ่มต้นจากทำให้เขารู้ว่ามันมีอยู่ ให้รู้ว่าสิ่งมีชีวิตต้องการระบบนิเวศแบบไหน ถึงจะอนุรักษ์ได้

ปลากับสัตว์เลื้อยคลานน่าจะเป็นกลุ่มที่คนไม่ค่อยให้ความสำคัญ
เราสนใจสัตว์หลายชนิด จากตอนแรกเน้นปลากับต้นไม้น้ำ ไม่นานก็มีคนสนใจสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก รวมทั้งต้นไม้บก แล้วก็มีพวกแมลงตามมาจนเกือบเป็นชุมชนใหญ่ แต่เท่าที่ผมสังเกต สยามเอ็นสิสไม่ค่อยเด่นเรื่องนกเท่าไร เพราะมีกลุ่มที่สนใจเฉพาะอยู่แล้ว พวกปลาทะเลก็มีกลุ่มนักดำน้ำ

สยามเอ็นสิสกลายเป็นกลุ่มคนสนใจปลากับสัตว์ประหลาดที่กลุ่มอื่นเขาไม่สนใจกัน

ผมยกตัวอย่างว่าเราอยากอนุรักษ์งู แต่คนทั่วไปมีความคิดว่า งูดีคืองูที่ตายแล้ว เมื่อเจองูต้องตีไว้ก่อน เพื่อความปลอดภัยของเรา เลยกลายเป็น subset ของความหลากหลายทางชีวภาพที่หดหู่ เทียบกับกลุ่มอนุรักษ์นก เสือ หมีแพนด้า หรือช้าง ตามความรู้สึกคนทั่วไป สัตว์อื่นเข้าถึงคนได้ง่ายกว่างู

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการพบจระเข้น้ำเค็มในทะเลภูเก็ต เจ้าหน้าที่เกรงว่าจะทำร้ายนักท่องเที่ยวจึงจับมาขังไว้ในบ่อ คุณมีความเห็นต่อกรณีนี้อย่างไร
ที่ผ่านมามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหารมาตลอด เรากินสัตว์อื่นและเราก็ถูกมันกินบ้าง เพิ่งจะไม่กี่รุ่นที่ผ่านมาอย่างมากก็ ๑๐ เจเนอเรชันที่เราแยกตัวออกมาจากห่วงโซ่อาหาร แล้ววางตัวเองอยู่ห่างมาก  เรากลับมองเห็นว่าทุกอย่างเป็นภัยไปหมด ทั้งที่จริงความเสี่ยงต่ำ

ออสเตรเลียมีจระเข้น้ำเค็มประมาณ ๑-๒ แสนตัว อัตราคนตายเพราะจระเข้เฉลี่ยปีละ ๐.๘ คน ขณะที่เกาะภูเก็ตเกาะเดียวมีคนตายจากอุบัติเหตุปีละ ๑๓๐-๑๗๐ คน จะเห็นว่าจระเข้ไม่ได้น่ากลัว ถามว่ามีจระเข้กัดคนหรือเปล่า มี ถ้าเข้าไปในถิ่นของมันหรือมันหิวพอดี ล่าสุดที่โดนกินก็คือปีนี้ที่ออสเตรเลีย นักท่องเที่ยวว่ายน้ำตอน ๔ ทุ่ม มันเป็นการเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงโดยใช่เหตุ  หรือล่าสุดเหตุเกิดในดิสนีย์แลนด์ สหรัฐอเมริกา พ่อแม่ปล่อยให้เด็ก ๔ ขวบลงไปเล่นน้ำที่ชายหาดตอน ๓ ทุ่ม จระเข้ก็มางับไป  ฉะนั้นถามว่ามีโอกาสไหม ก็มี แต่ไม่มาก และเราป้องกันได้  ตามธรรมชาติสัตว์กลัวคนอยู่แล้ว แค่ได้ยินเสียงโดรนก็พยายามมุดหนีไป ตอนที่เจ้าหน้าที่ไล่จับมันสู้ไหม มันก็พยายามหนี

ถ้าจระเข้อันตราย ฉลามก็อันตรายใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นเราไม่ต้องจับฉลามออกจากทะเลหมดหรือ

ที่ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เขาก็อยู่กับอัลลิเกเตอร์ได้ ที่บราซิลสถานที่ท่องเที่ยวก็มีจระเข้เต็มไปหมด แม้แต่ที่สิงคโปร์ก็มี แล้วทำไมภูเก็ตถึงจะมีไม่ได้

ทุกวันนี้มนุษย์แยกออกจากระบบนิเวศจนเราเห็นอะไรที่ติดขัดนิด ๆ หน่อย ๆ ไม่ได้ ทุกอย่างต้องปลอดภัย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เราไม่สามารถรับความเสี่ยงใด ๆ ได้เลย ซึ่งทำให้สูญเสียการได้สัมผัส สูญเสียความเชื่อมโยงระหว่างความเป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่ต้องพึ่งพิงระบบนิเวศ เราอยู่ในเมือง กินน้ำจากขวด หายใจจากเครื่องปรับอากาศ กินอาหารจากถาดโฟม โดยไม่สามารถเชื่อมโยงว่าน้ำ อาหาร อากาศ มาจากไหน ทำให้เราไม่คิดว่าต้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมใด ๆ เพราะเข้าใจว่ามันมาได้ด้วยตัวของมันเอง เรื่องจระเข้ภูเก็ตก็เหมือนกัน

ควรหาทางออกอย่างไร เพราะถ้าปล่อยไว้จระเข้อาจทำร้ายคน
วันนี้การแก้ปัญหาสำหรับจระเข้ตัวนี้ หนึ่ง ต้องปล่อย แต่จะให้ปล่อยกลับที่เดิมคงยาก เริ่มมีคนแนะนำว่าให้ปล่อยเกาะตะรุเตาที่อยู่ไกล ได้รับความคุ้มครอง และเคยมีรายงานพบจระเข้น้ำเค็มมาก่อน จากข่าวที่ออกมาผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนสั่งจับ แต่จับมาแล้วเป็นหน้าที่รับผิดชอบของกรมประมงซึ่งก็ยังไม่รู้จะจัดการอย่างไร  ถ้าเราบอกให้กรมประมงช่วยคุยกับกรมอุทยานฯ ถามว่าไปปล่อยที่ตะรุเตาได้ไหม ก็ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการประสานงานของหน่วยราชการ

สอง ระหว่างนี้จระเข้ถูกขัง แต่ไม่ใช่ในบ่อเลี้ยงจระเข้ บ่อเลี้ยงจระเข้อย่างน้อย ๆ น้ำต้องท่วมหลัง เพื่อไม่ให้น้ำหนักตัวของมันกดทับตัวเอง ยิ่งจระเข้ตัวใหญ่ต้องลอยอยู่ในน้ำ  มันมีกรณีจระเข้ชื่อ Lolong ของฟิลิปปินส์ก็ถูกจับมาขังในน้ำตื้นเพราะอยากให้นักท่องเที่ยวมองเห็น สุดท้ายก็ตาย

การพบจระเข้น้ำเค็มแสดงให้เห็นความหลากหลายทางชีวภาพของทะเลภูเก็ตหรือไม่
ในเมืองไทยมีจระเข้สามชนิด คือ จระเข้น้ำจืด จระเข้น้ำเค็ม และตะโขง  ตะโขงในธรรมชาติสูญพันธุ์ไปแล้วเพราะถูกล่า แต่ในสถานที่เพาะเลี้ยงยังมี เอกชนพร้อมยกให้กรมอุทยานฯ นำไปปล่อยที่ไหนก็ได้ตามต้องการ พูดกันมาเป็น ๑๐ ปี แต่กรมอุทยานฯ ก็ไม่พยายามที่จะปล่อย

จระเข้น้ำจืดเคยพบมากแถบบึงบอระเพ็ดกับอีกหลายที่ ปัจจุบันเหลืออยู่แค่ไม่กี่ที่  ดีไม่ดีมีที่ผสมพันธุ์กันเองได้ที่แก่งกระจานที่เดียวเท่านั้น จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยเป็นจระเข้ที่มีขนาดประชากรในที่เลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง แต่ในธรรมชาติก็ใกล้สูญพันธุ์เหมือนกัน

ส่วนจระเข้น้ำเค็มอยู่ตามน้ำเค็มและน้ำกร่อย กระจายพันธุ์ตั้งแต่แหลมของอินเดียไล่ตามชายฝั่งถึงออสเตรเลียตอนเหนือ ประเทศไทยเคยมีตลอดแนวชายฝั่ง และผมเชื่อว่าไม่เคยหมดไป ชาวบ้านยังเจอเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็ที่ระนอง กระบี่ เพราะมีประชากรแหล่งใหญ่อยู่ที่พม่า มาเลเซีย สิงคโปร์ เมื่อเป็นจระเข้น้ำเค็มมันก็ว่ายน้ำไปไหนก็ได้  ถามว่าจระเข้ที่พบในภูเก็ตตัวนี้เป็นจระเข้ตามธรรมชาติไหม เป็นไปได้ เพราะตามธรรมชาติจระเข้ตัวผู้จะมีถิ่นอาศัย มีอาณาเขต เมื่อโตขึ้นจะไม่อยู่ร่วมกับตัวผู้ตัวอื่น ต้องออกเดินทางหาอาณาเขตใหม่

ผมไม่สามารถอธิบายได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์หรอกว่าปล่อยไปเถอะ ไม่อันตราย ไม่มีความเสี่ยง เพราะแม้แต่จระเข้ที่เขาใหญ่คนไปถ่ายเซลฟีก็โดนงับ ก็มีโอกาสที่จะโดนกัด ขนาดหมาที่บ้านเลี้ยงไว้ยังมีโอกาสโดนมันกัดเลย เราเดินอยู่เฉย ๆ ก็มีโอกาสสะดุดล้มจนตายได้เหมือนกัน มีความเสี่ยงทั้งนั้น เพียงแต่จระเข้น้ำเค็มก็มีสิทธิ์ที่จะอยู่

ถามว่าวันแรกเราเห็นมันที่ไหน มันว่ายอยู่ในทะเลอย่างมีความสุข แล้วเราจับมันมาขังไว้ในบ่อปูน ทั้งที่เป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างความเข้าใจร่วมกัน

ที่ผ่านมามีชาวบ้านอยู่ร่วมกับจระเข้ได้นะ อย่างที่คลองชมพู พิษณุโลก ผมเคยถามเขาว่าทำไมพี่ถึงอยากอนุรักษ์จระเข้ เขาบอกมันเป็นดัชนีชี้วัดอย่างหนึ่งว่าบ้านเขาอุดมสมบูรณ์ จระเข้อยู่ได้เขาก็อยู่ได้ แบ่งปลาในคลองกันกิน ดำน้ำหาปลาเจอจระเข้เป็นเรื่องปรกติ จระเข้น้ำจืดไม่ได้ตัวใหญ่และตามปรกติไม่ได้กินคน

พูดตรง ๆ คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนยอมรับว่ามีจระเข้ว่ายไปว่ายมาอยู่ในเกาะภูเก็ต แต่ถามว่าสามารถใช้เหตุการณ์นี้สร้างความเข้าใจได้ไหม ผมว่าได้ แล้วสมมุติว่ายังมีจระเข้อีก มันก็จะไม่ถูกจับอีก หรือจะถูกปฏิบัติอีกแบบหนึ่ง

เมื่อเช้าผมยังดีใจ เข้าไปในเว็บไซต์ของคนภูเก็ต ทุกคนก็ด่านะว่าจับทำไม มันอยู่มาตั้งนานไม่เห็นเป็นอะไร ชาวประมงก็บอกว่าเห็นมา ๑๐ ปีแล้ว ไม่เห็นจะเคยทำอะไรใคร

คนเมืองอาศัยอยู่ในเมืองไม่ค่อยเห็นความหลากหลายทางชีวภาพ แล้วเราจะสื่อสารเรื่องนี้อย่างไร
ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นมาไม่นาน ตามคำว่า biodiversity ทุกวันนี้คนยังไม่ค่อยเข้าใจเลยว่า biodiversity คืออะไร  วันที่ผมได้รางวัลคุณแม่ยังถามว่าเกี่ยวกับอะไรกันแน่  แม่ผมเป็นคนใต้ ผมบอกให้แม่นึกถึงว่าในจานข้าวยำมีอะไรอยู่บ้าง มีทั้งข้าวอัญชัน ข้าวขมิ้น มีผักนู่นผักนี่ นั่นละคือความหลากหลายทางชีวภาพ

คุณลองไปที่ร้านข้าวแกงแล้วดูว่าสิ่งมีชีวิตที่เราเอามาใช้ประโยชน์อยู่ในถาดมีอะไรบ้าง แค่มองด้วยตาก็เห็นว่ามีตั้ง ๓๐-๔๐ ชนิด พืชพรรณของไทยกว่าจะออกมาเป็นแกงนี่เป็นสิบ บางคนชอบกินกล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม  ถ้าชอบกล้วยหักมุกต้องเอามาเผา บวชชีก็ต้องกล้วยน้ำว้า จะใช้ใบตองต้องกล้วยตานี นี่คือความหลากหลายทางชีวภาพ ประเทศไทยโชคดีมากเพราะเรามีความหลากหลายสูงมาก แต่เราไม่เห็นคุณค่า

เอ็ดเวิร์ด ออสบอร์น วิลสัน (Edward Osborne Wilson) นักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์บอกว่า ในประเทศหนึ่งมีสมบัติที่สำคัญอยู่สามอย่าง หนึ่ง สมบัติด้านการเงิน มีเงินทองเก็บในคลังแค่ไหน สอง สมบัติทางวัฒนธรรม พวกของเก่าของโบราณ วัฒนธรรมที่แตกต่าง  สาม คือความหลากหลายทางชีวภาพ  เอ็ดเวิร์ดบอกว่าเงินกับวัฒนธรรมสร้างได้ แต่ความหลากหลายทางชีวภาพพระเจ้ามอบให้มาไม่เท่ากัน แต่ละประเทศมีความหลากหลายทางชีวภาพต่างกัน ประเทศใดมีมากได้เปรียบ เหมือนมีกองทุนสำรอง และเขาบอกว่าในอนาคตประเทศที่เอาความหลากหลายทางชีวภาพมาใช้ประโยชน์ได้มากที่สุดจะเป็นประเทศที่ได้ดีและร่ำรวย

ประเทศไทยอยู่ในจุดที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง อยู่ตรงสี่แยกแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ เรามีคลังสำรองพวกนี้อยู่มากรอให้นำมาใช้ แล้วเราจะปล่อยให้มันหมด ปล่อยให้สูญพันธุ์ไปหรือ  ในป่าของเรามียารักษาโรค หรือพืชที่เก็บมากินแล้วดี อร่อย มีอะไรที่สวยงาม หอมหวาน น่ารัก  ทุกวันนี้เรามีปลาน้ำจืดอยู่มากกว่า ๘๕๐ ชนิด แต่เรากินปลาอยู่แค่ไม่กี่ชนิด ยังมีอะไรอีกมากที่เอามาใช้ประโยชน์ได้

nontinv04 1

คุณเคยเขียนบทความเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตบนภูเขาหินปูนที่สระบุรีลงนิตยสาร สารคดี ทำไมคุณถึงสนใจเรื่องนี้
สระบุรีเป็นตัวเปิดโลกของผม พื้นที่ภูเขาหินปูนที่สระบุรีเป็นเหมือนเกาะย่อม ๆ สัตว์หรือสิ่งมีชีวิตชนิดไหนปรับตัวได้ก็จะอาศัยอยู่กับภูเขาหินปูนนั่นแหละ เขาหินปูนจึงเหมือนกับเกาะที่ถูกล้อมรอบไว้ด้วยที่ราบ

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นน้อยเพราะอยู่บริเวณจุดศูนย์กลางการกระจายพันธุ์ แต่เฉพาะบนภูเขาหินปูนที่สระบุรีมีสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นเยอะมาก เทียบต่อพื้นที่ผมว่ามากที่สุดในประเทศไทย ไม่ว่าสัตว์เลื้อยคลาน พืช หรือแม้กระทั่งนกเฉพาะถิ่นที่บ้านเรามีอย่างละชนิดก็อยู่ที่นี่ คือนกจู๋เต้นเขาหินปูนพันธุ์สระบุรี แต่ก่อนเป็นชนิดย่อยตอนนี้ถูกยกเป็นชนิดเต็มแล้ว มีหนูขนเสี้ยนเขาหินปูน มีค้างคาวที่เจอเฉพาะละแวกนั้น หอยทาก กิ้งกือ แมงมุม  มีต้นไม้ทั้งปรง โมก แค บุก เทียน เรียกว่าเดินเข้าไปจิ้ม โยน เขวี้ยง ต้องเจอเฉพาะถิ่นสักอย่าง แม้แต่ตุ๊กกายตรงหน้าพระลานก็เป็นสัตว์เฉพาะถิ่น พอเลยมาทางมวกเหล็กก็เป็นอีกชนิด บนเขาหินปูนบางลูกมีตุ๊กแกสามชนิด เป็นเฉพาะถิ่นของสระบุรีเสียสอง เรียกว่าเท่มาก

ขณะเดียวกันระบบนิเวศที่นั่นกำลังถูกทำลายอย่างมากจากโรงปูน โรงโม่หิน ก็เลยทำให้ผมสนใจ คิดว่าทำยังไงถึงจะไปศึกษาเพื่อหาทางอนุรักษ์ไว้ได้

ที่ผ่านมาเรารักษาหรือทำลายความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไร
ผมยกตัวอย่างเกมไม้ตึกถล่มเจงก้า (Jenga) เรากำลังเล่นเกมนี้ แถมยังปิดตาเล่น คงมีสักวันที่เราดึงตัวฐานสำคัญทำให้ทุกอย่างพังลงมา แต่อย่างที่ผมบอกว่าระบบนิเวศของไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพมาก ห่วงโซ่อาหารซับซ้อนมาก สิ่งหนึ่งหายไปก็อาจยังไม่เป็นไร เปลี่ยนไปกินอีกอย่างหนึ่งได้ แต่ถ้าเราอยู่ในระบบนิเวศที่ซับซ้อนน้อยกว่านี้ แบบที่มีสิ่งมีชีวิตคีย์สโตน (keystone species) แค่ตัวเดียว ถ้าหมดไปหมายถึงเจงก้าชิ้นนั้นถูกดึงแล้วระบบนิเวศพังทันที  ตัวอย่างคลาสสิกคือชายฝั่งอเมริกาทางตอนเหนือ มีนากทะเลขนปุยนิ่มอาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่ง มีสาหร่ายเคลป์แหล่งใหญ่เป็นดงอยู่ใต้น้ำ มีปลา แมวน้ำ มีอะไรต่อมิอะไรในดงนี้เต็มไปหมด แต่แล้วนากทะเลก็ถูกล่าเอาขนไปทำเสื้อ นากชอบกินหอยเม่น หอยเม่นชอบกินสาหร่ายเคลป์ นากทะเลจะคอยควบคุมประชากรหอยเม่นไม่ให้มีมากเกินไป พอนากทะเลหมดไปเพราะถูกล่า หอยเม่นก็เพิ่มจำนวนแล้วกินสาหร่ายเคลป์จนหมด เมื่อสาหร่ายเคลป์หมดก็เหมือนกับป่าถูกทำลาย ระบบนิเวศตรงนั้นล่มสลายไปเลย นี่คือตัวอย่างง่าย ๆ

สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งสูญพันธุ์จะเป็นอะไรไหม สำหรับประเทศไทยอาจไม่เป็นไรในทันที แต่ถ้าดึงออกไปมาก ๆ ถึงจุดหนึ่งก็พัง หรือถ้าเราเติมเข้ามาอย่างกรณีเอเลียนสปีชีส์ (alien species) สมมุติโยนปลาล่าเหยื่อเพิ่มในระบบนิเวศอีกหนึ่งชนิดก็คงไม่เดือดร้อนมากเพราะมีปลาล่าเหยื่ออยู่แล้วเยอะแยะ เทียบไม่ได้กับบางประเทศที่ไม่เคยมีปลาล่าเหยื่อขนาดใหญ่ อยู่ดี ๆ โยนลงไป หรือระบบนิเวศของเกาะบางเกาะที่ไม่เคยมีงูมาก่อน อยู่ดี ๆ เราโยนงูลงไป งูก็กินนกกินอะไรเละเทะไปหมด ของอย่างนี้ประเทศไทยนาน ๆ จะเจอ ล่าสุดคือปลาหมอสีคางดำที่ลงไปแหล่งน้ำแล้วก่อให้เกิดปัญหา รุกรานพื้นที่น้ำกร่อยแถวคลองโคน เพชรบุรี กินกุ้งจนหมดบ่อ ตีอวนขึ้นมามีแต่ปลาหมอ

ส่วนหนู แมลงสาบ หรือผักตบชวา เราก็อยู่ร่วมกับมันมานานจนชิน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นเอเลียนสปีชีส์

กรณีสมันที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ส่งผลกระทบอะไรกับระบบนิเวศบ้างไหม
เรื่องสัตว์สูญพันธุ์ถ้ามุ่งไปที่ระบบนิเวศอย่างเดียวบางทีก็เหมือนเห็นแก่ตัว มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง สมันก็เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ทำไมเราถึงคิดว่ามนุษย์ต้องอยู่ได้ แต่สัตว์อื่นสูญพันธุ์ไม่เป็นไร  ทุกชีวิตมีสิทธิ์ที่จะอยู่ ไม่ใช่บอกว่าสมันสูญพันธุ์ไม่เดือดร้อน

ปลาหวีเกศ ปลาหางไหม้ ถามว่าสูญพันธุ์ไปแล้วเดือดร้อนหรือเปล่า ผมว่าไม่เดือดร้อนหรอก เพราะว่า หนึ่ง เราอยู่ในประเทศที่มีความหลากหลาย ตัวหนึ่งหายไปก็มีอีกตัวมาแทน  สอง ทุกวันนี้เราอยู่ในช่วงแรกเริ่มรับผลกระทบที่ทำลายสิ่งแวดล้อมกันมานานตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เราเป็นคนรุ่นแรกที่มีเทคโนโลยีที่รับรู้ได้ว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลงแล้วนะ เป็นมนุษย์ชุดแรกที่เริ่มรู้จักเรื่องโลกร้อน อากาศแปรปรวน พายุเกิดมากขึ้น อยู่ดี ๆ น้ำก็ท่วม เดี๋ยวน้ำก็แห้ง เอลนีโญก็เกิดบ่อยและแรง เราเป็นยุคแรกที่เริ่มรับรู้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเป็นคนยุคแรกที่เริ่มแก้ไข

คนเมืองอาศัยอยู่ในเมือง ใช้น้ำจากก๊อก กินข้าวในกล่องพลาสติก จะยังเห็นความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพอยู่หรือ
ผมเชื่อว่าการเห็นป่า น้ำ สัตว์ แล้วมีความสุขนั้นอยู่ในตัวเราทุกคน ทำไมถึงวันหยุดยาว ๆ คนจะต้องแห่ไปเที่ยวเขาใหญ่ แออัดกันที่ยอดดอยอินทนนท์ เข้าไปดูป่า ธรรมชาติ วิวกว้าง ๆ สูดอากาศบริสุทธิ์

เราเห็นนก เห็นป่า เห็นความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติแล้วมีความสุข ก็เพราะว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องพึ่งพาความหลากหลายทางชีวภาพ พึ่งพาระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ ครั้งหนึ่งผมทำรูปขึ้นมา ลบนกสองตัวที่เกาะบนกิ่งไม้ออก แล้วถามว่าชอบรูปเดิมหรือรูปใหม่ ทุกคนชี้รูปที่มีนก เรารู้สึกว่าป่าที่มีนกอยู่ต้องอุดมสมบูรณ์ มีอาหาร ลูกไม้ ถึงแม้ว่าเราจะเกิดในเมืองก็ตาม

วันนี้ผมคิดว่าเรากำลังถูกแยกออกจากพื้นที่ตรงนั้น แล้วผมอยากให้พื้นที่แบบนั้นถูกดึงกลับเข้ามาในการใช้ชีวิต เช่น มีสวนสาธารณะในเมืองที่มีนก ต้นไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ และมีป้ายให้ความรู้ มีหนังสารคดีให้ดู มีสื่อ เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ที่มีบทความให้ได้รับรู้ว่ามีอะไรอยู่ในระบบนิเวศ

ในยุโรปเขาติดป้ายบอกเลยว่าปลาที่ขายในซูเปอร์มาร์เกตถูกจับมาจากที่ไหน ใช้อุปกรณ์อะไร เราต้องเชื่อมคนกลับไปหาธรรมชาติให้ได้ เด็ก ๆ ซึมซับได้ง่าย พ่อแม่ถ้าพาลูกไปดูป่า ไปอควาเรียม จะพาไปเขาดินหรือพารากอนก็ได้ ให้เด็กเลี้ยงปลาไว้สักตู้ เลี้ยงหมาสักตัว ผมว่ามันช่วยได้นะ ทำให้เด็กซึมซับที่จะรู้จักแคร์สัตว์ รู้จักเรียนรู้ว่าหมาไม่เหมือนคนนะมันไม่มีเหงื่อ ถ้าปิดปาก มันก็จะร้อน ต้องสอนเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ พวกนี้

การทำให้คนตระหนักในเรื่องพวกนี้จะช่วยให้การทำงานอนุรักษ์ง่ายขึ้น ในที่สุดคือเมืองมันผลิตอาหารไม่ได้นะครับ จุดเริ่มต้นของอาหารมาจากธรรมชาติที่สมบูรณ์เท่านั้น เราต้องหาทางเชื่อมอาหารในกล่องนั้นกลับออกไปสู่ธรรมชาติให้ได้

กรณีให้ไปดูปลาที่อควาเรียมจะกลายเป็นสนับสนุนให้เอาปลามาเลี้ยง กักขังมันไว้ เหมือนที่สวนสัตว์จับสัตว์มาโชว์
ผมเป็นนักอนุรักษ์ที่มีพื้นฐานเลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์มาตลอด ผมเรียนรู้ในความเป็นมัน จะไม่เอาใจของมนุษย์เข้าไปใส่ ไม่ดราม่าว่าจะต้องไม่กักขังนก นกจะต้องได้บินอยู่ในท้องฟ้า ปลาจะต้องมีอิสระว่ายน้ำไปมา คือผมเรียนรู้ว่านกไม่ได้มีปีกเพื่อจะบินไปเที่ยวอย่างอิสรเสรี ปลาไม่ได้ว่ายน้ำแบบนึกจะว่ายไปไหนก็ว่ายไปอย่างมีความสุข แต่นกมีปีกเพื่อบินไปหาอาหาร หลบภัย หารังนอน ปลาก็เหมือนกัน ถ้าเราเข้าใจมัน สร้างที่อยู่ให้เหมาะสม มีอาหาร มีอะไรทุกอย่าง สัตว์ในที่เลี้ยงก็มีความสุขได้

