ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

ช่วงรอยต่อปี ๒๕๖๒-๒๕๖๓ มีเหตุการณ์สำคัญอย่างน้อย ๒ เหตุการณ์เกิดขึ้นบนแม่น้ำโขง ทั้งแม่น้ำโขงตอนล่างและแม่น้ำโขงตอนบน

เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๒ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ของประเทศไทยได้เริ่มต้นกระบวนการให้ข้อมูลโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ตามกระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) โดยจัดเวทีให้ข้อมูลครั้งแรกที่จังหวัดนครพนม มีผู้เข้าร่วมประมาณ ๑๕๐ คน ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดนครพนม หนองคาย และบึงกาฬ

แม้ตามลำดับการก่อสร้าง เขื่อนหลวงพระบางน่าจะเป็นเขื่อนลำดับที่ ๕ บนแม่น้ำโขงสายประธานตอนล่าง ต่อจากเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮง เขื่อนปากแบง และเขื่อนปากลาย แต่ ดร.จันสะแหวง บุนยง อธิบดีกรมนโยบายและแผนพลังงาน สปป.ลาว ได้ให้ข้อมูลว่า โครงการนี้อาจจะได้เดินหน้าปฏิบัติก่อนเขื่อนปากแบงและเขื่อนปากลายด้วยซ้ำ เพราะทางรัฐบาลไทยให้การสนับสนุน

เขื่อนลาวถึงเขื่อนจีน : ความเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงปี 2562-2563

แม่น้ำโขงตอนล่าง แถวจังหวัดเลย-หนองคาย (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

“โครงการเขื่อนหลวงพระบางเป็นโครงการสำคัญที่ทางรัฐบาลลาวและรัฐบาลไทยสนับสนุนร่วมกัน ความคืบหน้าของสัญญาการซื้อขายไฟขณะนี้ยังอยู่ระหว่างทำข้อตกลงกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและบริษัท ช.การช่าง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างก่อนโครงการเขื่อนปากแบงและเขื่อนปากลายที่ผ่านกระบวนการปรึกษาหารือแล้ว” ดร.จันสะแหวง กล่าว

ขณะเดียวกันเครือข่ายประชาชน ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ซึ่งเป็นเครือข่ายชาวบ้าน ประชาชน นักวิชาการที่เฝ้าติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขง และเข้าร่วม PNPCA มาตลอดทั้ง ๔ โครงการ ตลอดระยะเวลา ๙ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓-๒๕๖๑ แสดงความกังวลว่ากระบวนการ PNPCA ครั้งนี้จะยิ่งทำให้เกิดการรับรองในระดับภูมิภาคให้สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ทั้งที่ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮง ยังไม่มีแนวทางแก้ไข ไม่มีมาตรการลดผลกระทบข้ามพรมแดนที่ชัดเจนไม่ว่าจากภาครัฐหรือเจ้าของโครงการ

ตอนหนึ่งของแถลงการณ์กรณี PNPCA เขื่อนหลวงพระบางของเครือข่ายประชาชนไทย ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขงเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๒ ระบุว่า

“การจัดเวทีปรึกษาหารือ ทั้ง ๔ โครงการที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ชัดว่า เป็นกระบวนการที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และเป็นเพียงตรายางในการรับรองให้โครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ได้ใส่ใจต่อข้อกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เสียงของผู้ทักท้วงต่อผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดขึ้น แม้บางเขื่อนยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง แต่เจ้าของโครงการก็อ้างว่าได้ผ่านการปรึกษาหารือตามกลไกของภูมิภาคแล้ว และบางกรณีถึงกับอ้างว่า โครงการเขื่อนได้รับการรับรองจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแล้วด้วย”

คล้อยหลังไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ มีอีกเหตุการณ์เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงสายประธานตอนบนในประเทศจีน กระทรวงทรัพยากรน้ำ สาธารณรัฐประชาชนจีน ส่งหนังสือถึง สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงของประเทศไทย แจ้งปรับลดการระบายน้ำของเขื่อนจิงหงซึ่งตั้งอยู่ชายแดนจีน-พม่า-ลาว เพื่อทดสอบอุปกรณ์โรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำช่วงวันที่ ๒๗-๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๒

