ชื่อจริงและชื่อเล่น (๑๓)

ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


nickname13

จนถึงยุคร่วมสมัยเมื่อเร็วๆ นี้ ความคิดในการเปลี่ยนชื่ออะไรต่อมิอะไรก็ยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะหลายสิ่งที่ชื่อเรียกเก่าฟังดู “ไม่ดี” หรือมีเสียงพ้องกับคำที่ “ไม่เป็นมงคล” ก็มักมีข้อเสนอให้เปลี่ยนชื่อเสียใหม่

ตัวอย่างเช่น “ลั่นทม” ซึ่งเดิมเป็นต้นไม้ที่นิยมปลูกกันตามวัด แต่ตามบ้านคนจะไม่ค่อยปลูกกัน หลายคน “ถือ” ด้วยซ้ำ เหมือนกับ “ของวัด” อย่างอื่นๆ คือจะไม่เอาเข้าบ้าน

แต่ต่อมาเกิดมีใครก็ไม่ทราบ ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ต้นไม้ที่ดอกหอม ฟอร์มสวย อย่างนี้ น่าจะเป็นของขายได้ขายดี มาติดอยู่อย่างเดียวตรง “ชื่อ” เพราะแต่ไหนแต่ไร คนไทยไปคิดกันว่า “ลั่นทม” มีเสียงคล้ายๆ กับ “ระทม” คือเศร้าใจทุกข์ใจ ดังนั้นก็เลยเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็น “ลีลาวดี” ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเอามาจากไหน แต่น่าจะดีแน่เพราะมีคำว่า “ดี” ห้อยท้ายอีก

เคยได้ยินคนขายต้นไม้อธิบายว่า “ลีลาวดี” เป็นชื่อพระราชทานจากพระบรมวงศ์พระองค์หนึ่ง แต่ก็ไม่เคยเห็นเอกสารลายลักษณ์อักษรในเรื่องนี้ จึงน่าจะแปลว่าไม่ใช่เรื่องจริง แต่ของอย่างนี้ บางที “จินตนาการ” ก็สำคัญกว่า “ความรู้” เพราะกลายเป็นว่า “ข่าวลือ” ดังกล่าวที่แพร่กระจายออกไป มีส่วนสำคัญในการพลิกโฉมหน้าให้ “ลั่นทม” ในชื่อใหม่ว่า “ลีลาวดี” กลายเป็นต้นไม้ที่เอาไปปลูกในบ้านได้อย่างสบายใจ เคยได้ยินว่ามีไปจนกระทั่ง “นายหน้า” ที่ไปติดต่อเจ้าอาวาส เหมาขอซื้อต้นลั่นทมเก่าแก่ที่รูปทรงลำต้นกิ่งก้านบิดตัวสวยงาม ขุดล้อมจากวัดเอามาลงปลูกตามบ้านผู้มีอันจะกิน

เรียกได้ว่า “ขุดรากถอนโคน” ล้มล้างธรรมเนียมโบราณลงได้อย่างสิ้นเชิง

การเปลี่ยนชื่อใหม่ แบบ “เอาที่สบายใจ” ยังลุกลามไปถึงของกินต่างๆ เช่นขนมอย่างหนึ่งของคนจีนที่มีขายในเมืองไทยมาช้านาน เป็นแผ่นแป้ง มีไส้เป็นน้ำตาลกับงา โรยมะพร้าวขูด เรียกกันมาแต่ไหนแต่ไรว่า “ขนมถังแตก” ในความหมายว่าเป็นขนมชิ้นใหญ่ กินอิ่มได้ในราคาไม่แพง เพราะ “ถังแตก” เป็นสำนวนที่แปลว่า หมดตัว หมดเงิน แต่ก็คงมีคนรู้สึกว่า เป็นคำอัปมงคล คนขายคนซื้อก็ดูจะ “จนๆ” พิกล

“ขนมถังแตก” จึงถูกอุปโลกน์ให้กลายเป็น “ขนมถังทอง” เพื่อเสริมความเป็นมงคลแก่พ่อค้าและลูกค้า จนคาดได้ว่าในไม่ช้า ชื่อ “ถังทอง” เดิม ก็คงสูญไป

แต่ก็ไม่ใช่ว่าการเปลี่ยนชื่อจะสำเร็จทุกครั้ง อย่าง “แห้ว” พืชหัวกรุบกรอบ อันเป็นคำพ้องเสียงพ้องรูปกับ “แห้ว” ซึ่งมีความหมายว่า “พลาด” หรือ “อด” จนคนไม่ค่อยอยากซื้อไปฝากใคร (คล้ายกับที่ถือกันว่า จะไม่เอาดอกกล้วยไม้ไปเยี่ยมคนเจ็บ เพราะ “กล้วย/ไม้” ผวนได้ว่า “ใกล้/ม้วย”) เมื่อสิบกว่าปีก่อนจึงมีนักการเมืองจากเขตอำเภอหนึ่งของสุพรรณบุรีที่เป็นพื้นที่ปลูกแห้ว เกิดไอเดียใหม่ เพื่อ “ช่วยเหลือเกษตรกร” และ “ส่งเสริมการขาย” จึงเสนอให้เปลี่ยนชื่อ “แห้ว” เป็น “สมหวัง” แทน แต่ดูเหมือนไอเดียนี้ไม่ค่อยติดตลาดเท่าไรนัก

ในช่วงเวลาใกล้ๆ กันกับชื่อ “สมหวัง” เกิดมีผู้บริหารในกรมอุทยานแห่งชาติฯ หวังดี เสนอให้เปลี่ยนชื่อตัว “เหี้ย” ซึ่งถือเป็นคำด่า ไม่เป็นมงคล โดยขอให้เรียกตามคำต้นในชื่อวิทยาศาสตร์ภาษาละติน คือ Varanus salvator เป็น “วรนุส” หรือ “วรนุช” แทน เพื่อให้คนรู้สึกดีๆ กับเหี้ย จนอาจนำไปสู่การยอมรับ และนำไปสู่การเพาะเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อขายหนังได้

สุดท้ายแล้ว นอกจากเสียงก่นด่าของผู้มีชื่อเสียงที่ชื่อ “วรนุช” ข้อเสนอนี้ไม่นำไปสู่อะไรเลย และ “ตกกระป๋อง” หายสาบสูญไปในที่สุด

เหี้ยอย่างที่สวนลุมฯ ก็ยังคงเป็น “เหี้ย” อยู่นั่นเอง!


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี