อมรกิตติยา สิทธิชัย นักศึกษาฝึกงานนิตยสารสารคดี : เรื่องและภาพ

ดร.พันทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อธิบายกระบวนการกว่าที่แม่เฒ่าอายุกว่า ๙๐ ปี จะได้รับบัตรประชาชน โดยมี เตือนใจ ดีเทศน์ คอยจับมือให้กำลังใจแม่เฒ่า และอรอุมา เยอส่อ เจ้าหน้าที่มูลนิธิ พชภ. คอยพูดอยู่ใกล้ๆ

ดร.พันทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อธิบายกระบวนการกว่าที่แม่เฒ่าอายุกว่า ๙๐ ปี จะได้รับบัตรประชาชน โดยมี เตือนใจ ดีเทศน์ คอยจับมือให้กำลังใจแม่เฒ่า และอรอุมา เยอส่อ เจ้าหน้าที่มูลนิธิ พชภ. คอยพูดอยู่ใกล้ๆ

ตั้งแต่เราคลอดออกมาจากท้องแม่ มองเห็นโลกที่แสนกว้างใหญ่ เราได้รับสิทธิ เสรีภาพ มากมายในการใช้ชีวิต สามารถอาศัยอยู่บนโลกอย่างง่ายดาย ได้รับสิ่งที่ควรจะได้ เราอาจมองว่าสิ่งที่ได้รับตั้งแต่เกิดพวกนี้ เป็นสิ่งที่คนในประเทศไทยคนอื่นๆ ก็ได้รับเหมือนกับเรา แต่ก็ยังมีคนอีกส่วนหนึ่งที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ไกลแสนไกล บางครอบครัวอยู่ไกลเกินกว่าการเดินทางด้วยยานพาหนะจะเข้าถึง พวกเขาไม่ใช่แค่ไม่ได้รับสิทธิต่างๆ ที่ควรจะได้ตามกฎหมาย แต่เขาไม่ได้รับแม้แต่ “สัญชาติไทย”

วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๓ ฉันลงจากรถแท็กซี่ ก้าวเดินอย่างเร่งรีบ เพื่อจะให้ทันเช็คอินขึ้นเครื่องบินไปเชียงรายเที่ยวแรกของวัน พร้อมกับ เกียรติวิสุทธ์ พรหมโสดา หรือ เบส ชายรูปร่างขาวอวบ เพื่อนร่วมเดินทางของฉัน นี่ต่างเป็นครั้งแรกของเขาและฉันที่จะได้ไปเชียงราย

เท้าก้าวลงเหยียบพื้นสนามบินเชียงราย ได้ยินเสียงหลายภาษาของนักท่องเที่ยว แต่ยังแพ้ให้กับเสียงวงดนตรีไทยล้านนาที่บรรเลงจากกลุ่มผู้สูงอายุ เสียงดนตรีแว่วลอยมากระทบโสตประสาท ช่างเป็นการต้อนรับที่ไพเราะจับใจเหลือเกิน แต่เราไม่มีเวลาหยุดฟังนานนัก เพราะต้องไปพบกับ รุ่งธิวา ปัญญาอุด หรือ พี่หนิว เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนจากมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ที่มารอรับเรา เพื่อออกเดินทางต่อไปยังดอยแม่สลอง

ภูเขาสูงเด่นตระหง่านท้าลมหนาว ยอดภูเขาเต็มไปด้วยเมฆและไอหมอก วิวทิวทัศน์ระหว่างทางจรรโลงใจ การเดินทางดำเนินไป

จุดมุ่งหมายในการมาเชียงรายครั้งนี้คือการไปเยี่ยมผู้เฒ่าที่ตกหล่นจากการสำรวจของภาครัฐ จนกลายเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ทำความเข้าใจถึงปัญหาที่ยังคงตกค้างอยู่ในพื้นที่อันแสนไกลจากเมืองหลวง ร่วมถึงมอบความสุขให้แก่เด็กๆ บนดอยสูงในวันเด็กปีนี้

