เรื่อง : พิไลพรรณ มูลคำ
ภาพ : นิชาภา ธนสินธีรชาติ
ค่ายสารคดี ครั้งที่ 10

หมายเหตุ : บทความตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ.2557

สวนสัตว์พาต้า : เรา(เลือก)มองหาสิ่งใด

ครึ่ก ครึ่ก !!

เสียงลิฟต์ตัวเก่าดังลั่น ทุกสิ่งหยุดนิ่ง เป็นสัญญาณให้พวกเราที่กำลังเกาะผนังลิฟต์แก้ว ชะเง้อคอลงไปชื่นชมกับผู้คน แสงสี ที่พากันเลือกซื้อสินค้าอยู่ข้างล่าง ต้องหันหลังขวับ เหลือบตามองไปยังหมายเลขชั้นที่มีไฟสีส้มปรากฏสว่างจ้า เรามาถึงชั้น 7 ของห้างสรรพสินค้าพาต้าปิ่นเกล้าแล้ว

บานประตูลิฟต์แยกตัวออกจากกัน เผยให้เห็นโลกใหม่ที่ต่างจากอีกโลกหนึ่งด้านในตัวลิฟต์ เมื่อก่อนหน้านี้ไม่กี่อึดใจ เราได้เห็นแสงสีและความศิวิไลซ์ของห้างสรรพสินค้าในยุคเริ่มแรก ผู้คนมากหน้าหลายตาเดินกันขวักไขว่ สินค้าที่วางเรียงรายบนชั้นโดยมีแผ่นป้ายลดราคาติดไว้ เป็นจุดสนใจของลูกค้า แต่ภาพที่ได้เห็นตรงหน้าแปลกออกไปอย่างไม่น่าเชื่อ

patazoo02

ธรรมชาติ และสรรพสัตว์น้อยใหญ่

ทันทีที่ก้าวออกจากตัวลิฟต์ โสตประสาทของเรามีการรับรู้ที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่กลิ่นของเสื้อผ้าหรือน้ำหอมหรูหราราคาแพงที่แต่ละคนได้ประพรมมาทั่วตัว ไม่ใช่กลิ่นของความเจริญและทันสมัยอย่างที่ปรากฏในโลกข้างล่าง

แต่กลับเป็นกลิ่นหญ้าที่มาพร้อมกับกลิ่นเหม็นอับ กลิ่นมูลสัตว์ที่ลอยล่องเข้ามาทักทายโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว เสียงนกร้อง กระตุ้นประสาทสัมผัสให้เราตื่นตัว

เป็นความรู้สึกที่ยากจะเชื่อว่าเรากำลังยืนอยู่ในสวนสัตว์ ซึ่งข้างล่างคือตึกและรถราที่วิ่งกันวุ่นวายเยอะแยะ

ขึ้นมาสูงขนาดนี้ ท่ามกลางเมืองคอนกรีต ยังมีสัตว์ป่านานาชนิด และมีป่าไม้(จำลอง) อยู่จริงหรือ ?

ราวกับว่าลิฟต์แก้วตัวนี้พาเราก้าวสู่อีกมิติหนึ่ง มิติที่เรียกว่า สวนสัตว์ลอยฟ้า

patazoo03

1.

หากย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก ‘สวนสัตว์พาต้า’ โดยเฉพาะคนเมือง เพราะสวนสัตว์พาต้า นับเป็นสิ่งที่สร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการสวนสัตว์เป็นอย่างมาก สวนสัตว์แหงนี้ตั้งอยู่บนห้างสรรพสินค้าใจกลางเมืองอย่าง “ห้างสรรพสินค้าพาต้าปิ่นเกล้า” อีกทั้งยังมีการนำสัตว์หายากนำเข้าจากต่างประเทศมารวบรวมไว้ ณ ที่แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเพนกวิน กอริลลา นกฟลามิงโก้ เป็นต้น นับเป็นที่สนใจของผู้คนอย่างมาก ซึ่งในช่วงแรกที่เปิดสวนสัตว์นั้น สามารถเรียกผู้มาเยี่ยมชมได้เป็นหลักหมื่นเลยทีเดียว

แต่ทว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สถานที่แห่งนี้ได้ตกอยู่ในกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เกิดการปะทะกันทางความคิดในการมีอยู่ของสวนสัตว์ หลายฝ่ายได้ทวงถามถึงความเหมาะสมของสถานที่ และสวัสดิภาพของสัตว์ในสวนสัตว์ รวมไปถึงคุณสมบัติที่สวนสัตว์พาต้าจำเป็นต้องมี นั่นคือการอนุรักษ์สัตว์ป่าโดยนำมาเพาะพันธุ์แล้วคืนสู่ป่า และเป็นเรียนรู้และศึกษาให้แก่เด็ก ๆ

ในช่วงนั้นได้มีการตั้งกระทู้ในเว็บไซต์ออนไลน์ แสดงความสงสารต่อสัตว์ จนเกิดเป็นกระแสการรณรงค์ให้สวนสัตว์พาต้า นำสัตว์ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติหรือนำไปเลี้ยงไว้ในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่บนตึกสูงเช่นนี้ ทำให้มีหน่วยงานต่าง ๆ ของทั้งทางราชการและเอกชนเข้าไปตรวจสอบหลายครั้ง

เมื่อสวนสัตว์ลอยฟ้าแห่งพาต้า ที่เรียกได้ว่าเป็นสวนสัตว์ที่ทันสมัยและตั้งอยู่ใจกลางเมือง สถานที่ที่เคยสร้างความฮือฮา ตื่นตาตื่นใจและได้สร้างความประทับใจให้กับเด็ก ๆ หลายคน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ภาพที่สวยงามเหล่านั้นได้ค่อย ๆ อันตรธานหายลับไป

เหลือไว้เพียงภาพของ ‘ นรกสัตว์ป่ากลางกรุง ’

แม้ว่าจะมีกระแสโจมตีและมีการตรวจสอบอยู่บ่อยครั้ง แต่สวนสัตว์พาต้าก็ยังสามารถเปิดให้บริการได้ ไม่ได้ย้ายสัตว์หรือปิดสวนสัตว์ไป จึงเกิดเป็นคำถามที่ท้าทายขึ้นมาว่า “ ถ้าสวนสัตว์พาต้าไม่ดีจริง แล้วทำไมจึงไม่ถูกปิดไป อีกทั้งยังมีหลายฝ่ายที่เสนอแนวทางให้พาต้าลองพิจารณาขอความช่วยเหลือจากองค์การสวนสัตว์ เพื่อย้ายสัตว์ไปให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบต่อ เพื่อให้สัตว์มีสวัสดิภาพที่ดีกว่านี้ ทำไมจึงยังสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ ?

