วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


bompor

สำหรับคนที่มีพรสวรรค์ปัจจัยเงื่อนไขภายนอกอาจมีผลน้อย หากเขาเกิดมาเพื่อจะเป็น… (Born to be) วันหนึ่งเขาก็เป็นจนได้ ไม่ต้องมีใครสอน

แต่สำหรับผู้มีใจรักฝักใฝ่ แต่ความเก่งกาจสามารถพื้นฐานอาจไม่สูงนัก การที่เขาจะเป็นได้ต้องมาจากโอกาสในการได้เรียนรู้และฝึกฝนตนเอง

ด้วยการอ่าน การได้คำชี้แนะจากคนที่เป็นมาก่อน การได้พบคนที่รักชอบในสิ่งเดียวกัน เพื่อปะทะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความคิดฝัน ต่อไฟเติมฝันให้แก่กัน และเป็นกัลยาณมิตรที่อ่านงาน ตรวจทาน วิจารณ์ให้อย่างใส่ใจ

การสร้างปัจจัยเงื่อนไขอันเอื้ออำนวยให้กับผู้มีความฝันใฝ่จึงยังคงจำเป็น เช่นที่สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ได้จัดค่ายบ่มเพาะนักเขียนหน้าใหม่ มาเป็นรุ่นที่ ๕ แล้วในปีนี้ ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างช่องทางและโอกาสให้กับคนที่มีความฝันใฝ่ในด้านการประพันธ์ ต่อเนื่องรุ่นละ ๕ เดือน โดยมีเป้าหมายท้ายค่ายให้ได้ผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอัน รวมทั้งเป้าหมายเชิงคุณภาพในด้านฝีมือที่จะอยู่กับตัวคนเขียนตลอดไป

ค่ายบ่มเพาะนักเขียนหน้าใหม่ รุ่นที่ ๕ เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๖๒ มีนักเขียนมืออาชีพเป็นพี่เลี้ยงประจำกลุ่ม เรื่องสั้น โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ และประชาคม ลุนาชัย นวนิยาย โดย วีรพร นิติประภา และปองวุฒิ รุจิระชาคร กวีนิพนธ์ โดย เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ สารคดี โดย วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง บทความ โดย โตมร ศุขปรีชา และบทวิจารณ์วรรณกรรม โดย จรูญพร ปรปักษ์ประลัย

รวมกลุ่มพูดคุยให้คำปรึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ออกไปเดินทางด้วยกัน ไปสัมผัสพื้นที่และแรงบันดาลใจจากนักเขียนผู้ใหญ่ ศิลปินแห่งชาติ ควบคู่ไปกับการวางเค้าโครงแผนการสร้างงาน ซึ่งเมื่อจบค่ายแต่ละคนต้องมีผลงานของตัวเองติดตัวกลับบ้าน

ส่วนจะได้มากน้อยแค่ไหนในแง่เนื้อหาและฝีมือ เป็นเรื่องที่ยังต้องพิสูจน์กันต่อ เพราะการสร้างสรรค์งานศิลป์เป็นเรื่องยาวนาน แต่คุ้มค่า

ดังที่คำสิงห์ ศรีนอก กล่าวกับนักเขียนหน้าใหม่ที่มาเยี่ยมคารวะที่ไร่ธารเกษม เมื่อวันเสาร์ ที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๒ ตอนหนึ่งว่า

ศิลปะเป็นเหมือนเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ ถ้าผู้สร้างทำได้ถึง

ขณะที่ชาติ กอบจิตติ กล่าวถึงเรื่องเดียวกันนี้ว่า “ศิลปิน-ขโมย ช่างฝีมือ-ยืม” ในความหมายถึงการหยิบนำงานคนอื่นมาใช้ต่อ ซึ่งหากทำได้อย่างมีศิลปะแล้ว สามารถนำมาเป็นงานของเราอย่างไม่มีใครจำได้ แต่หากยกมาแบบตรงไปตรงมาก็จะถูกตามท้วงว่าลอกงานคนอื่น

ทุกคำแนะนำและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่นักเขียนหน้าใหม่ได้ซึมซับ ย่อมจะเป็นปัจจัยชุมนุมสู่การผลิใบเป็นนักเขียนที่ดีมีผลงานของตนต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา