เก็บตก
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี


๑๑ ความล้มเหลวจากการควบคุมมลพิษอุตสาหกรรม -  เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)

เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๒ เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กรีนพีชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดสัมมนาพิเศษหัวข้อ “วิกฤติสิ่งแวดล้อมไทย : ความล้มเหลวจากการควบคุมมลพิษอุตสาหกรรม” ณ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและความล้าหลังไม่เท่าทันต่อสถานการณ์การอนุมัติตั้งโรงงานอุตสาหกรรม การควบคุมมลพิษอุตสาหกรรม และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ภายใต้กฎหมายสำคัญหลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.๒๕๓๕ ถึง พ.ศ.๒๕๖๒ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ ถึง พ.ศ.๒๕๖๑ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.๒๕๓๕ ถึง พ.ศ.๒๕๖๒ พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.๒๕๓๕ ถึง พ.ศ.๒๕๖๑ อะไรคือเหตุผลสำคัญทำให้คนไทยยังอยู่ท่ามกลางวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าแผ่นดินปนเปื้อนสารพิษ สายน้ำติดเชื้อ อากาศเปื้อนฝุ่น

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) นำเสนอข้อมูลในหัวข้อ “วิเคราะห์ปัญหาการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการควบคุมมลพิษโรงงานภายใต้กฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบัน”
สารคดี เรียบเรียงออกเป็น ๑๑ ข้อหลัก ดังบรรทัดถัดจากนี้

pollutionindustry02

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

“น่าแปลกที่ปัญหามลพิษในประเทศที่มีกรอบกฎหมายสิ่งแวดล้อมไม่ลดลง”

“ประเทศไทยมีกรอบกฎหมายสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ ถือว่าไม่น้อยหน้าประเทศใด แต่นับถึงวันนี้ ผ่านมาหลายสิบปี น่าแปลกที่ปัญหามลพิษไม่ลดลง ปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศเลวร้ายลง สถานการณ์มลพิษรุนแรงขึ้น นี่คือสิ่งที่รายงาน Environmental Rule of Law (First global Report) เกี่ยวกับการสำรวจกลไกทางกฎหมายสิ่งแวดล้อมในประเทศกลุ่มสมาชิกสหประชาชาติ ตามโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment) ตั้งข้อสังเกตไว้

“อีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับประเทศไทย คือประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีกฎหมายควบคุมการรับทุนจากต่างประเทศ และควบคุมการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชน เมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลายประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชนจะถูกจับจ้องเป็นพิเศษจากหน่วยงานรัฐ และมีข้อจำกัดมากๆ ในการรับทุน ทั้งๆ ที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน”

“ประเทศไทยมีนักสิ่งแวดล้อมถูกสังหารจากการทำงานเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติระหว่างปี ๒๕๔๓-๒๕๕๘ จำนวน ๒๒ ราย”

ประเทศไทยมีนักสิ่งแวดล้อมถูกสังหารจากการทำงานเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมระหว่างปี ๒๕๔๓-๒๕๕๘ จำนวน ๒๒ ราย สูงเป็นอันดับ ๘ ของโลกรองจากบราซิล ฮอนดูรัส ฟิลิปปินส์ โคลัมเบีย เปรู เม็กซิโก และกัวเตมาลา และยังมีอีกหลายคนถูกข่มขู่ คุกคาม ลอบทำร้าย ตามรายงาน Environmental Rule of Law (First global Report) ประเทศไทยยังมีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคล้ายกับประเทศอินเดียและอูกันดา คือ การได้ข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษอุตสาหกรรม อาทิ การปล่อยมลพิษของภาคอุตสาหกรรมหรือโรงงานต่างๆ ต้องใช้ “ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล” ถึงจะได้รับข้อมูล

“เมื่อโรงงานตั้งขึ้นและดำเนินกิจการ เราแทบจะไม่สามารถตรวจสอบโรงงานเหล่านั้นได้”

“โดยทั่วไป เมื่อมีข่าวตั้งโรงงานอุตสาหกรรม เรามักได้ยินคำถามว่า ดูรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA หรือยัง ? โครงการนี้มีการทำ EHIA มั๊ย ? ถ้ามี ข้อมูลเป็นอย่างไร ? รายงานประเมินผลกระทบที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ คือ EIA EHIA และ ESA

