เรื่องและภาพ : ทีม HappyBoon ค่ายนักเล่าความสุข

 

“แม่.. แม่.. มองเห็นไหม ขยับมาดูตรงนี้สิ”

“แม่… พูดเบาๆ หน่อย”

เสียงกระซิบกระซาบของ “บุ๊น” เด็กชายร่างเล็กวัย ๑๒ ปีพูดกับฉันในบังไพร

เรากำลังซุ่มแอบดูนก

“เสียง” เป็นสิ่งที่เราต้องระมัดระวังอย่างมากด้วยนกอาจระแวง และบินจากไป

เราต้อง “นิ่ง” และ “เงียบ” รบกวนเพื่อนนกให้น้อยที่สุด

ในบางครั้งเรานั่งอยู่ในบังไพรตั้งแต่เช้าจนเย็นย่ำ ยาวนานเป็นสิบชั่วโมง เพียงเฝ้ารอด้วยความหวังว่านกที่เราอยากพบจะบินลงมาให้เรายลโฉม

บุ๊นไม่ใช่นักดูนก บุ๊นเพียงชอบดูนกและสนุกกับการถ่ายภาพนก ตัวฉันแม้เป็นเพียงผู้ติดตามคนชอบดูนก แต่ก็สนุกไปด้วยทุกครั้ง

ในช่วงปลายปีเป็นฤดูกาลของนกอพยพ นกหนีหนาวหลายชนิดบินเข้ามาในประเทศไทย บินผ่านบ้าง แวะพักบ้าง เรามีโอกาสได้ไปดูนกในหลายพื้นที่ สวนสาธารณะ นาเกลือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แม้แต่ออกเรือในทะเล

นอกจากจะพบนกหลายชนิด เรายังพบปะผู้คนหลากหลาย ทุกคนล้วนมีความสนใจร่วมกันคือ ชอบดูนก

ความสุขของคนดูนก

ได้เจอนกก็ดีใจ

จากการสังเกต คนเริ่มดูนกเห็นนกอะไรก็สนุก ตื่นเต้น อยากเห็นไปเสียหมด

มีเสียง โหววว โอ้ววว ว้าววว แทบทุกครั้งไปเมื่อได้มองนกชัดๆ ผ่านสโคปดูนก (กล้องส่องทางไกลตาเดียว)

ได้เห็นสีสันชัดเจน เห็นละเอียดถึงขนนกเป็นเส้นๆ เห็นแววตาท่าทาง พฤติกรรมน่าเอ็นดู นกไซ้ขน นกโก่งคอร้องเพลง นกหาอาหาร นกกินอาหาร นกกกไข่ นกหลับ นกพักผ่อน นกแอบเหล่ นกเล่นน้ำ บางทีมีเอาหัวมุดๆ ตัวเอง ทำท่าทางเปิ่นๆ เกาะกิ่งไม้พลาดบ้าง ลื่นพรื้ดบ้าง

ทุกอิริยาบถล้วนทำให้คนที่เฝ้ามองอมยิ้มมีความสุข

ฉันนึกย้อนไปในช่วงแรกที่สองหนุ่มน้อยที่บ้านเริ่มสนใจนก

ความสุขเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ไม่ต่างกันเลย ไม่ว่าจะเป็นนกอะไรที่พบก็ดูจะตื่นตาตื่นใจไปเสียหมด

หนังสือ นกเมืองไทย คู่มือศึกษาธรรมชาติหมอบุญส่ง เลขะกุล กลายเป็นหนังสือใกล้มือที่ถูกหยิบจับอยู่เป็นประจำ

เด็กจดบันทึกการพบเจอนก เด็กวาดภาพ เด็กมีความสุข

ตัวฉันเองไม่ใช่นักดูนก แต่ได้ติดตามคนชอบดูนกไปในที่ต่างๆ หลายที่ไม่ต่ำกว่า ๕ ปีแล้ว เมื่อได้ส่องกล้องสองตา หรือส่องสโคปดูนก ยังคงว้าว ยังคงตื่นเต้น ยังพูดพึมพำอยู่คนเดียวแทบทุกครั้ง

“โอ๊ย น่ารักจัง” “สีสวยมากเลย” “หัวฟูเลย ฮ่า ฮ่า ฮ่า” ฯลฯ พร้อมรอยยิ้มเปื้อนหน้า

ความ “ว้าว” กับนกที่พบได้ทั่วไปช่างเป็นความสุขง่ายๆ ที่มีได้ในทุกวันกับนกรอบตัว แม้สำหรับมือใหม่ นกอาจจะดูเป็นนกหายากไปเสียหมด (เพราะหาไม่เจอ!)

การใช้กล้องสองตาส่องหายิ่งอาจดูทุลักทุเล ด้วยยังไม่ชำนาญในการใช้งาน

แต่เสน่ห์คงอยู่ตรงนี้เอง บนเสียงหัวเราะที่หานกไม่พบ บนความเงอะๆงะๆในการส่องกล้องดูนก มีความสุขเจืออยู่ในทุกอณู

เมื่อชั่วโมงบินในการดูนกสูงขึ้น ความว่องไวในการสอดส่ายสายตาหานกก็มากขึ้น

สำหรับบางคน นกที่พบทั่วไปหรือที่ภาษาคนดูนกเรียกว่า “นกม่อนๆ” (มาจากคำว่า common bird นั่นเอง) อาจไม่ทำให้ตื่นเต้นได้อีกต่อไป ออกจะถูกเมินเสียด้วยซ้ำ การได้พบเจอนกที่ไม่เคยเจอทำให้ใจกระชุ่มกระชวย เกิดความฮึกเหิม มุ่งมั่น อยากเจอมากขึ้น จดแต้มชนิดนกที่ได้พบมากขึ้น

ยิ่งเป็นนกที่พบได้ยากยิ่งอยากเจอ รู้จัก “หมาย” (ตำแหน่งที่พบ) นกมากขึ้น มีเครือข่ายคนรู้จักส่งข่าวหมายนกให้กันมากขึ้น จะขึ้นเหนือล่องใต้ เข้าป่าตะลุยดงทากดงเห็บ มิมีหวั่น หากกำลังกายและกำลังทรัพย์พร้อม ก็ลุยได้เสมอ

ลักษณะการดูนกเช่นนี้ กลุ่มคนดูนกเรียกกันว่า “ทวิชชิ่ง”

ฉันพบเจอคนดูนกลักษณะนี้อยู่บ่อยครั้ง มีตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงวัยกลางคน บางคนมีเป้าหมายชัดเจนว่าอยากพบนกในเมืองไทยให้ได้มากชนิดที่สุด บางคนมีเป้าหมายถึงจำนวนนกในโลกที่อยากพบก่อนวัยเกษียณ เมื่อเวลาอำนวยจึงมักออกเดินทางตามฝันของตนเองอยู่เสมอ

ความสุขในการดูนกหายากคงจะอยู่ที่ความท้าทายในการทำเป้าหมายให้ได้สำเร็จ

แต่ในบางครั้ง ระหว่างทางสู่เป้าหมายก็อาจเจ็บปวด

ฉันไม่เคยคิดเลยว่าความผิดหวังเมื่อไม่พบนกที่คาดหวังว่าจะเจอจะสามารถทำให้คนดูนกบางคนเครียดได้ถึงขั้นโรคกระเพาะกำเริบ

แต่มันเป็นไปได้จริงๆ

ชายหนุ่มวัยทำงานคนหนึ่งที่ฉันพบมีอาการเช่นนั้น แม้ในที่สุดก็สอดส่ายสายตาหานกชนิดนั้นจนพบและมีรอยยิ้มปรากฏ

ฉันเห็นว่า เราสามารถมีความสุขได้จากภายใน เพียงเราเรียนรู้ที่จะยอมรับสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติอย่างที่เป็น

ฉันมั่นใจว่าแม้จะไม่พบนกชนิดนั้นในวันนั้น การเรียนรู้ก็เกิดขึ้นแล้วซึ่งเป็นสิ่งที่งดงาม

doonok02

ช้าลง และให้เกียรติ

กิจกรรมดูนกในสวนมีอยู่สม่ำเสมอ จัดโดยสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กิจกรรมไม่มีค่าใช้จ่าย มีอาสาสมัครของสมาคมนำเดินดูนก มีกล้องสองตาให้ยืม และมีแผ่นพับภาพนกในเมืองง่ายๆ ให้เราพกพา