แม้ว่าจะมีกระแสโจมตีและมีการตรวจสอบอยู่บ่อยครั้ง แต่ทางสวนสัตว์พาต้านั้นก็ยังสามารถเปิดให้บริการได้ อีกทั้งยังไม่ได้มีการขนย้ายสัตว์หรือปิดสวนสัตว์ไป ตามที่มีหลายฝ่ายเสนอแนวทางให้ทางสวนสัตว์พาต้าลองพิจารณาขอความช่วยเหลือจากองค์การสวนสัตว์ หรือหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้รับผิดชอบสัตว์เหล่านี้ต่อไป จึงเกิดเป็นคำถามที่ท้ายทายขึ้นมาว่า “ ถ้าสวนสัตว์พาต้าไม่ดีจริง หรืออยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถเลี้ยงดูสัตว์ได้อีกต่อไป แล้วทำไมจึงยังสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติมาจนถึงทุกวันนี้ ?

เมื่อมาถึงจุดที่แสดงให้เห็นความย้อนแย้งของสิ่งที่ได้มีการนำเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ และคำถามนี้ก็ไม่มีใครสามารถหาคำตอบที่ชัดเจนได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่หลายคนอยากเข้ามาดูด้วยตาของตัวเอง ตัวฉันเองนั้น…ก็เช่นกัน

patazoo04

patazoo05

2.

เมื่อเดินเข้ามาในส่วนจัดแสดงสัตว์ เราพบสัตว์อยู่รอบตัวเรา เรียกได้ว่าเดินไปได้ไม่กี่ก้าวก็เจอกับสัตว์ชนิดต่างๆ เรียงรายอยู่รอบตัวเรา ทั้งนกแก้ว กระต่าย แพะ แกะและหมู บ้างอยู่ในกรง บ้างอยู่ในคอก บ้างเกาะอยู่ตามกิ่งไม้ และเมื่อเดินไปยังบริเวณที่สวนลิง ซึ่งจัดแสดงลิงชนิดต่าง ๆ หลากหลายชนิด ที่วิ่งทะยานห้อยโหนกิ่งไม้ บางตัวเมื่อเห็นคนมายืนมองก็วิ่งวนรอบตัวเองจนแทบจะเวียนหัวแทน

“ แป๊ะ แป๊ะ! “ เราหันมองตามเสียงนั้น เราพบกับเจ้าลิงอุรังอุตังที่เกาะลูกกรงเหล็กแล้วยกมือไหว้ก่อนจะยื่นมือออกมา อาจเป็นเพราะมันอยากได้ขนมกรุบกรอบก็เป็นได้ เพราะในบริเวณหน้ากรงปรากฏซองขนมและกล่องนมที่ถูกฉีกทึ้งตกอยู่ แม้ว่าจะมีป้ายเตือนว่าอย่าให้อาหารสัตว์ แต่ก็ยังมีผู้ชมบางท่านที่สงสารหรือเอ็นดูในความน่ารักน่าชังของเจ้าลิงอุรังอุตังตัวนี้หยิบยื่นแบ่งปัน ช่างเป็นการเรียกร้องความสนใจที่ได้ผลดีทีเดียว

เราเดินชมสัตว์มาได้สักพักหนึ่งก็มาพบกับเจ้าลิงไร้หางตัวใหญ่ หน้าตาเคร่งขรึมดูน่าเกรงขาม นั่งจับเจ่าอยู่ในกรงเหล็กที่มีกระจกกั้นอีกชั้นหนึ่ง เป็นห้องขนาด 10 x 20 เมตร คะเนได้ว่ามีขนาดใหญ่กว่ากรงลิงฝั่งตรงข้ามซึ่งสามารถแบ่งเป็นกรงลิงได้ถึงสามกรง ภายในกรงมีบ่อน้ำ เชือกห้อยระย้าโยงไว้กับยางรถยนต์ รวมไปถึงทางต่างระดับต่าง ๆ เป็นขั้นบันได มีห้องแยกอีกส่วนหนึ่งซึ่งมีแสงแดดอ่อน ๆ ส่องลงมา พอให้อบอุ่นในอุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส ภายในห้อง เมื่อเราเดินเข้าไปดูใกล้ ๆ เจ้าลิงยักษ์ก็เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ไถลไปกับน้ำบนพื้นซีเมนต์ ตัวดำทะมึน สูงใหญ่ เคลื่อนที่ว่องไว สมกับเป็น ‘กอริลลา’ เสียจริง ไม่ใช่กอริลลาที่ปีนตึกสูงอย่างในฉากภาพยนตร์ แต่เป็นกอริลลาตัวเป็น ๆ แถมยังมาอยู่บนตึกสูงอีกด้วย

เจ้า ‘ บัวน้อย ’ กอริลลาเพศเมีย วัย 29 ปี ที่เราเห็นอยู่ตรงหน้านี้ ได้ก่อให้เกิดเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคมเมื่อหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการส่งต่อภาพของบัวน้อยที่กำลังนั่งร้องไห้อยู่ในกรง ด้วยความโดดเดี่ยว จนสร้างความสะเทือนใจให้กับคนในสังคมเป็นอย่างมาก จนมีการประท้วงและระดมทุนเพื่อไถ่ตัวบัวน้อยคืนสู่ธรรมชาติ จนมาถึงปัจจุบันก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ

ทางด้าน น.สพ. มานพ ประดิษฐ์วงศ์สิน สัตวแพทย์ประจำสวนสัตว์พาต้า ได้กล่าวถึงเรื่องอารมณ์และความรู้สึกของสัตว์ว่ากอริลลาไม่ร้องไห้ได้ แต่ที่น้ำตาไหล เป็นเพราะต่อมน้ำตาได้ผลิตน้ำตามาเพื่อหล่อเลี้ยงเยื้อหุ้มตาเท่านั้น

“ อารมณ์เศร้าหรือดีใจไม่ได้แสดงออกมาทางดวงตา อย่างกอริลลา ลิง มีต่อมน้ำตา เพื่อผลิตน้ำตามาหล่อเลี้ยงเยื่อหุ้มตาให้ชุ่มชื้น อิทธิพลจากอารมณ์นั้นแทบไม่มีเลย สัตว์ป่าจะแสดงอารมณ์ออกมาทางพฤติกรรม เช่นถ้าเศร้าก็จะไม่กินอาหาร ไม่เล่น ซึม แต่ถ้าดีใจก็จะกระโดด กินเยอะ เป็นต้น ”

แต่ในขณะเดียวกัน ทางด้านของ สพ.ญ. จุฑามาศ จัตุชัย หรือหมอเมย์ เจ้าหน้าที่ของสมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ( World Animal Protection ) ได้กล่าวถึงเรื่องการที่จะเอาความเชื่อมโยงเรื่องต่อมน้ำตากับความรู้สึกมาตัดสินว่ามันมีความรู้สึกกลัวหรือไม่นั้น ไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าตัวสัตว์รู้สึกนั้นมีความรู้สึกได้อย่างที่มนุษย์เรารู้สึก เช่นความกลัวหรือความเจ็บปวด ที่เชื่อมโยงกับระบบประสาทหรือประสบการณ์ที่เคยพบเจอ

“ ที่จริงแล้ว สัตว์กับคนมีลักษณะคล้ายกันเพราะมีระบบประสาทเหมือนกัน สัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง จะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนว่ามันมีความรู้สึก เหมือนกับเราทั้งความเจ็บปวด แต่พฤติกรรมแสดงอาการหวาดกลัว เราก็สังเกตได้ เช่นหมาหางตก ในสัตว์อื่นๆก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน แล้วเมื่อมีระบบประสาทรับความเจ็บปวด รู้สึกร้อน หนาว ฉะนั้นทำไมเขาจะไม่รู้สึก “

