chinese four kings 1

“สุเมรุจักรวาล” หรือจักรวาลแบบที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางนั้น ต้นกำเนิดก็คือภาพจำลองภูมิศาสตร์อินเดียโบราณ ดังนั้น คติดั้งเดิมของ “สี่มหาราช” แห่งสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา หรือ “จตุโลกบาล” ก็ย่อมเป็นแนวคิดอันมีต้นทางมาจากคติจักรวาลของคนอินเดียเช่นกัน

แต่เมื่อคตินี้เผยแผ่ไปพร้อมกับพุทธศาสนา เข้าสู่ดินแดนจีนและญี่ปุ่น ทำให้มีการปรับเอาคติ “จตุโลกบาล” ไปผสมผสานกลายเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนามหายานแบบจีนนิกายด้วย ดุจเดียวกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรจากพุทธศาสนามหายานในอินเดีย ที่เมื่อเข้าสู่จีนแล้วถูกนำไปผนวกกับตำนานท้องถิ่น กลายเพศเป็น “เจ้าแม่กวนอิม”

ท้าวจตุโลกบาลจึงมีชื่อเรียกในภาษาจีนสำเนียงแต้จิ๋วว่า “สี้ไต๋เทียงอ้วง” (四大天王) รวมถึงแต่ละองค์ก็ยังถูกปรับเปลี่ยนรูปโฉมไปตามคติจีน มีชื่อเป็นจีน และเกิดมีตำนานเป็นเรื่องราวในทางฝ่ายจีนอีกต่างหาก ดังที่คุณสมชาย ธรรมวิริยารักษ์ เขียนเล่าไว้ในบทความ “ปฏิมากรและประติมากรรมของชาวจีนในกรุงเทพฯ” ของหนังสือ “คนจีน ๒๐๐ ปีใต้พระบรมโพธิสมภาร เล่ม ๒” ว่า

“ท้าวจตุโลกบาลเหล่านี้ บ้างว่าสืบเนื่องมาจากในคราวกษัตริย์บู่อ๋อง แห่งราชวงศ์จิว ยกพวกไปตีกษัตริย์ติ๋ว (ก่อน พ.ศ. ๕๙๑) ในระหว่างทาง ได้มีเทพเจ้า ๔ องค์มาขออาสาช่วยรบ กษัตริย์บู่อ๋องได้กล่าวขอบใจ และขอให้ช่วยปกปักรักษาให้ “ฮวง” (ลม) “เที้ยว” (ถูกต้อง) “โหว” (ฝน) “สุง” (ราบรื่น) คือให้ดินฟ้าอากาศเป็นไปโดยราบรื่นตามฤดูกาล ให้ราษฎรเป็นอยู่โดยปกติสุขก็พอ ไม่ต้องช่วยรบ

“ครั้นการยกทัพไปตีกษัตริย์ติ๋วเป็นผลสำเร็จ กษัตริย์บู่อ๋องจึงรับสั่งให้ตั้งศาลเจ้าบูชาเทพทั้ง ๔ องค์ นั้น และให้มีเครื่องหมายดังนี้ คือ องค์หนึ่งถือดาบ หมายถึง ลม เพราะเวลาฟันดาบจะเกิดเป็นเสียงลม องค์หนึ่งถือพิณ เพราะการดีดพิณตามภาษาจีนออกเสียงว่า “เที้ยว” องค์หนึ่งถือร่ม หมายถึง ฝน และองค์หนึ่งถืองู เพราะคำว่าทะเล ออกเสียงว่า “สุง” แต่ต่อมาเนื่องจากงูไม่เป็นที่นิยมของสาธุชน จึงเปลี่ยนอุ้มเจดีย์แทน”

chinese four kings 2

ปฏิมากรรมรูปจตุโลกบาลในคติจีนอย่างที่เห็นตามวิหารหน้าทางเข้าวัดพุทธมหายานจีนนิกาย จึงประกอบด้วยเทพทั้งสี่องค์ ซึ่งมักประดิษฐานเรียงกันให้ได้ตามลำดับถ้อยคำมงคลดังกล่าวข้างต้น

๑) เจงเจียเทียงอ้วง (增長天王 ท้าววิรุฬหก) ราชาแห่งกุมภัณฑ์ ปกครองทิศใต้ กายสีขาว ถือดาบ คือ “ฮวง” (ลม)
๒) ฉือกว๋อเทียงอ้วง (持國天王 ท้าวธตรฐ) ราชาแห่งคนธรรพ์ ปกครองทิศตะวันออก กายสีแดงหรือขาว มือถือพิณจีน (ปี่แป๋ หรือผีผา) คือ “เที้ยว”
๓) โตเหวินเทียงอ้วง (多聞天王 ท้าวเวสสุวัณหรือกุเวร) ราชาแห่งยักษ์และภูตผี ปกครองทิศเหนือ กายสีเขียวหรือเหลือง มือถือฉัตรหรือร่ม คือ “โหว” (แต่บางแห่งก็อุ้ม “ถะ” คือเจดีย์แบบจีนแทน)
๔) ควงบักเทียงอ้วง (廣目天王 ท้าววิรูปักข์) ราชาแห่งนาค ปกครองทิศตะวันตก กายสีน้ำตาลเข้ม ถืองูหรือมังกรในมือหนึ่ง คือ “สุง” มืออีกข้างถือดาบ

คุณสมชาย ธรรมวิริยารักษ์ เล่าไว้ด้วยว่า “ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ องค์นี้มักสร้างเป็นรูปขนาดโตใหญ่ เรียงไว้ในวิหารต้นของวัดข้างละสององค์ ลัทธิธรรมเนียมปรากฏว่าพระพุทธเจ้าทรงมอบพระธรรมไว้แก่ท้าวมหาราชทั้ง ๔ รักษา ชาวจีนจึงได้สร้างท้าวจาตุมหาราชขึ้น เรียกว่า ฮูฮวบ (ธรรมบาล) แปลว่า ผู้คุ้มครองพระศาสนา และนอกจากนี้ ยังพิทักษ์รักษาประเทศชาติ และพุทธบริษัทอีกด้วย ถ้าประเทศใดละเลยหรือหมิ่นแคลนพระธรรม ก็จะเพิกถอนการพิทักษ์นั้นเสีย หากมั่นอยู่ในพระธรรมก็จะอำนวยสุขสวัสดิ์ บริวารท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ มีหน้าที่คอยตรวจตราดูแลทุกข์สุขของประชาโลก และจัดการปราบปรามสัตว์ที่ทำบาปและที่ไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม”

เราจึงมักพบว่า ตามหน้าวัดพุทธศาสนาจีนนิกายในเมืองไทย เช่น วัดเล่งเน่ยยี่ (วัดมังกรกมลาวาส ย่านเยาวราชในกรุงเทพฯ) และวัดเล่งเน่ยยี่ ๒ (วัดบรมราชากาญจนาภิเษก อำเภอบางบัวทอง ปทุมธานี) จึงมีวิหารประดิษฐานรูปท้าวจตุโลกบาล ทำหน้าที่เป็นทำนอง “อารักษ์” ของอาราม ป้องกันภูตผีปีศาจและสิ่งอัปมงคลทั้งหลาย