silence
ภาพจาก : https://www.penguinrandomhouse.ca/authors/2023279/erling-kagge

ภาพถ่ายของผู้เขียนบนหน้าท้ายๆ ของหนังสือชื่อ Silence* แสดงถึงใบหน้าของชายผู้มุ่งมั่นกับแววตาลึกซึ้ง

อาลิงก์ ค็อกยัก (Erling Kagge) เป็นชาวนอร์เวย์ บนหน้าประวัติสั้น ๆ อันน่าทึ่งบอกว่า เขาเป็นนักสำรวจคนแรกที่เดินกว่า ๘๐๐ ไมล์ตามลำพัง เพื่อไปถึงขั้วโลกใต้ และเป็นคนแรกที่พิชิตสามขั้วโลก คือ ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ และยอดเขาเอเวอเรสต์
สิ่งสำคัญที่ค็อกยักค้นพบและพยายามนำมาบอกเล่า ไม่ใช่ประสบการณ์เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต หรือความท้าทายของการผจญภัยในดินแดนสุดทุรกันดาร

แต่คือ “ความเงียบ”

“แอนตาร์กติกา เป็นสถานที่ที่เงียบที่สุดที่ผมเคยอยู่…ในภูมิประเทศราบเรียบที่กว้างใหญ่ไพศาลนี้ไม่มีเสียงมนุษย์ใดนอกจากเสียงที่เกิดจากผม

“โดดเดี่ยวบนพื้นน้ำแข็งและเวิ้งว้างในความว่างเปล่าขาวโพลน ผมสามารถได้ยินและรู้สึกถึงความเงียบ”

สัมผัสความเงียบที่ค็อกยักเล่าถึง ทำให้ผมนึกถึงความรู้สึกขณะยืนมองทิวทัศน์ยอดเขาสลับซับซ้อนบนจุดชมวิวของอุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่งในวันที่ปราศจากนักท่องเที่ยวพลุกพล่าน

ทุกสิ่งเงียบสงัด ขณะแสงอาทิตย์ค่อย ๆ จับขอบฟ้า มีเพียงเสียงลมหายใจของเราที่พ่นผ่านความหนาว

ความรู้สึกพิเศษชั่วขณะที่เหมือนเวลาจะหยุดเดินนั้น มักทำให้เรารู้สึกแปลกแยกเสมอในวันแรก ๆ เมื่อต้องกลับมาใช้ชีวิตประจำวันในเมืองใหญ่ ท่ามกลางการเคลื่อนไหวและเสียงอึกทึกมากมาย ก่อนจะปรับตัวให้เข้ากับเสียงรอบตัว จนกลายเป็นว่าขาดเสียง
ไม่ได้

ระหว่างเดินทาง เราต้องใส่หูฟัง เปิดเพลง หรือฟังรายการข่าวในสถานที่ต่าง ๆ หากไม่มีเสียงเพลงเปิดบรรเลงคลอเบา ๆ เราอาจบ่นว่าที่นี่เงียบอย่างกับป่าช้า

ความเงียบกลายเป็นสภาวะที่เรารู้สึกอึดอัด และอยากหลีกหนี

“ปัญหาทุกอย่างของมนุษย์เกิดจากการที่มนุษย์ไม่สามารถนั่งเงียบ ๆ คนเดียวในห้องได้”

ค็อกยักอ้างถึงคำกล่าวของปาสกาล และยกตัวอย่างการวิจัยที่ให้คนอยู่ตามลำพังคนเดียวในห้องเป็นเวลา ๑๐-๑๕ นาทีโดยไม่มีเสียงเพลง ไม่มีหนังสือให้อ่าน ไม่ให้ขีดเขียน หรือใช้สมาร์ตโฟน แต่สามารถกดปุ่มชอร์ตไฟฟ้าตัวเองได้
ผลลัพธ์คือมีหลายคนที่กดปุ่มชอร์ตไฟฟ้าตัวเอง แทนการต้องนั่งเงียบ ๆ อยู่เป็นเวลา ๑๕ นาที

“เราหนีจากตัวเองอยู่เสมอ”

ผู้คนมักขวนขวายหาสิ่งต่าง ๆ ทำอยู่ตลอดเวลา เพื่อกลบเสียงจากภายใน ความจริงที่เราไม่อยากเผชิญ หรือความรู้สึกเบื่อหน่าย แต่การดิ้นรนนี่เองที่ทำให้เราประสบปัญหา เพราะที่สุดแล้วเราจะไม่มีวันพบกับความพึงพอใจ

ค็อกยักบอกว่าแท้จริงแล้วความเงียบเป็นเพื่อน และได้มาฟรี ๆ โดยไม่ต้องเดินทางไปถึงขั้วโลกใต้ เราอาจค้นพบความเงียบได้ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะในระหว่างการวิ่ง เดิน ทำอาหาร อ่านหนังสือ ทำงาน เต้นรำ หรืออาบน้ำ ความเงียบช่วยให้เรารู้สึกเต็มเปี่ยมกับประสบ-การณ์ตรงที่เรากำลังทำ และทำให้แต่ละช่วงเวลาของชีวิตมีความสำคัญ
“จงสูดลมหายใจเข้าเต็มปอด คุณไม่ต้องทำอะไรมากนักเพื่อเข้าใจความเงียบ… จงเดินตามหนทางของคุณเอง มันจะช่วยให้คุณพบเจอความเงียบได้ง่ายกว่าที่หลายคนคิดหรือเชื่อ…”

ชายผู้เดินทางไกลตามลำพังไปถึงดินแดนสุดขอบโลก พบว่าความลับของโลกซ่อนอยู่ในความเงียบ

คุณผู้อ่านก็อาจค้นพบความสงบสุขในความเงียบได้เช่นกันครับ

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี
suwatasa@gmail.com

เชิงอรรถ

  • #ชอปช่วยชาติ หนังสือ เงียบ Silence In the Age of Noise
    แปลโดย วรรธนา วงษ์ฉัตร จัดพิมพ์โดย OMG BOOKS