เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ 1 บี และความสำคัญของการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำไทยแผนภาพมุมสูง แสดงตำแหน่งของพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นต่างๆ อาทิ ชั้น 1 เอ, 2, 3
(ภาพ : เว็บไซด์กองบริหารจัดการที่ดิน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

1

การกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ (Watershed classification) ออกเป็นชั้น 1 เอ, 1 บี, 2, 3, 4 และ 5 มีขึ้นเพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งด้านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์ป่าไม้ให้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารกับการทำเหมือง การใช้ที่ดินทำกินของราษฎรกับการใช้ที่ดินของหน่วยงานรัฐ

เพื่อให้การใช้ทรัพยากรมีความเหมาะสม ภาครัฐจึงหาทางกำหนดว่าพื้นที่ใดเหมาะกับกิจกรรมใดบ้าง

เว็บไซด์กองบริหารจัดการที่ดิน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (http://www.onep.go.th) ระบุว่าพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารในภาคเหนือบริเวณลุ่มน้ำปิงและลุ่มน้ำวังเป็นพื้นที่แรกๆ ที่กรมป่าไม้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้มีการกำหนดอาณาเขตของพื้นที่ลุ่มน้ำ อย่างไรก็ตาม แม้คณะรัฐมนตรีจะมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอ แต่กรมทรัพยากรธรณีขอให้ทบทวนมติ เนื่องจากข้อเสนอของกรมป่าไม้ที่ว่า “ในเขตป่าต้นน้ำลำธารชั้นที่ 1 ห้ามมีการใช้ประโยชน์อย่างเด็ดขาด” นั้น ในพื้นที่เดียวกันอาจเป็นพื้นที่มีศักยภาพสูงในการทำเหมืองแร่

คณะรัฐมนตรีจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วยผู้แทนจากกรมป่าไม้ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรธรณี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ปัจจุบันคือสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)) เพื่อทบทวนมติ คณะกรรมการพิจารณาเห็นควรให้มีการปรับปรุงการกำหนดชั้นและอาณาเขตป่าต้นน้ำลำธารใหม่ แต่ถึงแม้จะมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาร่วมกัน ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้…

2

เพื่อหาทางยุติข้อขัดแย้ง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจึงหยิบปัญหามาพิจารณา และมีมติให้แต่งตั้ง “คณะกรรมการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ” พร้อมเสนอขออนุมัติโครงการศึกษาเพื่อกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่สำคัญ

เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบวันที่ 27 กรกฎาคม 2525 สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจึงเริ่มสรรหาหน่วยงานที่มีความเป็นกลางเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำให้สอดคล้องกับหลักการอนุรักษ์ มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินการศึกษา คณะกรรมการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำเป็นที่ปรึกษาระหว่างปี 2526-2534 มีลุ่มน้ำที่ได้รับการศึกษาวิจัย 6 ลุ่มน้ำ เรียงตามลำดับเวลา ได้แก่

1) ลุ่มน้ำภาคเหนือ คือ ปิง-วัง-ยม-น่าน
2) ลุ่มน้ำมูล-ชี
3) ลุ่มน้ำภาคใต้
4) ลุ่มน้ำภาคตะวันออก
5) ลุ่มน้ำภาคตะวันตก ภาคกลาง และลุ่มน้ำป่าสัก
6) ลุ่มน้ำภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ ปิง-วัง-ยม-น่าน และไม่ใช่ มูล-ชี ส่วนใหญ่เป็นลุ่มน้ำตามชายแดน ปี 2534

watershed02มุมสูงของสันเขาและที่ราบในจังหวัดสระบุรี เขาหินปูนบางแห่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ (ภาพ : 123rf)

3

หลักเกณฑ์ที่ใช้กำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำประกอบด้วยปัจจัยทางกายภาพ 6 ปัจจัย ได้แก่ สภาพภูมิประเทศ / ระดับความลาดชัน / ความสูงจากระดับน้ำทะเล / ลักษณะทางธรณีวิทยา / ลักษณะปฐพีวิทยา / สภาพป่าไม้ที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน

แบ่งลุ่มน้ำออกเป็น 5 ระดับชั้น ได้แก่

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 หมายถึง พื้นที่ภายในลุ่มน้ำที่ควรจะต้องสงวนรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารโดยเฉพาะ เนื่องจากมีลักษณะและสมบัติที่อาจมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินได้ง่ายและรุนแรง ไม่ว่าพื้นที่จะมีป่าหรือไม่มีป่าปกคลุมก็ตาม

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ยังแบ่งเป็น 2 ระดับชั้นย่อย คือ พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ที่ยังคงมีสภาพป่าสมบูรณ์ปรากฏอยู่ในปี 2525 จำเป็นต้องสงวนรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารและเป็นทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ

และพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 บี เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ซึ่งสภาพป่าส่วนใหญ่ถูกทำลาย ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงไปเพื่อพัฒนาการใช้ที่ดินรูปแบบอื่นไปแล้วก่อนปี 2525 การใช้ที่ดินหรือการพัฒนาจะต้องมีมาตรการควบคุมเป็นพิเศษ

สำหรับลุ่มน้ำภาคกลาง ภาคตะวันตก ป่าสัก รวมทั้งลุ่มน้ำชายแดนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังจำแนกคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ออกเป็น 1 เอเอ็ม (1AM) หรือลุ่มน้ำชั้น 1 เอที่มีศักยภาพด้านแร่ และลุ่มน้ำชั้น 1 บี เป็น 1 บีเอ็ม (1BM) หรือลุ่มน้ำชั้น 1 บีที่มีศักยภาพด้านแร่ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเกี่ยวกับพื้นที่ศักยภาพแร่ออกมาบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 1 มิถุนายน 2534

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นรองลงไป ได้แก่

  • พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2 หมายถึง พื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งลักษณะทั่วไปมีคุณภาพเหมาะต่อการเป็นต้นน้ำลำธารในระดับรองลงมา สามารถใช้ประโยชน์เพื่อกิจการที่สำคัญ เช่น การทำเหมืองแร่ เป็นต้น
  • พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3 หมายถึง พื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งพื้นที่โดยทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งกิจการทำไม้ เหมืองแร่ และปลูกพืชกสิกรรมประเภทไม้ยืนต้น
  • พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 4 หมายถึง พื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งสภาพป่าได้ถูกบุกรุกแผ้วถางเป็นที่ใช้ประโยชน์เพื่อกิจการพืชไร่เป็นส่วนมาก
  • และพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 5 หมายถึง พื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งลักษณะโดยทั่วไปเป็นที่ราบหรือที่ลุ่ม หรือเนินลาดเอียงเล็กน้อย และส่วนใหญ่ป่าไม้ได้ถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อประโยชน์ด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนาและกิจการอื่นๆ ไปแล้ว

4

มาตรการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นต่างๆ ตั้งแต่ 5 ไปจนถึง 1 เอ แตกต่างกัน

ยกตัวอย่าง พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 5 อนุญาตกิจการเหมืองแร่ การเกษตร ป่าไม้ และกิจการอื่นๆ ได้ตามปกติ มีข้อแนะนำว่าบริเวณที่มีดินลึกน้อยกว่า 50 เซนติเมตร ควรปลูกพืชไร่ ป่าเอกชน ไม้ผล ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ หรือทำที่พักผ่อนหย่อนใจ ดินลึกมากกว่า 50 เซนติเมตรขึ้นไป ควรปลูกข้าวและพืชไร่ หากจะใช้เพื่อการอุตสาหกรรมควรหลีกเลี่ยงพื้นที่มีศักยภาพทางการเกษตรสูง

