ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

โครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 มีกำหนดระยะเวลา 1,000 วัน ถึงปลายเดือนมิถุนายน 2563 ดำเนินโครงการมาแล้วมากกว่า 955 วัน หรือเข้าสู่ช่วงระยะสุดท้าย

ใกล้ครบกำหนด 1,000 วัน โครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว

ตามคำสั่งศาลปกครอง โครงการนี้กรมควบคุมมลพิษอยู่ในฐานะหน่วยงานหลักในการฟื้นฟูลำห้วยที่ปนเปื้อนสารตะกั่วจากการดำเนินการของบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยซึ่งถูกศาลตัดสินให้มีความผิด ให้เรียกเก็บค่าดำเนินโครงการกว่า 452 ล้านบาทจากผู้บริหารบริษัทตะกั่วตามหลักการ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย”

ล่าสุดกรมควบคุมมลพิษ และบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับการว่าจ้างให้เป็นผู้รับเหมาดำเนินการโครงการฟื้นฟู มีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นที่ปรึกษา รายงานผลงานก่อสร้างสะสมถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 คืบหน้า 78.82 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งขุดลอกตะกอนในลำห้วยที่เหลือมาบรรจุยังหลุมฝังกลบแบบปลอดภัย ขุดกองกากแร่ที่ถูกทิ้งไว้ในบริเวณต่างๆ มาปรับเสถียร ได้ตะกอนตะกั่วแล้วประมาณ 5,400 ตันจากเป้าหมาย 44,000 ตัน หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ พร้อมชี้แจงว่าการทำงานที่ผ่านมาประสบอุปสรรคทางด้านเทคนิค สภาพพื้นที่ รวมทั้งปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19

เพื่อให้การฟื้นฟูลำห้วยเป็นไปอย่างยั่งยืน จึงเสนอโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ฯ ระยะที่ 2 มูลค่าประมาณ 217 ล้านบาท เพื่อดำเนินการต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2564 ขยายเวลาฟื้นฟูลำห้วยสายนี้ให้กลับมาสะอาดอีกครั้ง

1000days01

“ขอให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าจะดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่คลิตี้เพื่อให้ประชาชนเกิดความปลอดภัย”

ประลอง ดำรงค์ไทย
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

“กรมควบคุมมลพิษได้รับการจัดสรรงบประมาณผูกพันระหว่างปี 2559-2563 เพื่อดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 1,000 วัน กำลังจะครบกำหนดในเดือนสิงหาคม 2563 มีกิจกรรมการดำเนินโครงการ ประกอบด้วย การขุดลอกลำห้วยคลิตี้ การฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนรอบโรงแต่งแร่เดิม การก่อสร้างหลุมฝังกลบแบบปลอดภัย และการก่อสร้างฝายดักตะกอนเพิ่มเติม ปัจจุบันในเดือนมิถุนายน 2563 ดำเนินการมาแล้ว 955 วัน มีความก้าวหน้าการดำเนินงานคิดเป็นประมาณร้อยละ 55 ของงานทั้งหมด มีงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จประกอบด้วยงานสำรวจ งานก่อสร้างหลุมฝังกลบแบบปลอดภัย การฟื้นฟูพื้นที่บริเวณรอบโรงแต่งแร่เดิม การปรับปรุงถนน และการสร้างฝายดักตะกอนจำนวน 1 ฝาย

“ขณะนี้อยู่ในระหว่างเร่งขุดลอกตะกอนในลำห้วยที่เหลือบริเวณคลิตี้ล่าง การขุดกองกากแร่ที่ถูกทิ้งไว้ในบริเวณต่างๆ แล้วนำไปปรับเสถียรและขนส่งไปบรรจุยังหลุมฝังกลบแบบปลอดภัย การจัดทำรางระบายน้ำรอบบ่อเก็บหางแร่เดิมและทำรั้วรอบ การก่อสร้างฝายดักตะกอนอีก 1 ฝาย โดยได้ใช้โอกาสเดียวกันทำความเข้าใจกับชาวบ้านเนื่องจากการทำงานของโครงการที่ผ่านมาประสบปัญหาอุปสรรคทางด้านเทคนิค สภาพพื้นที่ รวมทั้งปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19