ในส่วนของการที่จะนำกอริลลาคืนสู่ธรรมชาตินั้น นับได้ว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก เพราะบัวน้อยถูกเลี้ยงดูมาโดยมนุษย์ ไม่มีสัญชาตญาณเอาตัวรอดในธรรมชาติได้อีกต่อไป และมีความผูกพันกับผู้เลี้ยงเป็นอย่างมาก อีกทั้งหากจะเอาลงไปสู่พื้นดินนั้นก็ไม่สามารถทำได้อีกเช่นกันเพราะ มีโอกาสทำให้เกิดโรคติดต่อจากสิ่งแวดล้อม คือ โรคเมลิออยโดซิส ( Melioidosis ) ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่น พบได้ทั่วไปในดินของประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเมื่อกอริลลาติดเชื้อนี้ก็จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิต เพราะในขณะนี้ยังไม่มีสวนสัตว์ใดที่จะรักษากอริลลาที่ติดเชื้อเมลิออยโดซิสได้สำเร็จ.

“ สัตว์ป่าต้องอยู่ในป่า หลายคนรู้สึกภูมิใจว่าตัวเองนักอนุรักษ์เมื่อได้พูดคำนี้ แต่คุณรู้หรือไม่ว่าคุณกำลังฆ่าสัตว์ด้วยคำพูดที่โก้หรู คุณใช้คำพูดนี้กับสัตว์ป่าในสวนสัตว์ไม่ได้ ถ้าพูดกับสัตว์ป่าที่อยู่ในป่าน่ะถูกต้องแต่คุณอย่าให้ใครไปล่าเขานะ โลกเรามันพังทลายตั้งหลายครั้ง จากความหวังดีที่ล้นเกิน “

คณิต เสริมศิริมงคล ผู้อำนวยการบริษัทสวนสัตว์พาต้า จำกัด กล่าวถึงวาทะที่เคยได้ยินกันมาทุกยุคสมัยว่า “ สัตว์ป่าต้องอยู่ในป่า” แต่ในปัจจุบันมีคนบางกลุ่มที่มีใจรักแต่ไม่ศึกษา คือบอกว่ารักสัตว์แต่ไม่ได้ศึกษาเรื่องราวของสัตว์เหล่านี้ เมื่อคิดว่าหวังดีแล้วก็ทำถูกทุกอย่าง โดยไม่มีการชั่งน้ำหนักเหตุผล และมักจะใช้ความคิดของของตนในการตัดสินและคิดแทนสัตว์

patazoo05 2

patazoo06

3.

นอกจากเรื่องบัวน้อยแล้ว ยังมีการจุดประเด็นในสังคมเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและสวัสดิภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ป่าอื่น ๆ ในสวนสัตว์พาต้าอีกด้วย โดยตั้งข้อสังเกตว่าสัตว์มีสภาพความเป็นอยู่ที่น่าเวทนาและแออัด ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวและซึมเศร้าในกรงขัง เมื่อเป็นแบบนี้แล้วทำให้เห็นว่าสวนสัตว์พาต้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานสวนสัตว์สากล ทั้งในด้านของสวัสดิภาพสัตว์ และความปลอดภัยหากเกิดไฟไหม้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสวนสัตว์พาต้า มีข้อจำกัดในด้านพื้นที่ และมีลักษณะที่แตกต่างจากสวนสัตว์ทั่วไป คือตั้งอยู่บนชั้น 6 และชั้น 7 ของอาคารห้างสรรพสินค้าพาต้าปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นอาคารที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมา 30 กว่าปีแล้ว จึงมีสภาพที่ดูเก่าและทรุดโทรม โดยมีพื้นที่ดำเนินงานประมาณ 6,500 ตารางเมตร โดยชั้นที่ 6 จะมีลักษณะเป็นพื้นที่ในตัวอาคาร มีการแสดงสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และสัตว์ที่ออกหากินเวลากลางคืน ในบริเวณนี้จะเป็นบริเวณที่มีการปรับอากาศและระบายอากาศ มีการใช้ระบบให้แสงสว่างและระบบไฟฟ้าที่ปรับอุณหภูมิและกำหนดแสงสว่างให้เหมาะสมกับตัวสัตว์ อีกทั้งยังมีการตกแต่งภายในให้ใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ คือมีดิน มีทราย ต้นไม้และกิ่งไม้ให้สัตว์แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ ส่วนชั้น 7 จะเป็นบริเวณชั้นดาดฟ้า มีลักษณะพื้นที่เปิดโล่ง เป็นส่วนจัดแสดงสัตว์ประเภท สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์ปีก ภายในสถานที่เลี้ยงสัตว์ ได้มีการตกแต่งให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติบริเวณรอบๆ พื้นที่สวนสัตว์มีการตกแต่งด้วยต้นไม้เพื่อให้ความร่มรื่นแก่สัตว์และผู้ที่มาเที่ยวชม

ในข้อจำกัดดังกล่าวนั้นทางด้านผู้จัดการสวนสัตว์พาต้า ก็ออกมาชี้แจงว่า แม้ว่าทางสวนสัตว์จะมีข้อจำกัดด้านพื้นที่แต่ก็มีการจัดการสถานที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการปรับปรุงและดูแลอยู่ตลอด เพื่อให้สัตว์ได้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งหากพูดถึงเรื่องพื้นที่นั้น ประเทศไทยยังไม่ได้มีมาตรฐานที่เป็นสากลที่จะเป็นตัวกำหนดว่าสวนสัตว์ที่ดีควรจะเป็นอย่างไร โดยส่วนแนวทางในการจัดการเรื่องพื้นที่ในปัจจุบัน คือสวนสัตว์พาต้ามีการขนย้ายสัตว์บางส่วน ไปไว้ ณ ที่พักสัตว์ ย่านบางกรวย เพื่อลดความแออัดของจำนวนประชากรสัตว์

แดดอ่อน ๆ ในเช้าวันเสาร์กำลังจะหมดไป เราเริ่มได้ยินเสียงของผู้มาเยือนกลุ่มอื่น ที่พากันมาเป็นครอบครัว เด็กน้อย ดูจะสนใจกับเหล่าสัตว์น้อยใหญ่ที่อยู่ตางหน้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในบริเวณของสวนสัตว์เด็ก ที่จะมีสัตว์พวก กระต่าย แพะ แกะ ให้เด็ก ๆ ได้ป้อนอาหารและลูบขน

“ พาต้าเป็นสวนสัตว์ที่เหมาะกับเด็ก คือไม่กว้าง ไม่ร้อน เดินชมสัตว์ได้ทั่ว ความสะอาดก็ไม่ได้แย่ พี่ไม่เห็นด้วยกับกระแสนะ เพราะว่าเมื่อมาดูเราก็เห็นเขาพยายามดูแลสัตว์ดี ไม่ได้ปล่อยให้มันอดอยาก คือมันก็โทรมกว่าเมื่อก่อนนะ แต่ถ้าจัดให้มันสวย ๆ ก็คงจะดี “

