เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


ไทม์ไลน์ ๔ ปี ของ “PM2.5” ฝุ่นอันตราย
ถนนบางนาตราด เขตบางนา กรุงเทพฯ วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

ราวปี ๒๕๕๘-๒๕๕๙ ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกรู้จัก PM2.5 กันอย่างแพร่หลาย เรื่องราวของฝุ่นละอองขนาดเล็กจิ๋วชนิดนี้ยังถือว่าใหม่มากในสังคมไทย

PM ย่อมาจากคำว่า “particulate matter” หมายถึง ฝุ่นละออง ส่วน PM2.5 หมายถึง ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน ๒.๕ ไมครอน หรือเล็กกว่า ๑ ใน ๒๕ ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมของมนุษย์ ทำให้ขนจมูกหรือหน้ากากอนามัยโดยทั่วไปไม่สามารถกรองได้

เมื่อ PM2.5 เข้าสู่ร่างกายทางโพรงจมูกจะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและระบบเส้นเลือด ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งปอด โรคติดเชื้อเฉียบพลันในระบบหายใจส่วนล่าง ฯลฯ

ในช่วงเวลานั้น แม้ PM2.5 จะเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ แต่กรมควบคุมมลพิษยังไม่พิจารณาเอา PM2.5 มาใช้ในการคำนวณค่าดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย