เก็บตก บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี..จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


วันสากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก ๙ สิงหาคม

เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ๒๕๖๒ เครือข่ายภาคประชาสังคมในภูมิภาคตะนาวศรีซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศพม่าเปิดตัวรายงาน ๒ ฉบับเนื่องในวาระ “วันสากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก” (International Day of the World’s Indigenous Peoples) ตรงกับวันที่ ๙ สิงหาคมของทุกปี ระบุถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นหากสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำตะนาวศรี ทั้งเรื่องผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนพื้นเมือง และกระบวนการสันติภาพระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่า เบื้องต้นคาดว่าจะส่งผลต่อประชาชนราวสามหมื่นคนที่อาศัยอยู่เหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนตะนาวศรี

รายงานชิ้นแรกมีชื่อว่า “เหนือกว่าแม่น้ำ : เอาชนะความท้าทายด้วยภูมิปัญญาด้านนิเวศของชนพื้นเมือง” (Beyond the River : Overcoming Challenges with Indigenous Ecological Knowledge) จัดทำโดยเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง TRIPNET

รายงานชิ้นที่สองมีชื่อว่า “ปิดกั้นเส้นเลือด : ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำตะนาวศรีกังวลผลกระทบจากเขื่อนขนาดใหญ่” (Blocking a Bloodline : Communities Along the Tanintharyi River Fear the Impacts of Large-Scale Dams) จัดทำโดยกลุ่มอนุรักษ์ Candle Light, Southern Youth และ Tarkapaw

bloodline02
ผู้คนริมแม่น้ำตะนาวศรีมีโอกาสได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า ทั้งการดำรงชีวิต การเข้าถึงแหล่งน้ำ รวมถึงสันติภาพในภูมิภาค (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)
bloodline03
หน้าปกรายงาน “ปิดกั้นเส้นเลือด : ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำตะนาวศรีกังวลผลกระทบจากเขื่อนขนาดใหญ่”

ทั้งสองฉบับมีเนื้อหาเกี่ยวโยงกับการลงทุนข้ามพรมแดนของบริษัทจากประเทศไทยที่เตรียมเข้าไปสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำตะนาวศรีเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

ซอ อัลเบิร์ต ผู้ประสานงานเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง TRIPNET ให้รายละเอียดว่า รายงานเหนือกว่าแม่น้ำใช้เวลาศึกษายาวนานถึง ๔ ปี นำเสนอข้อมูลของพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำจำนวน ๑๑๕ ชนิด รวบรวมจากการวิจัยภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำตะนาวศรี งานวิจัยชิ้นนี้มีชาวบ้านเป็นแกนนำช่วยกันเก็บข้อมูลโดยใช้ภูมิปัญญาทางนิเวศและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติตามแนวจารีตประเพณีดั้งเดิม 

ซอให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าเนื้อหาของรายงานแสดงว่าชาวบ้านมีทักษะในการจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติและมีองค์ความรู้ลึกซึ้งด้านความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่

“สิ่งที่ค้นพบจากงานวิจัยชิ้นนี้คือความสัมพันธ์เชื่อมโยงใกล้ชิดระหว่างชุมชนกับแม่น้ำ ใครคิดสร้างเขื่อนตะนาวศรีควรตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาทางนิเวศที่ลึกซึ้ง และควรตัดสินใจใหม่เกี่ยวกับแผนการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ” ซอกล่าว

ด้าน แฟรงกี้ อาบรู ผู้อำนวยการกลุ่ม TRIPNET ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “เราพบว่าชนพื้นเมืองกำลังหาทางปกป้องแม่น้ำและทรัพยากรธรรมชาติ การทำวิจัยนี้จะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งเพื่อคุ้มครองพื้นที่อนุรักษ์สัตว์น้ำทั่วภูมิภาคตะนาวศรี  เป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ระดับชุมชนของชนเผ่าพื้นเมืองในพม่า” 

แม่น้ำตะนาวศรีเป็นแม่น้ำสายสำคัญทางตอนใต้ของประเทศพม่า ไหลตามแนวเทือกเขาตะนาวศรีซึ่งทำหน้าที่เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างพม่ากับไทย นับตั้งแต่ช่วงจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี ไล่ลงมาถึงประจวบคีรีขันธ์ แม่น้ำสายนี้เป็นเส้นทางการค้าสำคัญในยุคโบราณที่ต้องการส่งสินค้าจากทะเลอันดามันฝั่งเมืองมะริดมายังอ่าวไทยโดยไม่ต้องไปอ้อมช่องแคบมะละกา

bloodline04
แผนที่แสดงหมู่บ้านที่คาดว่าจะจมอยู่ใต้น้ำหากมีการสร้างเขื่อน

ทุกวันนี้โครงการสร้างเขื่อนตะนาวศรี ขนาด ๑,๐๔๐ เมกะวัตต์กำลังได้รับการผลักดันโดยบริษัทของคนไทย และต่อไปคาดว่าจะมีโครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำตะนาวศรีตามมาถึง ๑๗ โครงการ รายงานปิดกั้นเส้นเลือดที่มาจากการสำรวจความคิดเห็นชาวบ้านมากกว่า ๑,๒๐๐ คนที่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำตะนาวศรี สะท้อนให้เห็นความสำคัญของแม่น้ำสายนี้ต่อการดำรงชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี การขนส่งสินค้า ชี้ให้เห็นผลกระทบจากโครงการเขื่อนต่อวิถีชีวิตของชุมชนพื้นเมือง ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับกระบวนการสันติภาพและเสถียรภาพ เนื่องจากหลายพื้นที่ในภูมิภาคยังมีการสู้รบ รายงานปิดกั้นเส้นเลือดจึงมีเนื้อหาเรียกร้องให้เคารพสถานที่ ภูมิปัญญา จารีตประเพณีของชุมชนดั้งเดิม รวมถึงขอให้ยุติการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่

นอพอเซวา ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์ Candle Light กล่าวสรุปว่า การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำตะนาวศรีอาจทำให้ชาวบ้านมากถึง ๗,๐๐๐ คนจาก ๓๒ หมู่บ้านที่อยู่ตอนเหนือของแม่น้ำตะนาวศรีต้องอพยพ ส่วนชาวบ้านมากกว่า ๒๓,๐๐๐ คนที่อาศัยอยู่ด้านท้ายน้ำจะได้รับผลกระทบร้ายแรงต่อวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพ

อูเยอ่อง ชาวบ้านจากเขตตะนาวศรีกล่าวว่าถ้าหากจะมีโครงการขนาดใหญ่เข้ามาชาวบ้านควรมีส่วนร่วมตัดสินใจ

“พวกเราที่เป็นชาวบ้านควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยของเรา เพราะว่าเรามีองค์ความรู้และมีความสามารถในการจัดการทรัพยากร ทั้งการดำเนินงานเพื่อคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำ การเสริมสร้างความคุ้มครองระบบนิเวศโดยรวมของแม่น้ำ”

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของแม่น้ำตะนาวศรี “ปิดกั้นเส้นเลือด” และ “เหนือกว่าแม่น้ำ” กำลังทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก