เก็บตก บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี..จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


patan00

วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เป็นวันสิ้นสุดสัญญาตามที่กรมทางหลวงขึ้นป้ายประกาศว่าได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาสำรวจและจัดทำแผนที่อสังหาริมทรัพย์ ณ บริเวณที่ “โครงการทางหลวงหมายเลข ๘” สายนครปฐม-ชะอำ จะตัดผ่าน

หนึ่งในเส้นทางที่ “มอเตอร์เวย์” สายใต้จะทอดมาถึง และต้องเวนคืนที่ดิน คือหลายอำเภอของจังหวัดเพชรบุรี โดยมีแนวโน้มว่าเส้นทางยาว ๑๑๙ กิโลเมตร มูลค่าประมาณ ๗๙,๐๐๐ ล้านบาทสายนี้ จะผ่ากลางแหล่งเกษตรกรรมชั้นดีเมืองเพชร โดยเฉพาะทุ่งนาและป่าตาล พืชท้องถิ่นที่เปรียบได้กับต้นไม้ประจำเมือง

นอกจากตัดผ่านอู่ข้าวอู่น้ำ ยังมีข้อกังวลว่าถนนสายนี้ขัดขวางการไหลของน้ำจากภูเขาลงสู่ทะเล หากไม่ได้ยกระดับให้น้ำลอดผ่าน

ก่อนการเกิดขึ้นของมอเตอร์เวย์สายใหม่

ฟังเสียงคนเมืองเพชรกล่าวถึงบ้านเกิดเมืองนอนของเขา

patan01

“คุณไปพัฒนาเส้นทางที่ไม่กระทบชาวบ้านได้ไหม”

สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ประธานชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพชรบุรี

“ปี ๒๕๕๘ เขาจัดปฐมนิเทศที่โรงแรมรอยัลไดมอน เชิญตัวแทนจากจังหวัดราชบุรี สมุทรสงครามที่ได้รับผลกระทบมาด้วย จังหวัดเพชรบุรีทั้ง ๕ อำเภอ ๑๑ ตำบลที่จะได้รับผลกระทบก็มาฟัง ดิฉันไม่ได้รับเชิญแต่ชาวบ้านบอกให้ไป คนหนองปลาไหล อำเภอเขาย้อยพูดดีมากเลยว่าไม่ต้องการ มันจะทำลายวิถีชีวิตชาวบ้าน ทั้งทุ่งนา ป่าตาล พื้นที่ทำกิน จากนั้นก็มีการตั้งเวทีจนมาถึงครั้งสุดท้ายหรือปัจฉิม ชาวบ้านก็ยังไม่เอาทั้งสามจังหวัด แต่รัฐบาลก็ยังดึงดันจะเอา ไม่เข้าใจว่าถ้าอย่างนั้นจะจัดเวทีรับฟังทำไม

“เราไม่ได้ขัดขวางความเจริญของรัฐที่จะทำให้กับประเทศชาติ เราไม่ใช่คนหลังเขาจนไม่รู้ว่าบ้านเมืองต้องเจริญ แต่การจะสร้างสิ่งที่เรียกว่าความเจริญบนน้ำตาหรือความทุกข์ของคนหลายจังหวัดนั้นดิฉันไม่เห็นด้วย เราไม่ได้คัดค้านหัวชนฝา แต่หาทางเลี่ยงให้ คุณไปพัฒนาเส้นทางที่ไม่กระทบชาวบ้านได้ไหม ทำไมไม่ทำถนนคล่อมเส้นทางเดิมหรือพัฒนาถนนที่มีอยู่ให้เต็มศักยภาพก่อน”

patan03

“ปัญหาคือเมืองเพชรจะมีกำแพงกั้นน้ำถึง ๓ เส้น”

สัจจะ ทองนิล กลุ่มคนรักเขาแด่น

“ป่าเขาแด่นมีพื้นที่ประมาณ ๗๐,๐๐๐ ไร่ เป็นป่าใหญ่ใกล้เมืองเพชร สมัยก่อนเวลาคำนวณระยะทางไปเมืองเพชรเขาก็วัดจากป่าเขาแด่นไป ๑ โยชน์ คือ ๑๖ กิโลเมตรถึงตัวเมือง จากตัวเมืองไป ๑ โยชน์คือถึงหาดเจ้าสำราญ ระยะห่าง ๑๖ กิโลเมตรเท่าๆ กัน ป่าเขาแด่นมีความอุดมสมบูรณ์มาก มีเทือกเขาประมาณ ๑๒ ลูกเชื่อมต่อกัน มีน้ำตกมีลำห้วยหลายสาย

