boonrawd

ศรัณย์ ทองปาน เรียบเรียง

๒๔๗๖ หนึ่งปีหลังจากสยามเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย  บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม จากนั้นปีต่อมาในเดือน กรกฎาคม ๒๔๗๗ บุญรอดฯ ก็เริ่มผลิตเบียร์ออกวางตลาดได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของเมืองไทย เบียร์ - เครื่องดื่มที่เคียงคู่กับอารยธรรมมนุษย์มายาวนานร่วมหมื่นปี และอุตสาหกรรม ที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยมีใครคาดฝันว่าจะเป็นไปได้ในประเทศเมืองร้อน - เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์  ความคิดริเริ่ม และกำลังแรงใจของพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร ๒๔๑๕ – ๒๔๙๓)

boonrawd01พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) ในเครื่องแบบเต็มยศข้าราชการพลเรือนยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

จากเด็กชายสู่ “ท่านเจ้าคุณ”

พระยาภิรมย์ภักดีถือกำเนิดที่กรุงเทพฯ ในตระกูลเศรษฐบุตร ซึ่งเป็นตระกูลคนไทยเชื้อสายจีน ผ่านประสบการณ์ทำงานหลายรูปแบบมาตั้งแต่อายุยังไม่มาก  เขาเริ่มต้นเข้ารับราชการเป็นครูก่อนหันไปทำงานเป็นเสมียนห้าง แล้วออกมาทำกิจการค้าไม้ซุงของตนเอง กระทั่งเติบโตในธุรกิจเดินเรือรับส่งผู้โดยสารข้ามฟากระหว่างพระนครกับฝั่งธนบุรี จนได้รับพระราชทานราชทินนาม “ภิรมย์ภักดี” สืบตระกูลขุนนางพ่อค้าตามที่บิดาเคยได้รับมาก่อนในสังกัดกรมท่าซ้าย

ต้นทศวรรษ ๒๔๗๐ เมื่อทางราชการมีดำริให้สร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า) ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังฝั่งธนบุรี เฉลิมฉลองวาระ ๑๕๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์  ท่านเจ้าคุณจึงเล็งเห็นว่าเมืองไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลง สังคมจะก้าวหน้าทันสมัยยิ่งขึ้น ธุรกิจดั้งเดิมอย่างเช่นเรือข้ามฟากคงไม่สามารถตอบสนองคนรุ่นใหม่ได้อีกต่อไป และเมื่อได้ลองลิ้มเบียร์รสดีที่มิตรชาวเยอรมันเปิดให้ชิม ท่านจึงตั้งปณิธานที่จะเป็นคนไทยคนแรกที่ตั้งโรงงานเบียร์ขึ้นในประเทศให้จงได้

ขณะนั้นคือปี ๒๔๗๒ และพระยาภิรมย์ภักดีอายุได้ ๕๗ ปี

boonrawd02

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการก่อสร้างโรงงานบุญรอดบริวเวอรี่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๔๗๖

จุดเริ่มโรงเบียร์

ในวัยใกล้ ๖๐ พระยาภิรมย์ฯ ยังคงมองหาลู่ทางใหม่ ๆ สำหรับชีวิต ท่านเล็งเห็นว่าสยามยังไม่มีเบียร์ที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ กำไรจากการจำหน่ายเบียร์นับแสนขวดที่ขายได้ในเมืองไทยสมัยนั้นจึงไหลออกไปต่างประเทศทั้งหมด  ดังนั้นถ้าสามารถผลิตเบียร์ขึ้นได้สำเร็จ ประเทศชาติก็ย่อมได้ประโยชน์จากการนี้

ด้วยความมุ่งมั่น พระยาภิรมย์ฯ ใช้เวลาเกือบตลอดทั้งปี ๒๔๗๓ เสาะหาข้อมูลการตั้งโรงเบียร์ด้วยความกระตือรือร้น ท่ามกลางเสียงเยาะหยันในวงสังคมที่ทราบข่าว ทว่าคำถากถางยิ่งกลับเป็นกำลังใจที่ผลักดันให้ท่านเจ้าคุณมุ่งมั่นว่าเกิดมาทั้งทีต้องทำให้สำเร็จให้จงได้

หลังจากศึกษาดูงานในประเทศเพื่อนบ้านและการเจรจากับทางราชการเพื่อขอสัมปทานผลิตเบียร์  ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗  พระยาภิรมย์ฯ จึงเดินทางไปยุโรปเพื่อแสวงหาเครื่องจักรที่เหมาะสมรวมถึงหาตัวผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ตลอดเวลาเกือบ ๖ เดือน ท่านได้เยี่ยมชมโรงงานเบียร์ไม่รู้กี่แห่งต่อกี่แห่ง รวมทั้งไปเยือนแหล่งผลิตวัตถุดิบสำคัญสองชนิดของเบียร์ ทั้งไร่ฮอปส์และนาข้าวบาร์เลย์ ต้นทางของ “มอลต์” ท่านเจ้าคุณบันทึกไว้ว่า (ตัวสะกดตามต้นฉบับ)

“…ต้นฮอบส์ขึ้นเลื้อยบนเสาไม้ค้างบนร่อง เช่นเดียวกับเถาพลูบ้านเรา ขณะนี้กำลังมีดอกเป็นพวงเฉพาะในฤดูร้อน มีเกสรสีเหลืองหอมฉุน…แล้วก็ได้ดูไร่ข้าวบาเล่ขึ้นมีรวงคล้ายต้นข้าว…”

ในท้ายที่สุดท่านเจ้าคุณจึงคัดเลือกให้บริษัทเมี้ยก (MIAG) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเล็ก ๆ ชื่อเบราน์ชไวค์ (Braunschweig) แต่สามารถสร้างโรงเบียร์ได้ทุกขั้นตอน เป็นผู้ผลิตเครื่องจักร แล้วขนส่งทางเรือเข้ามา

boonrawd03

ตราหนุมานคาบศรของบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด

กำเนิด “บุญรอดบริวเวอรี่”

เมื่อพระยาภิรมย์ฯ กลับเข้ามายังกรุงเทพฯ และเจรจาต่อรองกับทางราชการจนได้รับสัมปทานเรียบร้อยแล้วจึงเตรียมจดทะเบียนตั้งบริษัท แต่แรกตั้งใจจะใช้ชื่อ บริษัท เบียร์สยาม จำกัด ตามชื่อประเทศยุคนั้น แต่กลับมีเสียงทักท้วงจากเพื่อนฝรั่งว่า ชื่อบริษัทห้างร้านต่าง ๆ สมัยนั้นล้วนเต็มไปด้วยคำว่า “สยาม” ท่านจึงตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้ชื่อตัวเองคือ “บุญรอด” จดทะเบียนเป็น “บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด” ด้วยทุน ๖ แสนบาท เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๔๗๖

นับแต่นั้นมาทางบริษัทฯ จึงถือเอาวันที่ ๔ สิงหาคมของทุกปีเป็นวาระเฉลิมฉลองการก่อตั้งเรื่อยมาจนวันนี้

พระยาภิรมย์ฯ เลือกใช้ตราหนุมานคาบศรเป็นสัญลักษณ์ของบริษัทฯ ทั้งในความหมายแทนตัวท่านเองซึ่งเกิดปีวอก และความหมายที่ว่าหนุมานเป็นทหารเอกของพระราม หนุมานในตราบุญรอดบริวเวอรี่จึงคาบลูกศร อันเป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏในพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ อันมีที่มาจากพระนาม “เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์” (เดชน์แปลว่าลูกศร) ทั้งยังอาจหมายถึงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ซึ่งออกแบบให้มีแผนผังเป็นรูปลูกศรตามพระนามาภิไธย

ส่วนที่ตั้งโรงงานนั้น แต่แรกเช่าที่ดินโรงสีเก่าริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านสามเสน ก่อนจะขอซื้อเป็นของบริษัทฯ ในเวลาต่อมา  เมื่อติดตั้งเครื่องจักรและทดลองผลิตได้เรียบร้อยจึงมีพิธีเปิดป้ายบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ ในวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๔๗๗ โดยมีสมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เสด็จมาเป็นองค์ประธาน จากนั้นในวันรุ่งขึ้นจึงเปิดจำหน่ายเบียร์สามยี่ห้อที่ได้จากการประกวดออกแบบฉลากเบียร์ คือ ตราว่าวปักเป้าทอง ตราสิงห์ และตราพระปรางค์ ซึ่งภายหลังเหลือเพียง “ตราสิงห์” อย่างเดียว

หลังจากนั้นไม่นาน บุญรอดฯ ยังเพิ่มการผลิตน้ำโซดาและน้ำหวานที่เป็นน้ำอัดลมอีกด้วย

boonrawd04

โรงงานบุญรอดบริวเวอรี่แลเห็นประตูทางเข้าดั้งเดิม

boonrawd05ประจวบ ภิรมย์ภักดี (แถวหน้ากลางภาพ) บรูว์มาสเตอร์คนแรกของเมืองไทย

นักปรุงเบียร์คนแรก

แม้ว่าในระยะบุกเบิก พระยาภิรมย์ฯ สามารถเสาะหาตัว “นักปรุงเบียร์” (brew master) ชาวเยอรมันเข้ามาร่วมงานกับโรงเบียร์แห่งแรกของสยามได้คนหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันท่านก็ตระหนักดีว่า หากต้องการดำเนินงานต่อไปอย่างมั่นคง ย่อมไม่อาจหวังพึ่งเฉพาะแต่การ “นำเข้า” ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติไปเรื่อย ๆ ทว่าต้องมีคนในครอบครัวที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนี้ด้วย

ประจวบ ภิรมย์ภักดี บุตรชายของท่านเจ้าคุณซึ่งขณะนั้นศึกษาอยู่ในยุโรปจึงได้รับการวางตัวให้เป็น “นักปรุงเบียร์” คนแรกของสยาม

เขาเข้าฝึกงานกับโรงเบียร์ในเยอรมนีทันทีระหว่างที่พระยาภิรมย์ฯ ยังอยู่ในยุโรปเมื่อปี ๒๔๗๕ จากนั้นในปี ๒๔๗๗ เขาจึงเข้าเรียนหลักสูตรนักปรุงเบียร์ที่สถาบันเดอเมินส์ ซึ่งก่อตั้งโดย ดร. อัลเบิร์ต เดอเมินส์ (Dr. Albert Doemens) เมื่อสำเร็จแล้วก็ยังไปฝึกงานต่อในโรงเบียร์ฮัคเกอร์ และสถานีวิทยาศาสตร์เพื่อการผลิตเบียร์ต่อ จนสำเร็จการศึกษาด้านนี้ และเดินทางกลับมาเมืองไทยในปี ๒๔๗๙ ในฐานะ “บรูว์มาสเตอร์” ชาวสยามคนแรกในประวัติศาสตร์

boonrawd06
โรงงานบุญรอดบริวเวอรี่ยุคบุกเบิก

มุ่งมั่นยั่งยืน

ขณะเดียวกันเมื่อโรงเบียร์เปิดดำเนินการแล้ว พระยาภิรมย์ฯ ในวัย ๖๒ ปีก็เริ่มงานขั้นต่อไป คือการออกตระเวนเดินทางไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศในยุคที่การคมนาคมนอกเมืองหลวงยังเป็น “การผจญภัย” กลางแดนทุรกันดาร  วัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อหาตัวแทนจำหน่าย สร้างเครือข่าย และผลักดันผลิตภัณฑ์ของบุญรอดบริวเวอรี่เข้าสู่ตลาด เพราะท่านเจ้าคุณมองเห็นว่าตลาด “หัวเมือง” ยังมีศักยภาพของตนเองที่พร้อมจะขยายตัวต่อไป จึงพยายามหาผู้แทนจำหน่ายให้ได้ในหัวเมืองใหญ่ทุกภาคของประเทศ

เช่นเมื่อไปถึงหาดใหญ่ ปรากฏว่ามีชายหนุ่มจากปัตตานีมาขอพบ เขาได้ยินชื่อเสียงของเบียร์เจ้าคุณจึงเดินทางจากปัตตานีมาอ้อนวอนขอเป็นตัวแทนจำหน่าย พระยาภิรมย์ฯ ใจอ่อน ยอมขึ้นรถไฟลงไปปัตตานีเพื่อร่วมสำรวจตลาด ท้ายที่สุดจึงยอมแต่งตั้งให้บริษัทของชายหนุ่มผู้พากเพียรเป็นตัวแทนของบุญรอดบริวเวอรี่ในภาคใต้

แม้จนต่อมาอีกกว่า ๘๐ ปี ห้างหุ้นส่วนจำกัดปัตตานีวัฒนานิกรก็ยังเป็นตัวแทนจำหน่ายของบุญรอดบริวเวอรี่มาจนถึงปัจจุบัน

กุญแจสำคัญอีกประการหนึ่งในการทำธุรกิจของพระยาภิรมย์ภักดีคือการกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวและรักษาขวัญและกำลังใจ ตลอดจนความสามัคคีในหมู่พนักงาน เช่นการจัดอาหารกลางวันให้พนักงาน โดยร่วมรับประทานกับครอบครัวและพนักงานด้วย

เมื่อถึงต้นทศวรรษ ๒๔๘๐ บุญรอดบริวเวอรี่สามารถครองส่วนแบ่งตลาดเบียร์ในประเทศได้กว่าร้อยละ ๖๐ เป็นอันว่าธุรกิจอุตสาหกรรมของท่านเจ้าคุณที่หลายคนเคยแคลงใจได้กลายเป็น “ดาวรุ่ง” ดวงใหม่ของประเทศไปเรียบร้อยแล้ว

boonrawd07“ครุฑตราตั้ง”

บททดสอบ

สยามเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทยในปี ๒๔๘๑ จากนั้นในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๔๘๒ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ “ครุฑตราตั้ง” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

เดือนกันยายน ๒๔๘๓ สงครามโลกครั้งที่ ๒ เปิดฉากขึ้นในยุโรป  สภาวการณ์ของสงครามทำให้วัตถุดิบในการทำเบียร์เช่นมอลต์และฮอปส์ขาดแคลน  ประจวบ ภิรมย์ภักดี พยายามทดลองแก้ปัญหาโดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศเช่นข้าวเจ้า ผลิตเบียร์แทนมอลต์ที่ทำจากข้าวบาร์เลย์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก จนสุดท้ายก็ต้องยุติไป เช่นเดียวกับการผลิตโซดาและน้ำอัดลมซึ่งขาดแคลนส่วนผสมและคาร์บอนไดออกไซด์จนต้องหยุดผลิต

รายได้หลักที่เลี้ยงบริษัทฯ ในระยะนั้นจึงมาจากการผลิตน้ำแข็งขาย

สงครามที่ลุกลามเข้าสู่เมืองไทยเมื่อเดือนธันวาคม ๒๔๘๔ ในนาม “สงครามมหาเอเชียบูรพา” ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอีก เครื่องบินสัมพันธมิตรเริ่มเข้ามาโจมตีทิ้งระเบิดจุดยุทธศาสตร์และที่ตั้งกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย  บางช่วงถึงกับมีหน่วยทหารของญี่ปุ่นเข้ามาตั้งค่ายในพื้นที่โรงเบียร์ จนทำให้เครื่องจักรเสียหายไปบางส่วน

สงครามโลกครั้งที่ ๒ ในเมืองไทยถือว่ายุติลงภายหลังมีพระบรมราชโองการประกาศสันติภาพ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ หลังจากนั้นบุญรอดบริวเวอรี่ก็สามารถกลับมาผลิตสินค้าออกสู่ท้องตลาดได้ตามเดิมภายในเวลาไม่นานนัก

ยุคเปลี่ยนผ่าน

พระยาภิรมย์ภักดีถึงแก่อนิจกรรมเมื่อเดือนมีนาคม ๒๔๙๓ ขณะมีอายุได้ ๗๗ ปี หรือ ๓๐ ปีภายหลังจากเริ่มคิดตั้งโรงเบียร์แห่งแรกของประเทศ

แนวคิดสำคัญที่ท่านทิ้งไว้ให้เป็นมรดกแก่คนรุ่นหลังก็คือการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์และโปร่งใส รวมทั้งตอบแทนสังคมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“หากมีผู้ต้องการความช่วยเหลือจากเรา ไม่ว่าเมื่อใดหรือที่ไหน เราควรที่จะต้องพิจารณาให้ความช่วยเหลือโดยเร็วหากกระทำได้”

นอกจากนั้นพระยาภิรมย์ฯ ยังสั่งไว้อีกด้วยว่า

“สิ่งที่กฎหมายกำหนดเราต้องทำตาม และต้องจ่ายภาษีให้ครบถ้วน”

คำกล่าวเหล่านี้ได้กลายเป็นรากฐานวัฒนธรรมองค์กรของบุญรอดบริวเวอรี่ที่สืบเนื่องมาจนทุกวันนี้

