1

วันที่ 3 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันปลอดถุงพลาสติกสากล (International Plastic Bag Free Day) กำหนดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีต้นเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม อาจกล่าวได้ว่า International Plastic Bag Free Day เป็นกิจกรรมระดับโลกที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-used plastic) และกำจัดพฤติกรรมการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งที่คุกคามสิ่งมีชีวิตให้หมดไป

3 กรกฎาคม 2563 วันปลอดถุงพลาสติกสากล International Plastic Bag Free Day

2

Zero Waste European องค์กรในยุโรปซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อหาทางลดการปลดปล่อยของเสียในชุมชนให้เข้าใกล้ศูนย์ระบุว่า เพื่อจำกัดจำนวนถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง บางประเทศตัดสินใจใช้มาตรการเก็บภาษีหรือกำหนดข้อตกลงรูปแบบต่างๆ ตัวอย่างประเทศที่เข้มงวด ได้แก่ อิตาลี รวันดา บังคลาเทศ ความสำเร็จของมาตรการขึ้นอยู่กับความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย

Zero Waste European ยังรายงานตัวเลขที่น่าสนใจเกี่ยวกับขยะพลาสติก เช่น ถุงพลาสติกส่วนใหญ่ถูกใช้งานจริงๆ เฉลี่ยเพียงแค่ราว 25 นาทีต่อใบเท่านั้น แต่กลับต้องใช้เวลาย่อยสลายยาวนานนับ 100-500 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดของพลาสติก

โดยเฉลี่ยแล้วทุกๆ 1 นาที ประชากรโลกใช้ถุงพลาสติก 1 ล้านใบ

ประชากรในทวีปยุโรปมีค่าเฉลี่ยการใช้ถุงพลาสติกประมาณ 500 ใบต่อปี ขณะเดียวกันก็ร่วมสนับสนุนการห้ามใช้ถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างจริงจัง

ถุงพลาสติกน้ำหนักรวมกันประมาณ 3.4 ล้านตันถูกผลิตขึ้นในสหภาพยุโรป เทียบเท่ากับน้ำหนักของรถยนต์มากกว่า 2 ล้านคัน

ร้อยละ 80 ของขยะในท้องทะเลเป็นพลาสติก

ปัจจัยที่กล่าวมา ก่อเกิดขยะพลาสติกมหาศาล ยากต่อการกำจัด และท้ายที่สุดเกือบร้อยละ 75 ได้ไหลลงสู่ท้องทะเล

 

3

ช่วง 60-70 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตพลาสติกทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล นับตั้งแต่ ค.ศ.1950 ปริมาณการผลิตพลาสติกอยู่ที่ 2.1 ล้านตัน ใน ค.ศ.1993 กลายเป็น 147 ล้านตัน และ 406 ล้านตัน ใน ค.ศ. 2015

ด้วยปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นหลายเท่า ประกอบกับใช้ระยะเวลาย่อยสลายยาวนานนับร้อยปี จึงมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าขยะพลาสติกเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน

หนึ่งในคำตอบที่น่าสนใจคือพลาสติกได้แตกตัวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ยากจะมองเห็น ใน ค.ศ.2004 มีผู้ใช้คำว่า “ไมโครพลาสติก” เรียกพลาสติกขนาดจิ๋วที่สามารถแฝงตัวอยู่ได้ทั้งบนบก อากาศ แหล่งน้ำ แม้กระทั่งก้อนน้ำแข็งที่ขั้วโลก ซึ่งจะคงอยู่ในธรรมชาติต่อไปอีกยาวนานนับร้อยปี เมื่อขยะพลาสติกถูกทิ้งสู่สิ่งแวดล้อม พลาสติกเหล่านี้จะไม่หายไปไหน แต่จะสลายตัวกลายเป็นไมโครพลาสติก และมีโอกาสที่จะเล็ดลอดปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิต

ผลการศึกษาขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ระบุว่าทุกวันนี้มนุษย์อาจบริโภคไมโครพลาสติกจากการดื่มน้ำมากกว่า 1,769 ชิ้นต่อสัปดาห์ จากการบริโภคอาหารทะเลมากกว่า 182 ชิ้นต่อสัปดาห์ แม้แต่การดื่มเบียร์ก็สามารถทำให้เราบริโภคไมโครพลาสติกเข้าไปถึง 10 ชิ้นต่อสัปดาห์ โดยรวมแล้วในแต่ละปี มนุษย์อาจบริโภคไมโครพลาสติกเข้าไปในร่างกายราว 5 กรัมต่อสัปดาห์ หรือเทียบเท่ากับบัตรเครดิต 1 ใบ อาหารที่มีแนวโน้มปนเปื้อนไมโครพลาสติกมากที่สุดคือ อาหารทะเล โดยเฉพาะสัตว์ทะเลมีเปลือกเช่น หอย กุ้ง ปู สารพิษในไมโครพลาสติกอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้

freeplastic02

4

ภาพยนตร์สารคดี The Story of Plastic (2019) สร้างขึ้นโดยกลุ่ม Break Free From Plastic เสนอแง่มุมที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงนักเกี่ยวกับพลาสติก อาทิ การส่งออกขยะพลาสติกจากประเทศต้นทางในทวีปยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาไปยังประเทศแถบเอเชีย การตั้งโรงงานและธุรกิจรีไซเคิลขยะพลาสติก ด้านมืดของโรงไฟฟ้าขยะและผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างว่ารักษ์โลก ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่อยู่ใกล้ชิดกับกองภูเขาขยะในอินเดีย

ภาพยนตร์ความยาว 1 ชั่วโมง 30 นาที เปิดประเด็นว่า ผู้ที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อปัญหาขยะพลาสติกไม่ใช่ผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบริษัทผู้ผลิตน้ำมัน โรงงานปิโตรเลียม ที่สร้างภาพเรื่อยมาว่ากำลังทำเพื่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการพัฒนาวัสดุทางเลือกทดแทนพลาสติก การเก็บขยะริมหาด ฯลฯ เพราะอีกด้าน องค์กรเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่พลาสติก ผู้นำ “ผลพลอยได้” (by product) หรือส่วนเหลือจากการผลิตน้ำมันมาผลิตพลาสติกเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าพลาสติกกับปิโตรเลียม เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ถูกบีบอัดสะสมมาเป็นเวลานานใต้ผืนโลก เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ร้อยละ 99 ของพลาสติกผลิตขึ้นจากปิโตรเลียม The Story of Plastic ตีแผ่ว่า ในกระบวนการผลิตปิโตรเลียมจะทำให้เกิดของเสีย กระบวนการจัดการของเสียทางบริษัทต้องเลือกระหว่างจ่ายเงินเพื่อกำจัดอย่างถูกวิธีหรือเปลี่ยนให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เมื่อพิจารณาในแง่ของผลประกอบการหรือกำไร ผู้ผลิตส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเอง นี่คือที่มาของพลาสติกที่กำลังจะล้นโลกของเรา

 

5

ทุกวันนี้พลาสติกกลายเป็นวัสดุที่มนุษย์ใช้งานราวกับสารเสพติด เพราะความคุ้นชิน เพื่อความสะดวกสบาย ตอกย้ำหายนะของโลกเมื่อสิ่งมีชีวิตแทบทุกชนิดไม่ว่าพืช สัตว์ มนุษย์ ต้องเผชิญอันตรายจากขยะพลาสติก

ในเมืองไทยข่าวน่าสะเทือนใจเกี่ยวกับขยะพลาสติกเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาทิ ข่าววาฬนำร่องครีบสั้นตายในอ่าวไทยเพราะกินถุงพลาสติกเข้าไปเป็นจำนวนมาก ข่าวการลักลอบขนขยะพลาสติกและขยะปนเปื้อนสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมมาป้อนโรงงานจัดการขยะที่ทำผิดกฎหมาย มีทั้งขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและนำเข้ามาจากต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นดินแดน “ถังขยะโลก” ติดอับดับต้นๆ ของประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางของขยะพิษ

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่า ประเทศไทยผลิตและใช้ถุงพลาสติกประมาณ 45,000 ล้านใบต่อปี

สิ่งที่พอจะชะลอวิกฤตนี้ คือ ลดการผลิตและใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง ลดการขุดเจาะน้ำมันและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ส่งเสริมชุมชน zero-waste ออกกฎหมายที่ใช้หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (EPR) ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นขึ้นรวมทั้งอุตสาหกรรมพลาสติก
วันปลอดถุงพลาสติกสากล International Plastic Bag Free Day อาจเป็นอีกวันที่จะช่วยกระตุ้นเตือนให้เราลด ละ เลิกการใช้ถุงพลาสติกชนิดครั้งเดียวทิ้ง ก่อนที่โลกจะถูกทำร้ายมากกว่าที่เป็นอยู่