เก็บตก บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี..จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


odochao

“ป่าเหลือเยอะก็ที่บ้านปกากะญอ ความจริงที่ไม่ถูกทำให้เป็นจริง”

พฤ โอโดเชา

#แด่บิลลี่

“เรื่องที่ว่าขัดขวางความเจริญ ขัดขวางงานอนุรักษ์ เขามองว่าเราเป็นกลุ่มที่อยากจะอยู่ในป่า ปลูกฝังมานานแล้วว่าชาวเขาตัดไม้ทำลายป่า ทั้งที่วิถีชีวิตชาวเขานั่นแหละคือตัวอนุรักษ์ป่าไม้

“ก็พวกเรามีแต่ไร่ มีบ้านก็ทำจากไม้ไผ่ ไม่มีเสาไม้ด้วยซ้ำ หลังคามุงใบตะค้อ วัสดุอนุรักษ์ที่สุดไม่ว่าของชนเผ่าไหน ปกากะญอมีบ้านอยู่ข้างๆ ไร่ มีแปลงผักอยู่หลังบ้าน มีปลาในลำห้วย มีสัตว์เลี้ยงอยู่ใกล้ๆ มันไม่มีเส้นทางเพิ่มคาร์บอน ถ้าอยากรู้วิธีอยู่กับป่า คนต้องมาศึกษาชีวิตแบบปกากะญอ

“ธรรมนูญปกากะญอบอกว่า ผู้ชนะแท้จริงคือธรรมชาติ การเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง มองเห็นว่าธรรมชาติต้องการบอกอะไรคือทางรอดของมนุษย์ที่พวกเราสืบทอดกันมาหลายร้อยหลายพันปี

“ป่าที่สมบูรณ์อยู่ที่ใครนิยาม ถ้านิยามแบบคนบวกมนุษย์กับโลกก็จะนิยามแบบหนึ่ง แต่ถ้านิยามแบบคนที่คิดว่าไม่ต้องมีคนอยู่กับป่าก็จะนิยามอีกแบบ ทฤษฎีของคนเรียนเกี่ยวกับนิเวศจัดจึงมองว่ามนุษย์เป็นตัวอันตรายต่อธรรมชาติ ควรจะตายไปเสีย ไม่ควรอยู่ในโลกนี้ด้วยซ้ำ เรียกว่าเขียวนิยมหรือเขียวจัด แต่ผมมองว่ามันต้องเป็นสูตรที่มีคนอยู่กับป่า คุณจะแยกมนุษย์ออกจากธรรมชาติไม่ได้เพราะมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติไปแล้ว

“ป่าเหลือเยอะก็ที่บ้านปกากะญอ ความจริงที่ไม่ถูกทำให้เป็นจริง เมืองไทยมีมุมอนุรักษ์ก็จริง แต่มุมใหญ่กว่าคือเรื่องเศรษฐกิจ มีภูเขาดีที่ไหน ในเขตอุทยานกลางดอยสูงสุดจะมีลานเฮลิคอปเตอร์ จะสร้างเขื่อนหรือสร้างเหมืองทองคำเขาก็เปิดให้จากเดิมชุมชนกระเหรี่ยงเคยอยู่ที่นั่น มันเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะมาทำลายล้างกลุ่มอนุรักษ์ ทำลายวิถีชีวิตแบบผม

“ถ้าวิถีเดิมอยู่กับธรรมชาติอย่างสอดคล้อง ให้ปกากะญอหรือคนพื้นเมืองเปลี่ยนมาเป็นคนในเมืองต่างหากที่จะทำลายป่า มันก็น่าคงวิถีเดิมมากกว่าเปลี่ยนเป็นแบบใหม่ เป้าหมายพัฒนาประเทศถ้าวางเป้าพลาดไปมันก็ยิงพลาด เขาวางเป้าไปที่ล่าเงินก็ยิงไปที่เงิน คนข้างทาง ชีวิตคน ก็ไม่มีความหมาย ระหว่างทางที่เดินไปก็ทำลายล้างไปในตัว

“แต่ถ้าวางเป้าถูก ธรรมนูญถูกมันก็ถูกต้อง เอาวิถีชีวิต เอาธรรมชาติ เอาความเข้าอกเข้าใจกันและความพอดี วางเป้าอย่างนี้การกำหนดนโยบายหรือกฎหมายลูกก็ไม่ไปสู่แผนงานที่นำไปสู่เรื่องเงิน

“คนเมืองอาจจะเจริญขึ้นมาร้อยสองร้อยหรือห้าร้อยปี เราอยู่กับธรรมชาติต่อไป เขาดำน้ำลงไปฆ่ากันตาย ก็ขึ้นมากินข้าวของเราต่อ เรายั่งยืนอยู่กับแม่น้ำที่สะอาดตลอดกาล ไม่เหมือนคนอยู่โรงงาน ต้องผลิตน้ำให้ดีขึ้นมาทีหลัง แสดงว่าเขาเจริญขึ้นมาแล้วยุคต่อไปก็ล่มสลาย สุดท้ายก็มาดื่มน้ำปรกติเหมือนเรา คือเรารออยู่จุดเดิม”

เก็บตกจากลงพื้นที่ :

  • กิจกรรม “นิเวศศึกษา เดินป่าลุ่มน้ำขานจากบ้านสบลานถึงบ้านแม่ขนิลใต้” อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ๑๕-๑๗ มีนาคม ๒๕๕๗ เนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก (International Day of Action against Dams)
  • เผยแพร่ครั้งแรก นิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๓๖๑ มีนาคม ๒๕๕๘