หลังยุคของท่านเจ้าคุณเป็นช่วงเวลาของบุตรชายทั้งสามผู้เป็น “ภิรมย์ภักดี รุ่นที่ ๒” ได้แก่ ประจวบ วิทย์ และ จำนงค์ ภิรมย์ภักดี  ความร่วมแรงร่วมใจของผู้บริหารได้สร้างความมั่นคงและรุ่งเรืองให้แก่บุญรอดบริวเวอรี่ สินค้าหลัก ๆ ยังคงเป็นเบียร์ น้ำหวาน และโซดาตราสิงห์ โดยเฉพาะเบียร์ ซึ่ง “สิงห์” ถือเป็นเจ้าตลาด

boonrawd08

สามพี่น้องตระกูลภิรมย์ภักดี

ปัญหามีไว้ฝ่าฟัน

หลังจาก ประจวบ ภิรมย์ภักดี ยุติบทบาทลงในปี ๒๕๓๖ บริษัทฯ จึงตกมาอยู่ในความรับผิดชอบของ “ภิรมย์ภักดี รุ่นที่ ๓” หรือรุ่นลูกของประจวบ ได้แก่ ปิยะ ซึ่งเป็นบรูว์มาสเตอร์คนที่ ๒ ของครอบครัวและของประเทศ กับ สันติ ภิรมย์ภักดี

ยุคนี้หรือช่วงคริสต์ทศวรรษ ๑๙๙๐ ถือเป็นเวลาแห่งความผันผวนและความท้าทายยิ่งใหญ่สำหรับบุญรอดฯ เพราะเกิดมีบริษัทคู่แข่งขนาดใหญ่เข้ามาในตลาดเบียร์เมืองไทย ทำให้บุญรอดฯ ต้องพยายามกอบกู้สถานการณ์ รักษาศักดิ์ศรีของผู้ริเริ่มโรงเบียร์ในเมืองไทยและ “เบอร์ ๑” ในตลาดเบียร์เอาไว้ให้ได้

ซ้ำร้ายช่วงก่อนสงกรานต์ เดือนเมษายน ๒๕๓๘ เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่โรงเบียร์ปทุมธานี โรงงานเบียร์แห่งที่ ๒ ที่เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ เสียหายอย่างหนัก สินค้าที่ผลิตจากโรงงานแห่งนี้คิดเป็นปริมาณถึงร้อยละ ๘๐ ของสินค้าในเครือทั้งหมด  และการฟื้นฟูโรงเบียร์ปทุมธานีแทบจะเป็นการนับหนึ่งเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

แต่ในภาวะเช่นนั้นก็ยังมีโอกาส  เหตุไฟไหม้ใหญ่ครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณสำคัญในการเรียกร้องความร่วมแรงร่วมใจของพนักงาน “ผมเรียกรวมพลพนักงานและถามว่ายังเชื่อในบริษัทอยู่หรือเปล่า ?” สันติ ภิรมย์ภักดี เล่า

“ทุกคนตะโกนตอบพร้อมกันว่า เชื่อ !”

ขณะเดียวกันบรรดาบริษัทผลิตเครื่องจักรในเยอรมนีซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบุญรอดบริวเวอรี่มาหลายชั่วอายุคน ต่างเต็มอกเต็มใจช่วยเหลือ “เพื่อนเก่า” อย่างดียิ่ง บางแห่งถึงกับนำเครื่องจักรที่มีอยู่มาดัดแปลงให้ แล้วรีบเช่าเหมาลำเครื่องบินขนส่ง นำเครื่องจักรและวิศวกรมาช่วยกันติดตั้ง เพื่อให้โรงเบียร์ของบุญรอดฯ กลับมาทำการผลิตได้อีกครั้งหนึ่ง

วิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ในปี ๒๕๔๐ ยิ่งซ้ำเติมฐานะทางการเงินของบริษัทมากขึ้นไปอีกเพราะทำให้หนี้ต่างประเทศมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัวภายในระยะเวลาเพียง “ชั่วข้ามคืน”

นับแต่เมื่อพระยาภิรมย์ภักดีบุกเบิกโรงงานเบียร์แห่งแรกของสยามท่ามกลางสารพันปัญหา ความ “ไม่ยอมแพ้” กลายเป็นอุดมคติสำคัญที่ทุกคนในบริษัทยึดมั่น เช่นเดียวกับคุณธรรมความซื่อสัตย์ที่พระยาภิรมย์ฯ เน้นย้ำเสมอ  ดังนั้นเมื่อมีคุณธรรมเป็นกระดูกสันหลัง มีอุดมคติเป็นแรงผลักดัน ผนวกด้วยความมุ่งมั่นฟันฝ่าและวิสัยทัศน์ของผู้บริหารรุ่นใหม่ ร่วมกับการทำงานหนักและทุ่มเทของทั้งพนักงานและคู่ค้า ในที่สุดบุญรอดฯ ก็ก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากเหล่านั้นมาได้

boonrawd09

การช่วยเหลือสังคมเช่นกิจกรรมของ “สิงห์อาสา” ในระหว่างน้ำท่วมใหญ่ปี ๒๕๕๔ ถือเป็นภารกิจหลักอย่างหนึ่งของบริษัทฯ ที่สืบทอดมาจากพระยาภิรมย์ภักดี

