เก็บตก
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี


gamotuay01

หากยึดพื้นที่ “เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย” (Dawei Special Economic Zone) เมืองทวาย แคว้นตะนาวศรี ประเทศเมียนมา เป็นศูนย์กลาง โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย-โครงการเขื่อนกะโลนทากั้นแม่น้ำตะไลง์ยาเพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำป้อนนิคมอุตสาหกรรม-โครงการถนนเชื่อมทวายมายังประเทศไทย เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้อภิโครงการที่รู้จักในนาม “Dawei SEZ” ประสบผลสำเร็จ

โดยเฉพาะโครงการตัดถนนเชื่อมสองฝั่งเขาตะนาวศรีถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะทำให้การเดินทางจากทวายสู่ไทยสะดวกมากยิ่งขึ้น

จากจุดเริ่มต้นที่ “หลักกิโลเมตรที่ศูนย์” ริมฝั่งทะเลอันดามัน ผ่านป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ตามแนวชายฝั่ง ผ่านที่ราบและที่สูงชันอันเป็นถิ่นอาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ข้ามเขาตะนาวศรีพรมแดนธรรมชาติกั้นเมียนมา-ไทย มาจนถึงชายแดนไทยที่จุดผ่านแดนบ้านพุน้ำร้อน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี คิดเป็นระยะทางประมาณ ๑๓๒ กิโลเมตร

เมื่อราวสิบปีก่อนโครงการสร้างถนนจะมาพร้อมแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติและรางรถไฟ เป็นถนนหลวง ๘ ช่องจราจรกว้าง ๒๐๐ เมตร แต่หลังจากโครงการชะงักงันพร้อมความไม่ชัดเจนในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจทวาย ในปีนี้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือเนด้า (Neighbouring Countries Economic Development Cooperation Agency, NEDA) ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้เป็นผู้รับผิดชอบ “งานสำรวจและออกแบบรายละเอียด โครงการปรับปรุงถนนสองช่องทางเชื่อมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายสู่ชายแดนไทย-เมียนมา”

เบื้องต้นถนนหลวง ๘ ช่องจราจรจะลดขนาดลงเหลือเพียง ๒ ช่องจราจร

เบื้องต้นเนด้าเตรียมอนุมัติแผนการกู้เงิน ๔,๕๐๐ ล้านบาทให้แก่รัฐบาลพม่า กำหนดดอกเบี้ยอัตราผ่อนปรนร้อยละ ๐.๑ เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างถนนต่อให้แล้วเสร็จ ด้วยความคาดหวังว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

ก่อนโครงการตัดถนนเดินหน้าต่อตามแผนการที่วางไว้

เงี่ยหูฟังเสียงผู้คนในชุมชนทวายที่ถิ่นอาศัยถูกถนนตัดผ่าน

เสียงที่ดังมาจากอีกฟากฝั่งหนึ่งของขุนเขาตะนาวศรี

หมายเหตุ : ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการลงพื้นที่ทำข่าว สนับสนุนโดย Earth Journalism Network ภายใต้ Internews และชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

gamotuay02

“โครงการพัฒนาทับซ้อนอยู่กับเรื่องการเจรจาสันติภาพ”

พะตีเก โดะ
ตัวแทนชาวบ้านตะบิวชอง

“ก่อนหน้าปี ค.ศ.๒๐๑๐ ชาวบ้านแถบนี้อยู่ท่ามกลางสงคราม บ้านเมืองไม่สงบ ทุกคนอยู่ในความหวาดกลัว กลัวโน่นกลัวนี่ไปหมด แล้วหลังจากนั้นก็มีโครงการพัฒนาเข้ามา มีโครงการสร้างถนนในพื้นที่ ชาวบ้านมองเห็นความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ เรียกว่าพอสงครามยุติก็มาเห็นโครงการพัฒนา”

“อันที่จริงโครงการพัฒนาทับซ้อนอยู่กับเรื่องการเจรจาสันติภาพ ที่ผ่านมาชาวบ้านได้รับผลกระทบจากสงคราม จากเคยใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่มีความรู้ ไม่มีความเห็น และอยู่ในความหวาดกลัว ก็อยากให้การเจรจาสันติภาพเดินหน้าต่อหรือแล้วเสร็จก่อนค่อยมาคุยเรื่องตัดถนน ชาวบ้านเห็นว่าถ้าการเมืองการปกครองยังไม่นิ่งการตัดสินใจเรื่องต่างๆ อาจมีผลกระทบ รวมทั้งมีคำถามว่าถ้าเกิดการสู้รบขึ้นจะส่งผลกระทบกับโครงการหรือไม่ การตัดถนนจะทำให้การเจรจาสันติภาพซับซ้อนขึ้นหรือเปล่า

“เมื่อช่วงที่โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและท่าเรือน้ำลึกถูกผลักดันใหม่ๆ ผมเคยเดินทางไปดูนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดในประเทศไทย ได้พบชาวบ้านที่อาศัยมาก่อนจะตั้งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด พวกเขาเล่าให้ฟังว่ามีการจ่ายเงินชดเชยสำหรับพื้นที่ที่ต้องสูญเสีย แต่หลังจากได้รับเงินค่าชดเชยมาแล้วก็ไม่สามารถไปลงหลักปักฐานที่ใหม่ได้ ครอบครัวหนึ่งเล่าว่ามีมลพิษมีอากาศเสียเกิดขึ้นหลังเริ่มโครงการ ทำให้คนแถวนั้นรวมทั้งบ้านที่ผมไปคุยด้วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ จากการสูดอากาศสูดมลภาวะเข้าไป จากครอบครัวที่เคยมีกันประมาณ ๗ คน เหลือแค่ ๒ คนเพราะป่วยเป็นมะเร็งและโรคอื่นๆ เงินค่าชดเชยส่วนหนึ่งก็ต้องนำมารักษาตัวเอง จะย้ายไปอยู่ที่อื่นก็ไม่ได้แล้ว”

“ชาวบ้านที่ผมไปนั่งพูดคุยด้วยก็ทำสวนแบบบ้านผมนี่แหละ บ้านเขามีต้นมะม่วง สับปะรด ทำไร่ทำสวนเหมือนกัน แต่เขาบอกว่าผลผลิตที่ออกมามันกินไม่ได้ น้ำกินน้ำใช้จากบ่อก็มีสารปนเปื้อน จึงเกิดคำถามว่าอยากให้บ้านเราที่ทวายเป็นแบบนั้นหรือเปล่า เอาประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านก็เลยเกิดการทำป้ายว่าเราไม่ต้องการมาบตาพุดแห่งที่สอง”

gamotuay03

“ถ้าเคารพในสิทธิของชาวบ้านก็น่าจะมาพูดคุยกันก่อน”

อูเย อ่อง
ตัวแทนชาวบ้านกะเลจี

“ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนประเภทไหนที่เข้ามาลงทุนหรือมาก่อสร้างในประเทศของเรา ในพื้นที่บ้านของเรา อยากให้เป็นการลงทุนที่โปร่งใส มีข้อมูลที่แน่ชัดถึงผลกระทบ ผลประโยชน์ ทั้งข้อดีข้อเสียต่างๆ จากโครงการทั้งระยะสั้นระยะยาว อยากให้มีการดูแลรับผิดชอบที่แน่นอน ชัดเจน

“ก่อนที่จะเริ่มต้นโครงการ ถ้าเคารพในสิทธิของชาวบ้านก็น่าจะมาพูดคุยกันก่อน ตั้งแต่ก่อนที่โครงการจะเริ่มและตลอดโครงการเลยว่าระยะแรกจะเป็นแบบไหน ระยะกลาง ระยะสุดท้ายจะเป็นแบบไหน

“เงินที่ทางเนด้าจะเอามาลงทุนสร้างถนนเป็นเงินที่มาจากภาษีคนไทย การเอาเงินมาลงทุนที่นี่ จริงๆ แล้วก็ถือว่าเป็นการลงทุน ไม่ได้เป็นการเอาเงินมาให้เปล่าในการพัฒนา เงินที่เอามาลงทุนก็น่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ให้ ไม่ว่าผืนดิน หรือที่ทำกินต่างๆ ก็ไม่ใช่อะไรที่ใครจะได้มาฟรีๆ มีอะไรต้องแลกด้วยสิ่งเหล่านี้ในการพัฒนา

“ถ้าไม่มีการตกลงหรือปรึกษาหารือกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่าอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้ผลออกมาในทางที่ดี การพัฒนาที่เกิดขึ้นก็ไม่น่าจะเป็นการพัฒนาที่ถูกต้องและยุติธรรมสำหรับพวกเรา จึงอยากให้มีการพูดคุยเจรจากันให้ดีก่อน มาพูดคุยกับชาวบ้าน ให้รู้ให้แน่แล้วมาปรึกษากันว่าทำยังไงต่อไป

“หลายปีแล้วที่โครงการตัดถนนหยุดไป ชาวบ้านก็นิ่งไป คิดว่าคงไม่มีใครกลับมาทำแล้ว จนตอนนี้เห็นว่าจะมีโครงการเข้ามาใหม่ ได้ยินว่ามาสำรวจเบื้องต้นแล้วก็ถือว่าเร็ว ถึงตอนนี้ชาวบ้านอาจจะตามไม่ทัน ความตื่นตัวอาจจะยังไม่มากนักเพราะโครงการตัดถนนเงียบไปนาน

“สิ่งที่เราขอคืออยากให้นำข้อมูลมาให้ชาวบ้าน จะเป็นคลิปวีดีโอหรืออะไรก็ตาม แล้วพวกเราจะเอาไปเผยแพร่ต่ออีกที ในเบื้องต้นนี้เรายังไม่ได้คิดไปถึงค่าชดเชย แต่อยากรู้ว่าเขาจะเข้ามาทำอะไร อย่างไร จะเกิดผลกระทบขึ้นตรงไหนแล้วใครที่ได้รับผลกระทบ นี่คือเนื้อหาหลักๆ ที่อยากรู้ จะได้ตัดสินใจถูกว่าควรทำอย่างไรต่อ”

gamotuay04

“กรณีร้ายแรงที่สุดคือตัดถนนผ่านสวนหมากโดยไม่มีการบอกล่วงหน้า”

อาจารย์ซอ ทูระ
อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยทวาย

“เมื่อปี ค.ศ.๒๐๑๐ ชาวบ้านรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กร Community Sustainable Livelihoods and Development หรือเรียกสั้นๆ ว่า CSLD มีตัวแทนมาจาก ๑๒ หมู่บ้าน หมู่บ้านละ ๒ คน ตกลงว่าจะจัดประชุมร่วมกันเดือนละ ๑ ครั้ง หมุนเวียนไปตามหมู่บ้านต่างๆ แต่ละเดือนชาวบ้านจะนำข้อมูลที่ตัวเองได้รับมาแลกเปลี่ยน เกิดผลกระทบอะไรขึ้นภายในหมู่บ้านก็นำมาเสนอต่อที่ประชุม

“CSLD เป็นองค์กรที่ชาวบ้านจัดตั้งขึ้นโดยได้รับความสนับสนุนจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นยู เรียกว่าได้รับอนุญาตจากเคเอ็นยูให้จัดตั้งองค์กรนี้ขึ้นมา ตามปรกติเวลาชาวบ้านจัดประชุมทางเคเอ็นยูจะไม่ได้มา แต่ถ้าทางเคเอ็นยูเป็นฝ่ายจัดประชุมมักจะมีชาวบ้านเดินทางไปเข้าร่วมด้วย เรียกว่าเคเอ็นยูยังไม่ได้มีบทบาทหรือหน้าที่อย่างใดในกลุ่มอย่างเป็นทางการ