พื้นที่ขายสินค้าทำมือของแม่เฒ่าหมู่บ้านกิ่วสะไต ซึ่งกำลังผูกสร้อยข้อมือทำมาจากลูกเดือยให้กับหญิงสาวที่มาซื้อของ

พื้นที่ขายสินค้าทำมือของแม่เฒ่าหมู่บ้านกิ่วสะไต ซึ่งกำลังผูกสร้อยข้อมือทำมาจากลูกเดือยให้กับหญิงสาวที่มาซื้อของ

 

รถวิ่งขึ้นเขา บนถนนที่เพียงพอให้รถยนต์สองคันวิ่งสวนกัน จนมาถึงจุดขายสินค้าเกษตรและของทำมือจากแม่เฒ่าชาติพันธุ์อาข่าที่เคยไร้สัญชาติ ในหมู่บ้านกิ่วสะไต ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จุดหมายแรกของวันนี้

เมื่อเราลงจากรถ แม่เฒ่าชาติพันธุ์อาข่าในชุดเต็มยศเดินเข้ามาต้อนรับอย่างเป็นกันเอง โอบกอดต้อนรับอย่างอบอุ่น รอยยิ้มกว้าง นัยต์ตาบ่งบอกถึงความสุขเปี่ยมล้น พร้อมคำทักทายภาษาอาข่า แม้ฉันจะไม่เข้าใจที่แม่เฒ่าพูด แต่สิ่งที่แม่เฒ่าสื่อออกมาจากแววตามันพลอยทำให้ฉันเผลอยิ้มกว้างและมีความสุขอย่างไม่รู้ตัว

“แม่เฒ่าในหมู่บ้านกิ่วสะไตได้รับบัตรประชาชนเมื่อปี ๒๕๖๒ ในวัย ๖๕-๙๖ ปี เป็นกลุ่ม ‘ชาวเขาติดแผ่นดิน’ คือเป็นชาวเขาที่เกิดในประเทศไทย เชื้อสายอาข่า หรือเกิดอีกหมู่บ้านหนึ่งคือ อำเภอแม่ฟ้าหลวง แล้วย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านกิ่วสะไตเมื่อประมาณปี ๒๕๑๗-๒๕๒๒” เพียรพร ดีเทศน์ หรือ พี่ไผ่ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) อธิบายข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับความเป็นมาของแม่เฒ่าในหมู่บ้านกิ่วสะไต

ผู้ชายในหมู่บ้านส่วนใหญ่ได้รับสัญชาติไทยตั้งแต่ปี ๒๕๒๕ เนื่องจากเวลานั้นการยื่นเรื่องต้องเดินเท้าจากหมู่บ้านไปยังสถานที่ราชการซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้าน จึงมีแค่หัวหน้าครอบครัวผู้ชายที่ได้รับสัญชาติและมีบัตรประชาชน ลูกหลานที่เกิดภายหลังก็ได้สัญชาติไทยทั้งหมด คงมีแต่แม่เฒ่าที่ไม่ได้รับสัญชาติไทย และกลายเป็นแม่ม้ายภายหลังสามีเสียชีวิต ปัจจุบันมีแม่เฒ่าม้ายถึง ๑๖ คนที่ไม่มีสัญชาติ มีเพียงแค่ใบทะเบียนสำรวจ ที่จัดทำโดยศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดเชียงราย ซึ่งภายหลังผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านได้แจ้งไปยังมูลนิธิ พชภ. ให้เข้ามาหาทางช่วยเหลือ ทางมูลนิธิจึงเชิญ ดร.พันทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร หรือ ครูแหวว นักวิชาการด้านกฎหมาย ตลอดจนอธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้แก่มูลนิธิ

จากการทำงานอย่างหนักของทีมงานมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ร่วมกับครูแหววและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ใช้เวลากว่า ๗ เดือนในการดำเนินเรื่อง ในที่สุดแม่เฒ่าทั้ง ๑๖ คนที่ตกค้างจากการสำรวจก็ได้รับสัญชาติและบัตรประชาชนในเดือนมกราคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ถือเป็นความสำเร็จชุดแรกในการแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรมและนำไปเป็นกรณีตัวอย่างอีกในหลายหมู่บ้าน

อาหลู งัวยา ผู้นำหมู่บ้านเฮโก กำลังแปลคำพูดของ อาเหล งัวยา (เสื้อลายทางสีฟ้า) จากภาษาลีซูเป็นภาษาไทย มี อาหวู่มิ ภรรยาของอาเหลนั่งอยู่ข้างๆ

อาหลู งัวยา ผู้นำหมู่บ้านเฮโก กำลังแปลคำพูดของ อาเหล งัวยา (เสื้อลายทางสีฟ้า) จากภาษาลีซูเป็นภาษาไทย มี อาหวู่มิ ภรรยาของอาเหลนั่งอยู่ข้างๆ

ขณะยืนคุยกับครูแหวว แม่เฒ่าในหมู่บ้าน อรอุมา เยอส่อ หรือ พี่อร เจ้าหน้าที่มูลนิธิ พชภ. ล่ามซึ่งพูดได้ทั้งภาษาอาข่าและภาษาลีซู รถจักรยานยนต์คนหนึ่งก็แล่นเข้ามาจอดใกล้กับตำแหน่งที่เราอยู่ ไม่ทันเอ่ยปากถาม ก็ได้รับคำตอบจากครูแหววว่าเขาคือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านกิ่วสะไต มาแจกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้แก่แม่เฒ่าที่เรากำลังยืนคุยอยู่นี่เอง

ผลของความพยายามและการมานะทำงานอย่างหนักของเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงาน สิ่งตอบแทนที่มีค่ามากกว่าเงินทองคือการที่แม่เฒ่าเหล่านี้ได้รับบัตรประชาชน อันเป็นได้สิ่งที่ควรจะได้รับตั้งแต่เกิด รวมถึงความภาคภูมิใจที่ได้เป็นคนไทยอย่างเต็มตัว

“เดียวเราจะอยู่ที่นี่อีก ๑๐ นาทีนะค่ะ”

เสียงพี่ไผ่แจ้งเวลา เราทุกคนต้องไปยังหมู่บ้านต่อไป ฉันใช้เวลาชั่วครู่หนึ่งหันไปคุยกับแม่เฒ่าคนหนึ่งถึงสร้อยข้อมือที่ท่านทำขาย ท่านเล่าให้ฉันฟังว่า สร้อยข้อมือนี้ทำมาจาก “ลูกเดือย” เป็นชื่อที่คนทั่วไปเรียกกัน พืชชนิดนี้จะขึ้นริมแม่น้ำเพียงปีละครั้ง ท่านก็จะไปเก็บมาตากแห้งแล้วนำมาร้อยเป็นเครื่องประทับทำมือขายให้กับนักท่องเที่ยวในราคาแสนถูก เพียงชิ้นละ ๑๐ บาท ฉันอุดหนุนสร้อยข้อมือมาหลายเส้น แต่ให้เงินเกินกว่าที่ท่านตั้งราคาไว้ เพราะมองเห็นความตั้งใจและคุณค่าของลูกเดือยที่แม่เฒ่าเพียรหามาด้วยความยากลำบาก

อาอือ หว่อปอกู่ ตัวแทนชาวบ้านหมู่บ้านป่าคาสุขใจมาร่วมพูดคุยถึงแนวทางที่มูลนิธิ พชภ.ใช้ยื่นเรื่องขอสัญชาติไทย

