ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง

ตามแผนปฏิบัติงานโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วจังหวัดกาญจนบุรี ระยะเวลา ๑,๐๐๐ วัน จากเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐ ถึงสิงหาคม ๒๕๖๓ การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ (งานดูดตะกอนในลำห้วยคลิตี้และหน้าฝาย) อยู่ในหมวด ๓ (ภาพ : ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์)

ตามแผนปฏิบัติงานโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วจังหวัดกาญจนบุรี ระยะเวลา ๑,๐๐๐ วัน จากเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐ ถึงสิงหาคม ๒๕๖๓ การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ (งานดูดตะกอนในลำห้วยคลิตี้และหน้าฝาย) อยู่ในหมวด ๓ (ภาพ : ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์)

เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๖๓ ชาวชุมชนคลิตี้ ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางขอให้ตรวจสอบการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ของกรมควบคุมมลพิษตามคำสั่งศาล หลังพบว่าขั้นตอนการฟื้นฟูลำห้วยอาจสร้างผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ภายหลังจากกรมควบคุมมลพิษได้เริ่มดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางมาตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๐ โดยมีบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมา มีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นที่ปรึกษาควบคุมงาน อ้างอิงตามเอกสาร “แผนปฏิบัติงานโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วจังหวัดกาญจนบุรี” ระยะเวลาดำเนินการ ๑,๐๐๐ วัน นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐ ถึงสิงหาคม ๒๕๖๓ มูลค่า๔๕๒,๖๕๗,๓๐๙ บาท ซึ่งแบ่งออกเป็น ๗ หมวด ได้แก่ การสำรวจและวางแผนการดำเนินงาน, การก่อสร้างหลุมฝังกลบ, การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้, งานฟื้นฟูพื้นที่รอบโรงแต่งแร่, งานก่อสร้างฝายดักตะกอน ๒ แห่ง, งานปรับปรุงถนน และ งานตามเงื่อนไขทั่วไป ถึงเวลานี้กระบวนการในหมวดที่ ๓ คือ การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ อยู่ในขั้นดูดตะกอนและตะกั่วที่ตกตะกอนนอนก้อนอยู่ใต้ท้องลำห้วยมาบรรจุใส่ถุง เตรียมนำไปฝังกลบในหลุมฝังกลบบนภูเขา

ถุง Geotextile สำหรับบรรจุตะกอนปนเปื้อนตะกั่วจากใต้ท้องน้ำ ประเมินว่าต้องใช้ทั้งหมด 203,815 ใบ (ภาพ : สุรชัย ตรงงาม)

ถุง Geotextile สำหรับบรรจุตะกอนปนเปื้อนตะกั่วจากใต้ท้องน้ำ ประเมินว่าต้องใช้ทั้งหมด 203,815 ใบ (ภาพ : สุรชัย ตรงงาม)

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่มีการดูดตะกอนตามแผนงาน กลุ่มชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมซึ่งเข้าร่วมเป็นกรรมการไตรภาคี อันประกอบด้วยภาคประชาชน นักวิชาการ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและผู้รับเหมา มีข้อสังเกตและแสดงความห่วงกังวลว่า กระบวนการฟื้นฟูลำห้วยอาจไม่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการเนื่องจากพบการฟุ้งกระจายของตะกอนจำนวนมาก ถ้าปล่อยให้มีการดำเนินงานต่ออาจส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ก่อนหน้านี้ เพื่อติดตามโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ เมื่อช่วงต้นปี ๒๕๖๓ จึงมีการระดมทุนติดตั้งเซ็นเซอร์เฝ้าระวังการฟุ้งกระจายของตะกอนตะกั่วท้องน้ำ และวัดฝุ่นปนเปื้อนตะกั่วในบรรยากาศอันเนื่องมาจากกิจกรรมการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เพื่อให้ชุมชนสามารถเฝ้าระวังความเสี่ยงในพื้นที่ด้วยตนเอง อีกทั้งยังอาจนำไปสู่การเรียกร้องให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขมาตรการการดูดตะกอน และการขนย้ายตะกอนให้มีผลกระทบน้อยลง ได้รับสนับสนุนการติดตั้งอุปกรณ์และบุคคลากรจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (ร่วมบริจาคเพื่อสมทบทุน ๑๘๐,๘๒๖ บาท ประกอบด้วยเครื่องตรวจวัดการฟุ้งของตะกอนท้องน้ำ แผงโซลาร์เซลล์เพื่อจ่ายไฟ คาแลปวิเคราะห์ผล ได้ที่บัญชีธนาคารกรุงไทย (ออมทรัพย์) ชื่อบัญชีร่วม : น.ส.ชลาลัย นาสวนสุวรรณ หรือนายธนกฤต โต้งฟ้า เลขที่บัญชี 960-0-46991-1)

ผลจากการติดตามเฝ้าระวังและตรวจวัดพบการฟุ้งกระจายของตะกอนท้องน้ำทำให้เกิดความขุ่นของลำห้วยคลิตี้เป็นระยะทางยาวถึง ๔ กิโลเมตร และน้ำที่รีดออกมาจากถุงเก็บตะกอนซึ่งปล่อยไหลกลับลงไปในลำห้วยคลิตี้มีค่าตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานถึงเกือบ ๑๐๐ เท่า ผลตรวจวัดความขุ่นของน้ำหลังม่านดักตะกอน ยังพบว่ามีค่าสูงขึ้นกว่าค่ามาตรฐานตามธรรมชาติถึงกว่า ๑๐ เท่าหรือเพิ่มขึ้นมากกว่า ๑,๐๐๐ เปอร์เซ็นต์ สูงเกินข้อกำหนดโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ หรือ ทีโออา (TOR) ที่ระบุว่าหากการขุดลอกตะกอนทำให้ความขุ่นเพิ่มขึ้นจากค่าฐานตามธรรมชาติเกิน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ให้หยุดขุดลอกชั่วคราวจนกว่าความขุ่นของน้ำจะกลับมาเป็นค่าตามธรรมชาติ

ขั้นตอนการดูดตะกอนปนเปื้อนตะกั่วขึ้นมาจากใต้ท้องน้ำ (ภาพ : ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์)

ขั้นตอนการดูดตะกอนปนเปื้อนตะกั่วขึ้นมาจากใต้ท้องน้ำ (ภาพ : ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์)

ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หนึ่งในกรรมการไตรภาคี ระบุว่า คณะวิจัยมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ด้วยการดูดตะกอนของผู้รับเหมาที่มีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นที่ปรึกษาควบคุมงานภายใต้การดูแลโครงการโดยกรมควบคุมมลพิษที่สำคัญ ๔ ประการ คือ

หนึ่ง การปล่อยน้ำจากการรีดตะกอนที่มีตะกั่วสูงกลับลงไปในลำห้วยอยู่ในแผนการฟื้นฟูหรือไม่ และผิดกฎหมายมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งหรือไม่

สอง ลำห้วยคลิตี้ที่เกิดตะกอนตะกั่วฟุ้งกระจายเกินค่ามาตรฐานมีความยาวถึง ๔ กิโลเมตร และเป็นช่วงระยะที่ชาวชุมชนยังต้องอาศัยใช้น้ำจากลำห้วย

สาม หากมีการดำเนินการฟื้นฟูพร้อมกัน ๕-๑๐ จุด บริเวณหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ค่าความเข้มข้นตะกั่วในน้ำจะเป็นเท่าใด ? ค่าความเข้มข้นตะกั่วในปลาจะเป็นเท่าใด ? รวมทั้งค่าความเข้มข้นตะกั่วในเลือดของคนในชุมชนจะเป็นเท่าใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการปิดหมู่บ้านคลิตี้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวบ้านต้องพึ่งพาลำห้วยสายนี้มากกว่าปรกติ

และ สี่ หลังการฟุ้งกระจายของตะกอนท้องน้ำ ธรรมชาติจะใช้เวลาบำบัดน้ำปนเปื้อนตะกอนตะกั่วที่ฟุ้งจากการฟื้นฟูนานเท่าใด?

สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และนักกฎหมายที่ติดตามประเด็นปัญหามายาวนานให้ความเห็นว่า การดูดตะกอนตะกั่วด้วยวิธีที่ไม่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชนในระยะยาว และจะทำให้การฟื้นฟูดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วได้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากมีการฟุ้งกระจายของตะกอนตะกั่วจนเกินค่ามาตรฐาน อาจเกิดจากการละเลยไม่ปฏิบัติตามาตรฐานความปลอดภัยตามข้อกำหนดการดำเนินงานโครงการฯ (TOR) การฟุ้งกระจายของตะกอนดังกล่าวเมื่อดูดตะกอนเสร็จสิ้นแล้ว ธรรมชาติอาจต้องใช้เวลาฟื้นฟูน้ำที่ปนเปื้อนสารตะกั่วยาวนานกว่า ๗ ปี กรมควบคุมมลพิษจึงควรสั่งให้ผู้รับจ้าง หยุดดำเนินการจนกว่าความขุ่นของน้ำจะกลับมาอยู่ในค่าใกล้เคียงกับค่าตามธรรมชาติ และตรวจสอบให้ผู้รับจ้างปฎิบัติตาม ข้อกำหนด TOR อย่างเคร่งครัด

การติดตั้งม่านดักตะกอน ๑ ชั้นเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของตะกอนเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามสำหรับการดำเนินงานตามโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ (ภาพ : ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์)

การติดตั้งม่านดักตะกอน ๑ ชั้นเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของตะกอนเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามสำหรับการดำเนินงานตามโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ (ภาพ : ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์)

ทั้งนี้ เพื่อให้การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ตามคำพิพากษาเป็นไปอย่างรอบคอบและปลอดภัยต่อชุมชน ชาวชุมชนที่รอคอยการบำบัดลำห้วยอาบยาพิษสายนี้มายาวนานหลายปีจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๖๓ ดังนี้

๑) ขอให้ศาลนัดไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร่งด่วน เพื่อตรวจสอบการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยด้วยวิธีดูดตะกอน ทั้งบริเวณชุมชนคลิตี้บนและชุมชนคลิตี้ล่าง จำนวน ๑๐ จุดที่กำลังดำเนินการอยู่โดยให้กรมควบคุมมลพิษ และผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อห่วงกังวลต่างๆ

๒) ขอให้ศาลตรวจสอบแผนงานและข้อกำหนดโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ หรือ ทีโออา (TOR) ก่อนเริ่มดำเนินการดูดตะกอนบริเวณลำห้วย

๓) ขอให้ศาลมีคำสั่งแจ้งให้กรมควบคุมมลพิษหยุดการดำเนินการฟื้นฟูด้วยการดูดตะกอนที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ อนามัย ชุมชนและสิ่งแวดล้อมเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะหามาตรการป้องกันผลกระทบและเยียวยาชุมชนที่เหมาะสมและเป็นธรรมตามหลักการป้องกันไว้ก่อน (Precautionary principle)

๔) สั่งให้กรมควบคุมมลพิษออกหนังสือรับรองแก่ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในตรวจสอบและเก็บข้อมูลการตรวจวัดการฟุ้งกระจายโดยเร่งด่วน ในช่วงที่มีการจำกัดการเข้าพื้นที่ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID -19

หลุมฝังกลบถุงตะกอนตะกั่วจากลำห้วยคลิตี้ พื้นที่ฝังกลบอยู่บนภูเขา (ภาพ : สุทธิเกียรติ คชโส)

หลุมฝังกลบถุงตะกอนตะกั่วจากลำห้วยคลิตี้ พื้นที่ฝังกลบอยู่บนภูเขา (ภาพ : สุทธิเกียรติ คชโส)

ทั้งนี้ จากข้อ ๔) เมื่อมีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้หน่วยงานรัฐออกมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกชุมชนต่างๆ รวมถึงหมู่บ้านคลิตี้ ทำให้ชาวชุมชนที่เคยอาศัยอาหารจากภายนอกเพื่อลดความเสี่ยงการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยต้องหันมาจับสัตว์น้ำ เก็บพืชผักตามลำห้วย บางครัวเรือนที่ขาดแคลนน้ำก็ต้องสูบน้ำขึ้นมาจากลำห้วยมาอุปโภคบริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถือเป็นผลกระทบซ้ำซ้อนต่อสุขภาพอนามัยในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19

ขั้นตอนหลังจากนี้ สำนักบังคับคดีปกครองจะทำหนังสือสอบถามไปยังกรมควบคุมมลพิษเพื่อให้ชี้แจงประเด็นต่างๆ ในคำร้องข้างต้น และรอศาลมีคำสั่งว่าจะให้มีการนัดไต่สวนคำร้องต่อไปหรือไม่อย่างไร
กว่าสองทศวรรษนับตั้งแต่ลำห้วยคลิตี้ปนเปื้อนสารตะกั่วกลายเป็น “ลำห้วยอาบยาพิษ” การรอคอยสายน้ำบริสุทธิ์ของชาวกระเหรี่ยงคลิตี้ยังคงดำเนินต่อไป