เก็บตก
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


orangutan01

อุรังอุตังในเขตอนุรักษ์ของอินโดนีเซีย (ภาพ : Bjorn Vaugn / BOSF / Greenpeace)

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ของอินโดนีเซีย (Ministry of Environment and Forestry Republic of Indonesia) ออกรายงานประจำปีชื่อ “สถานะป่าไม้ในอินโดนีเซียปี พ.ศ.๒๕๖๑” (The State of Indonesia’s forest 2018) เป็นหนังสือเล่มหนาความยาวเกือบสองร้อยหน้า เนื้อหาด้านในนอกจากจะครอบคลุมสถานการณ์พื้นที่ป่าในอินโดนีเซีย ความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการระบบนิเวศป่าพรุ ความสำคัญของป่าที่มีผลต่อการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การมีส่วนร่วมของชุมชน ฯลฯ ในบทที่ ๕ กระบวนทัศน์ใหม่สำหรับการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ หัวข้อการจัดการพืชและธรรมชาติ (The Management of Plants and Wildlife) ยังกล่าวถึงการเพิ่มขึ้นของประชากรสัตว์ป่าหายากในอินโดนีเซีย

เนื้อหาส่วนนี้ระบุว่าบรรดาสัตว์ป่าหายากที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จำนวน ๒๕ ชนิดมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มจำนวนประชากรขึ้นร้อยละ ๑๐ ในปี พ.ศ.๒๕๖๒ โดยทยอยเพิ่มขึ้นแล้วจากปี พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๕๙ ร้อยละ ๒.๙๑ จากปี พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๐ ร้อยละ ๕.๔๑ และมีสัตว์ ๑๙ ชนิดที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นแล้วมากกว่าร้อยละ ๑๐ ประกอบด้วย Sumatran elephant, rhinoceros, gibbon and siamang, orangutan, proboscis monkey, komodo dragon, Bali myna, maleo, hairy babirusa, Javan hawk-eagle, cockatoo, leopard, Bawean deer, surili, tarsier, Celebes crested macaque, Sumba hornbill, purple-naped lorry และ rinjani scops owl มีสัตว์ ๔ ชนิดที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นแต่น้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ประกอบด้วย Sumatran tiger, banteng, bird of paradise และ dingiso และมีสัตว์ ๒ ชนิดที่จำนวนประชากรลดลง คือ anoa และ turtles

เนื้อหาของบทที่ ๕ นี้เองที่ทำให้นักวิชาการด้านสัตว์ป่าคลางแคลงใจ โดยเฉพาะการระบุว่า “orangutan” หรือ “อุรังอุตัง” ได้เพิ่มประชากรขึ้นมากกว่าร้อยละ ๑๐

orangutan02

การปรับสภาพป่าเป็นพื้นที่เกษตรเป็นสาเหตุหนึ่งของการลดลงของอุรังอุตังบนเกาะบอร์เนียว (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

อุรังอุตังเป็นไพรเมตจำพวกลิงไม่มีหาง อยู่ในสกุล Pongo  หูเล็ก แขนและขายาว ลำตัวมีขนาดใหญ่ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีดีเอ็นเอใกล้เคียงกับมนุษย์ถึงร้อยละ ๙๗ มีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากกอริลลาหรือชิมแพนซีคือตัวโตเต็มวัยจะมีกระพุ้งแก้มแบนกว้างและห้อยย้อยเป็นถุง ถือเป็นสัตว์ท้องถิ่นพบได้บนเกาะบอร์เนียวและเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย แบ่งออกเป็น ๓ สายพันธุ์ คือ อุรังอุตังบอร์เนียว (Pongo pygmaeus), อุรังอุตังสุมาตรา (Pongo abelii) และอุรังอุตังทาปานูลี (Pongo tapanuliensis) ซึ่งต่างก็อยู่ในบัญชีแดงเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)

ก่อนหน้านี้ราว ๒ ปี คือในปี พ.ศ.๒๕๕๙ เคยมีรายงานการเพิ่มขึ้นของประชากรอุรังอุตังบนเกาะสุมาตราจากสถิติเดิมถึง ๒ เท่า คือมีราว ๑๔,๖๐๐ ตัว แต่สาเหตุของการเพิ่มขึ้นครั้งนั้น เป็นเพราะประสิทธิภาพในการสำรวจที่มากขึ้น นักวิจัยสามารถสำรวจลึกเข้าไปในพื้นที่ป่าที่ไม่เคยสำรวจมาก่อน