สิ่งที่คนนำดูนกทำคือ เดินช้าๆ ฟังเสียง และมองหานก

ในสวนมีต้นไม้มากมาย นกจึงมีมากตามไปด้วย เพียงไม่กี่ก้าวเดินเราก็ได้ดูนกกันแล้ว

อาสาสมัครจะชี้ตำแหน่งนกให้เราลองมองหาด้วยตาเปล่า นกอาจอยู่บนยอดไม้ ในพุ่มไม้ใหญ่ หรืออาจเดินอยู่บนผืนหญ้า เมื่อเห็นแล้วจึงค่อยใช้กล้องสองตาส่องดู หาไม่เห็นไม่ต้องกังวล หากนกเกาะนิ่งๆ อาสาสมัครจะตั้งสโคปส่องนกให้เราดู ซึ่งขยายชัดเจนมากกว่ากล้องสองตาเสียอีก

คราวนี้แหละ เสียงว้าวก็เริ่มดังขึ้น

การได้เห็นภาพขยายชัดๆทำให้เห็นอิริยาบถต่างๆ ของนกที่เราไม่เคยเห็นจากการมองด้วยตาเปล่า ทั้งสวยงามและน่ารัก การเดินดูนกระยะทางสั้นๆ อาจใช้เวลาถึงสองสามชั่วโมงได้โดยไม่รู้ตัว

เมื่อพบนก เรามักอยากจะเข้าไปเห็นใกล้ๆ แต่ไม่ว่าคนหรือนกย่อมมีระยะสบายใจของตนเอง

การเข้าใกล้นกทำได้ในระยะที่นกอนุญาตและตระหนักถึงความสุขของนกเสมอ

สมิทธิ์ สุติบุตร์ ช่างภาพสัตว์ป่ามืออาชีพเล่าถึงเทคนิคการเข้าใกล้สัตว์ป่าไว้อย่างเรียบง่ายว่า “ต่ำช้า”

คือทำตัวต่ำๆ เตี้ยๆ ขยับเขยื้อนเคลื่อนตัวช้าๆ บางครั้งอาจใช้เวลาเป็นชั่วโมงในการเคลื่อนตัวเพียงระยะไม่กี่เมตร

เราสามารถเรียนรู้ระยะอนุญาตได้จากการสังเกตพฤติกรรมของนก เพียงเท่านี้ เราก็อยู่ในพื้นที่เดียวกันได้อย่างสบายใจทั้งสองฝ่าย ความสุขภายในเกิดขึ้นได้เมื่อเราได้รับความไว้วางใจจากธรรมชาติ
การดูนกสอนให้เราช้าเป็น ไม่มีอะไรต้องรีบ เพียงแค่นิ่งดูบ้าง ช้าลงบ้าง เราจะได้เห็นได้ยินอะไรๆ ได้ชัดขึ้น มากขึ้นกว่าที่เคย เรียนรู้ที่จะสังเกตและให้เกียรติกัน ตระหนักถึง “ความสุขของนก” เสมอ
นกมีความสุข เราก็มีความสุข

doonok03 doonok04

เรียนรู้ และ ยอมรับ

นกเป็นสัตว์ที่น่ารัก สวยงาม เมื่ออยู่อย่างอิสระในธรรมชาติ

และแน่นอน เรากำหนดบังคับธรรมชาติไม่ได้

ช่วงเดือนที่ผ่านมาเราได้มีโอกาสแอบดูนกในบังไพรอยู่สองถึงสามครั้ง

ใช่! เรา “แอบดู” เราต้องเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในบังไพรอย่างมิดชิด จากนั้นเรารอ.. รอ.. และ รอ..

รอเงียบๆ เงียบในระดับที่ได้ยินเสียงลมหายใจของเพื่อนร่วมบังไพร เรารอโดยที่ไม่รู้ว่านกจะมาตรงจุดที่เราเฝ้ารออยู่หรือไม่

แน่นอนเรามีความหวัง (แต่เราไม่คาดหวัง)

เจ้าหน้าที่ป่าไม้ท่านหนึ่งดูนกมานานหลายปีบอกกับฉันพร้อมรอยยิ้มว่า ความสนุกอยู่ที่การได้ “ลุ้น” นี่แหละ ว่านกจะมาหรือไม่มา ถ้ามาก็จะดีใจมาก ถ้าไม่มาก็ไม่เป็นไร วันหลังมาเฝ้าใหม่ ง่ายๆอย่างนี้เอง
ในฤดูแล้ง แหล่งน้ำมีน้อย การมีแอ่งน้ำเล็กๆ เป็นการเชื้อเชิญนกให้ลงมาเล่นน้ำให้เราแอบเฝ้ามองได้

ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวมีบ่อน้ำมหัศจรรย์อันเลื่องชื่อที่ฉันเคยจินตนาการว่าเป็นบ่อน้ำใหญ่โต แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงแอ่งน้ำขนาดเล็กในป่าที่มีนกน้อยใหญ่ รวมถึงสัตว์เล็กๆ บางชนิดมาใช้บริการ มีบังไพรไว้ใกล้ๆ ให้เราเข้าไปนั่ง รอ และเฝ้าดู

บุ๊นเคยมานั่งในบังไพรนี้ครั้งแรกเมื่อตอนอายุประมาณ 8-9 ขวบ ฉันอัศจรรย์ใจมากที่เด็กตัวเล็กพลังงานล้นเหลือสามารถนั่ง เงียบ และเฝ้าดูอยู่ได้นาน 2-3 ชั่วโมง จนตอนนี้เด็กชายอายุ 12 ปีก็ยังคงเข้าไปนั่งเฝ้าอยู่
เรามีความสุขทุกครั้งที่เห็นนกลงมาเล่นน้ำ เอาหัวมุดน้ำ เอาตัวลงไปแช่น้ำ ตีน้ำกระจาย แล้วบินขึ้นไปเกาะพักที่กิ่งใกล้ๆ สะบัดและไซ้ขนจนตัวดูพองฟู น่ารักน่าชัง

“สาลิกาเขียว! แม่! สาลิกาเขียว! สวยมากเลย”

น้ำเสียงกระซิบกระซาบนั้นเต็มไปด้วยความตื่นเต้น จ้องมองนกตาเป็นประกาย เมื่อนกที่บุ๊นอยากเห็นมานานบินลงมาเล่นน้ำ

“มือสั่น หัวใจเต้นแรงมากเลยแม่ ตอนนี้ยังใจเต้นแรงอยู่เลย”

บุ๊นกล่าวพร้อมรอยยิ้มกว้าง หลังนกน้อยบินจากไป มือบุ๊นเย็นเฉียบ ฉันตื่นเต้นและดีใจไปกับบุ๊นด้วย

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา เราอยู่ภูเก็ตกัน จึงสบโอกาสไปดูแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย สัตว์ป่าคุ้มครองของไทยและพบได้ยาก เป็นนกอพยพขนาดใหญ่ที่บินมาเกาะพักที่จังหวัดภูเก็ตในช่วงปลายปีถึงต้นปี

เจ้านกกินซากนี้ร่อนมากับลมหนาวจากเทือกเขาหิมาลัยหรือจากประเทศจีน เมื่อมาถึงประเทศไทยมักพบว่ามีอาการอ่อนล้า ขาดอาหาร และหมดแรง พบร่วงตกกลางกรุงก็เคยมี (รายงานเมื่อปีพ.ศ.2562) จึงมีโครงการช่วยเหลือแร้งของหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยการวางซากสัตว์ไว้ในจุดที่พวกมันน่าจะมองเห็นได้ชัดและปลอดภัยเพียงพอที่จะลงมากินซากเป็นอาหารได้โดยไม่หวาดระแวง มีการตั้งบังไพรไว้เพื่อเก็บข้อมูล และให้ผู้ที่สนใจเข้าไปเฝ้าดูได้

แต่ใช่ว่าแร้งจะลงมากินซากทุกวัน เรามีเวลาเพียงหนึ่งวันครึ่งสำหรับการไปเฝ้าดู

เส้นทางที่ใช้เดินทางขึ้นไปนั้นมีความทุลักทุเล ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น เรานั่งตัวโยกเยกโอนเอนแทบตลอดทางแต่ก็ตื่นเต้นและรื่นรมย์ดี

ระหว่างที่นั่งเฝ้ารอในวันแรก หลายสิ่งที่ไม่คาดคิดเป็นอุปสรรคในการลงกินซากของแร้ง เสียงรถจักรยานยนต์วิบากดังกระหึ่มเป็นระยะ ฟังจากเสียงก็ทราบได้ว่าอยู่ไม่ไกลจากบังไพรเท่าใดนัก ทราบข้อมูลจาก รัตน์ เพื่อนรักษ์ อาสาสมัครเก็บข้อมูลและดูแลการจัดวางซากว่ามีถนนขึ้นเขาอยู่ไม่ไกลที่นักขับรถวิบากมักมาซ้อมขับขี่ในวันว่าง

วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ จึงไม่น่าแปลกใจเลยหากเจ้านกที่เรารอคอยจะรู้สึกระแวง แม้บุ๊นจะมีความขัดเคืองใจอยู่บ้างเมื่อเสียงกระหึ่มนั้นดังขึ้นในแต่ละครั้ง แต่ก็เข้าใจได้ว่าเป็นสิ่งที่เหนือการจัดการควบคุมของเรา การเรียนรู้ที่จะยอมรับทำให้ใจคลายลงได้ ฉันเห็นความสุขในนั้น

ในวันนั้น เรานั่งเงียบๆ ในบังไพรอยู่ร่วมสิบชั่วโมงโดยที่แร้งไม่ลงมากินซากที่วางไว้เลย แม้จะมีบินลงมาเกาะแอบที่พุ่มไม้และมองซ้ายมองขวาอยู่ราวครึ่งชั่วโมงเหมือนให้ความหวัง แต่ในที่สุดก็บินออกไป

กว่าสิบชั่วโมงในบังไพร บุ๊นดูแลตัวเองได้อย่างดีเยี่ยม อ่านหนังสือบ้าง เขียนบันทึกบ้าง วาดรูปบันทึกบ้าง สลับกับการเฝ้าดูนก

ที่สำคัญที่สุด หนุ่มน้อยยังดูมีความสุขดีแม้ในวันนั้นเราไม่ได้เห็นแร้งตัวเต็มๆ ชัดๆ ก็ตาม

“พรุ่งนี้มาใหม่นะแม่” บุ๊นว่าเช่นนี้และฉันยินดีอย่างยิ่ง

การอยู่กับตัวเองเป็นของเด็กชอบนกเป็นความสุขง่ายๆ ที่ส่งต่อมาถึงฉันด้วย

นอกจากเสียงรถ อีกอุปสรรคหนึ่งที่พบคือ แขกไม่ได้รับเชิญ รัตน์สงสัยอยู่นานว่าเหตุใดแร้งฝูงก่อนที่มาเกาะพักเป็นสัปดาห์ไม่มีทีท่าว่าจะลงมากินซากเลยจนในที่สุดก็บินจากไป

ข้อสงสัยได้รับการคลี่คลายเมื่อได้ข้อมูลภาพจากกล้องดักถ่าย พบว่ามีน้องหมามาวิ่งเล่นไม่ไกลจากจุดวางซากนักในช่วงเช้า เจ้าสี่ขาซุกซนที่พบนี้เป็นของชาวบ้านบริเวณนั้นเอง มันไม่ได้มีท่าทีก้าวร้าว ออกจะมนุษยสัมพันธ์ดีเสียด้วยซ้ำ แต่การปรากฏตัวของมันทำให้แร้งรู้สึกไม่ปลอดภัยได้เช่นกัน

การจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาจึงเริ่มเกิดขึ้น และรอยยิ้มก็ปรากฏในวันถัดมา

แร้งสีน้ำตาลหิมาลัยวัยรุ่นสามตัวลงมากินซากให้เราเฝ้ามองอยู่เป็นชั่วโมง นกตัวโตตาโตแป๋วแหวว หัวมีขนสีขาวอุยๆปุยๆ ยามกางปีกกว้างยาวถึงสองเมตรกว่า ขนแผงคอสีน้ำตาลปนดำแผ่พลิ้วราวใส่เสื้อคลุมดูสง่างาม ลบภาพคำว่าแร้งเป็นสัตว์อัปมงคลไปได้อย่างสิ้นเชิง

ฉันตระหนักได้ว่าฉันเตรียมตัวไม่พร้อมนักเมื่อรู้สึกเริ่มปวดท้องเบาตั้งแต่ก่อนแร้งจะร่อนลงมาเกาะพักใกล้ๆ ซาก และปวดมากขึ้นเรื่อยๆ จนแร้งลงมากินซาก สิ่งที่ทำได้มีเพียงอดทนและอั้นเข้าไว้ รอให้เจ้านกตัวเขื่องทั้งสามจัดการอาหารให้อิ่มหนำสำราญใจเสียก่อน รวมเบ็ดเสร็จราวหนึ่งชั่วโมงครึ่งก่อนจะจากไป

ฉันรีบออกจากบังไพรไปหามุมสงบในพงหญ้าระบายสิ่งที่อัดอั้นมานาน ยังนึกขำตัวเองที่อดทนนั่งรอเพียงเพื่อแอบดูนกตัวโตกินซากสัตว์ แต่การได้เห็นแร้งกินอาหารได้อย่างสบายใจและอิ่มจนคอโป่ง เป็นความยินดีและสุขใจอย่างยิ่ง

ดีใจยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อคิดว่าเขาจะมีเรี่ยวมีแรง และจะบินกลับบ้านเมืองหนาวได้โดยไม่หิวโหย ไม่หมดแรงกลางอากาศ

เราเรียนรู้หลายสิ่งจากอุปสรรคที่พบ การเตรียมตัวให้พร้อมเป็นสิ่งสำคัญ

แม้เรื่องบางเรื่องเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เมื่อเราน้อมยอมรับด้วยใจความสุขก็เกิดขึ้นได้

doonok05

รู้จัก และ ฟังกัน

การดูนกเป็นการกลับมาเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้ทางหนึ่ง ด้วยนกเป็นสัตว์ที่น่ารักและพบเจอได้ง่ายในทุกที่

บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องรู้จักชื่อนกเสมอไป “ชื่อ” เป็นเพียงนามสมมติที่คนมอบให้นกเพื่อให้สามารถสื่อสารกันได้เข้าใจตรงกันเท่านั้น เราเพียงอยู่นิ่งๆ เฝ้ามองอิริยาบถต่างๆ ของนก เราก็รู้จักนกได้ในอีกมิติที่ไม่ใช่เพียงชื่อเรียกขาน

นักดูนกบางคนที่ฉันพบ ดูนกมานานกว่า ๒๐-๓๐ ปี เคยเป็นนักล่าสถิตินกที่พบมาก่อน จนถึงจุดหนึ่งกลับพบความสุขของการดูนกในแบบที่เป็นตัวของตัวเอง จากความฮึกเหิมตะลุยไปทุกที่ที่มีรายงานพบนกหายาก กลับกลายเป็นการไปเฝ้านกชนิดเดิมๆ ในพื้นที่เดิมๆ ได้อย่างไม่รู้เบื่อได้เป็นปี หรือเป็น ๑๐-๒๐ ปี ได้เห็นและเรียนรู้พฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ของนกไปเรื่อยๆ ก็มีความสุขแล้ว

สำหรับฉัน การ “รู้ชื่อนก” กับการ “รู้พฤติกรรมนก” นั้น ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันมาก กับคำถามว่า “นกอะไร”

คำตอบอาจจะเป็นเพียงชื่อนก เราอาจจะพอใจและจบความสงสัยเพียงแค่นั้น แต่หากเราได้ฟังเรื่องราวหรือได้สังเกตพฤติกรรมของนก ความสนุกจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เหมือนสมองจะตื่นตัวขึ้นอีกด้วย

เรื่องราวสั้นๆ ของนกสีชมพูสวนจากมะเดี่ยว วรพจน์ บุญความดี (เจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติบางปู ผู้เป็นที่รักของเหล่าเด็กชอบดูนก) ฉันยังจำได้ไม่ลืม

ต้นกาฝากบนกิ่งไม้หนึ่งในสวนสาธารณะนำสู่เรื่องเล่าสนุกๆ นี้ เจ้านกสีชมพูสวนสีสันสดใส ตัวเล็กกระจิ๊ดริด ปราดเปรียวว่องไวจนเราส่ายสายตาตามดูไม่ค่อยทัน ชอบกินผลกาฝากเป็นอาหาร ด้วยผลกาฝากมียางเหนียวๆ พอเจ้าตัวเล็กอึ๊ออกมาจึงเหนียวติดก้นไม่ออกง่ายๆ มันจึงต้องเช็ดก้นด้วยการถูก้นกับกิ่งไม้ เมล็ดกาฝากจึงมีที่พักพิง เมื่อสภาวะเหมาะสมก็แตกรากยึดเกาะกิ่งไม้เติบโตขยายพันธุ์ต่อไป