ผมไม่มองว่าเป็นการติดคุก สัตว์ไม่ได้มีจิตสำนึกว่าต้องมีชีวิตอย่างเสรี สัตว์ที่อยู่ในที่เลี้ยงเหมาะสมและได้รับการดูแลดีก็มีความสุขได้ หมาแมวในบ้าน เปิดประตูแล้วมันวิ่งหนีไหม มันอยู่ในบ้าน มีอาหาร ที่อยู่ปลอดภัย มันก็อยู่ได้ ก็มีความสุข  ถ้าคนเห็นปลาในอควาเรียมหรือสัตว์ในสวนสัตว์แล้วจะอยากเลี้ยงสัตว์นะ เลี้ยงได้เลย ผมไม่ห่วงนะ แทบอยากสนับสนุนให้เด็กทุกคนมีสัตว์เลี้ยงด้วยซ้ำไป การเลี้ยงสัตว์เป็นการสอนให้เขารู้จักศึกษา แต่ไม่ใช่เอาสัตว์ประหลาดหรือสัตว์ผิดกฎหมายมาเลี้ยง การเลี้ยงสัตว์ต้องอยู่ในพื้นฐานที่ถูกต้อง

ตอนนี้เลี้ยงอะไรบ้าง
เยอะมาก เต็มบ้านเลย ทั้งปลา หมา นก เต่า มีหลายอย่าง แต่ไม่เลี้ยงงู งูต้องกินหนู ผมไม่ชอบ

ผมจะเป็นส่วนผสมของความคิดประหลาด ในวงการอนุรักษ์บางคนเปรียบผมเป็น เจอรัลด์ เดอร์เรลล์ (Gerald Durrell) เจ้าของสวนสัตว์ที่ชีวิตในวัยหนุ่มเที่ยวไปทั่วโลก ไล่จับสัตว์มาเลี้ยง เขียนบทความ เขียนหนังสือ ตั้งกองทุน

ผมไม่ใช่นักอนุรักษ์สายบริสุทธิ์ ผมทำธุรกิจด้วย เลี้ยงสัตว์ด้วย ไปดูปลาในธรรมชาติก็จับมาเลี้ยง บางคนบอกว่าผมไม่ใช่นักอนุรักษ์สายสีขาว จะออกเทา ๆ แต่ผมรู้ตัวว่าจะไม่เทาเข้มจนเกินไป

เลี้ยงสัตว์หลายชนิดอย่างนี้เวลาให้อาหารทำอย่างไร
ผมค่อย ๆ เรียนรู้ว่ามีหลายวิธี ปลาทุกตัวถ้าคุณเป็นคนให้อาหารเองทุกวัน จะรู้ทางมันว่าตัวไหนชอบอะไร แม้แต่เวลาและปริมาณที่ให้ก็ไม่เหมือนกัน ผมมักจะยกตัวอย่างให้ฟังว่า อย่างลูกปลากัด ปลามันว่ายน้ำผิดระดับแค่มิลลิเมตรเดียวผมก็รู้แล้วว่ามันป่วย เพราะลูกปลากัดเวลาสุขภาพดีมันจะว่ายอยู่ใต้น้ำนิดเดียว เมื่อไรที่ป่วยมันจะลอยหัวขึ้นแตะผิวน้ำ พยายามขึ้นมาหาอากาศหายใจ

การเลี้ยงปลาสอนผมมากมายตั้งแต่เด็ก แค่เห็นมันกินอาหารก็มีความสุข

ปลาบางตัวอาจเป็นความภูมิใจที่ได้ครอบครอง บางตัวชอบเพราะสีสวย บางตัวเลี้ยงหลังจากเอามาถ่ายรูป บางตัวมีพฤติกรรมน่าสนใจก็เลี้ยงเพื่อศึกษาว่ามันอยู่ยังไงกันแน่  ผมมีปลาไหลอยู่ตัวหนึ่งน่าสนใจมาก ได้มา ถ่ายรูปแล้วก็เลี้ยงไว้ เป็นปลาไหลที่อาศัยอยู่ในโคลน ผมก็จะใส่โคลนไว้ในตู้ อยู่กันมาเกือบ ๑๐ ปีแต่แทบไม่เคยเห็นตัว รู้ว่ามันยังอยู่เพราะน้ำคลุ้งตลอดเวลา นาน ๆ ครั้งมันถึงจะมาเบียดอยู่ข้างตู้ ถามว่าผมเห็นหน้ามันหรือเปล่า ก็ไม่

ล่าสุดผมมีปลาตะพัดลายงู ซึ่งเป็นปลาที่หายากมาก ผมได้ปลาตัวนี้มาตั้งแต่มันเล็ก ๆ เลี้ยงจนโตถึงวัยเจริญพันธุ์ เห็นมันว่ายอยู่ในตู้ตัวเดียวก็รู้สึกไม่สบายใจมาก พอดีไปรู้ว่าเพื่อนที่ทำฟาร์มปลาตะพัดก็มีปลาลายงูอยู่เหมือนกัน ก็เลยบอกเค้าว่าผมยกปลาตัวนี้ให้มันได้ไปมีโอกาสสืบทอดเผ่าพันธุ์ดีกว่า ผมไม่อยากให้มันตายอยู่ในตู้แบบนี้  คุยกันไปคุยกันมาเค้าก็ไม่ยอมรับฟรี เลยจ่ายเงินผมมาจำนวนหนึ่งซึ่งถูกกว่าตอนที่ผมซื้อมาหลายเท่า เอาไปอยู่กับเค้าได้สักเดือนนี่เค้าก็เพิ่งแจ้งว่าปลาของผมเป็นตัวเมีย ปล่อยลงไปรวมกับตัวผู้ในบ่อเค้าได้ไม่กี่สัปดาห์ ตอนนี้ปลาตัวผู้เค้าอมไข่แล้ว คือดีใจมาก

เราไม่ได้รักสัตว์มากกว่าคน
แต่มองว่าในระบบนิเวศ
ที่คนสามารถอยู่ร่วมกับสัตว์ได้
นั่นแหละคือภาวะที่ดีที่สุด

มีคนบอกว่านักอนุรักษ์สนใจสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลก ไม่สนใจอย่างเดียวคือคน คุณมีความเห็นอย่างไร
คนเป็นสิ่งมีชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ เราอาจบอกว่าอนุรักษ์ป่าไว้ให้เสือ แต่ขณะเดียวกันมนุษย์ทุกคนใช้ประโยชน์
จากป่าทั้งนั้นไม่ว่าทางตรงหรืออ้อม เราคิดหรือว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวในโลกแล้วอยู่ได้ เป็นไปไม่ได้

ในที่สุดแล้วเราต้องพึ่งพาระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ต้องมีป่า ญี่ปุ่นมีพื้นที่ป่าคลุมอยู่เกือบ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วเขาเจริญมาได้ยังไง ถ้าบอกว่าความเจริญคือต้องทำลายป่า