เมื่อเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 4 และชั้น 3 ก็มีการยกระดับมาตรการใช้ที่ดินขึ้นมา แม้ว่าจะสามารถทำเหมืองแร่ ป่าไม้ และกิจการอื่นๆ ได้ แต่ “ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางราชการโดยเคร่งครัด” และ “ต้องมีการควบคุมวิธีการปฏิบัติอย่างเข้มงวดให้เป็นไปตามหลักการอนุรักษ์ดินและน้ำ”

เมื่อถึงพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 มาตรการก็เข้มงวดถึงชั้นสูงสุด

ยกตัวอย่างพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ มีข้อกำหนดว่า “ห้ามมิให้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะพื้นที่ป่าไม้เป็นรูปแบบอื่นอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้เพื่อรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารอย่างแท้จริง” รวมถึง “ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบำรุงรักษาป่าธรรมชาติที่มีอยู่ และระงับการอนุญาตทำไม้โดยเด็ดขาด และให้ดำเนินการป้องกันการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าอย่างเข้มงวดกวดขัน”

ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี “พื้นที่ใดที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพเพื่อประกอบการกสิกรรมรูปแบบต่างๆ ไปแล้ว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาดำเนินการกำหนดการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม” รวมทั้ง “บริเวณพื้นที่ใดที่ไม่เหมาะสมต่อการเกษตรหรือการพัฒนาในรูปแบบอื่นๆ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปลูกป่าฟื้นฟูสภาพต้นน้ำลำธารอย่างรีบด่วน” เป็นต้น

watershed03การประชุมเพื่อแบ่งชั้นคุณภาพลุ่มน้ำของประเทศไทยในอดีตมีผู้เข้าร่วมจากหลายหน่วยงาน
(ภาพ : เว็บไซด์กองบริหารจัดการที่ดิน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

5

ที่ผ่านมา โครงการของรัฐซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ มีหลายประเภท เช่น ตัดถนนผ่านป่า สร้างทางรถไฟ เขื่อน แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ หน่วยงานต่างๆ มักให้เหตุผลว่าแต่ละโครงการมีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศ คณะรัฐมนตรีก็อาจพิจารณาผ่อนผันเฉพาะกรณี โดยกำหนดให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

ส่วนโครงการของเอกชน เช่น การทำเหมืองแร่ การระเบิดและย่อยหิน เว็บไซด์กองบริหารจัดการที่ดิน อัพเดตวันที่ 13 กันยายน 2559 ระบุว่า “หากอยู่ในเขตลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ก็จะไม่สามารถดำเนินการขอต่ออายุประทานบัตรหรือสัมปทานได้”

แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี

“หากจะทำเหมืองแร่ก็สามารถขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีเป็นรายๆ ไป และหากมีการระเบิดและย่อยหินอยู่แล้ว และประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ก็สามารถดำเนินการได้อีก 1 ครั้ง (ระยะเวลา 5 ปี)”

นับแต่มีมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ก็มีส่วนราชการรวมทั้งภาคเอกชนหลายหน่วยงานเสนอขอผ่อนผันยกเว้นมติคณะรัฐมนตรี เพื่อเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมต่างๆ ต่อมาคณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2546 กำหนดให้ “..กรณีจำเป็นที่ต้องขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ต่อคณะรัฐมนตรี ส่วนราชการจะต้องจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาก่อน เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีทุกครั้ง”

การกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ 1 บี 2 3 4 และ 5 มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำเอาไว้ได้

แต่ถึงอย่างไร อีกด้านหนึ่งแล้วพื้นที่ป้าต้นน้ำก็ยังคงถูกคุกคามจากโครงการพัฒนาต่างๆ ที่เจ้าของโครงการมักให้เหตุผลเรื่องความมั่นคงของประเทศและความจำเป็นทางเศรษฐกิจ

อ้างอิง

  • เว็บไซด์กองบริหารจัดการที่ดิน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม http://www.onep.go.th