แต่คราวนี้ การเพิ่มขึ้นของประชากรอุรังอุตังบนเกาะบอร์เนียวขัดแย้งกับผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ ๔๑ คน นำโดย มาเรีย โวกท์ (Maria Voigt) จากสถาบันแม็กซ์แพล็งค์เพื่อศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์ ประเทศเยอรมนี ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Current Biology เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

มาเรีย โวกท์ ให้เหตุผลว่า จากการรวบรวมข้อมูลที่ครอบคลุมมากที่สุดที่ได้จากการสังเกตตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ประเมินว่าระหว่างปี พ.ศ.๒๕๔๘-๒๕๕๘ จำนวนอุรังอุตังลดลงถึงร้อยละ ๒๕-๓๐ และน่าจะลดลงถึง ๑๐๐,๐๐๐ ตัว ในช่วง ๑๕ ปีนับจากปี พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นต้นมา ด้วยสถานการณ์นี้ จึงไม่น่าเป็นไปได้ว่าคล้อยหลังไม่กี่ปี จำนวนอุรังอุตังจะเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ ๑๐

“ตามลักษณะชีวิตของอุรังอุตัง การมีอัตราเติบโตอย่างรวดเร็วนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ แม้แต่อุรังอุตังในสวนสัตว์ก็ตาม และแม้ว่าการล่าสัตว์และการทำลายป่าไม้จะหมดไป ก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าผู้เขียนรายงานได้ข้อสรุปว่าอุรังอุตังมีจำนวนเพิ่มขึ้นได้อย่างไร” มาเรีย โวกท์ ตั้งข้อสงสัย

ทุกวันนี้ปัจจัยคุกคามที่ทำให้จำนวนอุรังอุตังลดลงคือการรุกป่าเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน ทำเกษตร เหมืองแร่ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ธุรกิจตัดไม้อย่างผิดกฎหมาย

orangutan03

หน้าปกรายงานประจำปี “สถานะป่าไม้ในอินโดนีเซียปี พ.ศ.๒๕๖๑” ตีพิมพ์เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๑

orangutan04

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ของอินโดนีเซียรายงานการทำลายป่าไม้ในอินโดนีเซียระหว่างปี พ.ศ.๒๕๓๓ – ๒๕๕๘ ประมาณ ๒๔ ล้านเฮกตาร์ หรือ ๑๕๐ ล้านไร่ ใกล้เคียงกับขนาดของสหราชอาณาจักร (ภาพ : Alejo Sabugo / International Animal Rescue Indonesia)

มีรายงานว่าพื้นที่ป่าพรุบริเวณสุไหง ปูทริ (Sungai Putri) จังหวัดกาลิมันตันตะวันตก (West Kalimantan) เกาะบอร์เนียว ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของอุรังอุตังสายพันธุ์บอร์เนียวกลายเป็นพื้นที่สัมปทานทำไม้ของบริษัทเอกชน ในปี พ.ศ.๒๕๖๐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ของอินโดนีเซียมีคำสั่งให้บริษัทหยุดดำเนินธุรกิจที่ทำลายพื้นที่ลุ่มน้ำ แต่ก็เป็นคำสั่งที่ล้มเหลว เมื่อเดือนมีนาคม ปี พ.ศ.๒๕๖๑ เครื่องจักรของบริษัทยังคงอยู่ในพื้นที่

ด้วยเหตุนี้ ข้อมูลในรายงานประจำปี “สถานะป่าไม้ในอินโดนีเซียปี พ.ศ.๒๕๖๑” โดยเฉพาะหัวข้อการจัดการพืชและธรรมชาติที่กล่าวถึงการเพิ่มขึ้นของประชากรสัตว์ป่าจึงตามมาด้วยคำถาม

นอกจากรัฐบาลจะไม่สามารถยับยั้งการทำลายป่าพรุที่เป็นที่อยู่อาศัยของอุรังอุตัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ของอินโดนีเซียยังปล่อยรายงานประจำปีที่นักวิชาการสัตว์ป่าตั้งข้อสังเกตว่าประเมินผลกระทบต่อสัตว์ป่าต่ำกว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

ถึงเวลานี้ใครจะยืนยันได้ว่า ความจริงแล้วจำนวนอุรังอุตังกำลังลดลงหรือเพิ่มขึ้นกันแน่ ?

เก็บตกจากลงพื้นที่ : Tales from Coal Mining  เหมืองถ่านหินข้ามชาติ บทเรียนจากอินโดนีเซีย นิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๓๘๕ มีนาคม ๒๕๖๐