จากอัตราการระบายน้ำ ๑,๒๐๐-๑,๔๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะเริ่มลดการระบายน้ำลงในช่วงวันที่ ๑-๓ มกราคม ๒๕๖๓ เป็น ๘๐๐-๑,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะลดลงต่ำสุดในวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๓ เหลือการระบายน้ำอยู่ที่ประมาณ ๕๐๔-๘๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หลังจากนั้นจะปรับเพิ่มการระบายน้ำจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

เขื่อนจิงหงตั้งอยู่เขตสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน กั้นแม่น้ำโขงตอนบนใกล้พรมแดนจีน-พม่า-ลาว

เขื่อนจิงหงตั้งอยู่เขตสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน กั้นแม่น้ำโขงตอนบนใกล้พรมแดนจีน-พม่า-ลาว

สทนช.จึงออกหลังสือแจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัด ๘ จังหวัด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับทราบสถานการณ์ หาทางช่วยเหลือประชาชน

คาดว่าระดับน้ำโขงในพื้นที่ต่างๆ จะลดลง ดังนี้ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ระดับน้ำลดลงประมาณ ๔๐-๖๐ เซนติเมตร ระหว่างวันที่ ๒-๔ มกราคม ๒๕๖๓ และเพิ่มขึ้น ๓๐-๕๐ เซนติเมตรในวันที่ ๕ มกราคม

จังหวัดอื่นๆ เมื่อเขื่อนจิงหงลดการระบายน้ำ ๘๐๐-๑,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะมีระดับน้ำลดลงประมาณ ๔๐-๖๐ เซนติเมตร และลด ๓๐-๕๐ เซนติเมตร เมื่อลดการระบายน้ำที่ ๕๐๔-๘๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ระดับน้ำเริ่มลดลงวันที่ ๘-๑๑ มกราคม ๒๕๖๓

อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย อำเภอเมืองจังหวัดบึงกาฬ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ระดับน้ำลดลงไล่กันตามระยะห่างจากเขื่อนจิงหง

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จังหวัดเชียงราย ให้ความเห็นหลังทราบเรื่องจีนส่งหนังสือถึง สทนช.

“เราพูดมาตลอดเรื่องการผันผวนของแม่น้ำโขงและผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงตอนล่าง การที่ สทนช.มาแจ้งว่ารู้ข้อมูลจากจีน แล้วมาแจ้งหน่วยงานของไทย แบบนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหา เป็นเพียงการบอกต่อเพราะถึงจะรู้ว่าเขื่อนระบายหรือเก็บน้ำก็สร้างผลกระทบ ทำให้เกิดน้ำท่วมแปลงผักชาวบ้าน

นิวัฒน์ให้ความเห็นว่า “ผมคิดว่า สทนช. และรัฐบาล ต้องรุกเพื่อลดการเกิดปัญหา ต้องใช้ข้อมูลเพื่อเจรจากับประเทศต้นน้ำ การรับข้อมูลเท่านั้นถือว่าไม่พอเพียง ไม่ได้นำไปสู่ทางออก ต้องมองการจัดการน้ำโขงร่วมกัน ว่าฤดูไหนจะต้องระบายน้ำจากเขื่อนเท่าไหร่ เพื่อให้ระบบนิเวศอยู่ได้ ปลาอยู่ได้ ชุมชนอยู่ได้”

แผนที่เขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธาน

แผนที่เขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธาน

เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๓ ได้เกิดสถานการณ์กับแม่น้ำโขงอีกครั้ง

เว็บไซต์ www.chinaembassy.or.th ของสถานทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยออกแถลงการณ์ในหัวข้อจีนเพิ่มน้ำจากแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำล้านช้าง เนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า ตั้งแต่ ค.ศ.๒๐๑๙ (ปี ๒๕๖๒) เป็นต้นมา น้ำฝนที่ตกลงมาในลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงได้ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งอย่างรุนแรงในจีนและหลายประเทศลุ่มน้ำโขง

