ขยะในท้องวาฬ เมื่อพลาสติกพิฆาตอยู่ในท้องทะเลไทย บทความพิเศษเนื่องในวันมหาสมุทรโลก ๘ มิถุนายน
ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง

ขยะในท้องวาฬ เมื่อพลาสติกพิฆาตอยู่ในท้องทะเลไทย บทความพิเศษเนื่องในวันมหาสมุทรโลก ๘ มิถุนายน

เจ้าหน้าที่เร่งช่วยเหลือวาฬนำร่องครีบสั้นว่ายหลงเข้ามาในคลองนาทับ ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา (ภาพ : ThaiWhales)

องค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ ๘ มิถุนายนของทุกปี (นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๒ / ค.ศ.๒๐๐๙) เป็น “วันมหาสมุทรโลก” (World Oceans Day) เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของมหาสมุทร ปลุกจิตสำนึกดูแลเอาใจใส่แหล่งน้ำ

มหาสมุทร ท้องทะเล และแหล่งน้ำมีความสำคัญ นอกจากผิวโลกจะประกอบด้วยผิวน้ำถึง ๓ ใน ๔ ส่วนแล้วกว่าร้อยละ ๗๐ ของก๊าซออกซิเจนในธรรมชาติยังมาจากสาหร่ายเซลล์เดียวหรือแพลงตอนของพืชที่ลอยอยู่ในน้ำทะเล

marineday02

ซากสัตว์ทะเลเกยตื้นตามชายหาดไม่ว่าฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก แอตแลนติก บ่อยครั้งพบขยะพลาสติกในช่องท้อง

ข่าวเศร้าเรื่องการพบสัตว์ทะเล อาทิ วาฬ เกยหาดเป็นสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังกันมานาน

ก่อนหน้าประกาศวันมหาสมุทรโลก ๑ ปี คือปี พ.ศ.๒๕๕๑ / ค.ศ.๒๐๐๘ ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีผู้พบวาฬนอนตายบนชายหาดฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ในช่องท้องมีกระเป๋าพลาสติก เชือก ตาข่ายจับปลา ฯลฯ ที่มีน้ำหนักรวมกันประมาณ ๒๐๔ กิโลกรัม

ในปี พ.ศ.๒๕๕๖ / ค.ศ.๒๐๑๓ ทางตอนใต้ของสเปน พบซากวาฬสเปิร์มหรือวาฬหัวทุย (Sperm whale) ความยาว ๑๐ เมตร เกยตื้นหาดฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ในช่องท้องมีขยะพลาสติกทั้งกระเป๋า สายยาง แผ่นพลาสติก กระป๋องสเปรย์ เชือก ฯลฯ จำนวน ๕๙ ชิ้น น้ำหนักประมาณ ๑๗ กิโลกรัม

ในปีเดียวกันยังพบซากวาฬสเปิร์มความยาว ๑๓.๕ เมตร ตายปริศนาทางตอนเหนือของเนเธอร์แลนด์ ในช่องท้องมีขยะพลาสติกจำนวนมาก

วาฬสเปิร์มเป็นวาฬที่มีฟันขนาดใหญ่ พวกมันน่าจะคิดว่าขยะพลาสติกและข้าวของเครื่องใช้ที่ล่องลอยไม่ย่อยสลายในห้วงสมุทรเป็นอาหาร จึงตั้งใจกินเข้าไปจนเกิดการอุดตันอวัยวะภายใน

marineday03

ผลชันสูตรซากวาฬนำร่องครีบสั้นที่ว่ายหลงเข้ามาในคลองนาทับ พบขยะจำพวกพลาสติก ๘๕ ชิ้น โดยเฉพาะถุงพลาสติกแทบทุกขนาด น้ำหนักรวม ๘ กิโลกรัม (ภาพ : ThaiWhales)

การทิ้งขยะลงสู่แหล่งน้ำหรือทิ้งบนบกแล้วเล็ดรอดลงสู่แหล่งน้ำเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เราได้ยินได้ฟังกันมานาน หากแต่การรับรู้ว่าปัญหาอยู่ใกล้ตัวที่สุดน่าจะเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง

วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑ วาฬนำร่องครีบสั้นตัวหนึ่งว่ายหลงเข้ามาในคลองนาทับ ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ชาวบ้านในพื้นที่รวมทั้งเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง จ.สงขลา และทีมสัตวแพทย์ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเร่งเข้าช่วยเหลือ

วาฬนำร่องครีบสั้น (Short-finned pilot whale) เป็นวาฬที่อาศัยรวมกันเป็นฝูงใหญ่ในทะเลเปิดโซนเขตร้อน มักพบตามร่องน้ำลึกและไหล่ทวีป วาฬน้ำร่องครีบสั้นซึ่งว่ายหลงเข้ามาในคลองนาทับตัวนี้มีลักษณะผ่ายผอม ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น การลอยตัวในน้ำผิดปรกติและไม่ยอมกินอาหาร

เมื่อเจ้าหน้าที่เก็บเลือดและก้อนเนื้อตามลำตัวมาตรวจก็พบว่ามีการติดเชื้อในกระแสเลือดและระบบทางเดินหายใจรวมทั้งมีภาวะขาดน้ำ จึงให้ยาและสารอาหารทางหลอดเลือด เมื่อเห็นว่าน้ำในคลองนาทับขุ่นและเชี่ยว ไม่เหมาะต่อการปฐมพยาบาลจึงเคลื่อนย้ายวาฬมายังหาดบ้านปึก

วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๑ วาฬเกิดอาการชัก เกร็ง และดิ้นอย่างรุนแรง สำรอกพลาสติกออกมา ๔-๕ ชิ้น ไม่นานก็เสียชีวิต พยายามกู้ชีพก็ไม่สำเร็จ

ผลชันสูตรพบขยะจำพวกพลาสติกในส่วนต้นของกระเพาะอาหาร ๘๕ ชิ้น มีทั้งแผ่นพลาสติก ห่อขนม ถุงพลาสติกหรือถุงก๊อบแก๊บแทบทุกขนาด น้ำหนักรวม ๘ กิโลกรัม

marineday04

ซากเต่าตนุตายปริศนาบนชายหาดเกาะหมู อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ภาพถ่ายระหว่างกิจกรรมเก็บขยะบนชายหาดของกลุ่ม Mahasamut patrol Thailand (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

ขยะพลาสติกรวมทั้งขยะอื่นๆ ที่ย่อยสลายยากเป็นสาเหตุให้สัตว์น้ำเสียชีวิต

สันนิษฐานว่าเมื่อขยะพลาสติกลอยอยู่ในน้ำ ลักษณะของมันอาจคล้ายกับแมงกะพรุนหรืออาหารอื่นๆ ตามธรรมชาติของสัตว์ทะเล เมื่อสับสนหรือเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารจึงกินเข้าไป

ไม่เฉพาะสัตว์ทะเลขนาดใหญ่อย่างวาฬ ภายในท้องของซากสัตว์ทะเลอื่นๆ อาทิ เต่าตนุก็พบขยะ คือ หนังยาง เชือกฟาง เชือกไนลอน ฯลฯ

ขยะพลาสติกชิ้นใหญ่เมื่อแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย สัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กลงไปก็จะเก็บกิน เมื่อสัตว์น้ำที่กินเจ็บป่วยจนไม่สามารถออกอาหารเองได้ตามวิถีทางธรรมชาติ ก็จะยิ่งกินขยะพลาสติกเข้าไปจนอาการทรุด และตายในที่สุด

ความตายของสัตว์ทะเลบอกให้เรารู้ว่าทุกการกระทำของมนุษย์ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำ ไม่เว้นกระทั่งวาฬหรือเต่าที่อาศัยอยู่ในห้วงมหาสมุทรอันห่างไกล