มองไปข้างหน้า

บุญรอดบริวเวอรี่ฉลองครบรอบ ๘๐ ปีในปี ๒๕๕๖ ขณะนั้นบริษัทฯ ได้กลับมาผงาดในฐานะผู้ผลิตเบียร์อันดับ ๑ ของประเทศอีกครั้ง “ภิรมย์ภักดี” รุ่นที่ ๔ และรุ่นที่ ๕ ต่างทยอยก้าวออกมาอยู่แถวหน้า ร่วมกันผลักดันขับเคลื่อน “ธุรกิจครอบครัว” ให้ก้าวสู่โลกยุคใหม่

กิจการที่เริ่มต้นจากความฝันใฝ่ของท่านเจ้าคุณเมื่ออายุเกือบ ๖๐ ปี เติบโตขยายตัวไปอย่างมหาศาล จนกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ บุญรอดบริวเวอรี่กลายเป็นบริษัทโฮลดิง โดยการจัดตั้ง สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ให้เป็นบริษัทที่ดูแลงานบริหารประจำวันของกว่า ๑๐๐ บริษัทในเครือ

มาถึงวันนี้สินค้าดั้งเดิมอย่างเบียร์และโซดาอาจมิได้เป็นรายได้หลักของสิงห์ คอร์เปอเรชั่น อีกต่อไป เพราะยังมีผลิตภัณฑ์อีกสารพัด ตั้งแต่เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว กีฬา อาหาร ซอสปรุงรส ธุรกิจบันเทิง โรงไฟฟ้า และอสังหาริมทรัพย์ เช่น โครงการคอนโดมิเนียมย่านอโศกของบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) จนถึงธุรกิจใหม่เอี่ยมสำหรับโลกในวันพรุ่งนี้ เช่น โลจิสติกส์ สตาร์ตอัป

ที่ดินของบริษัทฯ ในจังหวัดเชียงรายที่เคยเป็นแปลงข้าวบาร์เลย์มาตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ ได้รับการพัฒนาต่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในชื่อใหม่ว่า สิงห์ปาร์ค เชียงราย นับแต่เปิดอย่างเป็นทางการในปี ๒๕๕๖ ก็ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะเทศกาลบอลลูนนานาชาติ ซึ่งกำลังเติบโตเป็นงานใหญ่ระดับภูมิภาค ครั้งล่าสุดคือครั้งที่ ๔ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีบอลลูนจาก ๓๖ ประเทศเข้าร่วม

ส่วนบรรดา “เอเจนต์” หรือตัวแทนจำหน่ายที่ร่วมงานกันมา  ทางบุญรอดฯ ก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะขาดเสียมิได้  งาน “ร้อยดวงใจสายใยสิงห์” ซึ่งล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๑๖ แล้ว ก็เป็นวาระแห่งการเฉลิมฉลองและการแสดงความขอบคุณ

จากยุคของพระยาภิรมย์ภักดีจนถึงปัจจุบัน ตัวแทนจำหน่ายที่มีอยู่ทั่วประเทศก็ยังคงเป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิดสนิทสนม

boonrawd11
สรวิช ภิรมย์ภักดี กรรมการ บริษัท พิพิธภัณฑ์สิงห์ จำกัด

พิพิธภัณฑ์สิงห์

ปี ๒๕๖๑ อันเป็นวาระ ๘๕ ปีนับแต่แรกก่อตั้งในปี ๒๔๗๖ ถือเป็นอีกหมุดหมายสำคัญในงานด้านวัฒนธรรมของสิงห์ เพราะเป็นการเริ่มต้นของบริษัท พิพิธภัณฑ์สิงห์ จำกัด บริษัทน้องใหม่ในเครือที่มาพร้อมกับภารกิจแห่งประวัติศาสตร์