“ที่ผ่านมากรณีร้ายแรงที่สุดคือตัดถนนผ่านสวนหมากโดยไม่มีการบอกล่วงหน้า ทางบริษัทเอารถเข้ามาไถต้นหมากออกไป ที่ผ่านมาถ้าจะมีโครงการอะไรเข้ามาในหมู่บ้านแถบนี้ จะต้องมีเจ้าหน้าที่มาแจ้งหรือบอกชาวบ้านให้ชาวบ้านทราบ ไม่ว่าใครคิดจะทำเหมืองหรือปรับสภาพพื้นที่ ถึงชาวบ้านรับรู้แต่ไม่ให้ความร่วมมือเขาก็ไม่สามารถทำได้ แต่มีโครงการนี้ที่เขาเข้ามาไถพื้นที่ทำถนน จนชาวบ้านหลายคนได้ผลกระทบ ต้องตามร้องเรียน

“มีหลายคนถูกไถสวนแล้วมารู้ทีหลัง ต้องตามตรวจสอบว่าใครเป็นคนทำ เจอเรื่องแบบนี้ทางกลุ่มก็จะเรียกประชุม ร่างเอกสาร ลงชื่อ แล้วเอาไปยื่นที่เคเอ็นยูรวมถึงทางรัฐบาลพม่า เมื่อทางเคเอ็นยูหรือรัฐบาลได้รับเรื่องร้องเรียนก็จะทำหนังสือถึงบริษัท บางครั้งก็มีเจ้าหน้าที่บริษัทมาคุยกับชาวบ้าน และบางครั้งชาวบ้านก็เป็นฝ่ายเชิญทางบริษัทมาพูดคุย

“ทางบริษัทจะบอกว่าได้รับอนุมัติจากทางรัฐบาลแล้วให้สามารถไถที่ตรงนี้หรือใช้พื้นที่บริเวณนี้ได้ ระหว่างการตกลงกันบางครั้งก็มีการถกเถียง ทะเลาะเหมือนจะตีกัน ผลของการเจรจาก็ไม่มีคำตอบแน่ชัดไปแนวทางใดแนวทางหนึ่ง เป็นเหมือนการปรึกษาหารือกันมากกว่า

“เมื่อมีการจ่ายค่าชดเชย เราก็เห็นว่าเป็นค่าชดเชยที่ไม่เป็นมาตรฐาน บางคนได้น้อย บางคนได้มาก บางคนพื้นที่ ๔ เอเตอร์ได้รับผลกระทบ แต่ไม่ได้รับค่าชดเชย บางคนเวลาที่เจ้าหน้าที่มาหาแล้วตัวเองไม่อยู่บ้าน ก็ไม่รู้จะไปตามหาเจ้าหน้าที่ที่ไหน สรุปคือชาวบ้าน รัฐบาลกลาง เคเอ็นยู บริษัท ไม่ได้มีแผนการหรือข้อตกลงอะไรที่ชัดเจน ถึงตอนนี้หลายคนก็ยังไม่ได้รับค่าชดเชย

“อย่างไรก็ตาม จากช่วงแรกๆ ที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบแล้วรวมกลุ่มเข้าไปคุยกับรัฐบาล ตอนนั้นเรียกว่าชาวบ้านนั่งข้างล่าง คอยฟังอย่างเดียว จนราวปี ค.ศ. ๒๐๑๔-๒๐๑๕ ถึงมีโอกาสแลกเปลี่ยน เริ่มมีปากเสียง เมื่อเจรจาแล้วทะเลาะกัน ก็เหมือนจะทำให้ค่าชดเชยได้รับการปรับขึ้น ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ชาวบ้านสามารถเรียกร้องค่าชดเชยได้บ้าง

“ปรกติสวนหมาก ๑ เอเคอร์ ถ้าผลผลิตดีๆ ในหนึ่งปีชาวบ้านจะมีรายได้ประมาณ ๓๐-๕๐ ล้านจั๊ต แต่สิ่งชาวบ้านปลูกใน ๑ เอเคอร์มันไม่ใช่เฉพาะแค่หมาก ยังมีพืชผลอย่างอื่นอีกมาก เป็นไร่สวนผสม รายได้จริงๆ มันมากกว่านั้น”

