ณ นครที่อยู่เหนือทิวเขายุคันธรทางทิศตะวันตกของเขาพระสุเมรุ ที่นี่มีท้าววิรูปักษ์ หรือวิรูปักข์ เป็นผู้ปกครองหมู่นาค คืองูใหญ่ ดังที่ “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ฉบับพระยาธรรมปรีชา (แก้ว) บรรยายไว้ว่า “แต่บรรดานาคอันอยู่ในน้ำแลบกทั่วทุกสถานประเทศในขอบเขตมงคลจักรวาลนี้ ขึ้นแก่ท้าววิรูปักขมหาราชสิ้นทั้งปวง”

ยิ่งใน “ไตรภูมิพระร่วง” ยิ่งขยายขอบเขตพื้นที่แห่งอำนาจของพระองค์ให้ได้บังคับบัญชา “เทวดาแลฝูงครุฑราช แลฝูงนาค เถิงกำแพงจักรวาลเบื้องตะวันตก” คือนอกจากนาคแล้ว ท้าววิรูปักข์ยังกำกับดูแลครุฑ ตลอดจนถึงเทวดาทั้งหลายทางทิศตะวันตกด้วย โดยอธิบายว่าท้าววิรูปักขราช “มีเครื่องประดับนิตัวเทียรย่อมประพาฬรัตนะ” คือเป็นแก้วสีแดง ตรงกันข้ามกับใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ที่บรรยายกำลังพลฝ่ายนาคของท้าววิรูปักข์ว่า “ล้วนถือเครื่องสรรพยุทธ์ศาสตราวุธแล้วล้วนด้วยแก้วอินทนิล” คือเป็นแก้วสีเขียวแทน

วิรูปักข์-เวสสุวัณ

จตุโลกบาลองค์สุดท้าย คือท้าวไพศรพณ์มหาราช หรือเวสสุวัณ/เวสสุวรรณ บางคนว่าเป็นองค์เดียวกับเทพกุเวรด้วย

พระองค์มีศูนย์กลางการบริหารราชการอยู่ที่ “วิสาลราชธานี” เหนือยอดเขายุคันธรด้านข้างเหนือแห่งพระสุเมรุมาศ

ท้าวเวสสุวัณถือเป็นหัวหน้าทีมจตุโลกบาล ปกครองบรรดายักษ์ ดังนั้นอาจด้วยเหตุที่ได้รับความสำคัญเป็นพิเศษเช่นนี้ ใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ฉบับพระยาธรรมปรีชา (แก้ว) จึงขยายปริมณฑลแห่งอำนาจของท้าวเวสสุวัณไปกว้างขวางยิ่งกว่าเทวดาจตุโลกบาลองค์อื่นๆ ว่า

“ท้าวเวสสุวัณนั้นเป็นใหญ่กว่าเทวดาทั้งปวง แต่บรรดาที่มิได้นับเข้าในเทพยคนธรรพ์แลเทพยกุมภัณฑ์…ขึ้นแก่ท้าวเวสสุวัณสิ้น ตลอดลงมาจนถึงยักษิณีหน้าม้า ยักษิณีหน้าลา แลผีเสื้อน้ำ ฝูงภูตฝูงผีทั้งปวง ก็ขึ้นแก่ท้าวเวสสุวัณ อยู่ในโอวาทแห่งท้าวเวสสุวัณสิ้นทั้งปวง”

นั่นคือเทวดาและอมนุษย์ตนใดๆ ที่มิได้อยู่ในปกครองของจตุโลกบาลองค์อื่นๆ ก็ให้มาสังกัดกับท้าวเวสสุวัณทั้งหมด

“ไตรภูมิพระร่วง” เล่าว่า “เครื่องประดับนิตัวพระไพศรพณ์นั้นแลบริวารทั้งหลาย เทียรย่อมทองเนื้อสุก” คือท้าวเวสสุวัณและบริวารล้วนตกแต่งประดับประดาร่างกายด้วยทองคำ ส่วนใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” อีกตอนหนึ่ง เล่าว่ากองทัพของท้าวเวสสุวัณนั้น “ถือเครื่องสรรพยุทธศาสตราล้วนแล้วด้วยแก้ววิเชียร”