คุณแม่ลูกสอง วัย 32 ปี ที่เรียกได้ว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้ของสวนสัตว์พาต้า เพราะเคยมาตั้งแต่สมัยสวนสัตว์พาต้านั้นโด่งดังมาก จนเมื่อมีลูก ก็พาลูกมาเที่ยวสวนสัตว์แห่งนี้ อยู่บ่อย ๆ พูดถึงสวนสัตว์พาต้าและกระแสด้านลบของสวนสัตว์

เราเดินเบี่ยงออกจากสวนลิง แล้วก็ได้พบกับเจ้าเสือดำและเสือดาว ที่เดินวนไปมารอบกรง บางครั้งก็กระโดดฉับ ๆ ปีนขึ้นต้นไม้ไปอย่างรวดเร็ว

“ ซีโร่ ซีโร่ ลงมา “

นราธิป ยิ้มเนียม หรือที่พวกเราเรียกว่า ‘ พี่แป๊ะ ‘ ผู้จัดการสวนสัตว์พาต้าและเป็นผู้ที่เลี้ยงเจ้าเสือดำวัยย่าง 4 ขวบตัวนี้มากับมือ ส่งเสียงเรียกเจ้าเสือดำลงมาหา ซีโร่กระโดดลงมาหาอย่างว่องไว มันเดินนวยนาดเอาหูและลำตัวมาถูกรงไปมาพร้อมกับนั้นพี่แป๊ะก็ลูบตัว ลูบหน้าเสือดำตัวนั้นอย่างไม่มีท่าทีหวาดกลัวใด ๆ ออกจะเป็นเอ็นดูเสียมากกว่า พวกเรามองเหตุการณ์ตรงหน้า คิดในใจว่าก็อยากจะยื่นมือเข้าไปลูบบ้าง เพราะน้อยครั้งนักที่เราจะได้สัมผัสกับเสือ สัตว์ป่าที่ได้ชื่อว่าดุร้ายและอันตรายในความคิดของเราตั้งแต่วัยเด็ก แต่ก็ไม่กล้า ได้แต่คิดในใจ และสงสัยว่า เหตุใดสัตว์ป่าที่น่ากลัว ในเวลานี้ที่เราเห็นคือเหมือนเป็นแค่ลูกแมวเขี้ยวใหญ่ที่แสนเชื่องตัวหนึ่ง

“ มันไม่สำคัญว่าอยู่ทีไหน มันสำคัญว่าจัดการยังไง ถ้าเราจัดการดี มันก็ดี อย่างแรกคือเราต้องรู้พฤติกรรมของสัตว์ก่อน เพื่อที่เราจะสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติของเขามากที่สุด มีบ่อน้ำให้เล่น มีกิ่งไม้ให้โผบินและห้อยโหน มีถ้ำให้หลบซ่อน มีของเล่นให้เขาได้ออกกำลังกาย สัตว์ทุกชนิดมีการปรับตัวได้จนเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เราสร้างให้เขา” นราธิป ยิ้มเนียม ผู้จัดการสวนสัตว์พาต้าได้กล่าวถึงการจัดการของสวนสัตว์พาต้า

ฝั่งตรงข้ามกรงเสือดำและเสือดาว เป็นเสือลายเมฆที่นอนแผ่หลาอยู่บนพื้นซีเมนต์ ไม่สนใจสิ่งรอบตัว สร้างความตลกขบขันให้กับผู้มาเยี่ยมชม ใกล้กันนั้นเจ้าหมีควายกำลังนอนกลิ้งอยู่ในบ่อน้ำ พร้อมทั้งเหวี่ยงตัวไปมา เล่นเอามือตีน้ำแตกกระจาย แต่เมื่อเราเข้าไปดูใกล้ๆ มันกลับหยุดเล่นและขึ้นมาจากสระ เงยหน้ามองผู้มาเยือน พวกเราเลยโยนขนมปังไปให้เจ้าหมี เจ้าหมีรับขนมปังด้วยปากได้อย่างแม่นยำ

ในการพิจารณาขอใบอนุญาตจัดตั้งสวนสัตว์จากกรมอุทยาน ทางกรมอุทยานก็จะเข้ามาตรวจสอบโดยใช้มาตรฐานที่ค่อนข้างกว้าง อย่างการดูตามสภาพว่าไม่มีการทรมานสัตว์ กรงมีขนาดใหญ่เหมาะสมกับตัวสัตว์และชนิดของสัตว์ มีสัตว์แพทย์และคนดูแลหรือไม่

เนื่องด้วยในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ระบุว่าสวนสัตว์จะต้องมีการดูแลให้ดี ซึ่งก็ทำให้เกิดคำถามต่อมาว่า แค่ไหนคือดี อะไรคือเหมาะสม จึงทำให้การร่างมาตรฐานสวนสัตว์นั้นยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้

ในกรณีหากเกิดไฟไหม้ ซึ่งเป็นกรณีที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นกังวลว่าหากเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้จริงๆจะสามารถขนย้ายสัตว์ลงมาอย่างปลอดภัยได้อย่างไร ทางสวนสัตว์พาต้าก็ชี้แจงว่าในกรณีหากเกิดไฟไหม้ ข้างตัวตึกทั้งชั้น 6 และ 7 ก็จะมีตัวสลิงวิ่งลงไปยังอาคารพาณิชย์ทั้งสองฝั่งจำนวนหลายจุด ซึ่งมีกรงรอไว้แล้ว มีทั้งตัวชะลอและทิ้งดิ่ง จะขนย้ายสัตว์ไปตามสายสลิงนี้ เพราะสัตว์ส่วนใหญ่สามารถจับด้วยมือเปล่าได้ หรือสัตว์จำพวกนก ถ้าจวนตัวจริง ๆ ก็ปล่อยไปได้เลย แต่ถ้าเป็นหมี หรือ คิงคอง อาจจะต้องยิงยาสลบ และขนย้ายโดยการใช้คว้านรอกไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่อยู่บนหอคอย ค่อย ๆ ส่งสัตว์ลงไปชั้นล่าง โดยทางสวนสัตว์จะมีการซ้อมหนีไฟทุก ๆ สี่เดือน

“ การดำรงเผ่าพันธุ์หรือความสามารถในการออกลูก เป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าการจัดการของเรามีเหมาะสม มีรายงาน งานวิจัย ที่พูดถึงเรื่องการให้ลูกของสัตว์ป่า สัตว์มีสัญชาตญาณถ้าเกิดว่าเขาไม่ไว้ใจ เลี้ยงเขาได้ไม่ดี อาหารไม่เพียงพอ ที่เลี้ยงไม่มีความปลอดภัยดีพอ เขารู้สึกไม่ไว้ใจ พอถึงฤดูกาลผสมพันธุ์ เขาจะไม่ให้ลูก เพราะเขาไม่อยากให้เกิดความลำบากกับตัวเขาและลูกของเขา ”