สรวิช ภิรมย์ภักดี ทายาทรุ่นที่ ๔ ของบุญรอดฯ นักสะสมผู้สนใจใฝ่รู้เรื่องราวของอดีต ในฐานะผู้บริหารพิพิธภัณฑ์สิงห์ เล่าให้เราฟังว่ากิจกรรมที่ผ่านมามีทั้งการจัดทำนิตยสาร Singha Magazine นิตยสารภายในราย ๓ เดือน การเรียบเรียงและจัดพิมพ์หนังสือแนวประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับบริษัท เช่น ระลึกถึงคุณปู่ วิทย์ ภิรมย์ภักดี, ตำนานท่านเจ้าคุณ, The Singha Story, สิงห์ปกรณัม และเล่มล่าสุดคือ ประชาธิปก พระบารมีปกเกล้า รวมถึงการฟื้นฟูอนุรักษ์โรงงานที่สามเสนในนาม “พิพิธภัณฑ์สิงห์”

“โรงงานสามเสนหยุดผลิตเบียร์ไปตั้งแต่ ๒๕๔๓ เพราะว่าตอนนั้นกรุงเทพฯ ขยายออกมาแล้ว เขาไม่อยากให้มีโรงงานใหญ่ ๆ  ทีนี้พอโรงงานเดิมหยุดผลิตไปก็ไม่มีใครทำอะไรเลย ผมเดินผ่านทุกวัน เห็นคนเริ่มเอาของมาสุม ฝุ่นเกาะ กระจกแตก ก็เลยเสียดาย ก็ไปเรียนผู้ใหญ่ว่าขออนุญาตปรับปรุงหน่อย ทุกท่านก็ยินดีอยู่แล้ว

“ถ้าเดินในพิพิธภัณฑ์สิงห์ ทุกอย่างคือของเดิมทั้งหมด  สิ่งที่จะมาแสดงคือสร้างขึ้นใหม่ เอามาวางเท่านั้น ทุกอย่างถอดได้หมดโดยไม่มีผลกระทบกับอาคาร ตอนนี้ทำเสร็จมา ๒ ปีแล้ว คนก็เริ่มเห็นความสำคัญ อย่างฝ่ายบุคคลรับคนใหม่เข้ามาก็จะพามาที่นี่แล้วก็เล่าเรื่องให้ฟังเลย พนักงานใหม่ก็จะซึมซับประวัติศาสตร์ไปในตัว แขกต่างประเทศหรือคู่ค้าของเราที่มา เดี๋ยวนี้ก็จะพามาที่นี่ เพื่อจะได้รู้ว่าบริษัทฯ เราเป็นมาอย่างไร ก็เลยกลายเป็นเหมือนที่รับแขกแห่งใหม่ของบริษัทฯ”
ทายาทรุ่นที่ ๔ คนนี้ยังอธิบายให้ฟังด้วยว่า จากการศึกษาประวัติศาสตร์ของบริษัทฯ มา สิ่งสำคัญที่ทำให้บุญรอดฯ เป็น “ธุรกิจครอบครัว” ของไทยที่อยู่ยืนยาวมาได้เกือบศตวรรษก็คือ

“ผมคิดว่าเราอยู่ได้เพราะใจของคนทุกคน ครอบครัวสิงห์คือสิ่งที่เราให้ความสำคัญแล้วก็อยากจะให้ทุกคนได้ความรู้สึกแบบเดียวกัน  มันก็กลับมาเรื่องเดิม ตั้งแต่สมัยพระยาภิรมย์ภักดี คนที่ทำงานกับเราเขาก็จะได้ในสิ่งที่บริษัทอื่นไม่เคยให้ เพราะว่าเราคือครอบครัว

“สมัยก่อนผมเจอคนคนหนึ่งในบริษัทฯ พ่อเขาก็เคยทำงานที่นี่ แล้วในที่สุดลูกเขาก็จะมาทำงานที่นี่อีก คือเรารู้จักกันหมด เป็นความผูกพันที่มองไม่เห็น แล้วเราก็ยังทำอย่างนั้นอยู่  แน่นอนว่าเดี๋ยวนี้บริษัทฯ ใหญ่ขึ้น คนมากขึ้น การทำอย่างนั้นยากขึ้น อาจจะดูแลคนได้ไม่ทั่วถึงเหมือนเมื่อก่อน มันก็ต้องปรับ เลยเกิดเรื่องทุนการศึกษา อะไรต่ออะไรขึ้นมา

