อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


paklaydam01

แม่น้ำโขงบริเวณเมืองปากลาย แขวงไซยะบุรี เขื่อนปากลายจะอยู่เหนือขึ้นไปจากบริเวณนี้ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร (ภาพ : เพียรพร ดีเทศน์)

เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๑ เว็บไซด์ www.mrcmekong.org ของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission Secretariat) รายงานความคืบหน้าในการสร้างเขื่อนปากลาย (Pak Lay Hydropower) ระบุว่ารัฐบาลลาวได้ยื่นความจำนงอย่างเป็นทางการต่อการสร้างเขื่อนปากลายมายังคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง มีผลทำให้ “กระบวนการตามระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง” (Procedures for Notification, Prior Consultation, and Agreement) หรือ “PNPCA” มีผลบังคับใช้ นับเป็นเขื่อนลำดับที่ ๔ บนแม่น้ำโขงสายประธานที่จะเข้าสู่กระบวนการ PNPCA ต่อจากเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮง และเขื่อนปากแบง

เว็บไซด์คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงให้รายละเอียดว่าเขื่อนปากลายตั้งอยู่ในเมืองปากลาย แขวงไซยะบุรี มีกำลังผลิตไฟฟ้า ๗๗๐ เมกกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.๒๕๖๕ (ค.ศ.๒๐๒๒) แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๗๒ (ค.ศ.๒๐๒๙) หรือใช้เวลาก่อสร้างประมาณ ๗ ปี

 

paklaydam03

หน้าเว็บไซด์ของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง วันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๑ รายงานว่ารัฐบาลลาวได้ยื่นความจำนงอย่างเป็นทางการต่อการสร้างเขื่อนปากลายมายังคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแล้ว (ภาพ : www.mrcmekong.org)

paklaydam04

บริเวณกลางภาพ ช่วงที่แม่น้ำโขงไหลอยู่ในประเทศลาว เหนือจากอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร เป็นที่ตั้งโครงการเขื่อนปากลาย สังเกตได้ว่าแม่น้ำโขงช่วงนี้กำลังจะถูกเขื่อนหลายแห่งตัดแบ่งเป็นท่อนๆ อาทิ เขื่อนปากแบง เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนปากลาย เป็นต้น (ภาพ : โครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า (TERRA) มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ)

ตามเอกสารโครงการนี้ระบุว่าเขื่อนปากลายเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าแบบน้ำไหลผ่าน (run-of-river dam) ไม่ได้ระบุชื่อผู้ซื้อไฟฟ้า จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่าไฟฟ้าที่ผลิตได้จะขายให้กับประเทศไทยหรือไม่

แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ยาวที่สุดในอุษาคเนย์ หลังไหลผ่านจีนและพม่าแล้วทำหน้าที่เป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างไทย (ภาคเหนือ) กับลาว ก่อนไหลเข้าไปในลาวเพียงประเทศเดียวแล้วไหลออกมาเป็นเส้นแบ่งเขตไทย (ภาคอีสาน) กับลาว

แม่น้ำโขงช่วงที่จะมีการสร้างเขื่อนปากลายไหลอยู่ในลาวเท่านั้น หากแต่เครือข่ายประชาชนไทย ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขงมีความวิตกกังวลต่อเขื่อนนี้มาก เนื่องจากที่ตั้งเขื่อนอยู่ห่างอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย แค่ประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร เหนือขึ้นไปอีกประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร ก็เป็นที่ตั้งเขื่อนไซยะบุรีที่การก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ

แม่น้ำโขงบริเวณนี้จึงกำลังจะถูกแบ่งเป็นช่วงๆ คันคอนกรีตของสันเขื่อนกำลังจะทำให้แม่น้ำเหมือนถูกสับเป็นท่อนๆ ไม่ใช่แม่น้ำตามธรรมชาติที่เรือและสัตว์น้ำสามารถข้ามผ่านได้

ชาญณรงค์ วงศ์ลา ชาวบ้านกลุ่มรักษ์เชียงคาน จังหวัดเลย วิตกต่อโครงการเขื่อนปากลายโดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบนิเวศบริเวณแก่งคุดคู้ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นของคนอำเภอเชียงคานว่า “หลายปีที่ผ่านมา เราได้รับผลกระทบจากการสร้างจากเขื่อนในประเทศจีน ระดับน้ำผันผวน ขึ้นลงไม่เป็นธรรมชาติ ถ้าเขื่อนไซยะบุรีสร้างเสร็จ แล้วสร้างเขื่อนปากลายตามมา ก็ยิ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตต่อการประกอบอาชีพของพวกเรา”