ในคัมภีร์โลกศาสตร์มักให้รายละเอียดเรื่องราวของท้าวเวสสุวัณมากเป็นพิเศษ คัมภีร์ชั้นอรรถกถาถึงกับกล่าวว่าท้าวเวสสุวัณได้มีโอกาสใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้ามาก และได้สดับพระธรรมเทศนาจนบรรลุโสดาบัน ถือเป็นพระอริยสาวกองค์หนึ่ง

เรื่องของท้าวเวสสุวัณยังไปเนื่องกับคาถาที่เรียกกันว่า “ภาณยักษ์” หรือ “อาฏานาฏิยสูตร” ด้วย ดังกล่าวว่า ครั้งหนึ่งท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ แขวงเมืองราชคฤห์ ณ โอกาสนั้น ท้าวเวสสุวัณกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า เหล่าบริวารของท้าวจตุโลกบาล ทั้งยักษ์ กุมภัณฑ์ นาค และคนธรรพ์ ย่อมมีทั้งพวกที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย และพวกที่ไม่ศรัทธา ซึ่งกลุ่มหลังนี้มีมากกว่ามาก เกรงว่าหากพระสงฆ์ออกธุดงค์จาริก หรือไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่ใดๆ อาจถูกรบกวนโดยบริวารเหล่านั้น จึงขอน้อมถวายพระปริตรนามว่า “อาฏานาฏิยปริตร” แด่พระพุทธเจ้า เพื่อให้พระสงฆ์นำไปหัดสวดกัน เพื่อป้องกันภยันตราย โดยในคาถานั้นจะออกพระนามท้าวจตุโลกบาลผู้เป็นใหญ่ในทิศทั้งสี่ ด้วยหวังว่าเมื่อบริวารที่ “ออกนอกลู่นอกทาง” ได้สดับนามของท้าวพระยาผู้เป็นใหญ่เหล่านั้น ย่อมเกรงกลัวและปลาตเร้นไป ไม่มารบกวนการบำเพ็ญสมณธรรมของพระสาวก

จนถึงชั้นต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในช่วงพิธีตรุษ คือส่งท้ายปีเก่าตามธรรมเนียมหลวง พระสงฆ์จะสวดอาฏานาฏิยสูตรซ้ำๆ วนไปตลอดทั้งคืน พร้อมกับการยิงปืนใหญ่ที่เรียกว่า “ปืนอาฏานา” เป็นระยะ เพื่อใช้เสียงดังขับไล่ภูตผีปีศาจ คนโบราณถือกันว่าช่วงนั้นผีสางจะวิ่งเพ่นพ่าน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “พระราชพิธี ๑๒ เดือน” ตอนหนึ่งว่า

“จนถึงคนแก่คนเฒ่าต้องหาขมิ้นกับปูนตั้งไว้ตามข้างที่หลับที่นอนในเหย้าในเรือน สำหรับผีญาติพี่น้องและผีเหย้าผีเรือน จะตกใจปืนเที่ยววิ่งปากแตกสีข้างหัก จะได้เอาขมิ้นกับปูนทา แล้วทําต้นไม้ผูกของกินเล็กๆ น้อยๆ มีกระบอกเล็กๆ กรอกน้ำแขวนกิ่งไม้ผูกไว้ที่บันไดเรือน เรียกว่าข้าวผอกกระบอกน้ำ สำหรับเจ้าพวกผีที่วิ่งตามถนน จะต้องวิ่งไปวิ่งมาเหน็ดเหนื่อยหิวโหยโรยแรง จะได้หยิบกินไปพลาง ห้ามไม่ให้ถ่ายปัสสาวะลงทางล่อง ด้วยเข้าใจว่าผีนั้นวิ่งชุลมุนอยู่ตามใต้ถุนรุนช่องจะไปเปียกไปเปื้อน บางทีที่เป็นโคมใบโตๆ จึงร้องไห้ร้องห่มสงสารคนนั้นคนนี้ที่ตัวรักใคร่ก็มี…”

คนโบราณนั้นท่านมีเมตตานัก จนชั้นแต่ผีแต่สางท่านก็ยังเอื้อเฟื้อ