ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน
จิรายุ เอกกุล : ภาพ

4preanimals01

การรณรงค์ส่งเสริมให้ วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง ขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวนเริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อปี ๒๕๕๘ และมีท่าทีว่าจะประสบความสำเร็จ แต่แล้วเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๑ ที่ประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติได้แจ้งเรื่องเพื่อทราบต่อที่ประชุมถึงมติเห็นควรชะลอการเสนอไว้ก่อน

จากที่คาดกันว่าไม่น่ามีเหตุขัดข้อง กลับกลายเป็นสัตว์น้ำหายากทั้ง ๔ ชนิดยังคงค้างอยู่ในสถานะ “ว่าที่สัตว์ป่าสงวน” ต่อไป ต้องรอคอยการขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ ๑๖, ๑๗, ๑๘ และ ๑๙ ในกาลข้างหน้า
เพื่อสร้างความเข้าใจในสถานการณ์ ช่วยกันหาทางออกปลดล็อคปัญหา และเพื่อร่วมเดินหน้าสู่วิถีการอนุรักษ์สัตว์น้ำหายากของเมืองไทย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับนิตยสารสารคดี จัดเสวนาหัวข้อ “ว่าที่สัตว์ป่าสงวน ๔ ชนิด เหตุใดจึงต้องชะลอ” ขึ้นเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๑

4preanimals02

Omura’s Whale  (ภาพ : The Royal Society)

#เหตุใดจึงต้องชะลอ?

ภายหลังจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และกรมประมง ได้ร่วมเสนอชื่อสัตว์น้ำ ๔ ชนิดให้ขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวนแห่งชาติ เรื่องดำเนินผ่านคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี จนมาถึงขั้นกฤษฎีกา ในขั้นนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เชิญหน่วยงานระดับกรม ๓ หน่วยงาน ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรมประมง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มาร่วมประชุม มีการหารือว่าปัจจุบันกรมประมงอนุญาตให้ใครเป็นผู้ครอบครองสัตว์น้ำทั้ง ๔ ชนิดอยู่บ้างหรือไม่

ฝ่ายวิชาการของกรมประมงชี้แจงว่า ในบรรดาสัตว์น้ำทั้ง ๔ ชนิด มี ๓ ชนิดที่มีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่แล้ว คือ วาฬบรูด้า ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง โดยกรมประมงอนุญาตให้มีผู้ครอบครองซากเต่ามะเฟืองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕ อย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นบุคคลทั่วไปประมาณ ๑๐ คน นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองซากฉลามวาฬ

คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาว่าการเสนอชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองเพื่อขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวนตามตัวบทกฎหมายของพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕ นั้น ไม่เปิดโอกาสให้บุคลทั่วไปสามารถครอบครองของซากสัตว์ป่าสงวนได้ ในการนี้จึงจะทำให้ผู้ที่มีซากเต่ามะเฟืองและวาฬบรูด้าไว้ในครอบครองอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้รับผลกระทบในลักษณะถูกลิดรอนสิทธิจากการขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวน เป็นเหตุให้ที่ประชุมร่วมมีมติเห็นควรชะลอการเสนอไว้ก่อน

 

4preanimals03

#กฎหมายที่เกี่ยวข้องและเหตุใดจึงเป็นไปไม่ได้ตามข้อกฎหมาย ?

พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕ มีมาตราที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่าสงวน อาทิ
มาตรา ๑๖ ห้ามล่าหรือพยายามล่า เว้นแต่เป็นการกระทำโดยทางราชการที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา ๒๖
ในกรณีนี้ สัตว์น้ำ ๓ จาก ๔ ชนิด คือ วาฬบรูด้า ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง มีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งห้ามล่าอยู่แล้ว

มาตรา ๑๙ ห้ามมิให้มีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าสงวน ซากของสัตว์ป่าสงวน และโดยต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี และมิให้ใช้บังคับ (๒) การครอบครองเพื่อกิจการของผู้ได้รับใบอนุญาตสวนสัตว์ฯ และได้จัดแสดงไว้ในสวนสัตว์ที่ได้รับอนุญาต
ในกรณีนี้จะเห็นว่ากิจการสวนสัตว์ที่ได้รับอนุญาตถูกต้องสามารถครอบครองสัตว์ป่าสงวนได้

มาตรา ๒๖ บทบัญญัติตาม ม.๑๖ ม.๑๘ ม.๑๙ ม.๒๑ มิให้ใช้บังคับแก่การกระทำเพื่อประโยชน์ในการสำรวจ การศึกษาและวิจัยทางวิชาการ การคุ้มครองสัตว์ป่า การเพาะพันธุ์เพื่อกิจการสวนสัตว์ฯ ซึ่งกระทำโดยทางราชการ และโดยได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี
ในกรณีนี้ถือเป็นการครอบครองเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หน่วยงานราชการที่มีซากฉลามวาฬ หรือวาฬบรูด้า สามารถครอบครองเพื่อประโยชน์ทางวิชาการได้

บทเฉพาะกาล มาตรา ๖๖ ผู้ใดมีสัตว์ป่าสงวนอยู่ในความครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าได้นำสัตว์มามอบให้ภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้นั้นไม่ต้องโทษ
ผู้ใดมีซากสัตว์ป่าสงวนอยู่ในความครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้แจ้งชนิดและจำนวนภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้นั้นสามารถครอบครองซากต่อไปได้
บทเฉพาะกาลมาตรานี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากระบุว่าผู้ที่ครอบครองซาก ถ้าแจ้งเจ้าหน้าที่ใน ๙๐ วันจะไม่มีความผิด แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติฉบับนี้มีใช้บังคับมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ ทำให้ผ่านพ้นช่วงเวลา ไม่สามารถแจ้งได้แล้วในปัจจุบัน

บทเฉพาะกาลมาตรา ๖๗ ให้ผู้มีสัตว์ป่าสงวน ซากของสัตว์ป่าสงวน อยู่ในความครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ แจ้งชนิดและจำนวนภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

(๑) ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์ป่าสงวนจำหน่ายให้แก่ผู้ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสวนสัตว์ฯ ที่ยื่นขออนุญาตไว้ตามมาตรา ๖๙ ให้เสร็จสิ้นภายใน ๑๘๐ วัน ภายหลังเหลือเท่าใดให้ตกเป็นของแผ่นดิน

(๒) สำหรับซากของสัตว์ป่าสงวน ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครอง ครอบครองซากดังกล่าวต่อไปได้ แต่ไม่สามารถจำหน่าย จ่าย แจก โอนให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี
บทเฉพาะกาลมาตรานี้ก็เช่นเดียวกับบทเฉพาะกาลมาตรา ๖๖ คือให้ผู้ครอบครองมาแจ้งชนิดและจำนวนต่อเจ้าหน้าที่ภายใน ๙๐ วัน ผู้ที่ครอบครองต้องขายให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสวนสัตว์ ที่เหลือจากนั้นตกเป็นของแผ่นดิน โดยต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ภายใน ๙๐ วันหลังพระราชบัญญัตินี้มีผลกำหนดบังคับใช้ในปี ๒๕๓๕ ซึ่งผ่านพ้นมาเนิ่นนานถึง ๒๖ ปีแล้ว

ตัวบทกฎหมายข้างต้นเป็นข้อบังคับที่ทำให้ผู้ที่มีซากสัตว์ป่าสงวนจะไม่สามารถครอบครองต่อไปได้ ทำให้ที่ประชุมมีมติเห็นควรชะลอไว้ก่อน อันจะทำให้สัตว์น้ำทั้ง ๔ ชนิดมีสถานะเป็น “ว่าที่สัตว์ป่าสงวน” ต่อไป

4preanimals04

ภาพ : 123RF
#ระหว่างที่มีการยื่นเสนอขึ้นบัญชีสัตว์ป่าสงวนเพิ่ม

๔ ชนิด มีการเสนอบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองเพิ่ม ๑๒ ชนิด ผลคือมีการออกกฎกระทรวงให้สัตว์ทั้ง ๑๒ ชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เหตุใดการเสนอ “สัตว์ป่าสงวน” กับ “สัตว์ป่าคุ้มครอง” จึงมีผลลัพธ์แตกต่างกัน