นักอนุรักษ์ไม่ได้มองแค่ว่าวันนี้ต้องมีน้ำ ต้องปลูกผักปลูกพืช เรามองไกลกว่านั้น มองถึงรุ่นลูกรุ่นหลานว่าระบบนิเวศที่สมบูรณ์คือการที่สิ่งมีชีวิตต้องอยู่ได้ เราไม่ได้รักสัตว์มากกว่าคน แต่มองว่าในระบบนิเวศที่คนสามารถอยู่ร่วมกับสัตว์ได้นั่นแหละคือภาวะที่ดีที่สุด

อย่างผมมีความสุขที่ได้เห็นนก เห็นปลาชนิดนี้คงอยู่ อาจมีเรื่องส่วนตัวอยู่ด้วย แต่การที่เราอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เก็บระบบนิเวศที่สมบูรณ์ไว้ มีน้ำให้กิน มีการผลิตอาหาร ปุ๋ย ออกซิเจน ออกมาให้มนุษย์ทุกคนได้อยู่ได้ใช้ร่วมกันมากกว่า

สมมุติว่าพรุ่งนี้โลกแตก มนุษย์ต้องขึ้นยานอวกาศไปดาวดวงอื่น จะต้องพาสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นไปด้วยหรือ
คิดว่าไปแต่มนุษย์แล้วรอดไหมล่ะ ไม่น่ารอดนะ

มีคนพูดว่าทุกวันนี้ถ้ามนุษย์สูญพันธุ์ สิ่งมีชีวิตที่เหลือบนโลกจะอยู่กันแบบสันติมาก จะเพิ่มจำนวนประชากร ขณะเดียวกันถ้าสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในโลกหมดไป มนุษย์ไม่มีทางอยู่ได้

ถ้าเหลือแค่มนุษย์กับมีหมูเป็นอาหารจะอยู่ได้ไหม
หมูกินอะไร พืช แล้วพืชกินอะไร พืชก็ต้องการน้ำและอาหาร พืชอาจกินปุ๋ยคือขี้หมู แต่หมูก็ไม่ได้กินแต่พืชนะ พืชที่ตั้งอยู่เดี่ยว ๆ อย่างข้าวหรือข้าวโพดก็ต้องอาศัยสัตว์มาผสมเกสร ในระบบรากของข้าวก็ต้องมีเชื้อรา แบคทีเรียคอยช่วยข้าวหาอาหาร ขณะเดียวกันในท้องนาก็มีหอยที่ช่วยกินช่วยย่อยสลายเศษซากให้เกิดปุ๋ยมากยิ่งขึ้น

ไม่มีสิ่งมีชีวิตชนิดไหนในโลกนี้ที่ไอโซเลตอยู่ได้ด้วยตัวเอง ปลาทับทิมที่เลี้ยงในกระชังส่วนหนึ่งกินปลาป่น เศษกุ้ง ไส้ปลากระป๋อง ปลาเล็กปลาน้อย แม้แต่ปลาเลี้ยงก็กินปลาที่ถูกจับมาจากธรรมชาติเป็นอาหาร  ทุเรียนผสมเกสรด้วยอะไรรู้ไหม ค้างคาว ลองนึกภาพโลกที่ไม่มีค้างคาว ไม่มีทุเรียนกิน  ผมชอบกินทุเรียน เดือดร้อนนะ

ถ้าวันหนึ่งมนุษย์ฉลาดพอที่จะสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาผสมเกสรได้
มันก็เสียเงินเพิ่ม ในขณะที่ตอนนี้ system service ที่ธรรมชาติทำให้ฟรี เช่น การกรองน้ำ สร้างปุ๋ย ผลิตอาหาร เป็นอะไรที่เรามองข้ามคุณค่าของมันมาก ๆ  เหมือนสร้างเขื่อน สมมุติก่อนสร้างเขื่อน บริเวณนั้นเคยจับปลาได้ปีละ ๑๐๐ กิโลกรัม หลังสร้างเขื่อนปลาธรรมชาติที่มีวงจรชีวิตแบบเดิมไม่มีแล้ว มนุษย์ก็ต้องหางบประมาณเพาะปลามาปล่อย จ้างชาวบ้านเลี้ยง ขนอาหารจากที่ไกล ๆ มาเลีี้ยงเพื่อให้มีปลา ๑๐๐ กิโลกรัมเหมือนเดิม เราทำให้ธรรมชาติที่พึ่งพาตัวเองง่อยเปลี้ยเสียขา แล้วเอางบประมาณที่ควรทำอย่างอื่นได้ตั้งเยอะแยะมาลงตัวนี้เพื่อทำให้มันเกิดขึ้นเหมือนเดิม

ตามหลักการที่เรียนมาด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม การที่ธรรมชาติพึ่งพาตัวเองได้ หมุนเวียนทดแทน (renewable) เรื่อย ๆ มันเป็นระบบที่ดีที่สุด เราไม่ควรทำให้สายพานที่เกิดขึ้นในธรรมชาติหลุดพังไป

อย่างไรก็ตามถามว่าจะมีวันที่มนุษย์มีเทคโนโลยีถึงขนาดที่จะผสมเกสรหรือกระทำเรื่องอื่น ๆ ไหม ผมไม่เชื่อว่าจะมี

ลูกน้องในบริษัทรู้ไหมว่าเจ้านายของพวกเขาเป็นนักอนุรักษ์
รู้ เพราะสิ่งนี้ถูกส่งผ่านไปยังธุรกิจของผมและที่บ้าน เราทำสนามกอล์ฟซึ่งไม่ได้ปลูกต้นไม้น่าเบื่อ ๆ อย่างเดียว ผมปลูกต้นไม้ท้องถิ่นของไทย ไม้ผลต่าง ๆ ให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ บ่อน้ำก็ไม่ได้เป็นบ่อน้ำลึก ๆ ที่เอาไว้กักเก็บแค่น้ำ แต่มีบ่อตื้น ๆ ให้พืชน้ำขึ้น ให้ปลา เป็ด นก งู เหี้ย ได้อาศัย แล้วใช้สารเคมีน้อยมาก สนามกอล์ฟแต่เดิมถูกมองว่ามันแย่ ไม่ดี ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ แต่เราไม่ได้บุกป่าสร้างสนามกอล์ฟ เราสร้างจากพื้นที่ท้องนา พื้นที่พืชเกษตรเชิงเดี่ยวถ้าเปลี่ยนเป็นสนามกอล์ฟจะมีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้นนะ สนามกอล์ฟของผมเป็นที่อยู่ของนกเขา นกเอี้ยง นกพวกนี้หากินอยู่รอบ ๆ ตกกลางคืนก็นอนอยู่ในสนาม พอคนกลับหมดช่วงเย็น ๆ นกเต็มเลย ผมแทบไม่อยากออกไปเดินเลยเพราะกลัวรบกวนพวกมัน เราปล่อยให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ในนั้น