“การตัดถนน ไม่ใช่แค่ถนนที่ตัด มันมีผลกระทบอย่างอื่นที่ตามมา เช่น ป่าไม้เสื่อมโทรม หน้าดินเกิดการทับถม คลองตื้นเขิน รวมแล้วพื้นที่ทั้งหมดน่าจะเป็นพันเอเคอร์ที่ได้รับผลกระทบได้รับความเดือดร้อน”

gamotuay05

“ได้รับผลกระทบมากเรื่องความเป็นอยู่และอาหารการกิน”

เล เล วิน
ตัวแทนชาวบ้านตะบิวชอง

“ชาวบ้านที่นี่ยังเป็นคนที่อาศัยหาอยู่หากินในป่า อาหารการกินต้องพึ่งพาธรรมชาติ ก็จะได้รับผลกระทบมากเรื่องความเป็นอยู่และอาหารการกิน

“เมื่อก่อนเวลาแม่บ้านออกไปหาอาหาร ตามลำคลองจะมีปลาเยอะแยะ พวกพืชผักในป่าก็มีให้เก็บมากมาย เราเคยเข้าไปหาอาหารได้เองในป่า ไม่ต้องซื้ออาหาร ถึงไม่มีรายได้ก็ยังพอออกไปเก็บพืชผักตามป่า เอามาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้อย่างไม่ต้องเสียเงินซื้อ มาตอนหลังที่เขาทำโครงการตัดถนน มีดินโดนทับถม จนทำให้พืชผักขึ้นไม่ได้ แหล่งน้ำบางแห่งเหือดแห้งไป ก็ทำให้พืชผักขึ้นไม่ได้หรือไม่งอกงาม เดี๋ยวนี้ของกินในป่าลดลงมาก จากที่เคยเก็บผักในป่าง่ายๆ ในน้ำมีปลา มีลำคลองให้อยู่อย่างสบาย ตอนนี้ทุกอย่างสูญหายไปหมดแล้ว ต้องมาซื้ออาหารกิน ยังไงก็ต้องมีเงินเอามาซื้ออาหารประทังชีวิต

“ความเปลี่ยนแปลงก่อนกับหลังเริ่มทำถนนมันอาจจะระบุเป็นตัวเลขแน่ชัดไม่ได้ แต่แตกต่างกันลิบลับ อย่างการทำสวนหมาก จากเดิมให้ผลผลิตต่อ ๑ เอเคอร์ ต่อ ๑ ปี อาจจะสัก ๓๐ ล้านจั๊ต เมื่อพื้นที่มีปัญหาก็เหลือแค่ประมาณ ๑๕ ล้านจั๊ด คือลดลงครึ่งต่อครึ่ง เดี๋ยวนี่ถ้าใครไม่มีเงินก็ต้องหาทางหยิบยืมคนอื่น ภาระหนี้สินมากขึ้น หลายคนต้องไปขอกู้เงินมาล่วงหน้า”

“ย้อนไปเมื่อปี ค.ศ.๒๐๑๓ ที่เริ่มมีการตัดถนน เราได้ยินว่าเป็นถนนเส้นชั่วคราว นอกจากลำคลอง ป่าไม้ แหล่งน้ำที่เคยเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของชาวบ้านได้รับผลกระทบแล้วยังรวมถึงพื้นที่ทำสวนทำไร่ ในฐานะคนที่ได้รับผลกระทบจากการตัดถนนก็อยากให้ปัญหาเดิมจากการตัดถนนเส้นชั่วคราวหรือถนนที่สร้างมาตั้งแต่แรกที่ยังคั่งค้างได้รับการแก้ไขก่อน อยากให้แก้ปัญหาเดิมเสร็จก่อนที่จะตัดถนนใหม่ อยากสื่อสารออกไปให้ทุกๆ คนได้รับรู้”