จากนั้นเป็นต้นมา หากฉันเห็นต้นกาฝาก ฉันก็จะคิดถึงนกสีชมพูสวน และหากฉันเห็นหรือได้ยินชื่อนกสีชมพูสวน ฉันก็จะนึกถึงอึ๊เหนียวๆ กับต้นกาฝากทุกทีไป

นอกจากเรื่องนกสีชมพูสวนแสนสนุก มะเดี่ยวยังเล่าเรื่อง “ภาษานก” ให้ฟังอีกด้วย เป็นเรื่องราวที่ทำให้อยากชวนคนเริ่มชอบดูนกมาฟังนกด้วยกัน คงจะสนุกไม่น้อย

แต่ละเสียงที่นกเปล่งมาสื่อถึงอารมณ์ที่ต่างไป อารมณ์ดี สบายๆ ชิลๆ ก็ร้องเพลง มีเรื่องเม้าท์เบาๆ ก็ จุ๊กๆ จิ๊กๆ กันสนุกสนาน มีเรื่องให้ต้องระวัง เตือนภัย ก็ส่งเสียงบอกเพื่อนฝูงแบบพอดีๆ มีขานรับกันบ้าง แต่หากมีอันตรายเข้ามาแบบน่ากลัวสุดๆ ก็ส่งเสียงเตือนสั้น กระชับ ให้เพื่อนเข้าใจ แล้วเงียบกริบกันถ้วนหน้า

หลังจากฟังเรื่องภาษานก ยามเช้าที่บ้านฉันก็เปลี่ยนไป

เสียงนกร้องยังคงเหมือนเคย แต่ฉันฟังด้วยความรู้สึกที่ต่างไป จากคำถาม “เสียงนกอะไรหว่า” (และหาไม่ค่อยพบอีกด้วย) เปลี่ยนเป็น “เธอคุยอะไรกันนะ” เป็นการฟังที่สนุก รื่นรมย์ และอมยิ้ม ไม่ต่างกับความสัมพันธ์ของมนุษย์เลย “ฟัง” แต่อาจไม่ “ได้ยิน” บางทีเราคิดว่าเราฟังแล้ว แต่เอาเข้าจริง เรากลับไม่ได้ยินเสียง ”ข้างใน” เลยสักนิด

เตือนตัวเองให้ฝึกฟังคนให้ได้ยินด้วย จะยิ่งดีงาม และคงจะยิ้มได้กว้างกว่าเดิมด้วยความเข้าใจ

เสียงเช้าในป่าแตกต่างไปจากในเมืองกรุง เช้าหนึ่งในป่าใต้

“ฮวุ้… ฮวุ้… ฮวุ้.. ฮวุ้.. ฮวุ้.” เสียงดังและถี่ขึ้นเรื่อยๆ ตบท้ายด้วยเสียงคล้ายหัวเราะอันเป็นเอกลักษณ์ “ก๊ากกกก… ก๊ากก.. ก๊าก กั้กก กั้กก กั้ก กั้ก กั้ก …” ดังกังวานก้องป่า

บุ๊นกับฉันมองหน้ากันด้วยความตื่นเต้น “เสียงนกชนหิน!”

แม้จะหาตัวไม่พบ แต่เสียงร้องก็ยืนยันว่ายังมีนกโบราณใกล้สูญพันธุ์นี้ใช้ชีวิตอยู่ในผืนป่าแดนใต้ น้ำเสียงฟังดูมีความสุขเสียด้วย ฉันดีใจ มีความสุข และรู้สึกขอบคุณอย่างบอกไม่ถูก

ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว นกขุนแผนเสมือนเป็นนกรับแขกบินไปมาให้ยลโฉมต้อนรับผู้มาเยือน นกสีฟ้าแกมม่วงสวย หางยาวสีดำสลับขาวมีเสน่ห์สมชื่อ มักพบเกาะอยู่ตามตัวกวาง โดยเฉพาะบริเวณหัว ความใคร่รู้ว่านกขุนแผนมาทำอะไรอยู่บนตัวกวางได้รับการไขกระจ่างจากภาพถ่ายฝีมือพี่ชายของบุ๊นที่เดินวนไปมารอบๆ อยู่พักใหญ่ ทากตัวอ้วนคาปากสีแดงสด หลังก้มๆ จิกๆ บริเวณใบหูของกวาง