การยื่นความจำนงสร้างเขื่อนปากลายของรัฐบาลลาวทำให้กระบวนการ PNPCA ถูกกดปุ่มเดินหน้า ตามข้อกำหนดของ ๔ ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ซึ่งได้ลงนามร่วมกันในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือกันเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน โดยกำหนดให้การใช้น้ำในโครงการขนาดใหญ่บนแม่น้ำโขงสายประธานต้องเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือก่อน

ภายใต้ PNPCA ประเทศสมาชิกจะได้รับรู้ข้อมูลและนำเสนอข้อห่วงใย อย่างไรก็ตาม PNPCA ไม่ใช่ขั้นตอนที่ทำให้เกิดการยับยั้งโครงการ ในช่วงที่ผ่านมายังมีตัวอย่างแสดงให้เห็นข้อบกพร่องของ PNPCA

ยกตัวอย่างการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ประชาชนลาวแทบไม่มีส่วนร่วมหรือบทบาทในการแสดงความคิดเห็น หรือเรียกร้องสิทธิ เนื่องจากระบอบการเมืองไม่เปิดโอกาส จึงเป็นเพียงประเทศเดียวที่ไม่ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการเขื่อนไซยะบุรีตามกระบวนการ PCPCA

หรืออย่างกรณีโครงการเขื่อนปากแบง แม้ Pham Tuan Phan ซีอีโอของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงจะแสดงความเชื่อมั่นว่ากระบวนการ PCPCA ได้รับการพัฒนามาจากเขื่อนไซยะบุรี มีการทำ “แผนปฏิบัติการร่วม” หรือ “JAP” (Joint Action Plan) เพื่อลดและบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดน เรียนรู้จากบทเรียนครั้งก่อนๆ แต่คุณภาพของข้อมูลและการปรึกษาหารือก็ยังมีข้อบกพร่อง ข้อห่วงกังวลตาม JAP ยังไม่ได้รับการแก้ไข และไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างผู้ปฏิบัติงาน จากการที่หัวหน้าคณะพิจารณา PNPCA มาจากตัวแทนระดับปลัดกระทรวง สำหรับไทยคือปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีตำแหน่งเป็นข้าราชการประจำ แต่อำนาจในการตัดสินใจก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่บนแม่น้ำโขงเป็นของฝ่ายบริหารระดับรัฐมนตรี

PNPCA ยังเป็นขั้นตอนสร้างความชอบธรรมให้เกิดโครงการโดยอ้างว่าจัด PNPCA แล้ว

paklaydam02

ภาคเกษตรริมฝั่งโขงในเมืองปากลายน่าจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากลายไม่มากก็น้อย (ภาพ : เพียรพร ดีเทศน์)

เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทยของ International Rivers ให้ความเห็นเมื่อทราบข่าวว่ารัฐบาลลาวยื่นความจำนงสร้างเขื่อนปากลาย

“คาดว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบข้ามพรมแดนเพิ่มเติมต่อชุมชนในประเทศไทยและลุ่มน้ำโขง นอกเหนือจากผลกระทบต่อชุมชนในฝั่งลาวซึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและรัฐบาลลาวยังไม่สามารถตอบสนองข้อกังวลที่สำคัญได้อย่างจริงจังเกี่ยวกับโครงการเขื่อนที่มีการเสนอเข้าสู่กระบวนการ PNPCA มาก่อน ไม่ว่าเขื่อนไซยะบุรีหรือเขื่อนปากแบง  การเสนอกระบวนการให้กับเขื่อนใหม่จึงเป็นเพียงความพยายามเบี่ยงเบนความสนใจจากพันธกรณีที่มีอยู่”

อนาคตของแม่น้ำโขงและคนลุ่มน้ำจะเป็นเช่นไร เมื่อลาวปักหมุดโครงการสร้างเขื่อนปากลายบนแม่น้ำโขงสายประธาน ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบตามมามากกว่าที่คาดคิด


tei

ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

อีกภาคหนึ่งของ “เจ้าชายหัวตะเข้” นักเขียนสารคดีที่เรียนจบมาด้านวิทยาศาสตร์ สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และกีฬาเป็นพิเศษ