ครอบครัวผมทำโรงงานน้ำตาลตั้งแต่สมัยพ่อ ตอนเด็ก ๆ เราเรียนกันว่าโรงงานน้ำตาลทำน้ำเสีย แต่พ่อผมสร้างโรงงานน้ำตาลโรงแรกที่ไม่อยู่ติดแม่น้ำ เรามีบ่อน้ำ มีการบำบัด ไม่มีการปล่อยน้ำเสียลงในแหล่งน้ำสาธารณะ ทุกอย่างวนอยู่ในตัว เราปรับปรุงระบบ ปล่อยควันให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ บ่อบำบัดน้ำเสียเราแก้ไข ดูแล เติมอากาศ ทุกวันนี้ฤดูนกอพยพหรือแม้แต่นอกฤดูนกเต็มเลย ผมถ่ายรูปไปแสดงที่ฟิลิปปินส์ บอกว่านี่ไม่ใช่อุทยานแห่งชาตินะ นี่บ่อบำบัดน้ำโรงงานผม แต่มีนกเยอะมาก

ส่วนหนึ่งที่ สผ. เลือกผม เขาอาจคิดว่าผมแปลก คือไม่ได้เป็นนักอนุรักษ์อย่างเดียว แต่เป็นนักธุรกิจที่เอาความเป็นนักอนุรักษ์ใส่ลงไปในงาน

ผมออกไปต้านเขื่อน ไม่อยากให้สร้าง ที่โรงงานก็พยายามประหยัดพลังงาน ลงทุนผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวลขึ้นมาใช้และขายให้กับการไฟฟ้าฯ พยายามลงทุนปรับปรุงพันธุ์หญ้าเพื่อใช้เป็นพลังชีวมวลที่โตเร็วขึ้นเป็นพลังงานได้ ล่าสุดนี้ผมตั้งบริษัทใหม่ เพื่อที่จะเป็นบริษัทที่พูดได้เต็มปากว่านำความหลากหลายทางชีวภาพมาขายกันจริง ๆ

ตอนนี้ในประเทศไทยมีหน่วยงานรัฐหน่วยใดดูแลเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ
หน่วยงานหลักเป็นสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แต่ทำได้เฉพาะนโยบายและแผน ต้องให้หน่วยงานที่เป็นภาคปฏิบัติไปทำ เช่น สผ. จะอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ ก็ต้องดูว่าเป็นพื้นที่ของใคร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ ฯลฯ เขาแบ่งกันไป ขณะเดียวกันก็มีเอ็นจีโอหลายสายที่คอยช่วยเหลือสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ

เป็นโมเดลที่เหมาะสมแล้วหรือเปล่า
โมเดลนี้ถ้าทุกคนเข้าใจระบบนิเวศก็ทำงานได้ แต่ทุกวันนี้เหมือนเรื่องที่เล่าว่ามีคนไปเห็นคนงานคนหนึ่งขุดหลุม อีกคนหนึ่งตามกลบ มีคนไปถามว่ากำลังทำอะไร ได้คำตอบว่าคนหนึ่งถูกจ้างมาขุด อีกคนหนึ่งถูกจ้างมากลบ ส่วนคนที่ต้องเอาต้นไม้มาปลูกกำลังป่วย ก็เลยไม่มีคนปลูกต้นไม้ กลายเป็นทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองโดยไม่เชื่อมโยงกัน ไม่เห็นถึงผลประโยชน์หลักที่จะเกิดขึ้น

วันนี้เรามีกรมชลประทานทำหน้าที่หาน้ำให้เกษตรกร หาแนวทางป้องกันน้ำท่วม ก็จะสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ ไม่ได้มองเลยว่าเขื่อนอยู่ในป่า กรมชลประทานกำลังจะทำลายระบบนิเวศน้ำนะ ทำลายป่านะ  กรมทางหลวงมีหน้าที่ตัดถนนก็ไม่สนใจว่าตัดผ่านป่าหรือเปล่า ถ้ามองด้านการอนุรักษ์มันต้องทำงานร่วมกัน

ขณะเดียวกันการมีเอ็นจีโอก็เหมือนเป็น check & balance โดยทั่วไปเอ็นจีโอมีหน้าที่คล้าย ๆ นักข่าว คือคอยตรวจสอบโครงการของรัฐ สนับสนุนข้อมูลอีกด้านในยามจำเป็น ผมคิดว่าเอ็นจีโอบ้านเราค่อนข้างมีความรู้และเข้มแข็งระดับหนึ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แต่ก็ไม่ได้มากมายหรอกโดยเฉพาะเอ็นจีโอสายอนุรักษ์

ที่ผ่านมามีโครงการรัฐโครงการใดบ้างที่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพอย่างชัดเจน
ในมุมมองของคนที่อนุรักษ์ทางด้านน้ำจืด ผมว่าโครงการขุดลอกคูคลอง พื้นที่ชุ่มน้ำ ทำลายระบบนิเวศทางน้ำเยอะมาก คนทั่วไปมองว่ายิ่งมีน้ำเยอะยิ่งดี แต่ความหลากหลายทางชีวภาพจะเกิดขึ้นได้ต้องมีความหลากหลายของระบบนิเวศ ซึ่งระบบนิเวศที่น้ำตื้น มีจุดที่พืชขึ้นได้เป็นส่วนที่สำคัญ พื้นที่ชายน้ำส่วนที่เป็นรอยต่อของบกกับน้ำสำคัญ แต่ทุกวันนี้กลับกลายเป็นว่าเราต้องขุดให้ลึก ชัน มีกำแพงกั้น เราแยกน้ำออกจากบก ทำให้ระบบนิเวศในน้ำไม่สมบูรณ์ บนบกก็ไม่สมบูรณ์

ความจริงน้ำหรือแม่น้ำผลิตอาหารได้เองไม่เยอะนะ เพราะผู้ผลิตอาหารหลักในระบบนิเวศคือพืช ในน้ำมีพืชไม่มากมาย มีแพลงก์ตอน พืช ต้นไม้ที่อยู่ในน้ำได้ไม่กี่ชนิด แม่น้ำเจ้าพระยาส่วนที่อยู่ในกรุงเทพฯ นอกจากพืชลอยน้ำแล้วแทบไม่มีพืชใต้น้ำเลย เพราะฉะนั้น input ของอาหารจะมาจากบนบก จากการที่น้ำท่วม
เข้าไปในทุ่ง มีผลไม้ตกน้ำ หรือมีรอยเชื่อมต่อของกอหญ้า  ต้นไม้ที่ขึ้นริมฝั่งเมื่อขุดลอก ตัดขาด ก็ทำให้ระบบนิเวศในน้ำเสื่อม