“เทือกเขาแด่นมีความยาวประมาณ ๑๕ กิโลเมตร น้ำจากเทือกเขาส่วนใหญ่จะไหลลงมารวมกันที่ลำห้วยจากหรือคลองบางจาก เริ่มตั้งแต่ตำบลห้วยลึก บ้านทาน ห้วยข้อง หนองกะปุ หัวสะพาน มาออกทะเลที่บ้านแหลม ถ้ามอเตอร์เวย์มาก็จะตัดลำห้วย ทับทางเดินน้ำหลาก ปัญหาคือเมืองเพชรจะมีกำแพงกั้นน้ำถึง ๓ เส้นทาง จากเดิมคือทางรถไฟกับถนนเพชรเกษม ต่อไปจะมีมอเตอร์เวย์มากั้นทางน้ำอีก ๑ สาย ธรรมชาติของน้ำที่ไหลจากเขาแด่นมาลง ๓-๔ ตำบลจะเปลี่ยนไป พื้นที่ได้รับผลกระทบแน่นอนเรื่องน้ำของอำเภอบ้านลาดคือแถวสะพานไกล บ้านทาน โรงเข้ หนองกะปุ ห้วยลึก ไร่สะท้อน ห้วยข้อง นี่เฉพาะอำเภอบ้านลาดที่เดียวนะ ยังมีอำเภอเมืองอีก”

patan02

“บางคนถึงกับหมดสิ้น จะเหลือที่แค่ไม่กี่วา”

ปัญญา ศรีแจ้ เกษตรกร

“มอเตอร์เวย์กระทบวิถีคนบ้านลาดโดยตรง พี่น้องเรามีวิถีทำตาล อยู่กับทุ่งนา อยู่กับหมู่บ้าน ทั้งสองอย่างตั้งอยู่ห่างกันประมาณ ๒ กิโลเมตร เมื่อชาวบ้านรู้ว่าจะมีถนนมอเตอร์เวย์จะมาตัดผ่านทุ่งนา ป่าตาล ก็กังวลก็ทุกข์ใจ คนที่เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย เคยต้อนวัวควายออกหากินต่อไปจะติดถนนเส้นใหญ่ ถ้ามอเตอร์เวย์มาจะให้อ้อมตรงไหน

“ผืนนาผืนนี้เรียกบ้านไร่หัวโลด เป็นนาแปลงใหญ่ของเพชรบุรี พื้นที่หลายพันไร่ ชาวบ้านส่วนใหญ่ได้รับมรดกมาตั้งแต่สมัยอำแดง คือเป็นแปลงนารุ่นเก่ารุ่นแก่เป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน จากบรรพบุรุษเคยครอบครองกันคนละหลายสิบไร่ ทุกวันนี้รุ่นหลานรุ่นเหลนแบ่งกันแล้วเหลือคนละ ๓ ไร่ ๕ ไร่ แต่ละครอบครัวเหลือไม่มากมาย บางคนได้รับเป็นมรดกแต่ยังไม่ได้จัดการเรื่องเอกสารระหว่างญาติพี่น้อง บางคนทำกินอยู่ทุกวันแต่ยังไม่มีชื่อในโฉนด ถ้าจะสูญเสีย ถ้ามีถนนตัดผ่านที่ทำกินจริงๆ บางคนถึงกับหมดสิ้น จะเหลือที่แค่ไม่กี่วา

“คนที่ได้รับผลกระทบเฉพาะที่ไร่สะท้อนตำบลเดียวก็ ๘๐๐ ราย ตำบลอื่นอีกไม่รู้เท่าไหร่ บางคนเครียดหนัก กินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะอาจจะสูญเสียที่ทำกินไปทั้งหมด”

patan04

“ทั้งทุ่งนา ป่าตาล ไม่สามารถหาซื้อที่ไหนได้อีก”

สุนีย์ หัตเถื่อน เกษตรกร

“ขึ้นตาล ๑๐ ต้นก็ได้แล้ว ๓ กะทะ ช่วงนี้ราคาดีมาก รายได้จากทำตาลมากกว่านาข้าวอีก เพราะเราขึ้นเก็บตาลได้ทุกวัน ส่วนนาข้าวทำได้ปีละ ๒ ครั้ง คือ นาปรัง กับนาปี ชาวบ้านที่นี่มีต้นตาลกันทุกคน บางคนก็รับจ้างปีนต้นตาล ลองมาดูที่ดอนนาแก้วต้นตาลทุกต้นจะมีพะองให้ปีนขึ้นไปบนยอด”

“ถ้ามอเตอร์เวย์มาเราจะทำมาหากินอย่างไร ทั้งทุ่งนา ป่าตาล ไม่สามารถหาซื้อที่ไหนได้อีก ถึงได้ค่าเวนคืนมาก็ไม่คุ้ม เราอยู่อย่างนี้ปีหนึ่งได้มากกว่า

“วันที่เจ้าหน้าที่มาเล็งมาส่องกล้องก็ไม่ได้ถาม เขาไม่เคยขออนุญาต ชาวบ้านบางคนอยู่ดีๆ มีหมุดมาปักหน้าบ้าน มาปักกลางที่ดินในท้องนา ตั้งแต่เริ่มโครงการได้ยินว่าเขาเชิญฝ่ายปกครองกับผู้นำท้องถิ่นไปร่วมประชุมก่อน ชาวบ้านอย่างเรามารู้จริงๆ ก็ช่วงปัจฉิม ถึงได้เริ่มตื่นตัวกัน”