398cover

สัก ๒๐ กว่าปีก่อนผมมีโอกาสเข้าไปทำงานสารคดีตามรอยนักวิจัยในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง  ระหว่างเดินตามเส้นทางเล็ก ๆ กลางป่าในบ่ายวันหนึ่ง พลันก็ได้ยินเสียง “โฮก”

ตอนนั้นตกใจมาก ไม่คิดมาก่อนว่าจะมีโอกาสได้ยินเสียงเสือโคร่งคำรามกลางป่า

ผมยืนนิ่ง รออยู่สักพัก  สุดท้ายก็ไม่มีโอกาสเห็นตัวเป็น ๆ

ความจริงในใจก็หวั่นว่าถ้าเสือโผล่มาจะทำอย่างไร

ถือเป็นครั้งเดียวในชีวิตที่ได้ใกล้ชิดที่สุดกับเสือโคร่งในธรรมชาติ  ไม่นับการได้เห็นเสือโคร่งจากการตามนักวิจัยที่ศึกษาเสือโคร่งโดยทำกรงดักล่อเสือเพื่อติดปลอกคอวิทยุ หรือการไปดูเสือโคร่งตามสวนสัตว์และสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์ป่า

อีกครั้งหนึ่งในป่าดงดิบภาคใต้ คือการเห็นเสือไฟ (แบบแวบ ๆ) วิ่งตัดหน้ารถยนต์

เสือเมืองไทยมีทั้งหมดเก้าชนิด ผมได้เห็นเกือบทุกชนิดในสวนสัตว์และกรงเพาะเลี้ยง ยกเว้นแมวป่าหัวแบนชนิดเดียวที่ไม่เคยเห็น ได้แต่ดูในภาพถ่ายเก่าในอดีตการถ่ายภาพของเสือทั้งเก้าชนิดในสภาพธรรมชาตินับว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก จนกระทั่งมีการใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า camera trap  ภาพของเสือโคร่ง เสือดาว เสือดำ รวมทั้งสัตว์ป่าอีกหลายชนิดในธรรมชาติจึงได้รับการบันทึกเป็นหลักฐานว่าในเขตอนุรักษ์บางแห่งนั้นยังเป็นถิ่นแพร่กระจายพันธุ์ของสัตว์ป่าหายากเหล่านี้

ภัยคุกคามหลัก ๆ ที่มีมาตลอดเวลายาวนานที่มีต่อเผ่าพันธุ์เสือ คือ การล่าเอาหนังและหัวไปประดับบารมี เอาอวัยวะไปกินเป็นยาบำรุงตามตำรับยาสมุนไพรของจีน รวมทั้งการเอาอวัยวะไปทำเครื่องรางของขลังด้วยเชื่อว่าเสือมีพลังอำนาจลึกลับในธรรมชาติ เสือเป็นสัตว์จำพวกนักล่าที่ล่าสัตว์อื่นกินเป็นอาหาร อยู่ตำแหน่งบนสุดในระบบห่วงโซ่อาหาร

การดำรงอยู่ของสัตว์นักล่าในที่ใด ไม่ว่าจะเป็นเสือหรือหมาใน แสดงว่าในที่นั้นต้องมีประชากรของสัตว์กินพืชอื่น ๆ อยู่หนาแน่น มีจำนวนมากและหลากหลายเพียงพอให้พวกมันพึ่งพาได้  และการที่สัตว์กินพืชจะมีจำนวนมากได้ผืนป่านั้นก็ต้องมีขนาดใหญ่ มีความอุดมสมบูรณ์ และมีพันธุ์ไม้หลากหลายด้วย

ทุกวันนี้เสือจึงเหลืออยู่แต่ในผืนป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่เท่านั้น เพราะป่าธรรมชาติบ้านเราถูกตัดถูกทำลายไปมากมาย

ล่าสุดนอกจากปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งนั้นมาจากการตัดไม้ทำลายป่าที่เกิดขึ้นทั่วโลกแล้ว  นักวิทยาศาสตร์ยังคาดว่าโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์รุนแรงในอนาคตอันใกล้ นั่นคือการล่มสลายของความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลกครั้งใหญ่

สตีเฟน ฮอว์กิง สุดยอดนักวิทยาศาสตร์ที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อต้นเดือนมีนาคม เคยออกมาเตือนว่า มนุษย์กำลังทำลายล้างทรัพยากรบนโลกด้วยอัตราแบบทวีคูณ และภายใน ๑๐๐ ปีมนุษย์อาจสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ถ้าไม่หาทางหนีไปอยู่ดาวดวงอื่น

มนุษย์อาจคิดว่าตนเองเป็นนักล่าของนักล่า

แต่วันหนึ่งธรรมชาติจะบันทึกไว้ว่า ใครคือนักล่าคนสุดท้าย

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี
suwatasa@gmail.com