“ESA คือ รายงานเกี่ยวกับการศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยที่มีขอบเขตการศึกษาไม่กว้างมากนัก หัวข้อประเด็นต่างๆ ไม่ครอบคลุมเท่า EIA หรือ EHIA นักวิชาการบางคนเรียกว่าเป็น “MINI EIA” ทั้งสามฉบับเป็นเครื่องมือสำหรับภาคประชาชนที่พอจะใช้หาข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรมได้บ้างตั้งแต่ช่วงก่อนตั้งโรงงาน

“อย่างไรก็ตาม เมื่อโรงงานสร้างและดำเนินกิจการแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในนิคมอุตสาหกรรม ในเขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือนอกนิคมฯ เราแทบจะไม่สามารถตรวจสอบโรงงานเหล่านั้นได้เลย ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบตามที่ปรากฎอยู่ในรายงาน EIA แม้มาตราการเหล่านั้นจะต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอตามกฎหมาย

“พูดง่ายๆ ว่า เมื่อโรงงานดำเนินกิจการ เป็นเรื่องยากมากที่ภาคประชาชน นักวิชาการ หน่วยงานต่างๆ แม้แต่ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จะสามาถรตรวจสอบการดำเนินงานเหล่านั้นว่าปลอดภัยหรือเสี่ยงต่อสุขภาพหรือไม่ ก่อให้เกิดผลกระทบอะไร นี่คือสิ่งที่ซ้ำเติมให้สถานการณ์มลพิษของประเทศไทยรุนแรงมากขึ้นจนเข้าสู่ขั้นวิกฤติแล้ว”

“วันหนึ่งจัด ๒-๓ เวที ชาวบ้านตามไม่ทัน”

“การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ กรณี EIA EHIA หลายคนจะคุ้นเคยว่ามี ค.๑ ค.๒ และ ค.๓

“ค.๑ เป็นเวทีใหญ่เพื่อรับฟังภาพรวม ค.๒ ผู้ประกอบกิจการกระจายกันไปจัดเวทีตามหมู่บ้าน เมื่อถึง ค.๓ ก็เอาผลมารวมกัน แต่อย่างกรณีที่จังหวัดระยอง วันหนึ่งจัด ๒-๓ เวที ชาวบ้านตามไม่ทัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมที่ซับซ้อน มีมลพิษรุนแรงมาก คุณจัดวันหนึ่ง ๒-๓ โครงการ เอกสารที่แจกให้ชาวบ้านศึกษาก็เป็นเพียงกระดาษบางๆ ไม่มีใครเข้าใจ

“ปกติรายกงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสุขภาพจะเล่มหนาเป็นปึกๆ หรือหนักประมาณกิโลสองกิโล แต่สิ่งที่คุณแจกให้ชาวบ้านเข้าไปแสดงความคิดเห็นมันบางมาก มันไม่สามารถทำให้ชาวบ้านรู้ว่าโครงการนี้จะมีผลกระทบอะไร”

“ยากมากๆ ที่หน่วยงานภาครัฐหรือผู้บังคับใช้กฎหมายจะลงโทษผู้ก่อมลพิษได้”

“หากพบว่ามีผู้ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทำผิด พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ร.บ.โรงงาน หรือ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง ยากมากๆ ที่หน่วยงานรัฐหรือผู้บังคับใช้กฎหมายจะลงโทษผู้ก่อมลพิษได้ ไม่ว่าเหตุการที่เกิดขึ้นจะรุนแรงอย่างไร ก็เป็นเรื่องยากที่จะเอาผิดพวกเขา พูดง่ายๆ ว่าหลังจากที่โรงงานตั้งขึ้นมาแล้ว เราหมดโอกาสที่จะควบคุมติดตามตรวจสอบ หรือทำให้เขาปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อที่จะไม่เกิดผลกระทบ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแทบทุกพื้นที่

“ถ้าพื้นที่ไหนมีผลกระทบ หรือมีการปนเปื้อนของมลพิษ ไม่ว่าระดับใด ไม่ว่าการปนเปื้อนจากการทำเหมืองทอง เหมืองตะกั่ว แคดเมียม เหมืองสังกะสี โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม พื้นที่เหล่านั้นมักจะไม่ได้รับการเยียวยาฟื้นฟูแก้ไขให้มีสภาพที่ปลอดภัยต่อผู้อาศัยอยู่รอบๆ หรือปลอดภัยต่อแหล่งน้ำใต้ดิน รวมทั้งปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ในระบบนิเวศ”

pollutionindustry01

แม้มีกฎหมายควบคุมมลพิษหลายฉบับ แต่สังคมไทยยังประสบปัญหาดิน น้ำ อากาศปนเปื้อนสารพิษ (ภาพ : 123rf)