แถลงการณ์ระบุ “สำหรับแม่น้ำล้านช้างในประเทศจีนปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาโดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ระดับ ๗๒๘ มิลลิเมตร ลดลง ๓๔ % จากปีปกติ นับถึงวันที่ ๒๑ มกราคม ค.ศ.๒๐๒๐ ในมณฑลยูนนานของจีนน้ำแห้งในแม่น้ำ ๑๕ สายและเขื่อน ๔๓ แห่ง พื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรวมแล้วเป็น ๑.๐๗ ล้านหมู่ หรือประมาณ ๔.๕ แสนไร่ ประชาชน ๒.๙ แสนคน และสัตว์เลี้ยงตัวใหญ่ประสบปัญหาเรื่องน้ำดื่ม ระดับน้ำในเขื่อนต่างๆ ที่อยู่ต้นน้ำมีระดับน้ำที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในประวัติศาสตร์ ถ้าสถานการณ์ภัยแล้งยืดเยื้อต่อไปมณฑลยูนนานก็จะเผชิญกับสถานการณ์ร้ายแรงที่ไม่มีน้ำใช้สอย”

อย่างไรก็ตาม ทางการจีนอ้างว่าได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการรักษาปริมาณน้ำที่ปล่อยจากแม่น้ำล้านช้างอย่างชอบด้วยเหตุผล โดยคำนึงถึงความปรารถนาของฝ่ายไทยที่มาพร้อมกับสถานการณ์ภัยแล้งอย่างรุนแรง

“ฝ่ายจีนตัดสินใจจะเพิ่มปล่อยน้ำลงจากแม่น้ำล้านช้างตั้งแต่วันที่ ๒๔ มกราคม จากปริมาณ ๘๕๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มเป็น ๑,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อตอบรับความต้องการอย่างเร่งด่วนของประเทศไทย และประเทศต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง”

ทางการจีนชี้แจงว่า ได้ปล่อยน้ำมากอย่างเป็นพิเศษอีกครั้งในขณะที่จีนเองกำลังเผชิญกับภัยแล้งอย่างร้ายแรง เป็นการดำเนินการพิเศษเท่าที่จะทำได้เมื่อคำนึงถึงมิตรภาพจีน-ไทยที่เป็นครอบครัวเดียวกัน

ทุกวันนี้มีเขื่อนอย่างน้อย ๑๐ แห่งถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนบนในประเทศจีน จีนสามารถเปิดปิดเขื่อนตามความต้องการเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และเดินเรือพาณิชย์ แม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือด้วยสาเหตุหลักคือการดำเนินการเขื่อนบนแม่น้ำโขง

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ตั้งข้อสังเกตถึงแถลงการณ์ช่วยเหลือคนปลายน้ำของจีนว่า “จีนน่าจะหยุดสร้างความชอบธรรมโดยอ้างถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งที่ต้องทำคือยอมรับว่าปัญหาเรื่องน้ำโขงมันเกิดขึ้นจากเขื่อน ไม่ใช่สภาพอากาศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น การแก้ไขปัญหาต้องเป็นหลักการร่วมกันไม่ใช่มาแก้ไขเป็นช่วงๆ อย่างนี้ แล้วมาอ้างเรื่องบุญคุณกับคนท้ายน้ำซึ่งไม่เป็นความจริง”

สอดคล้องกับความเห็นของ ส.รัตนมณี พลกล้า มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนและทนายความในคดีศาลปกครองเกี่ยวกับเขื่อนแม่น้ำโขง กล่าวว่า “กระบวนการปล่อยน้ำของเขื่อนจากจีนถือเป็นหน้าที่ที่จีนต้องทำเพราะมีหลักการใช้น้ำร่วมกันทั้งในกฎหมายสากลและท้องถิ่น คือห้ามประเทศต้นน้ำเก็บกักน้ำหรือหากทำต้องเท่าที่จำเป็น ไม่ให้ท้ายน้ำเดือดร้อน การปล่อยน้ำจึงเป็นหน้าที่ไม่ใช่การอ้างถึงบุญคุณแต่อย่างใด”

ก่อนปัญหาแย่งชิงน้ำในลุ่มน้ำโขงจะรุนแรงไปกว่านี้

ถึงเวลาทบทวนวาทกรรม

“ปรับลดน้ำหน้าน้ำมาก เพิ่มน้ำหน้าแล้ง”

และ “เราปล่อยน้ำจากเขื่อนเพื่อช่วยเหลือคนปลายน้ำ”