อาอือ หว่อปอกู่ ตัวแทนชาวบ้านหมู่บ้านป่าคาสุขใจมาร่วมพูดคุยถึงแนวทางที่มูลนิธิ พชภ.ใช้ยื่นเรื่องขอสัญชาติไทย

รถเคลื่อนจากหมู่บ้านกิ่วสะไต มุ่งตรงไปยังอีกหมู่บ้าน เส้นทางสลับซับซ้อนด้วยทิวเขาและโค้งถนน ยากหาทางตรงเกินหนึ่งร้อยเมตร ทิวเขาน้อยใหญ่แทรกเคียงกันไป มองเห็นบ้านหลายหลังคาเรือนติดกันอยู่บนภูเขาไกล ฉันมองวิวทิวทัศน์ของเชียงรายไปเรื่อยๆ จนรถจอดที่ลานกว้างใกล้ทางแยกแห่งหนึ่ง เราต้องเปลี่ยนพาหนะเป็นรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อ เพราะทางที่จะเข้าสู่อีกหมู่บ้านเป็นถนนลูกรัง

รถกระบะวิ่งไปอย่างช้าๆ แต่ถึงจะช้าเพียงใด ฝุ่นจากถนนก็ยังฟุ้งกระจายไปตามแรงขับของล้อ รถจอดหน้าบ้านของ อาหลู งัวยา ผู้นำหมู่บ้านเฮโก กลิ่นชาดอกเก็กฮวยลอยมาตามสายลมหนาวแผ่วเบา เขาออกมาต้อนรับเราด้วยชุดธรรมดา กลับกันคนในบ้านกลับแต่งกายชุดประจำชนเผ่าลีซู เรียบง่ายแต่งามสง่า เขาเชิญเรานั่งตรงเก้าอี้หน้าบ้าน พร้อมคำชวนให้ลองดื่มชาเก็กฮวยที่ครอบครัวเขาปลูกเอง ไม่ส่งขายภายนอก เป็นชาที่ต้องมาที่หมู่บ้านเฮโกเท่านั้นถึงจะได้ดื่ม

อาหลูพูดคุยกับฉันว่า ตัวเขาและลูกหลานคนอื่นๆ ได้รับสัญชาติไทยแล้ว แต่ยังมีเครือญาติอีก ๓ คนที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย แม้ว่าจะผ่านการสำรวจจากศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดเชียงราย เมื่อปี ๒๕๒๘-๒๕๓๐ เอกสารระบุว่าพวกเขาเกิดในประเทศไทย แต่เกิดการเข้าใจผิดเรื่องการพัฒนาสิทธิสถานะของกลุ่มผู้เฒ่า ทำให้ยื่นคำร้องขอสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงทำให้มีเอกสารการบ่งบอกตัวตนของบุคคลต่างด้าว ในปี ๒๕๔๖ ซึ่งถือว่าไม่ใช่คนที่เกิดในประเทศไทย

ความขัดแย้งของเอกสารนี่เองที่ทำให้การขอสัญชาติไทยของชาวบ้านเกิดปัญหาฐานข้อมูลทะเบียนกลางไม่ตรงกับความจริง และไม่สามารถใช้ “หลักเกณฑ์การยื่นเอกสารการลงรายการสัญชาติไทย ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณา รายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฏรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.๒๕๔๓ หรือ ระเบียบ ๔๓” ได้ ปัจจุบันผู้เฒ่าทั้ง ๓ คนก็ยังคงไม่ได้รับสัญชาติไทย

“ผมก็เกิดประเทศไทย แล้วไม่นับผมเป็นคนไทย ผมเสียใจมาก อีกอย่างหนึ่งผู้สูงอายุที่มีบัตรประชาชน ที่มีสัญชาติไทยแล้ว เขาก็ได้เบี้ยผู้สูงอายุ ผมก็เป็นคนดั้งเดิมแต่ผมไม่ได้” อาเหล งัวยา อายุ ๘๒ ปี ผู้นำศาสนาลีซูและผู้ก่อตั้งหมู่บ้านเฮโก ตอบคำถามของ เตือนใจ ดีเทศน์ หรือ ครูแดง คณะกรรมการผู้ก่อตั้ง และที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) โดยอาหลูลูกชายแปลเป็นภาษาลีซูให้ฟัง และครูแดงได้แปลคำตอบจากภาษาลีซูเป็นภาษาไทยให้เราทุกคนได้เข้าใจ

การขอสัญชาติไทยต้องใช้เอกสารต่างๆ ประกอบ หากขาดเอกสารสำคัญต้องให้บุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ อาทิ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้ที่อยู่ร่วมเหตุการณ์ขณะที่ผู้ยื่นเอกสารถือกำเนิด ช่วยยืนยันตัวตนว่าคนผู้นั้นเกิดในประเทศไทยจริงๆ

“ครูแดงมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่พ.ศ.๒๕๑๖ และก็รู้จักกับคนลีซูตั้งแต่ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๔ ครูแดงพูดภาษาลีซูได้ เรียกว่าคนลีซูเลี้ยงมา ให้ข้าวให้น้ำกิน จากคนกรุงเทพฯ จนมาเป็นครูแดงในทุกวันนี้ มั่นใจว่าผู้เฒ่าเหล่านี้เป็นคนไทยไม่ผิดแน่นนอน” ครูแดง เตือนใจ ดีเทศน์ กล่าว

ทุกวันนี้ทางมูลนิธิ พชภ. ยังคงดำเนินการอย่างเต็มกำลังเพื่อให้ผู้เฒ่าในหมู่บ้านเฮโกได้รับสัญชาติไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

เด็กๆ บนดอยสูงจากหลายหมู่บ้าน หลากชาติพันธุ์ล้อมวงทำกิจกรรมกับจิตอาสาจากชมรมรวมพลังงานสู่ชุมชน

เด็กๆ บนดอยสูงจากหลายหมู่บ้าน หลากชาติพันธุ์ล้อมวงทำกิจกรรมกับจิตอาสาจากชมรมรวมพลังงานสู่ชุมชน

การแสดงเปิดงานวันเด็กบนดอยสูง จากภาพเด็กๆ บางคนกำลังให้ความสนใจกับโดรนที่บินอยู่บนท้องฟ้า

การแสดงเปิดงานวันเด็กบนดอยสูง จากภาพเด็กๆ บางคนกำลังให้ความสนใจกับโดรนที่บินอยู่บนท้องฟ้า

ตกบ่าย ดวงอาทิตย์เริ่มคล้อยต่ำ ถึงเวลาเดินทางอีกครั้ง ฉันกล่าวคำขอบคุณครอบครัวงัวยาพร้อมโบกมือลา รถเคลื่อนไปบนถนนลูกรังจนมาหยุดจอดตรงทางแยก พวกเราเปลี่ยนรถอีกครั้ง แล้วเดินทางไปยังหมู่บ้านต่อไป

รถเคลื่อนเข้าเขตดอยแม่สลอง ป่าไม้ร่มเย็นบนเขาสูง แซมด้วยไร่ชาอู่หลงและไร่กาแฟตามตีนเขา โอนเอนตามแรงลมพัด รถจอดตรงป้ายทางเขาหมู่บ้านป่าคาสุขใจ เราเดินเข้าไปในชุมชนพร้อมกับครูแหวว ครูแดงและผู้นำหมู่บ้าน กลิ่นดอกหอมหมื่นลี้ลอยลมมาเป็นระยะ เรามาถึงบ้านของ อาอือ หว่อปอกู่ ตัวแทนชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย พูดคุยถึงแนวทางที่มูลนิธิ พชภ.ใช้ต่อสู้ยื่นขอสัญชาติไทยในปัจจุบัน

