อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


โลมาอิรวดีเป็นสัตว์หายากชนิดพันธุ์หนึ่งของแม่น้ำโขง คนลาวเรียกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหายใจด้วยปอดชนิดนี้ว่าปลาข่า

ลูกปลาข่าหรือโลมาอิรวดีนอนตายเกยตื้นแถบสี่พันดอน ลาวตอนใต้ใกล้ชายแดนกัมพูชา (ที่มาภาพ : laoedaily.com.la)

เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๑ เว็บไซด์ laoedaily.com.la ของลาวรายงานการพบซากโลมาอิรวดีบริเวณสี่พันดอนใกล้ชายแดนกัมพูชา ท้ายแม่น้ำโขงลงมาจากโครงการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ด้วยขนาดของลำตัวที่ไม่ใหญ่นัก คาดว่าเป็นลูกโลมาอิรวดี จากรอยคล้ายถูกรัดรอบลำตัวคาดว่ายไปติดมองหรืออวนของคนหาปลาในพื้นที่ซึ่งมีทั้งคนลาวและคนกัมพูชาปะปนกัน

โลมาอิรวดีเป็นสัตว์หายากชนิดพันธุ์หนึ่งของแม่น้ำโขง คนลาวเรียกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหายใจด้วยปอดชนิดนี้ว่า “ปลาข่า” นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกว่าโลมาน้ำจืด โลมาหัวบาตรมีครีบหลัง โลมาหัวหมอน โดยคนลาวมีความเชื่อว่าปลาข่าเป็นสัตว์ของเทพเจ้า มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าปลาข่าจะคอยช่วยเหลือคนหาปลายามเกิดภัยอันตราย

พื้นที่พบซากปลาข่าครั้งนี้เรียกว่าหัวดอนคอนหรือหางดอนฝ้าย ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเวินยาง พื้นที่อนุรักษ์ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาล่องเรือเยี่ยมชม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหานทีสี่พันดอนที่แม่น้ำโขงแตกแขนงออกเป็นเป็นร่องน้ำและมีเกาะแก่งมากมาย และอยู่ท้ายแม่น้ำโขงลงมาจากพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง


ที่ตั้งโครงการเขื่อนดอนสะโฮงอยู่ตรงช่องน้ำหนึ่งของแม่น้ำโขงที่เรียกว่าฮูสะโฮง ก่อนที่สายน้ำทั้งหมดจะไหลผ่านเข้าไปในเขตกัมพูชา เขื่อนดอนสะโฮงอยู่ห่างจากชายแดนกัมพูชาที่จังหวัดสตรึงเตรงเพียง ๒ กิโลเมตรเท่านั้น

ในแต่ละปี ปลาข่าที่อาศัยอยู่แถบนี้จะอาศัยว่ายหากินไปมาหลักๆ อยู่สองที่ คือเวินยางและหัวดอนคอนหรือหางดอนฝ้าย โดยช่วงฤดูน้ำหลากพวกมันมักจะว่ายไปอยู่ตรงหัวดอนคอน ถึงฤดูน้ำลดก็จะอพยพกลับมาอยู่ที่เวินยาง เพราะเวินยางมีวังน้ำขนาดใหญ่และลึกกว่า

plarka2

จากร่องรอยคล้ายถูกรัดรอบลำตัว สันนิษฐานว่าลูกปลาข่าว่ายไปติดมองหรืออวนของคนหาปลา (ภาพ : ครอปจากภาพต้นฉบับใน laoedaily.com.la)

plarka3

ป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับปลาข่าหรือโลมาอิรวดีและพื้นที่อนุรักษ์ (ที่มาภาพ : laoedaily.com.la)

plarka4

แผนผังแสดงที่ตั้งเขื่อนดอนสะโฮงและที่อยู่อาศัยของปลาข่า (ที่มาภาพ : ไพจิต ศิลารักษ์ ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน)

กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF (World Wide Fund for Nature) องค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ เคยรายงานว่าเมื่อปี ๒๕๕๙ พื้นที่แถบชายแดนลาวและกัมพูชานี้สำรวจพบโลมาอิรวดีที่คาดว่าจะเป็นฝูงสุดท้ายจำนวน ๖ ตัวเท่านั้น ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐ พบว่าโลมาอิระวดีเหลืออยู่เพียง ๓ ตัว

โลมาอิรวดีหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าปลาข่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ตั้งท้องนาน ๙ เดือน ออกลูกครั้งละ ๑ ตัว ลูกที่เกิดมามีขนาดประมาณร้อยละ ๔๐ ของตัวโตเต็มวัย กินกุ้ง ปลา และหอยที่อยู่บนผิวน้ำและใต้โคลนตมเป็นอาหาร เป็นหนึ่งในสัตว์สัญลักษณ์ของแม่น้ำโขงเช่นเดียวกับปลาบึก สถานภาพจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์น้ำชนิดพันธุ์หวงห้ามของ สปป.ลาว อันดับที่ ๑ และอยู่ในบัญชีประเภทที่ ๑ ของไซเตส (Appendix I) คือ ห้ามซื้อห้ามขาย ยกเว้นมีไว้ครอบครองเพื่อการศึกษาและขยายพันธุ์

จากจำนวนประชากรที่เหลือไม่มากนัก แม้การพบซากลูกปลาข่าครั้งนี้จะแสดงว่าปลาข่ามีการขยายพันธุ์ แต่ถ้าหากไม่มีมาตรการป้องกันใดๆ ก็อาจมีจำนวนน้อยจนไปไม่สามารถสืบพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาจสูญพันธุ์ไปในที่สุด

ที่ผ่านมารัฐบาลลาวและชาวบ้านต่างก็มองเห็นความสำคัญของสัตว์ชนิดนี้ จึงจัดให้มีการตั้งพื้นที่เขตสงวนปลาข่าที่เวินยาง เปิดให้นักท่องเที่ยวล่องเรือชมความงามตามธรรมชาติ แต่พื้นที่อนุรักษ์ไม่ได้ครอบคลุมเส้นทางที่ปลาข่าจะอพยพไปยังหัวดอนคอน

ช่วงลำน้ำโขงตั้งแต่เวินยางไปถึงหัวดอนคอนจึงยังคงเต็มไปด้วยเครื่องมือหาปลาหลากชนิด มีความเสี่ยงที่ปลาข่าจะว่ายไปติดเครื่องมือประมง การประกาศพื้นที่เขตสงวนปลาข่าเพิ่มจึงเป็นทางออกที่น่าสนใจ

แต่ถึงอย่างไร การประกาศพื้นที่อนุรักษ์ก็อาจยับยั้งผลกระทบที่จะเกิดกับปลาข่าได้แต่เพียงบางส่วนเท่านั้น เมื่อเหนือขึ้นไปโครงการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ราวปี ๒๕๕๘ คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีกไม่นาน

เขื่อนดอนสะโฮงเป็นเขื่อนที่ถูกสร้างบนแม่น้ำโขงสายประธานหรือแม่น้ำโขงสายหลัก (ไม่ใช่แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง) แห่งที่ ๒ ของลาวถัดจากเขื่อนไซยะบุรี ในปี ๒๕๕๙ รัฐบาลลาววางศิลาฤกษ์ก่อสร้างเขื่อนนี้ ตามด้วยการระเบิดท้องน้ำเพื่อเตรียมการก่อสร้าง โยกย้ายชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณหางดอนสะโฮงไปยังพื้นที่อพยพ ประกาศห้ามและรื้อถอนหลี่ที่เป็นเครื่องมือหาปลา ตามมาด้วยการก่อสร้างเขื่อนชั่วคราว หรือ coffer dam ปิดปากช่องน้ำฮูสะโฮงเพื่อเตรียมการก่อสร้างเขื่อนจริง

การที่ช่องน้ำฮูสะโฮงถูกเลือกเป็นจุดสร้างเขื่อน เนื่องจากมีน้ำไหลตลอดปีและช่องนี้ไม่มีน้ำตกหรือแก่งขนาดใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันช่องฮูสะโฮงก็เป็นเส้นทางอพยพของปลาจากโตนเลสาบในกัมพูชา ไปยังแม่น้ำโขงตอนบนได้ตลอดทั้งปี ขณะที่ช่องทางอื่นๆ เป็นน้ำตก เช่น น้ำตกคอนพะเพ็ง น้ำตกหลี่ผี ที่ปลาไม่สามารถว่ายผ่านไปได้ตลอด

ที่ผ่านมาผลจากการปิดกั้นฮูสะโฮงทำให้ทิศทางการไหลของน้ำเปลี่ยนไป หากเขื่อนดอนสะโฮงสร้างเสร็จและเริ่มต้นดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าเมื่อไหร่คาดว่าจะทำให้วงจรการไหลของน้ำบริเวณเวินยางแปรปรวนผิดธรรมชาติ มีโอกาสสูงที่ปลาข่าจะต้องย้ายไปอาศัยอยู่ที่หัวดอนคอนเพียงแห่งเดียวเท่านั้น

ชาวบ้านทุกคนในแถบนั้นรู้ดีว่าโลมาอิรวดีหรือปลาข่าเป็นสัตว์หายากดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมดินแดนแถบนี้ ช่วยสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวนอกจากการทำประมงพื้นบ้าน รวมทั้งรู้ว่าเขื่อนดอนสะโฮงที่กำลังก่อสร้างจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการหาปลาดังที่มีการประกาศห้ามและรื้อถอนหลี่ แต่ก็ไม่มีปากมีเสียงที่จะทัดทานหรือแม้แต่แสดงออกเกี่ยวกับโครงการของรัฐบาลได้

บางทีความตายของลูกปลาข่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความเจ็บปวดที่ร้ายแรงกว่าบนแม่น้ำโขง

ขอขอบคุณ

  • สำนักข่าวชายขอบ
  • เพจปลดปล่อยอิสรภาพให้แม่น้ำ
  • www.laoedaily.com.la