จากบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 419 มกราคม 2563

Downsizing

จินตนาการว่ามีเทคโนโลยีที่สามารถย่อส่วนมนุษย์ลงเหลือขนาดเท่าตุ๊กตาสูงสัก ๑๒-๑๓ เซนติเมตร โดยระบบต่าง ๆ อวัยวะ สมอง และสติปัญญายังสมบูรณ์แบบเหมือนเดิมทุกประการแล้วเราก็ยังสามารถย่อส่วนเมือง อาคารบ้านเรือน ห้างสรรพสินค้า ข้าวของเครื่องใช้ ถนน รถยนต์ ต้นไม้ ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงลงในสัดส่วนเดียวกับขนาดมนุษย์ย่อส่วน คือประมาณ ๑ : ๑๔ เพื่อให้อารยธรรมมนุษย์ยังคงเดินหน้าต่อไปเพียงแต่ย่อส่วนลง

เมืองกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เคยใหญ่โตกินพื้นที่กว่า ๑,๕๐๐ ตารางกิโลเมตรก็อาจหดเหลือเพียงไม่กี่ตารางกิโลเมตร

ด้วยวิธีนี้เราก็อาจแก้ปัญหาประชากรล้นโลก ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติจนทำให้สมดุลระบบนิเวศทุกแห่งใกล้จะพังทลาย หรือการเผาผลาญพลังงานปริมาณมหาศาลจนก่อปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นี่เป็นแนวคิดหลักจากภาพยนตร์เรื่อง Downsizing ที่ออกฉายเมื่อสัก ๒-๓ ปีก่อน เขียนบทและกำกับการแสดงโดย Alexander Payne

แต่จะมีใครยอมย่อส่วนลงไปอยู่ในเมืองย่อส่วนบ้าง

นักอนุรักษ์ นักสิ่งแวดล้อม ที่เป็นห่วงอนาคตของโลกจะเลือกไปไหม อาจมีกลุ่มคนที่ขอย่อส่วนหนีไปรอวันสิ้นโลกอยู่เมืองย่อส่วนใต้ดิน รอกลับมาฟื้นฟูอารยธรรมหลังโลกล่มสลายจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่
ชนชั้นสูงส่วนใหญ่อาจยังคงอยู่ในโลกจริงที่เขายังคงมีอำนาจและผลประโยชน์ บางคนอาจมองเมืองย่อส่วนเป็นบลูโอเชียนที่น่าจะเข้าไปตักตวงกอบโกยผลประโยชน์ให้มากขึ้นอีก

ชนชั้นกลางอาจหนีชีวิตหนูถีบจักรอันซ้ำซากจำเจไปอยู่สบายในเมืองย่อส่วน เพราะเงินเก็บน้อยนิดในโลกจริงก็พอจะทำให้เขากลายเป็นเศรษฐีได้ในโลกย่อส่วน ด้วยมูลค่าของสิ่งต่าง ๆ นั้นลดลงตามไปด้วย

ขณะที่ชนชั้นล่างอาจยังคงหนีไปไหนไม่ได้ เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าโปรแกรมย่อส่วน

ฉากหนึ่งในภาพยนตร์ คืองานคืนสู่เหย้าของศิษย์เก่าโรงเรียน มีเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งที่ตัดสินใจย่อส่วนตัวเองแล้วกลับมาร่วมงานกับเพื่อน ๆ ที่ยังคงเป็นคนขนาดปรกติ ทุกคนมองดูเพื่อนตัวจิ๋วด้วยความ
สนใจ จนทำให้ใครบางคนเก็บไปนอนคิดว่าจะย่อส่วนบ้างดีไหม

คำถามน่าคิดคือ ทำไมเวลาเรามองตุ๊กตา ของจิ๋ว ของเล็ก ๆ จำลองย่อส่วน แล้วทุกคนจะรู้สึกว่ามันน่ารัก

คำตอบที่นักวิทยาศาสตร์มีให้ คือมันอาจทำให้เรานึกถึงความสุขวัยเด็ก ของเล่นสมัยเด็ก ทำให้เกิดความรู้สึกว่าต้องให้การทะนุถนอมเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับเวลาเราเห็นทารก หรือเด็กตัวเล็ก ๆ แต่ก็มีเหตุผลในแง่ตรงข้ามด้วยว่า คนที่ตัวใหญ่กว่าก็จะรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจเหนือกว่าของเล็ก ๆ ที่ไม่มีพิษสง เช่นเดียวกับเด็ก ๆ ที่รู้สึกมีอำนาจเหนือของเล่น เพราะจะบังคับให้มันทำอะไรก็ได้ตามใจ

มองจากคนตัวใหญ่ อาจอยากหนีปัญหาใหญ่ ๆ ไปเป็นคนตัวจิ๋ว เพราะหลงว่าทุกอย่างจะน่ารัก และปัญหาจะจิ๋วตามไปด้วยแต่ลืมไปว่าเมื่อทุกอย่างรอบตัวกลายเป็นของจิ๋วเท่ากัน

โดยเปรียบเทียบเสียแล้วมันก็เหมือนกลับมาเป็นเช่นเดียวกับโลกปรกติ

ปัญหาในความสัมพันธ์ของมนุษย์ ความยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ การเหยียดคนต่างเชื้อชาติ และทัศนคติสงคราม ความรุนแรง ความทุกข์ ความเจ็บป่วยทางจิตใจ ยังดำรงอยู่เสมอ

เพราะถึงแม้เทคโนโลยีจะย่อส่วนหรือจะทำอะไรกับ “กาย” ได้

แต่ไม่อาจลดทอนปัญหา “ความคิดและจิตใจ”

ปีใหม่นี้ สถานการณ์ของโลก โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมน่าจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีกอย่างที่ไม่เคยมีบันทึกในประวัติศาสตร์

ทั้งภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความล่มสลายของสมดุลระบบนิเวศ

หวังว่าคุณผู้อ่านอย่าด่วนตัดสินใจอะไรเพราะความรักความชอบเพียงอย่างเดียว (แต่ยังไง สารคดี ฉบับนี้เราก็มีของจิ๋วน่ารักเต็มเล่มเลยครับ)

และในเมื่อย่อส่วนหนีไปไหนไม่ได้ เราคงต้องเรียนรู้จะอยู่กับโลกใบนี้ด้วยสติและปัญญา ยิ่งกว่ายุคสมัยใด ๆ

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com