“หมู่บ้านป่าคาสุขใจเป็นหมู่บ้านแรกๆ ที่สนับสนุนการก่อตั้งมูลนิธิ ชาวบ้านช่วยกันขุดถนนด้วยจอบจากหมู่บ้านไปถึงแม่สลอง เพราะสมัยก่อนไม่มีถนนเลย” ครูแดงเล่าความหลัง

ปัญหาของหมู่บ้านป่าคาสุขใจคล้ายคลึงกับของหมู่บ้านเฮโก คือชาวบ้านในชุมชนมีเอกสารบ่งบอกตัวตนของบุคคลต่างด้าว ต่างกันที่ชาวบ้านหมู่บ้านเฮโกเป็นชาวเขาติดแผ่นดิน แต่ชาวบ้านหมู่บ้านป่าคาสุขใจเป็นชาวเขาอพยพเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทยเมื่อกว่า ๔๐ ปีก่อน ซึ่งทำคุณความดีให้กับประเทศด้านการฟื้นฟูป่าไม้ในพื้นที่ ชุบชีวิตภูเขาป่าคาหัวโล้นให้กลายเป็นผืนป่าชุมชนตั้งแต่ปี ๒๕๓๘

กรณีของชาวบ้านป่าคาสุขใจที่เป็นชาวเขาอพยพ ชาติพันธุ์อาข่า ถ้าต้องการได้รับสัญชาติไทย สามารถเข้าสู่กระบวนการขอสัญชาติไทยโดยมีเงื่อนไข ดังนี้

๑. มีอาชีพเป็นหลักฐาน ให้พิจารณาจากอาชีพที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มอาชีพ หรืออาชีพส่วนบุคคล โดยให้ยกเว้นเรื่องเกณฑ์รายได้และการเสียภาษี และให้นายอำเภอเป็นผู้ออกหนังสือรับรองการประกอบอาชีพ
๒. มีความรู้ภาษาไทย พิจารณาจากการใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร
๓. หลักเกณฑ์ตามข้อ ๑ และ ๒ ให้ใช้กับชนกลุ่มน้อยที่มีอายุตั้งแต่ ๖๕ ปีขึ้นไป และได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวไม่น้อยกว่า ๒๐ ปี ให้ลดระยะเวลาการได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวไม่น้อยกว่า ๕ ปี

แม้ว่าจะมีคุณสมบัติตามที่ระบุทุกข้อ ภายในชุมชนยังคงมีผู้เฒ่าตกค้างไม่ได้รับสัญชาติ อยู่ระหว่างดำเนินการขอสัญชาติอีก ๒๗ คน และด้วยอายุที่เข้าสู่วัยชรา การได้รับสัญชาติซึ่งเป็นความใฝ่ของคนเฒ่าคนแก่ก็ถูกพรากไปด้วยความตายจากโลกใบนี้แล้วถึง ๓ คน

การได้รับสัญชาติหรือได้เป็นเจ้าของบัตรประชาชน ต้องรอนานถึงเพียงใด

จิตอาสาเตรียมผูกเชือกเข้ากับหน้ากากที่เด็กๆ เป็นผู้วาดระบายสี

จิตอาสาเตรียมผูกเชือกเข้ากับหน้ากากที่เด็กๆ เป็นผู้วาดระบายสี

พวกเรานั่งคุยกันจนตะวันใกล้ลับขอบฟ้า ถึงเวลาต้องกลับที่พัก สถานที่พักผ่อนของฉันในคืนนี้คือ ที่ทำการมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ปกติแล้วทางมูลนิธิไม่ได้เปิดให้พัก นอกจากมีคนมาขอใช้สถานที่จัดค่ายอาสาหรือในกรณีอื่นๆ