“หลังฟื้นฟูมาเป็นระยะเวลา 3 ปี มีการตรวจพบพื้นที่ปนเปื้อนเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตการดำเนินงานของโครงการปัจจุบัน เพื่อให้การฟื้นฟูลำห้วยเป็นไปอย่างยั่งยืน จึงเสนอโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ระยะที่ 2 เพื่อดำเนินการต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2564 โดยได้จัดทำร่างขอบเขตการดำเนินงานและรายการปริมาณงานและราคาเบื้องต้นเพื่อขอตั้งงบประมาณ หารือกับสำนักงบประมาณและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เพื่อกำหนดขอบเขตงานและสำรวจพื้นที่ร่วมกัน อีกทั้งยังได้ประสานและเตรียมการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเพื่อดำเนินการฟื้นฟูเพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้กรมควบคุมมลพิษขอให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าจะดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่คลิตี้เพื่อให้ประชาชนเกิดความปลอดภัย”

1000days02

“ต้องทำไปจนเสร็จ จนลำห้วยสะอาด”

พิชัย ศรีมันตะ
มหาวิทยาลัยขอนแก่น

“กรมควบคุมมลพิษว่าจ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นที่ปรึกษาควบคุมงาน เราประจำการอยู่ที่นี่ตลอด ถ้าไม่เจอผมก็จะเจอลูกน้อง ช่วงโควิดก็ไม่ได้หยุดพัก ทำงานในพื้นที่เข้าๆ ออกๆ ไม่ได้ไปไหน เพียงแต่ทางบริษัทบอกว่าไม่สามารถเพิ่มคนได้

“วัตถุประสงค์หลักของโครงการคือการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ความคืบหน้าของงานส่วนที่อยู่บนบก หมายถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่ใช้รองรับวัสดุหรือสารต่างๆ ที่นำมาฟื้นฟู เช่น บ่อเก็บตะกอนหางแร่ ดินปนเปื้อน ตะกอนจากลำห้วย เสร็จเกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการดำเนินการดูดตะกอนในลำห้วยยังเหลืองานอยู่เยอะ จะล่าช้า และมีข้อถกเถียงกันเรื่องกระบวนการฟื้นฟูว่าทำให้น้ำขุ่น หรือน้ำไม่ขุ่น ต่างๆ นานา ถามว่าหนักใจมั๊ยก็หนักใจในส่วนของทางบริษัท จากตะกอนในลำห้วยที่ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นศึกษาไว้เมื่อ 5 ปีที่แล้วว่ามีอยู่ 44,000 ตัน ตอนนี้ดูดขึ้นมาได้แค่ประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนตะกอนที่อยู่บนบก บางจุดเมื่อก่อนเป็นป่า และไม่มีเครื่องมือตรวจวัดค่าตะกั่ว เราเคยศึกษาไว้ก็เจอบางส่วน ส่วนใหญ่รู้จากชาวบ้านที่เคยทำงานในเหมืองเข้าไปชี้จุดว่าตรงนี้มีตะกอนตรงนี้ไม่มี นำมาสู่กระบวนการฟื้นฟูคือปิดคลุมบ้าง ขนมาฝังกลบบ้าง

“มันต้องทำไปจนเสร็จ จนลำห้วยสะอาด ไม่ใช่ว่าครบ 1,000 วัน ไม่ต้องทำแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น ถึงหมด 1,000 วันก็ต้องทำ ในสัญญาที่ถือกันระหว่างกรมควบคุมมลพิษกับบริษัทเบตเตอร์กรีนเวิลด์ว่าจะต้องฟื้นฟูลำห้วยมีกระบวนการ บอกว่าต้องทำให้เสร็จ ถ้าไม่เสร็จมีกระบวนการยังไง หรือเสร็จแล้วมีกระบวนการยังไง จะเกิดการบังคับใช้เรื่องค่าปรับสองแสนบาทขึ้นจริงมั๊ย ต้องบังคับใช้ แล้วก็ต้องเปลี่ยนกระบวนการ วิธีการ หรือเพิ่มเครื่องมือต่างๆ

“การทำหน้าที่ของผมในส่วนที่ปรึกษาก็มีหน้าที่ดูแลให้เป็นไปตามสัญญา ทางบริษัทเองก็มีหน้าที่วางแผนเพื่อให้งานของเขาเสร็จ เพราะว่าในกระบวนการทำงาน มันก็มีส่วนของสัญญาที่ทางบริษัทจะต้องวางแผนในการดำเนินงานให้เสร็จภายใน 1,000 วัน ถึงตอนนี้ก็อยู่ในการพิจารณาของกรมอีกครั้งว่าถ้าทำไม่ทันจะขยายเวลาหรือไม่ แล้วจะขยายกันยังไง”

1000days03

“ค่าเฉลี่ยปริมาณสารตะกั่วในเลือดของชาวบ้านมีแนวโน้มลดลง”

ไพโรจน์ จันทร์แจ้ง
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุ่งเสือโทน