กฎหมายเปิดช่องให้ผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่ก่อนยื่นแจ้งครอบครองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ยกตัวอย่างผู้ครอบครองแหวนหัวกระเบนท้องน้ำ หรือส่วนหนามบนหัวปลาโรนินในเวลานี้ ให้รีบมาแจ้งครอบครองต่อสำนักงานประมงหลังมีการประกาศกฎกระทรวงแล้ว ๙๐ วัน คือภายในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑

หากผู้ครอบครองแจ้งครอบครองในช่วงดังกล่าวจะไม่มีความผิดตามกฎหมาย แต่หลังจากวันที่ ๒๙ เป็นต้นไป ผู้ที่ครอบครองอยู่และไม่ได้แจ้ง จะถือว่าครอบครองซากสัตว์ป่าคุ้มครองอย่างผิดกฏหมาย

ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่กฎหมายเปิดช่องแตกต่างกันระหว่างสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เนื่องจาก ผู้ทำหน้าที่ร่างกฎหมายในยุคก่อน คำนึงถึงและเปิดช่องให้กับการยกระดับสัตว์ป่าที่ไม่มีสถานภาพใดๆ ขึ้นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่ไม่ได้นึกถึงการ “ยกระดับ” สัตว์ป่าคุ้มครองขึ้นเป็นสัตว์ป่าสงวน
ทั้งนี้ ในบรรดาสัตว์น้ำที่ได้รับการยื่นเสนอให้ขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวนครั้งนี้ วาฬบรูด้า ฉลามวาฬ เต่ามะเฟือง ต่างมีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่แล้ว มีเพียงวาฬโอมูระเท่านั้นที่ไม่ได้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เนื่องจากเพิ่งจะมีการจำแนกชนิดใหม่ออกจากวาฬบรูดา

อย่างไรก็ตาม นอกจากพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕ ไม่ว่าวาฬบรูด้า วาโอมูระ ฉลามวาฬ เต่ามะเฟือง โลมาหรือวาฬชนิดใดๆ ต่างได้รับความคุ้มครองให้เป็นชนิดพันธุ์ที่ห้ามจับ ห้ามนำขึ้นเรือ ตามมาตรา ๖๖ พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.๒๕๕๘

 

4preanimals05

#นานาทรรศนะ

จิรายุ เอกกุล
บริษัท Wild Encounter Thailand ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน

“ติ๊งต่างว่าถ้าได้ขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวน จะมีแค่บรูด้ากับฉลามวาฬสองชนิดเท่านั้นที่ผู้คนสามารถจับต้องและมองเห็นได้ จับต้องในที่นี้หมายความว่าเราได้เห็นเขาเป็นๆ กูปรีหรือนกแต้วแร้วท้องดำคงไม่มีใครมีโอกาสได้เห็น แต่บรูด้ากับฉลามวาฬเป็นอะไรที่คนสามารถขับรถไปประมาณ ๑-๒ ชั่วโมงแล้วได้เห็น มันอยู่หน้ากรุงเทพฯ มันอยู่หน้าอ่าวไทย คุณขับรถไปเกาะเต่า คุณดำน้ำได้เจอฉลามวาฬ สิ่งนี้ทำให้คนที่ได้เห็นเกิดความตระหนัก เกิดความผูกพัน และริเริ่มในการอนุรักษ์ รู้จักหวงแหนทรัพยากรที่มี
“คนที่ออกมาดูวาฬ ถ้าเขาเห็นวาฬว่ายอยู่ในมวลขยะ เรืออวนลาก หรือเห็นคนจับฉลามวาฬขึ้นมา เขาจะรู้สึกใส่ใจ แต่ละกรณีสร้างผลกระทบทางจิตใจ การที่การประกาศสัตว์ป่าสงวนถูกชะลอออกไป เหมือนเป็นบทเรียนที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเจออะไรแบบนี้ แต่ผมคิดว่ามันเป็นการถอยกลับเพื่ออีกหน่อยจะเดินได้หลายๆ ก้าว”

ภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

 

4preanimals06

ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ 
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