ที่พักอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านป่าคาสุขใจ เราเลยเลือกเดินไปบนเนินเขา ระหว่างทางสัมผัสบรรยากาศอันงดงาม พระอาทิตย์กำลังลาลับขอบฟ้า ผ่านช่องเขาที่ทอดตัวสลับสล้าง ลมหนาวพัดกลิ่นดอกหอมหมื่นลี้ เราสูดออกซิเจนอย่างสดชื่นและเต็มปอดอย่างที่ไม่เคยเป็น

เพียงไม่กี่นาทีก็เดินมาถึงที่พัก ฉันนึกว่าจะมีแค่เราเพียงไม่กี่คนเท่านั้น แต่ต้องตกตะลึงเมื่อได้เห็นว่ามีคนมาถึงก่อนเราแล้ว พวกเขาคือกลุ่มคนที่อาสามาช่วยจัดงานวันเด็กบนดอยสูง มาจัดเตรียมสถานที่ อาหาร ของรางวัล รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ แต่ละคนมาจากทั่วทุกสารทิศ มาบรรจบพบกันในวันนี้

แต่ละคนช่วยกันเตรียมงานอย่างขะมักเขม้น ถึงแม้ฉันจะเหน็ดเหนื่อยจากการเยี่ยมชุมชนเพียงใด แต่เมื่อเห็นทุกคนทำงานฉันก็อดไม่ได้ ที่จะลงแรงช่วยเขาอีกทาง มีทั้งคนที่มาเป็นกลุ่มคณะ มาเป็นครอบครัว บรรยากาศรอบตัวช่างดูอบอุ่นจากรอยยิ้ม

ความมืดย่างกราย ดวงจันทร์ทำหน้าที่แทนดวงอาทิตย์ อากาศบนดอยหนาวกำลังพอดี กองไฟถูกก่อขึ้น เป็นแรงดึงดูดให้เราเป็นเหมือนแมลงเม่าบินเข้าหาความอบอุ่นจากกองไฟ กีต้าร์ถูกหยิบยกออกจากกล่องแล้วร้องเพลงบรรเลงกัน เรื่องราวในวันนี้ถูกแลกเปลี่ยนแบ่งปัน จนกองไฟมอดดับ ต่างคนต่างบอกราตรีสวัสดิ์ แล้วแยกย้ายไปพักผ่อน เสียงจิ้งหรีดเรไรเป็นเพลงกล่อมชั้นดี

 

แม่เฒ่าในชุดอาข่าร้อยลูกปัดให้กับลูกสาวและหลานชายของตนเอง

แม่เฒ่าในชุดอาข่าร้อยลูกปัดให้กับลูกสาวและหลานชายของตนเอง

แม่เฒ่าหัวเราะให้กับเรื่องตลกที่เพื่อนถ่ายทอดในวงสนทนา

แม่เฒ่าหัวเราะให้กับเรื่องตลกที่เพื่อนถ่ายทอดในวงสนทนา

 

แดดเช้าส่องผ่านหน้าต่าง พาดผ่านใบหน้า ยามเช้ามาถึงแล้ว วันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมที่เด็กๆ เฝ้ารอคอย น้องๆ พร้อมผู้ปกครองจากหลายหมู่บ้านเริ่มทยอยมา เข้าร่วมงานวันเด็กบนดอยสูง พ่อแม่และเด็กๆจะสวมชุดลำลองสบายๆ แต่ตายายจะสวมใส่ชุดประจำชนเผ่ามาอวดโฉม นั่งพูดคุยพบปะถามไถ่ความเป็นอยู่ซึ่งกันและกัน หลานๆ จะวิ่งมาหาตายายเป็นครั้งคราว เพื่อนำของที่ได้มาโชว์ให้ดูว่าได้อะไรมา ภายในงานอบอวนไปด้วยรอยยิ้มจากทุกคนที่เข้าร่วม เหมือนกับว่าทุกคนกำลังมีความสุขไปพร้อมๆ กัน