พี่แป๊ะ ผู้จัดการสวนสัตว์พาต้าระบุว่า สิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าสัตว์มีสวัสดิภาพในชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดการที่ดีของทางสวนสัตว์ นั่นคือ การที่สัตว์ป่าในสวนสัตว์สามารถผสมพันธุ์และออกลูกได้ตามธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ทางด้านสมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้ออกมาโต้แย้งคำกล่าวนี้ โดยให้เหตุผลว่า การที่จะทำให้สัตว์ป่าสามารถผสมพันธุ์และออกลูกได้นั้นเกิดจากหลายปัจจัย เรื่องสวัสดิภาพสัตว์ไม่ใช่ตัวชี้วัดเพียงตัวเดียว

“ การสมบูรณ์พันธุ์ ไม่ได้แสดงว่าสัตว์มีความสมบูรณ์ทางจิตใจและพฤติกรรมที่มันต้องการ เพราะมีหลายปัจจัยที่ทำให้สัตว์สามารถผสมพันธุ์และออกลูกได้ ซึ่งเขาอาจจะได้รับการจัดสภาวะแวดล้อม ที่เอื้อต่อการอุ้มท้อง หรือเอื้อต่อการผสมพันธุ์ในช่วงฤดูกาลผสมพันธุ์ แต่ไม่ได้หมายความว่า ตลอดชีวิตของเขาที่อยู่ในกรงนั้นเขาจะมีสวัสดิภาพที่ดีและมีความสุขอย่างที่ควรจะได้รับตามธรรมชาติหรือในระดับที่มันดีกว่านี้ ”

ทางด้าน หมอหม่อง – นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา ได้ชี้แจงข้อมูลว่าหลายปีที่ผ่านมา เกิดความไม่พอใจของคนทั่วโลกกับสวนสัตว์ เพราะมีคนมองว่ามนุษย์ไม่สามารถสร้างสภาวะจำลองได้เหมือนกับวิถีชีวิตจริง ๆ ของสัตว์ได้ มนุษย์ไม่สามารถจะทดแทนสิ่งที่สัตว์พึงได้รับเมื่อมันได้อยู่ตามธรรมชาติ และการที่จะทำให้สัตว์มีความสุขในสภาพกักขังนั้นก็ทำได้ยากมาก โดยมีสถิติของสัตว์ที่ตายและเป็นโรคจิตจากการถูกกักขัง เช่น สัตว์มีอาการเครียด มีการแสดงพฤติกรรมซ้ำซาก ( stereotyped behaviors ) คือเดินวนไปวนมา วิ่งชนกรงขัง ซึ่งถือเป็นความป่วยทางจิต ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า ซึ่งลักษณะอาการเช่นนี้มักจะเกิดกับสัตว์ผู้ล่าอย่างเสือ หมี และสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง ยีราฟ เป็นต้น

“ การไปดูนกที่อยู่ในกรง กับไปดูนกในธรรมชาติมันคนละเรื่องกันเลย ในธรรมชาติมันโบยบินอิสระ ไม่ใช่การบังคับ มันร้องด้วยความสุข ขนเงางาม มันกินผลไม้ป่าเป็น 50 ชนิด วิตามิน เกลือแร่ที่มันต้องเอามาจากผลไม้ชนิดนั้นทำให้มันสุขภาพดี เราไม่มีทางที่จะหามาให้มันได้หรอก นกที่อยู่ในกรง บ้างก็กัดกรงจนปากแหว่ง ชนกรงขนถลอก มันแสดงถึงความเครียดในตัวสัตว์ “

ในปัจจุบันก็มีตัวชี้วัดว่าสวนสัตว์มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด คือมาตรฐานสากลที่นักวิชาการและนักชีววิทยาได้สร้างเพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการจัดทำสวนสัตว์ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น หลักสวัสดิภาพสัตว์ ( Animal Welfare ) หรือมาตรฐานของ WAZA ( World Association of Zoos and Aquariums ) เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่สวนสัตว์ควรยึดเป็นมาตรฐาน

“ หากเราเอามาตรฐานขั้นต่ำมาเทียบกับสวนสัตว์มาพาต้า จัดได้ว่าไม่มีความเหมาะสม เพราะพื้นที่จัดแสดงมีขนาดคับแคบ อีกทั้งการจัดแสดงสัตว์บางชนิดต้องมีพื้นดิน ผืนหญ้า หรือต้นไม้ ให้กับสัตว์ แต่นี่กลับเป็นพื้นปูน สัตว์ไม่ได้อยู่กับสภาพธรรมชาติเลย หรือการส่งเสริมพฤติกรรมสัตว์ (animal enrichment) ที่ทำให้สัตว์ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ เป็นการลดความเครียดในตัวสัตว์ได้ แต่ก็ทำได้ยากเพราะพื้นที่แคบมาก ตามมาตรฐานของพื้นที่การจัดแสดง มันตกอยูแล้ว ไม่ต้องมาอ้างอย่างอื่น ยิ่งถ้าเรื่องความปลอดภัยจากไฟไหม้ จะขนย้ายอย่างไร คนจะเอาตัวรอดก่อนไหม “ หมอหม่อง กล่าวทิ้งท้าย

patazoo07

patazoo08

4.

แสงแดดอันอบอุ่นยามเช้าที่ได้ชื่อว่าเป็นแสงแห่งการเริ่มต้นวันใหม่ของสิ่งมีชีวิตบนโลก ลำแสงเล็กๆแทรกตัวผ่านผ้าใบกรองแสงลงมากระทบพื้นปูนบนตึกสูงกลางเมือง แม้จะมีต้นไม้อยู่รอบบริเวณ หากแต่ต้นไม้ที่ถูกฝังรากลงในกระถางนั้นไม่อาจใหญ่โตค้ำฟ้าเหมือนดังต้นไม้ในป่าใหญ่ที่ฝังรากลึกลงไปในแผ่นดิน เติบโต สูงใหญ่เป็นดั่งปราการที่คอยปกป้องเหล่าสัตว์ป่าเอาไว้….อย่างที่ควรจะเป็น

หลายครั้งหลายคราวที่เสียงปืนดังก้องไพร เสียงร้องระงมของสัตว์ป่าที่พากันหนีเอาชีวิตรอด ทั้งเขากระทิง อุ้งตีนหมี หนังเสือ ถูกลักลอบลำเลียงออกจากป่าสงวนไม่เว้นแต่ละวัน หรือหากติดตามข่าวสารภาพถ่ายทางอากาศ จำนวนพื้นที่ป่าไม้ที่เคยเขียวขจีไปทั้งหุบเขา กลับกลายเป็นพื้นที่โล่ง เหลือแต่ตอไม้ผุดขึ้นมาเป็นสิ่งย้ำเตือนใจให้ตระหนักถึงปัญหาการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ มากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ทั้งสิ้น

มนุษย์ สิ่งมีชีวิตที่ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ ได้ทำลายปราการที่คอยปกป้องสัตว์ป่า เมื่อไม่มีป่าไม้และขุนเขาคอยโอบล้อมเป็นเกราะป้องกัน ชีวิตของสัตว์ป่าจึงแปรผันไปจากวิถีธรรมชาติ ในวันนี้ปราการแห่งชีวิตของพวกเขาไม่อาจเป็นป่าไม้ได้อีกต่อไปแต่เป็นสิ่งนี้ที่มนุษย์คิดว่าดีต่อพวกเขา…กรงขัง