“ผมเป็นนักวิชาการสาธารณสุข มาอยู่ทุ่งเสือโทนตั้งแต่ปี 2560 เท่าที่ทราบการเจาะเลือดเพื่อเฝ้าระวังและติดตามปริมาณตะกั่วในเลือดมีมาตั้งแต่ช่วงปี 2542 มีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นเจ้าของโครงการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุ่งเสือโทนทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านเข้าร่วมกิจกรรม เจาะเลือดได้มากหรือน้อยก็แล้วแต่สถานการณ์ในแต่ละปี เพราะบางทีเจอฝน เจอแดด ชาวบ้านต้องเข้าไร่ กลุ่มที่ได้เจาะเลือดมากหน่อยจะเป็นเด็กวัยเรียน เด็กนักเรียนได้รับการเจาะเลือดเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ล่าสุดเจาะเลือดเมื่อวันที่ 16-18 ธันวาคม 2562

“โรคที่ชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบกล้ามเนื้อ ทางเดินอาหาร แล้วก็มีโรคประจำถิ่น เช่น มาลาเรีย ชิคุนกุนยา งานด้านสาธารณสุขเบื้องต้นของ รพ.สต.ทุ่งเสือโทนก็เหมือนพื้นที่ทั่วไป แต่เนื่องจากที่นี่มีการปนเปื้อนของสารตะกั่วจึงมีงานเฉพาะคือให้ความรู้เรื่องสารตะกั่วด้วย ตั้งแต่ตะกั่วคืออะไร เราสัมผัสมันทางไหน เข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร เมื่อร่างกายรับสารตะกั่วมากเกินไปจะมีผลเสียอย่างไร แล้วเราจะอยู่กับมันอย่างไร

“พื้นที่นี้เป็นถิ่นธุรกันดาร ก็เลยหาบุคลากรมาอยู่ประจำยาก ขณะที่ชาวบ้านอยู่มานานตั้งสองสามร้อยปี เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กระเหรี่ยง บางคนอายุ 50-60 ปี ร่างกายก็รับสารตะกั่วเข้าไป

“ค่าเฉลี่ยปริมาณสารตะกั่วในเลือดของชาวบ้านมีแนวโน้มลดลงจากช่วงปีแรกๆ ที่มีการตรวจ จาก 20 กว่ามิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ปัจจุบันเหลือประมาณ 11 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้ใหญ่ และประมาณ 10 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในเด็ก สาเหตุมาจากการทำงานของหลายภาคส่วน การมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาให้ความรู้ทุกปี ชาวบ้านเองก็ประพฤติตัวค่อนข้างดี บางคนดื่มน้ำต้มสุกเป็นประจำ บางคนดื่มน้ำสะอาดอย่างน้ำฝน ไม่กินน้ำห้วยแล้ว อาหารก็เลือกบริโภค หลังๆ มีรถขายกับข้าวเข้ามาในพื้นที่วันละ 3 คัน ก็จะได้บริโภคอาหารจากรถกับข้าว อาหารท้องถิ่นก็เลือกบริโภคตามฤดูกาล

“นอกจากความรู้ด้านสาธารณสุขดีขึ้น การชะล้างของสารตะกั่วตามกาลเวลาก็น่าจะมีผล กรมควบคุมมลพิษเข้ามาตรวจกุ้ง หอย ปู ปลา ว่าช่วงไหน ฤดูกาลไหน อะไรบริโภคได้อะไรบริโภคไม่ได้ ชาวบ้านก็ได้รับข้อมูล เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน บางคนอาจจะเลือกไม่ได้เพราะด้วยฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี จำเป็นต้องกิน ต้องอยู่ ต้องใช้ ค่าตะกั่วในเลือดก็อาจจะลดลงช้ากว่าคนอื่นเขา”

1000days04

“การดูดตะกอนไม่ง่าย ไม่รู้ว่าใต้ลำห้วยมีอะไรทับถมอยู่บ้าง”

สุเมธ เลาคำ
บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน)

“เราซ้อมดูดตะกอนจากลำห้วยประมาณเดือนมีนาคม ทำจริงจังประมาณเดือนเมษายน แล้วก็เกิดโควิด-19 การดูดตะกอนไม่ง่าย ไม่รู้ว่าใต้ลำห้วยมีอะไรทับถมอยู่บ้าง เจอปัญหาดูดตะกอนแล้วติดกิ่งไม้ใบไม้เข้ามาแต่ตะกอนไม่เข้า ต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจ บอกให้ชาวบ้านลอกใบไม้ออกก่อน ข้อจำกัดที่เราเจอมากที่สุดอีกอย่างคือห้ามตัดต้นไม้ ต้องรักษาสภาพไว้ แม้แต่ขอนไม้ก็ห้ามยก การสกัดหินบริเวณพื้นที่ทำหลุมฝังกลบก็พบงานยากกว่าที่คิดหลายเท่า จากการศึกษาระบุว่าพื้นที่ทำหลุมฝังกลบมีสัดส่วนของดินและหินครึ่งต่อครึ่ง แต่พอขุดจริงพบว่าเป็นดินแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ และกลับมีหินถึง 90 เปอร์เซ็นต์ทำให้ขุดยาก จากที่เคยวิเคราะห์เวลาที่ใช้ในการขุดดิน พอมาขุดจริงๆ มันเป็นงานหิน ล่าช้า ก็เลยทำให้ไทม์ไลน์การก่อสร้างหลุมฝังกลบยืดออกไป

“เรื่องที่หนักใจที่สุดคือหน้างานกว้าง และหน้างานมันหลากหลาย มีปัญหาหลายอย่างที่ต้องแก้ไข ต้องใจเย็นๆ ทำความเข้าใจบริบทว่าพื้นที่คลิตี้เป็นอย่างไร คือเราไม่สามารถจะไปกะเกณฑ์เหมือนการทำงานข้างนอกได้ พื้นที่นี้ไม่ใช่พื้นที่โรงงาน ไม่ได้เป็นสี่เหลี่ยม แม้แต่นักวิชาการหลายคนก็มองว่าโครงการนี้เป็นโครงการนำร่อง พอมาทำถึงได้เข้าใจ ปัญหาร้อยแปดแต่เราพยายามทำให้มันดีที่สุด โครงการนี้ไม่ใช่ว่าจะตั้งหน้าตั้งตาดูดตะกอนอย่างเดียว เรายังทำสาธารณูปโภคพื้นฐาน ตัดถนน สร้างแนวท่อส่งน้ำประปา สนับสนุนน้ำดื่มสะอาด รวมทั้งฟื้นฟูพื้นที่รอบโรงแต่งแร่เดิม

“การทำงานที่ผ่านมายอมรับว่ามีปัญหา แต่เราพยายามแก้ไขในแต่ละส่วน ไม่ได้นิ่งนอนใจ หาทางแก้สเตปหนึ่งสเตปสอง มีปัญหาเข้ามาเรื่อยๆ ก็ค่อยๆ แก้กัน เราเองก็พยายามระมัดระวัง ใครมีข้อวิตกกังวลอะไรก็แลกเปลี่ยนกัน มาตรการมันไม่ได้ fix ก็ต้องพยายามช่วยกันทำให้มันดีขึ้น อย่างช่วงแรกเรายอมรับว่ามีปัญหาเรื่องชุดกันน้ำที่ให้ชาวบ้านสวมเวลาลงไปดูดตะกอนในลำห้วยก็พยายามแก้ ไม่ได้ละเลย หรือเรื่องความขุ่นของน้ำ ผมเองก็กังวล ก็ปรับเปลี่ยนตามที่ได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการไตรภาคี ที่ประชุมและที่ปรึกษาควบคุมงานก็แจ้งเรามาว่าอยากให้มีบ่อพักตะกอน เราก็พยายามเริ่มทำ ตอนนี้ที่ทำไว้คือคลิตี้บนประมาณ 4 บ่อ คลิตี้ล่าง 2 บ่อ สถานีเดิมๆ เราจะเก็บ รื้อถอน ส่วนสถานีใหม่เราพยายามจะทำบ่อดักตะกอน คอยสังเกตถ้าดูไม่ใสก็จะพยายามใช้แผ่นใยสังเคราะห์ geotextile ไปกรอกอีกชั้นหนึ่งก่อนปล่อยน้ำ

“ถุง geopeptipe ที่ใช้บรรจุตะกอนตะกั่วเราสุ่มตรวจ 10 เปอร์เซ็นต์ พบปริมาณตะกั่วเฉลี่ยประมาณ 20,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ขณะที่เป้าหมายการฟื้นฟูตะกอนดินในลำห้วยคลิตี้กำหนดไว้ไม่เกิน 1,800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือถ้าใช้เกณฑ์มาตรฐานดินทั่วไปคือ 520 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม”

“ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมดที่เก็บมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ฐานข้อมูลการก่อสร้างหลุม พิกัด ตำแหน่งบ่อสังเกตการณ์ ค่าตะกั่วก่อนและหลังสร้างหลุมฝังกลบ จะพยายามบันทึกลงฐานข้อมูลเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าไปดูได้”