เราเห็นการเกื้อกูลกันของสามชีวิต ทากกินเลือดกวาง นกขุนแผนรับสารอาหารจากการกินทากที่ดูดเลือดกวางจนอ้วน กวางรู้สึกสบายตัวขึ้น

คราวนี้ยามเข้าป่า เมื่อเห็นทากกำลังละเลียดดูดเลือดที่ขา เราอาจรู้สึกยินดีและยิ้มได้ เมื่อตระหนักว่าเราได้เป็นส่วนหนึ่งของวงจรชีวิตในผืนป่าแห่งนั้นแล้ว (ทากไม่มีพิษภัย เลือดหนึ่งอิ่มประมาณหนึ่งช้อนชา อิ่มแล้วก็ไปและไม่หิวได้อีกราวหกเดือนเลยทีเดียว) เป็นความรู้สึกที่ดีงามเมื่อได้เห็นความสัมพันธ์ ความเชื่อมโยงกันในธรรมชาติ และมองเห็นตัวเองอยู่ในเครือข่ายนั้นด้วย

บุ๊นกับฉันเคยมีโอกาสแอบเฝ้ามองพ่อนกเงือกเอาอาหารมาป้อนแม่นกและลูกน้อยที่โพรงรังที่เขาใหญ่อยู่หลายครั้ง

แน่นอนเราต้องรอคอยอย่างนิ่งเงียบและเคารพความสุขของนกอย่างที่สุด

บางครั้งเราเฝ้าดูตั้งแต่เช้าจรดเย็น ทุกรอบที่พ่อนกบินมาที่โพรง ใจฉันพองโตและตื่นเต้น

พ่อนกจะขย้อนอาหารและป้อนลูกป้อนเมียอยู่หลายครั้ง

บุ๊นจับจังหวะถ่ายภาพขณะที่พ่อนกป้อนอาหารและโผบิน แต่ในบางครั้ง บุ๊นเพียงยืนมองพ่อนกป้อนอาหารอยู่อย่างนั้นเงียบๆ ไม่ถ่ายภาพใดๆ

“นกมันก็ทำหน้าที่ของมันเนอะแม่” บุ๊นเอ่ย

ธรรมชาติส่งข้อความสำคัญให้เราเรียนรู้มากมายโดยไม่ต้องเอื้อนเอ่ยวาจา

การดูนกเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่

doonok06

สายใยรัก

ธรรมชาติมอบความสุขให้เราเสมอ ไม่เพียงความสดชื่น ความสบายใจ ธรรมชาติยังเป็นสื่อถักทอสายใยรักได้อีกด้วย

การดูนกเป็นกิจกรรมที่น่ารักกิจกรรมหนึ่งสำหรับครอบครัว พ่อกับแม่ชวนลูกมองหานก ส่องกล้องดูนกกันยามเช้า หาเจอบ้างไม่เจอบ้าง ชวนกันสังเกต ชวนกันเปิดคู่มือนก ถกกันบ้างเรื่องชนิดนกที่พบ เป็นบรรยากาศที่น่ารักและอบอุ่น

ฉันมั่นใจอย่างยิ่งว่าความสุขเช่นนี้จะยังคงอวลอยู่ในเนื้อในตัวเด็ก ไม่หายไปไหน

ภาพฉันพาลูกชายคนโตวัยสองขวบนั่งจักรยานยามเช้าไปด้วยกัน กับคู่มือดูนกเล่มเล็กของ อ. รุ่งโรจน์ จุกมงคล พกใส่ตะกร้าจักรยานแม่บ้านยังคงอยู่เสมอในความทรงจำ ไม่เคยคิดว่าภาพนั้นดำรงอยู่ในความทรงจำของเด็กน้อยเช่นกัน

กว่า ๑๒ ปีให้หลังลูกชายส่งภาพวาดลายเส้นสะอาดให้ฉันเป็นของขวัญ เป็นภาพเหตุการณ์เช้าวันนั้น ช่างแจ่มชัดและเติมพลังใจให้ฉันมากมาย

ฉันไม่เคยดูนก ไม่มีกล้องสองตาหรืออุปกรณ์ใด

นกสีฟ้าสวยสะดุดตา เราชวนกันหยุดจักรยานดู และชวนกันหาภาพในคู่มือนก

ขอบตาฉันรื้น รู้สึกขอบคุณธรรมชาติ ขอบคุณนกกะเต็นตัวนั้น