สัตว์ป่าหลายร้อยชีวิตไม่เคยได้มีโอกาสไปอยู่ในป่า เขาได้เกิดมาลืมตาดูโลก โลกที่มีสิ่งสาราสัตว์น้อยใหญ่อยู่รายล้อมแต่ไม่อาจได้ใกล้ชิดเพราะโลกของพวกเขาคือโลกหลังเหล็กหนา ภาพธรรมชาติที่พระอาทิตย์ขึ้นอย่างสวยงาม แมกไม้ในป่ารกของพวกเขาถูกทาบทับไว้บนผนังด้านข้างและด้านหลังของส่วนจัดแสดงเพียงเท่านั้น โลกใบนี้ที่เปรียบเสมือนบ้านให้เขาได้อยู่อาศัยอย่างปลอดภัยตั้งแต่เล็กจนโต และมีโอกาสดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ในอนาคต

เป็นไปได้ไหมว่ากรงขังในที่นี้ ไม่ได้เป็นกรงขังที่จองจำสัตว์เหล่านี้ไว้ด้วยความเกลียดชัง แต่ก็ไม่อาจตัดสินได้ว่าเป็นการจองจำด้วยความรักเช่นกัน ฉันเองก็ไม่แน่ใจ หรือความรักมีหลายรูปแบบ ภาพละครไทยหลังข่าว ที่พระเอกจับตัวนางเอกไปขังไว้บนเกาะ ปรากฎขึ้นในห้วงความคิดของฉันก่อนจะพลันสลายไปเพราะเสียงเจื้อยแจ้วของเจ้านกแก้วมาคอว์ (Macaws) ที่ดังแหวกโสตประสาทเข้ามา เจ้านกเอียงหน้าและเดินไปมาบนคอนไม้ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าน้ำตกจำลอง ก่อนจะสยายปีกแล้วเริ่มส่งเสียงอีกครั้งจน ฉันต้องเอามือปิดหูแล้วเดินเลี่ยงไปที่อื่น

“ คุณคิดว่าการมีชีวิตอยู่ กับการอยู่อย่างมีชีวิต มันคือสิ่งเดียวกันไหม ? “

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ตั้งคำถามชวนคิด เมื่อพูดถึงประเด็นที่ทางสวนสัตว์พาต้ามองว่า สัตว์ป่าที่อยู่ในป่านั้นมีอิสระแต่ไม่มีสวัสดิภาพ เพราะหากเจ็บป่วยก็ไม่มีใครดูแล ทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกล่าจากสัตว์ผู้ล่าและมนุษย์ แต่สัตว์ในสวนสัตว์ นั้น มีสวัสดิภาพ ถึงแม้อิสระมันจะน้อย เพราะอยู่ในสวนสัตว์มีทั้งสัตวแพทย์และคนดูแลอย่างดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ชนเชยอิสรภาพที่ขาดหายไปได้

“ เราจะเลือกสิ่งใด ระหว่างการมีเพียงลมหายใจ หรือการมีชีวิตที่เป็นอิสระมีชีวิตชีวา ในบางครั้งเราอาจจะบาดเจ็บ อาจต้องมีความหวาดกลัว หรือความเครียด แต่เรามีชีวิตที่อยู่ได้ในแบบที่เราเลือกได้ เราจะเลือกแบบไหน ?”

คำถามนี้ สำหรับมนุษย์แล้วอาจจะไม่ได้ยากหนักหนา ถึงขั้นว่าจะหาคำตอบไม่ได้ เพราะมนุษย์มีชีวิต มีจิตใจ มีสิทธิ์ที่จะเลือกได้ แต่ในมุมของสัตว์ที่ถือเปรียบเสมือนเพื่อนร่วมโลกของเรา กลับยากที่จะตอบคำถามนี้ได้ เพียงเพราะสัตว์พูดไม่ได้ แสดงความต้องการหรือคัดค้านไม่ได้ อีกทั้งหลายคนมองว่า ‘ มนุษย์อย่าไปคิดแทนสัตว์’ เพราะเราไม่มีทางรู้หรอกว่าสัตว์รู้สึกอย่างไร ต้องการหรือไม่ต้องการสิ่งใด

หมอหม่องกล่าวว่า หากจะพูดถึงเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ มันมองได้สองแง่ คือถ้าจะคุยเรื่องข้อเท็จจริง คือพูดเรื่องมาตรฐานและตัวกฎหมายไปเลย หรือหากจะมองในแง่ความรู้สึกของสัตว์ที่หลายคนมองว่าคนเราจะไปคิดแทนสัตว์ไม่ได้ เราไม่มีทางรู้หรอกว่าสัตว์มันรู้สึกอย่างไร ต้องการหรือไม่ต้องการสิ่งใด ถ้าเป็นแบบนี้ มันก็ต้องมาพูดกันในแนวปรัชญา แนวจิตนิยม ที่ค่อนข้างจะลึกซึ้งเข้าไปอีก

“ ถ้าคนเราเป็น คนหัวโตแต่หัวใจเหี่ยว คือ รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับข้อมูลวิชาการ ตัวบทกฎหมายต่างๆ นั่นคือหัวคุณใหญ่มาก แต่หัวใจคุณไม่มีความรู้สึก โลกนี้มันก็คงแย่เหมือนกัน ”

patazoo09

5.

“ สวนสัตว์ที่ดี จะต้องเป็นแหล่งเพาะและขยายพันธุ์สัตว์ เป็นแหล่งให้ความรู้ เป็นแหล่งนันทนาการ และเมื่อเพาะพันธุ์สัตว์ได้จำนวนที่ไม่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์แล้ว สวนสัตว์จะต้องมีโครงการนำสัตว์คืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งเป็นเป้าหมายสุดท้ายของสวนสัตว์ ”

คณิต เสริมศิริมงคล ผู้สานต่อเจตนารมณ์ของคุณวินัย เสริมศิริมงคล ผู้ก่อตั้งสวนสัตว์ได้กล่าวถึงเจตนาเริ่มแรกของสวนสัตว์พาต้า

เมื่อสังคมได้มีการเปลี่ยนแปลงไป มีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ มากมาย จึงทำให้คนในสังคมได้คิดและการตั้งคำถามว่า ทุกวันนี้สวนสัตว์สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ทั้งในแง่ของการอนุรักษ์และการศึกษา อย่างที่เป็นเจตนาเริ่มแรกของสวนสัตว์หรือไม่

ในปัจจุบันทางสวนสัตว์พาต้าประสบความสำเร็จในด้านการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด เช่น งูหลามทอง ชะนีมงกุฎ เสือดาว ลิงแสมเผือก ลิงอุรังอุตัง เป็นต้น และได้ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างสวนสัตว์ด้วยกัน เพื่อการศึกษาวิจัยและการดำรงเผ่าพันธุ์ แม้ว่าจะมีการเพาะพันธุ์สัตว์ได้หลายชนิด แต่ทว่าทางสวนสัตว์พาต้ายังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายสุดท้าย นั่นคือนำสัตว์ที่เพาะพันธุ์ได้เหล่านี้คืนสู่ธรรมชาติ โดยทางสวนสัตว์ได้เผยว่า การที่จะนำสัตว์ป่ากลับคืนสู่ธรรมชาตินั้นจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยและทดลองอย่างเป็นขั้นตอน ก่อนที่จะปล่อยสัตว์ลงสู่ธรรมชาติได้ ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาหลายปี เพราะหากไม่มีการวางแผนให้ดี ก็เสมือนกับการที่เราปล่อยให้เขาไปตายในธรรมชาติเท่านั้นเอง

“ เราไม่คิดจะเอาสัตว์ไว้ในสวนสัตว์ตลอดไป อย่างพวกลิง ชะนี เสือ หมี แต่ถ้าเมื่อใดที่ธรรมชาติพร้อมแล้ว นักล่าอย่างมนุษย์มีกฎหมายที่บังคับใช้อย่างเข้มงวดและสามารถลดการล่าได้เป็นศูนย์ แล้วปัจจัยหลักอย่างพื้นที่ป่ามีมากพอ เราก็ยินดีปล่อย โดยการที่จะปล่อยสู่ธรรมชาตินั้นต้องมีการวางแผน ศึกษา วิจัย ทดลอง จนได้ทางออกหรือข้อสรุปที่แน่ชัดว่าสัตว์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ” นราธิป ยิ้มเนียม พูดด้วยแววตามุ่งมั่น

“ ข้ออ้างของสวนสัตว์เรื่องการเพาะพันธุ์สัตว์ป่า เป็นข้ออ้างที่เกินจริง ”

หมอหม่อง ชี้แจงว่า สัตว์บางชนิดที่ใกล้จะสูญพันธุ์ก็ต้องอาศัยการเพาะพันธุ์นอกถิ่นอาศัย ( Ex situ Conservation ) แล้วปล่อยคืนสู่ป่า อย่างนกกระเรียน ละมั่ง ทั้งสองสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยนานแล้ว ซึ่งทางองค์การสวนสัตว์กำลังมีการเพาะพันธุ์และปล่อยคืนสู่ป่า ถือว่าเป็นโครงการที่ดีมาก แต่สัตว์หลายชนิดไม่ต้องการความช่วยเหลือด้วยการเพาะพันธุ์นี้ สัตว์หลายชนิดแค่เราป้องกันการล่า และมีพื้นที่ให้มันอยู่ สัตว์นั้นก็สามารถขยายพันธุ์ของมันได้อยู่แล้ว หากจะบอกว่าเป็นการเพาะพันธุ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ก็ต้องมีการศึกษาเป็นกรณีไป แต่ถ้าเป็นการเพาะพันธุ์ในเชิงพาณิชย์เอาไว้ใช้ซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนระหว่างสวนสัตว์ด้วยกัน ก็เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ในเมื่อการเพาะพันธุ์แล้วปล่อยคืนสู่ธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ทางสวนสัตว์ยังไม่สามารถทำได้ แล้วจะเพาะพันธุ์มาเพื่อให้สัตว์เดินเป็นตัว ๆ ในที่กักขังอย่างนั้นหรือ จึงอยากให้มองถึงคุณค่าของสัตว์ป่า

“ คุณค่าของสัตว์ป่าคืออะไร คุณค่าอันสูงสุดของสัตว์ป่าคือเป็นกลไกหรือฟันเฟืองในระบบนิเวศ มันได้ทำหน้าที่ในระบบนิเวศ นั่นคือศักดิ์ศรีและคุณค่าอันสูงสุดของสัตว์ป่า ”

“ ถ้าเราได้เห็นเสือในธรรมชาติ เพียงแค่หางเสือแวบเดียว เราก็คงจะขนลุก นั่นมันคือศักดิ์ศรีของเสือ ผู้ล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ แต่สัตว์ในสวนสัตว์ มันเชื่องคน ไม่มีตัวตนและวิญญาณของเจ้าป่าอีกต่อไปแล้ว มันคือการลดคุณค่าและศักดิ์ศรีของสัตว์ป่า “

นอกจากนี้คุณหมอนักอนุรักษ์ยัง ได้ชี้แจงว่า ในปัจจุบันปัญหาการล่าสัตว์ป่านั้นถือว่าลดลงมาก จะมีเฉพาะสัตว์บางชนิดที่จะตกเป็นเป้าหมายการล่า อย่างเช่น เสือโคร่ง หมี เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้ก็จำเป็นที่จะต้องมีมาตรฐานและตัวบทกฎหมายที่เด็ดขาด ถ้าเราจริงจังเรื่องการพิทักษ์พื้นที่ป่ามากขึ้น สัตว์และป่าได้รับการคุ้มครองและสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างเต็มที่

ที่น่าสนใจคือทั้งสองฝ่ายเห็นเหมือนกันว่า การนำสัตว์มาเพาะเลี้ยงจะช่วยทดแทนหรือลดแรงกดดันการการจัดหาสัตว์ป่าจากป่ามาจัดแสดงในสวนสัตว์ เป็นการช่วยต่อลมหายใจให้สัตว์ป่าได้มีชีวิตและดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้

patazoo10

6.

กว่าเราเดินวนในพื้นที่สวนสัตว์ชั้นเจ็ดจนครบ ก็เกือบจะเที่ยงวันเข้าไปแล้ว ฉันมองไปรอบ ๆ คนบางตาลงไปมาก นึกขึ้นได้ว่าจะมีการแสดงที่ชั้น 6 พวกเราจึงรีบวิ่งลงไปที่ชั้น 6 เพราะกลัวไม่ทันดูการแสดง ซึ่งการแสดงของสวนสัตว์พาต้านั้นจะเป็นการแสดงความสามารถของสัตว์ที่จัดแสดง ละครลิง นอกจากนี้ยังมีการแสดงมายากลและกายกรรมของคน ที่เรียกเสียงฮือฮาของผู้ชมได้เป็นอย่างมาก

เมื่อการแสดงจบลง ต่างคนก็ต่างแยกย้ายไปดูไปชมในมุมที่ตัวเองสนใจ เด็กบางคนขอให้พ่ออุ้มขึ้นเครื่องเล่นรูปกระต่าย บางคนเกาะตู้ดูปลา และอีกหลายคนที่เข้าไปถ่ายรูปกับสัตว์แสนรู้ มีบางส่วนของการจัดแสดงที่กำลังถูกมองผ่าน เด็กน้อยวิ่งผ่านไปผ่านมาโดยไม่ได้สนใจ แม้จะมีคำเชิญชวนอย่างนอบน้อมว่า “ เชิญนั่งพักอ่านสาระจาก สารศูนย์สัตวศาสตร์ไทย ” โต๊ะยาวต่อกัน มีแผ่นกระดาษที่บรรจุข้อมูลความรู้ แปะอยู่บนกระดาน แสงไฟจากหลอดนีออนด้านบน ส่องให้สามารถอ่านสิ่งที่อยู่บนโต๊ะอย่างสะดวก แต่ทว่าเก้าอี้นั้นว่างเปล่า มีเพียงสายลมพัดให้กระดาษเปิดไปมาเท่านั้นเอง

“ สวนสัตว์ไม่ได้ก่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในตัวสัตว์ แต่กลับเสริมสร้างความคิดผิดว่า มนุษย์เรามีสิทธิ์คิดทำสิ่งเหล่านี้ต่อสิ่งมีชีวิตอื่น มันทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นยอดของปิระมิด เรามีสิทธิ์เหนือเขาจริงหรือ เพียงเพราะเรามีอำนาจ มีบารมีอย่างนั้นหรือ จริงๆเราเกิดมาบนโลกนี้หลังเขาด้วยซ้ำ แต่กลับทำตัวเป็นเจ้าโลก จัดการทุกอย่างด้วยความอหังกาของมนุษย์ ”

ทางด้านหมอหม่อง มองว่าสวนสัตว์ทำให้มนุษย์คิดว่าตัวเองมีอำนาจเหนือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ก่อให้เกิดความรักและความเข้าใจแก่เด็กเลย

แม้ว่าทางสวนสัตว์พาต้า จะชี้แจงในเรื่อง เหตุผลที่ทางสวนสัตว์พาต้ายังคงเปิดดำเนินงานอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม กับภาระอันหนักอึ้งที่ต้องเลี้ยงดูสัตว์ป่าเหล่านี้ ก็เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม อยากที่จะมอบโอกาสให้เด็กไทยได้เห็นสัตว์หายากจากต่างประเทศ และให้เด็กได้มาเรียนรู้ มาศึกษา เพื่อที่จะเข้าใจสัตว์มากขึ้น อีกทั้งยังเปรียบว่าสัตว์ป่าที่อยู่ในสวนสัตว์เป็นผู้เสียสละ เป็นตัวแทนของเผ่าพันธุ์ของมนุษย์กับสัตว์ ที่จะต้องมาเรียนรู้ว่าเขามีชีวิตอยู่อย่างไร ทำให้เด็กเข้าใจเพื่อนร่วมโลก เกิดความรักและอยากปกป้องสัตว์เหล่านี้

“ การทำสวนสัตว์เป็นการทำเพื่อสังคม ถ้าไม่มีใจรัก ไม่มีอุดมการณ์ว่าเราอยากจะเสียสละช่วยเหลือรักษาพันธุ์สัตว์เอาไว้ ทำไม่ได้หรอก เพราะมันไม่คุ้มเลย ในเชิงของธุรกิจมันไม่คุ้มทุน แต่ในแง่ของการอนุรักษ์มันคุ้มค่า ฉะนั้นมันอยู่ที่สายตาว่าคุณจะมองเราในมุมไหน ”

คณิต เสริมศิริมงคล กล่าวทิ้งท้ายด้วยแววตามุ่งมั่น

อย่างไรก็ตามอีกฝ่ายมองว่าในปัจจุบันได้มีทางเลือกอื่นทีจะทำให้เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องถึงขั้นที่ต้องเห็นตัวจริง อย่างสารคดีสัตว์ป่า จากทางโทรทัศน์หรืออินเทอร์เน็ต ซึ่งในบางครั้งการได้เห็นตัวจริงก็ไม่ต่างจากการเห็นในภาพสักเท่าไรนัก เพราะสัตว์ก็นั่งอยู่เฉยๆ อีกทั้งเรื่องตัวสื่อข้อมูลที่ให้ความรู้นั้น ก็ไม่มีการปรับปรุง ก็เป็นเพียงกระดาษที่ติดเอาไว้ เราอ่านจากกระดาษอยู่ดี การดูจากสารคดีจะทำให้เด็กได้สังเกตพฤติกรรมตามธรรมชาติของสัตว์ ซึ่งถ้ามาดูสัตว์ในสวนสัตว์ก็จะได้เห็นแค่ตัวสัตว์ ไม่ได้เห็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของสัตว์

ในอดีตนั้น สวนสัตว์อาจจะยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีสำหรับเด็ก แต่เมื่อมีการพัฒนาไป มีสื่อใหม่ๆเข้า แต่กลับพบว่า สวนสัตว์นั้นยิ่งมีจำนวนมากขึ้นทุกที จึงเกิดคำถามขึ้นมาอีกว่า สวนสัตว์กับการศึกษานั้นมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันอยู่หรือไม่

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สังคมต้องปรึกษากัน ในประเด็นเรื่อคุณค่าของการศึกษาในสวนสัตว์นั้นยังมีอยู่จริงหรือ มันทำให้เราเข้าใจและอยู่ร่วมกับสัตว์อย่างมีความสุขและเกื้อกูลกันได้จริงหรือ และการเรียนรู้นี้มันคุ้มค่ากับการสร้างผลกระทบทางลบ ที่ต้องเอาสัตว์มากักขังหรือไม่

ต่างคนต่างมุมมอง อนาคตของสัตว์ป่าจะเป็นอย่างไร หรือสวนสัตว์นั้นยังสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่นั้น สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีการปรึกษาหารือ เพื่อหาขอสรุปร่วมกัน ทั้งฝ่ายสวนสัตว์ และฝ่ายนักอนุรักษ์ ต่างก็มีเจตนาและหลักการที่ดี แต่ในทางปฏิบัตินั้น หากมีการทำอย่างจริงจัง เชื่อว่ามีพลังมากพอที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนไป

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นของมนุษย์ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐทุกคน เพราะสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ถูกสร้างมาเพื่อให้ทุกชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล

“…The greatness of a nation and
its moral progress can be judged
by the way its animals are treated..”
*Mahatma Gandhi*

ความเจริญทางศีลธรรมและศิวิไลซ์ของแต่ละชนชาติ สามารถวัดได้จากการกระทำต่อสัตว์ของชนชาตินั้นๆ

(มหาตมะ คานธี)

บรรณานุกรม

  • วิริยะ มิตรสิตะ. 2548. มูลค่าทางนันทนาการของสวนสัตว์พาต้าปิ่นเกล้า กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท,
    มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
  • โสภิดา วีรกุลเทวัญและสุกรานต์ โรจนไพรวงศ์. ถึงยุคที่…สัตว์ป่าจะต้องเดินเข้าฟาร์ม: นิตยสารผู้จัดการ. มีนาคม 2535.
  • โสภิดา วีรกุลเทวัญและสุกรานต์ โรจนไพรวงศ์. สวนสัตว์พาต้า บ้านของสัตว์ที่กำลังจะมีกฎหมายรองรับ:
    นิตยสารผู้จัดการ. มีนาคม 2535.
  • เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ. 2545. สวนสัตว์ : มายาคติว่าด้วยธรรมชาติและสัตว์ป่า . วิทยานิพนธ์ปริญญาโท,
    มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • รายการ เวทีสาธารณะ ตอน ส่องสวนสัตว์ ออกอากาศเมื่อวันเสาร์ที่ 14 กันยายน 2556