“ทั้งหมดก็คือมันกลับมาที่เรื่องใจ”

boonrawd10
โรงงานสามเสนซึ่งได้รับการอนุรักษ์และปรับปรุงให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในนาม“พิพิธภัณฑ์สิงห์”


เส้นทางของ “สิงห์”

๒๔๗๖
๔ สิงหาคม
จดทะเบียนก่อตั้ง
บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด

๒๔๗๗
๖ กรกฎาคม
สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จมา
เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดบริษัทฯ อย่างเป็นทางการ

๗ กรกฎาคม
เบียร์ไทยตราสิงห์และตราว่าวปักเป้าทอง
ออกจำหน่ายแก่สาธารณชนเป็นครั้งแรก

๒๔๘๒
ตุลาคม
บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้รับพระราชทาน
ตราครุฑพ่าห์ หรือที่เรียกกันว่า “ครุฑตราตั้ง”

๒๔๙๓
๒๓ มีนาคม
พระยาภิรมย์ภักดีถึงแก่อนิจกรรม
ขณะมีอายุ ๗๗ ปี

๒๕๑๐
บุญรอดบริวเวอรี่ขยายพื้นที่โรงงาน
จาก ๙.๑ ไร่ เป็น ๕๗.๖ ไร่ และสร้างโรงเบียร์ใหม่
ที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุดจากยุโรป

๒๕๑๘
ก่อตั้งมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี
เพื่อสนับสนุนการศึกษา
การสาธารณสุข และบรรเทาสาธารณภัย

๒๕๒๘
เปิดตัวน้ำดื่มตราสิงห์
และเบียร์สิงห์โกลด์

๒๕๓๒
เริ่มผลิตเบียร์สิงห์ในบรรจุภัณฑ์ “กระป๋อง”

๒๕๓๖
ปิยะ ภิรมย์ภักดี บุตรชายของ ประจวบ ภิรมย์ภักดี
และ “บรูว์มาสเตอร์” คนที่ ๒ ของเมืองไทย
ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่
และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบุญรอดบริวเวอรี่

๒๕๔๑
เปิดตัวเบียร์ลีโอและซูเปอร์ลีโอ

๒๕๔๘
บุญรอดบริวเวอรี่เริ่มมีส่วนร่วมในฐานะ
ผู้สนับสนุนหลักของสมาคมกีฬาคนพิการ
แห่งประเทศไทย

๒๕๕๑
◆ ร่วมทุนกับบริษัทเอเชียโกลเด้นไรซ์ จำกัด
ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก
ผลิตข้าวไทยตราพันดี

◆ เริ่มจัดกิจกรรม Singha Summer Camp
(สิงห์ซัมเมอร์แคมป์) โครงการเรียนรู้
และพัฒนาตนเองสำหรับเยาวชนในช่วง
ปิดภาคเรียนฤดูร้อนเป็นครั้งแรก

๒๕๕๔
การช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใหญ่
ทำให้ “สิงห์อาสา” เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

๒๕๕๙
โรงไฟฟ้าอ่างทองเพาเวอร์ ธุรกิจพลังงาน
ที่ร่วมมือกับเอเชียโกลเด้นไรซ์ เริ่มดำเนินกิจการ

เปิดตัวหนังสือ The Singha Story
ฉบับภาษาอังกฤษ

๒๕๖๐
เปิดตัวหนังสือ
สิงห์ปกรณัม (The Singha Story ฉบับภาษาไทย)

๒๕๖๑
จัดตั้ง Singha Venture
กองทุนที่ลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัป
ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

กำเนิด BevChain Logistics
ธุรกิจโลจิสติกส์ที่บริษัท บุญรอดซัพพลายเชน
ร่วมทุนกับบริษัทลินฟ้อกซ์โฮลดิ้งส์ ๒๐๑๘
(ประเทศไทย)

ก่อตั้งบริษัท พิพิธภัณฑ์สิงห์ จำกัด

อ้างอิง

ประวัติเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ ประวัติพระยาภิรมย์ภักดี ประวัติ
โรงเบียร์ และ โชคชาตาในชีวิตที่พอใจ. พิมพ์ครั้งที่ ๒.
กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๑๘.
สิงห์ปกรณัม ตำนานเบียร์แรกของไทย. กรุงเทพฯ : บริษัท
พิพิธภัณฑ์สิงห์ จำกัด, ๒๕๖๐.