การที่เรามีแก่ง มีฟองอากาศ ก็เติมอากาศให้น้ำ เหมือนปอด เราบอกว่าแก่งกีดขวางการจราจร กีดขวางการระบายน้ำ ขุดแก่งขึ้นมา หนึ่ง ทำให้คุณภาพน้ำแย่ลง  สอง ทำให้ปลาบางชนิดไม่มีที่อยู่อาศัย ทุกวันนี้เราอ้างเรื่องอุทกภัย ภัยแล้ง แต่ลืมไปเลยว่าน้ำเป็นระบบนิเวศอย่างหนึ่งเหมือนกัน

คุณน่าจะเป็นคนแรก ๆ ที่ออกมาคัดค้านการสร้างฝายในป่า โดยเฉพาะกิจกรรม CSR ของบริษัทเอกชน
มีลำธารสายหนึ่งในป่าที่จันทบุรี ผมเห็นครั้งแรกโคตรประทับใจ ยังจำ layout ของลำธารสายนั้นได้จนทุกวันนี้ กอไม้ ตอไม้ อยู่ตรงไหน ใต้ตอไม้มีปลาอะไร มันสวย มันเท่ พออีก ๒ ปีกลับไปใหม่ ปรากฏว่ามีฝายคอนกรีตขนาดใหญ่ น้ำนิ่ง เน่ายาวตลอด ทำให้สะอึกขึ้นมา เออเว้ย ฝาย ผมเลยเริ่มสนใจศึกษา สังเกตว่าที่ไหนมีฝายแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง ถึงเห็นว่าฝายทำให้เกิดผลกระทบมากเลยนะ

มีช่วงหนึ่งบริษัทปูนรายใหญ่บอกว่าฝายดี ยกพระราชดำรัสในหลวงแต่ก็ยกมาไม่หมด คนก็บอกว่าฝายดีตาม ๆ กัน ทำฝายกันใหญ่

การทำฝายมันสนุก เหมือนไปเที่ยวเล่น อยู่ในน้ำ ยกหิน สนุกแล้วไม่ต้องรับผิดชอบ ทำเดี๋ยวเดียวจบ ได้เล่นน้ำแล้วกลับบ้าน ไม่เหมือนปลูกป่า ไม่รู้ต้นไม้จะรอดหรือเปล่า เพราะต้องรดน้ำ การทำฝายกลายเป็น CSR ยอดนิยม ไม่ได้มองว่าทำแล้วเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ

ฝายที่ดีและไม่ดีเป็นอย่างไร
ในหลวงบอกว่าฝายมีประโยชน์สองลักษณะ หนึ่ง ถ้าอยู่ในพื้นที่ทางการเกษตรที่มีคนคือช่วยยกระดับน้ำให้ไหลเข้านาหรือสวน  สอง ในพื้นที่ป่าถูกทำลาย ไม่สามารถเก็บน้ำได้ มีการชะล้างหน้าดิน การสร้างฝายตามทางไหลของน้ำจะช่วยดักตะกอนที่ถูกน้ำชะล้างให้เก็บอยู่ในพื้นที่ เพิ่มความชุ่มชื้นในป่า ทำให้แหล่งน้ำด้านล่างไม่เสียหาย

ในหลวงบอกชัดเจนเลยว่าสร้างฝายเพื่อฟื้นฟูป่า แต่ต้องอยู่ในป่าที่ไม่สมบูรณ์ ทำแล้วมีประโยชน์ ไม่ใช่ทำในลำธารที่มีน้ำไหลมากตลอดปี

แต่เราไปสร้างมั่วซั่ว สร้างในเขตอุทยานแห่งชาติ ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่ไม่ต้องการฝาย ล่าสุดผมเห็นที่น้ำตกขุนกรณ์ ถามเจ้าหน้าที่ว่าสร้างฝายทำไม เขาบอกยกระดับน้ำให้นักท่องเที่ยวเล่นน้ำ ผ่านไปแค่ปีเดียวทรายก็ถมจนเต็ม นักท่องเที่ยวก็เล่นน้ำไม่ได้ ปลาก็หายไป ระบบนิเวศก็พัง

เวลาผมพยายามอธิบาย บางคนเขาก็หาว่าผมเป็นมารผจญของคนจะทำดี ถึงตอนนี้ก็ยังฮิตสร้างฝาย ไม่ว่าบริษัทเอกชนหรือโครงการฝายประชารัฐ เพราะเสียงของผมดังไม่พอ ตัวอย่างล่าสุดมีน้ำอัดลมยี่ห้อหนึ่งอยากจะเล่นเรื่องฝาย ก็จ้างพี่ติ๊ก เจษฎาภรณ์ มาบอกว่าฝายดี คนดูแป๊บเดียว ๕-๖ ล้านวิว  ส่วนของ ดร. นณณ์ทำคลิปเรื่องผลกระทบจากฝายมาตั้งหลายปี มีคนดูแค่ ๑๐๐ กว่าวิว บางทีก็ท้อเหมือนกัน

เวลานี้คุณกำลังทำโครงการอะไรอยู่ และอนาคตคิดว่าจะทำอะไร
โปรเจกต์ใหญ่ในชีวิตที่กำลังทำคือเขียนหนังสือปลาน้ำจืดของไทยให้เสร็จสมบูรณ์ ตั้งแต่ The Fresh-water fishes of Siam, or Thailand ของ Hugh M. Smith ก็ผ่านมา ๕๐-๖๐ ปีแล้ว จากนั้นเราไม่เคยมีหนังสือที่พยายามรวบรวมปลาให้ครบทั้งประเทศอีกเลย แม้แต่เล่มของ ดร. ชวลิต วิทยานนท์ พิมพ์กับสำนักพิมพ์สารคดี ก็มีอยู่ประมาณ ๑๐๐ กว่าชนิด ทั้งที่ปลาน้ำจืดของไทยตอนนี้พบมากกว่า ๘๕๐ ชนิด

ผมตั้งใจว่ารวมปลาน้ำกร่อยเข้าไปอีก ทำมาเป็น ๑๐ ปีแล้ว ภาพปลาของผมเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ถ่ายจากปลาที่ยังมีชีวิต บางส่วนถ่ายในธรรมชาติ เล่มอื่นส่วนใหญ่จะเป็นปลาตาย  ปลาที่เอามาถ่ายรูปแล้วบางทีก็ปล่อยคืน แต่บางส่วนผมก็ต้องเลี้ยงไว้ อย่างปลาที่มาจากนราธิวาสจะปล่อยแถวนี้ไม่ได้ มันผิดน้ำ อย่างที่บอกว่าเราเลี้ยงมันให้มีความสุขได้ เพียงแต่ว่ามันก็จะถูกตัดขาด ไม่ได้ผสมพันธุ์ แต่ก็เป็นแค่ตัวหนึ่งในประชากรที่มีอยู่มากมายเพราะบางชนิดชาวบ้านก็จับมากินอยู่ทุกวัน อย่างนี้ก็เป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน

เชิงอรรถ
*Siamensis หรือสยามเอ็นสิส เป็นคำที่ใช้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้กับสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่พบในประเทศไทย คำนี้เป็นภาษาละติน แปลได้ว่า “พบในประเทศไทย”