“ประเทศไทยไม่เคยคำนึงถึงภาพรวมหรือมวลรวมของการปล่อยมลพิษของโรงงานทั้งหมด”
“นิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งอาจมีโรงงาน ๒๐ โรง หรือ ๕๐-๗๐ โรง เวลาประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เขาจะบอกว่าโรงที่ ๑ ปล่อยมลพิษเท่าไหร่ โรงที่ ๒ ปล่อยเท่าไหร่ ทั้งสองโรงไม่เกี่ยวกัน สมมุติพื้นที่ตรงนั้นมี ๑๐ โรง ๑๐๐ โรง ทั้งหมดปล่อยออกมา แต่ละโรงปล่อยไม่เกินมาตรฐาน เขาก็บอกว่าปล่อยได้ ไม่ได้มองถึงศักยภาพของพื้นที่ที่จะต้องรองรับมลพิษ ประเทศไทยไม่เคยคำนึงถึงภาพรวมหรือมวลรวมของการปล่อยมลพิษของโรงงานทั้งหมดในแต่ละพื้นที่
“ฉะนั้นเวลาที่เราบอกว่าพื้นที่นี่ปัญหามลพิษ อากาศเหม็นรุนแรงมาก น้ำเสียทำให้คลองเน่าเหม็น ปลาตาย หรือทะเลเน่า รัฐไม่เคยพูดว่าพื้นที่นี้มีการกระจุกตัวของการปล่อยมลพิษ แล้วต้องหาทางลด จะบอกว่าตรวจสอบแล้วมันเกินมาตรฐานไปนิดหน่อย เดี๋ยวต้องหาสาเหตุให้มีการลดการปล่อย หรือว่าทุกอย่างตรวจแล้วก็ยังอยู่ในค่ามาตรฐาน นี่คือจุดอ่อนที่เป็นข้อปัญหาใหญ่ของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบ”

“สิ่งที่เป็นปัญหาต้นทางจริงๆ คือ พ.ร.บ.โรงงาน ซึ่งสังคมหรือสาธารณะให้ความสำคัญน้อยมากๆ”

“เวลาพูดถึงมลพิษ เราอาจจะมองข้าม พ.ร.บ.โรงงาน ไปให้ความสำคัญกับ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่เป็นปัญหาต้นทางจริงๆ คือ พ.ร.บ.โรงงาน ซึ่งสังคมหรือสาธารณะรับรู้หรือให้ความสำคัญน้อยมากๆ นอกจากนี้ มี พ.ร.บ.อื่นที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เป็นกฎหมายสำคัญที่พูดเรื่องการกำกับ การเคลื่อนย้าย การผลิต การขนส่ง ของเสียอันตราย รวมถึงสารเคมีต่างๆ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ร.บ.การสาธารณะสุข พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร

“โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร หลายคนที่ติดตามศึกษาและรู้ว่าโรงงานหนึ่งๆ จะตั้งได้ต่อเมื่อรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานที่กำกับดูแลแล้ว

“แต่ในทางกลับกัน โรงงานต่างๆ สามารถเดินหน้าก่อสร้าง ขุดดินถมดินแล้วก็สร้างอาคารได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่ารายงานผลกระทบจะผ่านการอนุมัติหรือไม่ ข้าราชการหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลก็ไม่สามารถเอาผิดกับการทำแบบนี้ เพราะว่ากฏหมายบ้านเราไม่ได้เขียนเชื่อมโยงกันไว้ แต่ละหน่วยงานถือกฎหมายคนละฉบับ และกฎหมายไม่ได้เขียนเชื่อมโยงว่าถ้าคุณทำผิดขั้นตอนนี้จะพาผิดไปถึงกฎหมายอื่นๆ จะต้องได้รับโทษและต้องตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายต่อเนื่องกัน นี่คือช่องโหว่ที่ใหญ่มากๆ ของกฎหมายบ้านเรา”

“กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังผลักภาระไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”

“พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับเดิม ปี ๒๕๓๕ แบ่งโรงงานเป็น ๓ จำพวก จำพวก ๑ และ ๒ มีขนาด ๕-๒๐ แรงม้า และ ๒๑-๕๐ แรงม้า อยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำพวกที่ ๓ มากกว่า ๕๐ แรงม้าจะไปอยู่ภายใต้กรมโรงงานอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมจังหวัด มีมาตรการที่เข้มงวดกว่าในเรื่องป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

“แต่เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายโรงงานใหม่ พ.ร.บ.โรงงาน ปี ๒๕๖๒ ที่จะมีผลบังคับใช้เดือนตุลาคมนี้ จากที่เคยเป็นโรงงานขนาดจำพวก ๓ ที่จะต้องมีมาตรการเข้มงวดภายใต้ พ.ร.บ.โรงงาน กฎหมายใหม่ทำให้โรงงานกลุ่มนี้จะกลายเป็นโรงงานจำพวก ๑ และทุกวันนี้เรายังไม่ทราบว่าโรงงานจำพวก ๑ ภายใต้กฎหมายใหม่ ที่แน่ๆ คือมีขนาดมากกว่า ๕๐ แรงม้าขึ้นไป แต่จะไปจบที่กี่แรงม้า จำพวก 2 ก็ยังไม่รู้ว่าขนาดแรงม้าเท่าไหร่

“โดยรายละเอียดที่ไม่มีการแก้ไขคือโรงงานจำพวก 1 และ 2 ภายใต้กฎหมายใหม่ จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีประกาศกระทรวงสาธารณะสุขเป็นกฎหมายหลักที่จะใช้กำกับดูแลโรงงาน ขณะที่โรงงานจำพวกที่ ๓ ที่เรายังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นที่กี่ร้อยหรือกี่พันแรงม้า กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเข้ามากำกับดูแล

“ความหมายคือจากโรงงานที่เคยมีกฎหมายกำกับเข้มงวดภายใต้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ภายใต้พ.ร.บ.โรงงาน จากปีนี้เป็นต้นไปจะหลุดจากการกำกับดูแล โดยเฉพาะการติดตามภายใต้กฎหมายโรงงานที่มีความเข้มงวดกว่าประกาศกระทรวงสาธารณสุข

“คำถามใหญ่คือศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีความสามารถเพียงพอหรือไม่ จะมีทรัพยากรและความเชี่ยวชาญมากแค่ไหนในการเข้ามากำกับดูแลกิจการเหล่านี้ เรากำลังรู้สึกว่ากระทรวงอุตสาหกรรมกำลังผลักภาระไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยไม่ได้หนุนเสริมหลายสิ่งที่จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสามารถที่จะกำกับดูแลเรื่องนี้ได้ นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่จะทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยวิกฤติยิ่งขึ้นในอนาคต

“ประเทศไทยยังคงใช้กำลังแรงม้าเป็นตัวแบ่งประเภทโรงงาน”

“ประเทศไทยกำหนดหรือแบ่งจำพวกโรงงานโดยใช้กำลังแรงม้าเป็นตัวแบ่ง อดีตปลัดกระทรวงท่านหนึ่งเคยพูดให้ดิฉันฟัง ท่านอาจจะพูดติดตลกแต่เราไม่ตลกด้วย ท่านบอกว่าเท่าที่สอบถามเจ้าหน้าที่ภายในกรมโรงงานเอง เท่าที่รู้มายังไม่มีประเทศไหนแบ่งจำพวกโรงงานโดยใช้กำลังแรงม้า

“ส่วนมากจะแบ่งประเภทโรงงานด้วยกิจการหรือการก่อให้เกิดปัญหา ไม่ได้เน้นกำลังแรงม้า เขาจะดูจากปริมาณและประเภทของเสียที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม แต่ด้วยวิธีกำกับแบบนั้นมันยากสำหรับราชการหรือเจ้าหน้าที่ เพราะฉะนั้นประเทศไทยจึงยังคงใช้กำลังแรงม้าเป็นตัวแบ่งประเภทโรงงานและเป็นตัวกำกับ นี่คือสิ่งที่เป็นช่องโหว่ใหญ่และต้องแก้ไข”

๑๐

“ปัญหาอยู่ที่กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ไม่มีความกล้าหาญเพียงพอ”

“ปัจจุบันมีอย่างน้อย ๓๖ ประเทศที่บังคับใช้กฎหมาย PRTR (Pollutant Release and Transfer Registers – ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ”) หมายถึง ระบบฐานข้อมูลที่เผยแพร่สู่สาธารณชนเกี่ยวกับชนิดและปริมาณของมลพิษที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิดเป้าหมายสู่ตัวกลางสิ่งแวดล้อมทั้งอากาศ ดิน น้ำ รวมถึงข้อมูลการนำน้ำเสียและของเสียออกจากแหล่งกำเนิดไปบำบัดหรือกำจัด และมี ๕๐ กว่าประเทศที่กำลังพัฒนากฎหมายนี้ ทำไมเราต้องสนับสนุนกฎหมายนี้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เลยว่าเมื่อต้นปี คน กทม.เดือดร้อนจาก PM2.5 เราจะไม่สามารถแก้ปัญหา PM2.5 ได้เลยถ้าเราไม่มีกฎหมาย PRTR เพราะเราไม่รู้ว่าโรงงานไหนบ้างที่ปล่อยฝุ่นออกมา และในฝุ่นนั้นมีโลหะหนักหรือสารอันตรายอะไร

“ถ้าเราต้องการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ ถ้าเราอยากทำให้อากาศกรุงเทพฯ ดีขึ้น ทำให้อากาศของเมืองอุตสาหกรรมหลายๆ แห่งดีขึ้น เราต้องมีกฎหมายนี้ อุตสาหรรมไม่ต้องกลัวว่าความลับทางการค้าของคุณจะรั่วไหล เพราะว่าไม่ไปแตะต้องข้อมูลความลับทางการค้าของใคร กลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศอุตสาหกรรมอย่างยุโรป อเมริกา เป็นผู้ขับเคลื่อนมาก่อนด้วยซ้ำ

“ตอนนี้ประเทศไทยมีโครงการนำร่องกฎหมาย TRPR ที่จังหวัดระยอง และเพิ่มที่ชลบุรี สมุทรปราการ เหตุที่เริ่มต้นโครงการนำร่องที่จังหวัดระยอง เพราะว่าประชาชนฟ้องคดีไม่ให้สร้างโรงงานปิโตรเคมีอีก ๗๖ โรงงานทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก กลุ่มอุตสาหกรรมเดือดร้อน รัฐบาลก็เดือดร้อน สุดท้ายมีการแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นว่า ประเทศไทยจะสามารถแก้ปัญหามลพิษที่ระยองได้ จะต้องพัฒนากลไก PRTR ขึ้นมาใช้งาน เราเคยสำรวจความเห็นของโรงงานต่างๆ เขาก็เห็นด้วยกับการมีกฎหมาย TRPR ปัญหาอยู่ที่กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ไม่มีความกล้าหาญเพียงพอที่จะบังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องรายงานข้อมูล ดิฉันขอพูดเลยว่าเป็นความไม่กล้าหาญของข้าราชการและรัฐบาลไทยเอง ทั้งที่ภาคอุตสาหกรรมยินดีที่จะให้มีกฎหมายนี้แล้ว

๑๑

“กระบวนการยุติธรรมบ้านเราไม่เอื้อความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านเลย”

“จากประสบการณ์ตรงของดิฉันที่เข้าไปเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในชั้นศาล ดิฉันคิดว่าปกติชาวบ้านไม่อยากฟ้องคดี แต่เมื่อการต่อสู้มาถึงที่สุดแล้วปัญหามันไม่ได้รับการแก้ไข โรงงานไม่ถูกสั่งปิด ข้าราชการไม่สามารถแก้ปัญหา ชาวบ้านต้องฟ้องคดี จะมีคดีแบบนี้เกิดขึ้นและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีก

“กระบวนการยุติธรรมบ้านเราไม่เอื้อความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านเลย ส่วนหนึ่งมาจากทัศนคติ วิธีคิด มุมมอง หรือบรรทัดฐานของบุคคลากรในกระทรวงยุติธรรมเองที่ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่มากๆ

“ดิฉันเคยถูกว่า ว่าอาจารย์ไม่มีความเป็นธรรม อาจารย์ไม่มีความเป็นกลาง อาจารย์เข้าข้างชาวบ้านมากเกินไป แต่ฝ่ายตรงข้ามดิฉันที่เข้าข้างโรงงาน คืออดีตอธิบดีกรมโรงงานที่ไปเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญให้กับอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ก่อมลพิษ ดิฉันอยากจะถามเหมือนกันว่าความเป็นธรรม หรือความเป็นกลางมันอยู่ตรงไหน นี่แค่ตัวอย่างหนึ่งที่อยากจะยกให้ฟัง”