กิจกรรมในงานวันเด็กมีมากมายที่อาสาสมัครจัดขึ้นเพื่อน้องๆ มีทั้งกิจกรรมร้อยสร้อยข้อมือ วาดภาพหน้ากาก แข่งรถราง ดนตรีเพื่อชีวิตขับกลอม การตอบคำถามชิงรางวัลจากมูลนิธิ การแจกเสื้อกันหนาวที่รับบริจาคมาจากแดนใต้ และรวมไปถึงชมรมรวมพลังสู่ชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ที่มาร่วมทำกิจกรรมและมอบความบันเทิงให้เด็กๆ เป็นปีที่สองติดต่อกัน

กองทัพต้องเดินด้วยท้อง ฉันว่าประโยคนี้ใช้ได้กับทุกกิจกรรม รวมทั้งกิจกรรมวันนี้ เพราะเมื่อเด็กๆ เล่นกันจนเหนื่อย ท้องก็พากันร้องหิว รีบวิ่งไปต่อแถวอาหารที่อาสาสมัครรวมตัวกันทำให้เด็กๆ กิน มีทั้งขนมจีนน้ำเงี้ยวเจ้าอร่อยที่มาเป็นประจำทุกปี ก๋วยเตี๋ยวผัด ขนมปังพิซซ่า และที่ขายดีมีน้องๆ ต่อแถวมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเฟรนช์ฟรายส์ทอดกรอบ ขึ้นจากกระทะกี่ครั้งก็หมดภายในพริบตา แม้แต่ฉันเองก็ไปต่อแถวรับเฟรนช์ฟรายส์กับเขาด้วย อย่างที่บอกนั้นแหละว่ากองทัพมันต้องเดินด้วยท้อง

ผู้เฒ่าจากหมู่บ้านต่างๆ บนดอยแม่สลองแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันหน้าสำนักงานมูลนิธิ พชภ. เนื่องในงานวันเด็ก ไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบและพูดคุยถึงการยื่นเรื่องขอสัญชาติไทย

ผู้เฒ่าจากหมู่บ้านต่างๆ บนดอยแม่สลองแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันหน้าสำนักงานมูลนิธิ พชภ. เนื่องในงานวันเด็ก ไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบและพูดคุยถึงการยื่นเรื่องขอสัญชาติไทย

มีคนเคยบอกฉันว่าเวลาคนเรามีความสุขกับอะไรบางอย่างที่อยู่ตรงหน้า เวลาในตอนนั้นมักผ่านไปเร็วเสมอ ตอนนี้ก็เช่นกัน เผลอแป๊บเดียว ฉันก็ทำกิจกรรมกับน้องจนใกล้เที่ยง ถึงเวลาต้องตีตั๋วกลับกรุงเทพฯ เมืองหลวง

ถึงเวลาบอกลาอนาคตตัวน้อยทั้งหลาย ฉันมองไปรอบๆ ตัว มองเห็นเด็กๆ หัวเราะอย่างมีความสุข พลางคิดในใจ ช่างโชคดีที่อย่างน้อยเด็กพวกนี้ก็ได้รับสัญชาติไทยตั้งแต่เกิดมา ได้รับสิทธิตามที่ควร ไม่ต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบเพื่อให้ได้สัญชาติมาเหมือนกับตายาย

และฉันหวังว่าผู้สูงอายุบนยอดดอยเหล่านี้ จะได้รับสัญชาติไทยก่อนที่จะมีใครล้มหายตายจากไปอีก

นี่คงเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของคนชายขอบที่ตกค้างจากการสำรวจสัญชาติไทย การมาเชียงรายของฉันทำให้เชื่ออย่างสนิทใจว่าพื้นที่ชายขอบในจังหวัดต่างๆ คงยังมีปัญหาแบบนี้อีกมากมายแน่

เพียงแต่ข้อมูลในเชิงลึกของแต่ละหมู่บ้านยังไม่ถูกตีแผ่ออกมาในวงกว้างเท่านั้น