“จากข้อมูลทางวิชาการ สัตว์ทั้ง ๔ ชนิดอยู่ในเกณฑ์ที่สมควรเป็นสัตว์ป่าสงวน สิ่งนี้มีผลในทางความรู้สึกในการยอมรับของคนทั้งประเทศ และระดับนานาชาติที่เห็นประเทศไทยให้ความสำคัญกับสัตว์ทะเลหายาก ถึงขนาดเพื่อการอนุรักษ์ก็ยอมที่จะถูกลิดลอนสิทธิของตัวเองเพื่อให้ได้มาซึ่งการดูแลเพื่อนร่วมโลกของเรา
“ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าเขาจะยังไม่ได้เป็นสัตว์ป่าสงวน แต่เขาก็เป็นสัตว์ที่รับการคุ้มครอง การอนุรักษ์ยังต้องดำเนินการต่อเพื่อให้เขาสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ได้ ถึงแม้มีข้อจำกัดทางกฎหมาย เราก็ยังมีความหวังว่าหลังจาก พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไข เราจะสามารถยื่นเสนอชื่อเขากลับไปได้อีก”

ภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

4preanimals07

วิกานดา พ่วงเจริญ 
นักวิชาการประมงชำนาญการ กรมประมง

“จะขึ้นเป็นสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง จุดสำคัญอยู่ที่ประชาชนเข้าใจและคิดจะอนุรักษ์เขาขนาดไหน ปัจจุบันต่อให้เป็นสัตว์คุ้มครอง ไม่ได้เป็นสัตว์ป่าสงวน เขาก็ได้รับการอนุรักษ์ ไม่อนุรักษ์ด้วย พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ก็ยังมีพระราชกำหนดการประมงที่ให้ความคุ้มครองเขาอยู่ทั้ง ๔ ชนิด ถ้าประชาชนทุกคนเข้าใจและรักที่จะหวงแหนทรัพยากร ใน ๔ ชนิดจะขึ้นเป็นสัตว์สงวนหรือคุ้มครองก็ยังได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
“กรมประมงได้โทรไปประสานผู้ที่มีใบอนุญาตครอบครองซาก ส่วนใหญ่เป็นซากเต่ามะเฟืองที่บรรพบุรุษให้มา สอบถามว่าหากข้อกฎหมายจะทำให้เขาเป็นผู้กระทำผิด เขายินดีจะมอบซากมั๊ย เขาบอกถ้าต้องโดนปรับหรือจำคุก ถ้าเก็บไว้ไม่ได้จริงๆ ก็ยินดีจะมอบให้ แต่ถามว่าเขาเต็มใจที่จะมอบมั๊ย เขาก็เสียดายเหมือนกัน เพราะมันเป็นของที่บรรพบุรุษให้มา และมันสามารถเป็นมรดกตกทอดได้”

ภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

4preanimals08

ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ

“ถึงแม้มีมาตรการคุ้มครองอยู่แล้ว แต่เพื่อให้สังคมยกระดับความตระหนัก ให้เห็นว่าในช่วงไม่ถึงสิบปีที่ผ่าน เจเนอเรชั่นของเราทำให้เต่ามะเฟืองแทบสูญพันธุ์ มีสถานภาพเหมือนละอง ละมั่ง กูปรี ไม่พบเห็นมานานเหมือนแรด อีกนิดเดียวก็แทบจะแทงว่าสูญพันธุ์จากธรรมชาติ ถึงยังไม่มีประกาศว่าสูญพันธุ์แต่ก็เหมือนสูญพันธุ์จากธรรมชาติในประเทศไทย ดังนั้นต้องยกระดับเป็นสัตว์ป่าสงวน
“สิ่งที่รณรงค์กันมาสองปี มันน่าจะมีช่องทางทางกฎหมาย โดยผู้ครอบครองยอมเสียสละมาคืนก่อนที่จะประกาศ หรืออย่างสัตว์ที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองมาก่อน ผู้ครอบครองได้เคยแจ้งครอบครองในฐานะซากสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ ก็เท่ากับเจ้าของได้แจ้งครอบครองแล้ว ยกระดับไปโดยอัตโนมัติได้มั๊ย ถ้าตีความแบบนี้คนที่ครอบครองอยู่ก็ครอบครองต่อไป ได้หรือไม่ ยังเป็นข้อสงสัยในใจอยู่
“ในส่วนของ พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ต้องอย่าให้มีช่องว่างแบบนี้ หาทางแก้ไขตั้งแต่วันนี้ที่กฎหมายยังไม่ออกมา”

ภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร