ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต

หนึ่งในวิชา “เคล็ดลางอาถรรพณ์” ที่ยังได้ยินได้รู้ได้เห็นว่ามีคนทำจริงๆ ในชีวิตประจำวันจนถึงเดี๋ยวนี้ และไม่ใช่คนเฒ่าคนแก่ แต่เป็นเด็กรุ่นๆ หรือสาวๆ ก็คือการ “ปักตะไคร้” ไล่ฝน

วิธีการคือหากเห็นท่าไม่ดีว่าเมฆฝนกำลังตรงรี่เข้ามาหา แต่ว่าเรายังไม่ต้องการให้งานกลางแจ้งใดๆ เปียกโชก ก็จงไปขุดหรือหาตะไคร้สักกำหนึ่ง แล้วปักลงกลางแจ้ง ทำคล้ายๆ จะเอาไปปลูก แต่ให้ปักยอดทิ่มลงดิน เอารากหรือโคนชี้ขึ้นฟ้า พร้อมกับตั้งสัตยาธิษฐานขอให้ฝนไม่เทลงมาเถิด เจ้าประคู้ณ…

สำคัญว่าคนปักต้องเป็นหญิงสาวผู้เป็นพรหมจาริณี คือยังไม่มีสามี เป็นสาวบริสุทธิ์

แต่เคยได้ยินบางคนเล่าต่างออกไปก็มี ว่าคนที่จะไปเป็น “พิธีกร” (ใช้คำนี้ได้ไหมนะ ?) ประกอบพิธีกรรมปักตะไคร้ ไม่ใช่หญิงสาวโสดซิง แต่ต้องเป็นลูกชายคนโตต่างหาก

หากอยากลองวิเคราะห์ให้ดูเป็น “วิชาการ” บ้างก็อาจแลเห็นความเชื่อมโยงระหว่างคติทั้งสองแบบนี้ กับการ “ห้ามฝน”

ทั้งหญิงสาวพรหมจรรย์ ลูกชายคนโต (รวมถึงกอตะไคร้และฝน) ล้วนมีนัยความหมายในทางพิธีกรรมว่าด้วยการแตกหน่อ แพร่พันธุ์ สืบสกุล มีลูกมีหลาน ฯลฯ แต่เมื่อให้คนที่มีคุณสมบัติ “ถึงพร้อม” อย่างที่ว่า เอาตะไคร้ไปปลูกด้วยการกลับเอายอดลงดินรากชี้ฟ้า อันเป็นการปฏิเสธการแตกกอเจริญงอกงามต่อไป จึงเท่ากับว่าได้สร้างภาวะ “ผิดที่ผิดทาง” หรือก่อกำเนิดความ “ไม่ปกติ” ขึ้นมา อันจะมีผลให้กลไกต่างๆ ทั้งทางธรรมชาติและเหนือธรรมชาติ ติดขัด-ตัดขาด คือไม่เป็นอย่างที่ควรจะเป็น

เมื่อเป็นดังนั้น เทวดาจึงขัดใจ แล้วฝนที่ควรจะตกต้องตามฤดูกาลจึงไม่ตก เป็นเหมือนการลงโทษกลายๆ

ผีสางเทวดา - ปักตะไคร้

การสร้างภาวะ “ผิดที่ผิดทาง” ในพิธีกรรมทำนองนี้ ว่าที่จริงก็พบเห็นได้ทั่วไป อย่างการแห่นางแมวขอฝนก็เช่นกัน คือจากปกติที่แมวทั่วไปไม่ชอบน้ำ (ที่จริงแมวชอบอาบน้ำก็เคยเห็นมีบ้าง แต่คงเป็นส่วนน้อย) แต่เมื่อจับเอาแมวไปเข้าขบวนแห่กลางแจ้ง เอาน้ำไปสาดไปซัด ก็เท่ากับการสร้างภาวะ “ผิดที่ผิดทาง” ขึ้น ซึ่งว่ากันว่า “เทวดาฟ้าดิน” หรืออำนาจเหนือธรรมชาติจะไม่พอใจ ทำให้บันดาลให้ฝนกระหน่ำลงมา เพื่อ “ชะล้าง” สิ่งผิดปกตินี้ออกไป

ไม่เฉพาะแต่ในพิธีกรรมชาวบ้าน แม้แต่พิธีของหลวง อย่างเช่นพิธีพิรุณศาสตร์ในชุด “พระราชพิธี ๑๒ เดือน” อันเป็นการขอฝนเช่นเดียวกัน ก็ต้องมีการ “ปั้นเมฆ” คือปั้นดินเป็นตุ๊กตารูปหญิงชายเปลือยกายสมสู่กัน ไปตั้งไว้กลางแจ้ง ในความหมายว่าเอากิจกรรมอันพึงเกิดในที่มุงบังลับหูลับตา ไปวางโร่ไว้ให้เทวดาเห็นสิ่ง “บัดสีบัดเถลิง” แล้วจะได้ส่งฝนลงมาไล่ล้างให้ไปพ้นๆ เสีย

นี่ก็เข้าหน้าฝนแล้ว ฝนตกย่อมเป็นเรื่องธรรมชาติ สำนวนไทยโบราณเขาก็มี “ฝนจะตก ขี้จะแตก พระจะสึก” จะไปห้ามอย่างไรไหว