นางแก้ว ขุนพลแก้ว และขุนคลังแก้ว - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 61

บุญญาธิการแห่งองค์พระจักรพรรดิราชยังนำพา อิตถีรัตนะ หรือ “นางแก้ว” เข้ามาสู่พระบารมีด้วย

บางยุค นางแก้วผู้จะมาเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิราช อาจมาจากตระกูลกษัตริย์มัทราชในชมพูทวีปเอง หรือไม่เช่นนั้นก็อาจเสด็จมาจากอุตตรกุรุทวีปก็ได้

นางแก้วนี้ นอกจากมี “รูปโฉมประโลมโลกอุดมยิ่งนารี” และมีผิวเนื้อ “อ่อนละมุนดุจหนึ่งนุ่นแลสำลี” (อันเป็นลักษณะของสตรีชาวอุตตรกุรุ) แล้ว คุณสมบัติสำคัญคือการทำหน้าที่แทนเครื่องปรับอากาศให้แก่พระยาจักรพรรดิราช เพราะในหน้าร้อน พระนางย่อมเป็น “แม่เนื้อเย็น” แต่พอถึงหน้าหนาว ท้าวเธอกลับกลายเป็น “แม่เนื้ออุ่น”

นอกจากนั้นแล้ว นางแก้วยังเป็น “แม่เนื้อหอม” ที่เนื้อตัวหอมฟุ้งเหมือนกระแจะจันทน์ เวลาพูดจาหรือหัวร่อต่อกระซิก กลิ่นปากก็หอมรวยรินราวกับกลิ่นบัวหลวง

ว่าถึงการปรนนิบัติพระเจ้าจักรพรรดิราช นางนั้น “กระทำอันใดๆ ก็ดี ย่อมชอบใจผัวทุกประการ” คือรู้ใจไปหมด

รัตนะประการต่อไปคือ ปริณายกรัตนะ “ขุนพลแก้ว”

ในคัมภีร์ “ไตรภูมิพระร่วง” อธิบายว่าหมายถึงพระราชโอรสองค์ใหญ่ บังเกิดกลายเป็นขุนพลแก้ว มีสติปัญญาอันว่องไว สามารถล่วงรู้จิตผู้อื่นได้ว่าใครมาดีมาร้ายอย่างไร และอาจรับพระราชภาระ แบ่งเบาจัดการราชกิจและบริหารบ้านเมืองไปจากพระเจ้าจักรพรรดิได้ด้วยความยุติธรรมถูกต้องทุกประการ

คหปติรัตนะ “ขุนคลังแก้ว” คือเศรษฐีและราชบุรุษอันเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทแห่งพระเจ้าจักรพรรดิราช แต่ด้วยพลังแห่งจักรรัตนะ (บางคัมภีร์ว่าเป็นด้วยอำนาจบุญแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ) ทำให้จู่ๆ ท่านผู้นั้นก็กลายเป็นขุนคลังแก้วขึ้นมา คือเกิดมีตาทิพย์หูทิพย์ สามารถแลเห็นขุมเงินขุมทอง และทรัพย์สิ่งของทั้งที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ ทั้งใต้ดินใต้มหาสมุทร แล้วแสวงหามาถวาย เก็บงำเป็นพระราชทรัพย์เข้าท้องพระคลังหลวงได้

อ่านดูแล้วคล้ายกับว่าหูตาขุนคลังแก้วคงทำงานได้คล้ายเครื่องตรวจจับโลหะใต้ดิน อะไรทำนองนั้น

ทั้งหมดนี้ นับแต่จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว ขุนพลแก้ว ขุนคลังแก้ว รวมเป็นเจ็ดสิ่ง เรียกว่า “สัปตรัตนะ” หรือแก้วเจ็ดประการ ถือเป็นของคู่บารมีเฉพาะพระเจ้าจักรพรรดิเท่านั้น ด้วยว่าเกิดขึ้นมาจากการพระราชกุศล จากธรรมที่พระองค์ประพฤติปฏิบัติและยึดถือ อันมีจักรวรรดิวัตร ๑๒ ประการ เป็นอาทิ

เจ้าประคุณ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) พรรณนาจักรวรรดิวัตรเหล่านั้นไว้ในหนังสือ “พจนานุกรมพุทธศาสตร์” ว่าประกอบด้วย ๑) สงเคราะห์ชนภายใน และพลกายกองทหาร ๒) สงเคราะห์กษัตริย์เมืองขึ้นทั้งหลาย ๓) สงเคราะห์เหล่าเชื้อพระวงศ์ ผู้ตามเสด็จเป็นราชบริพาร ๔) คุ้มครองพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ๕) คุ้มครองชาวราษฎรพื้นเมืองทั้งหลาย ๖) คุ้มครองเหล่าสมณพราหมณ์ ๗) คุ้มครองเนื้อนกที่เอาไว้สืบพันธุ์ ๘) ห้ามปรามมิให้มีการประพฤติการอันผิดธรรม ๙) ทำนุบำรุงผู้ขัดสนไร้ทรัพย์ ๑๐) เข้าไปหาและสอบถามปัญหากะสมณพราหมณ์ ๑๑) เว้นความกำหนัดในกามโดยอาการไม่เป็นธรรม และ ๑๒) เว้นโลภกล้า ไม่เลือกควรไม่ควร

โดยเหตุนั้น ภายหลังพระเจ้าจักรพรรดิเสด็จสวรรคต แก้วทุกประการย่อมมลายหายสูญไปพร้อมกับพระชนม์ชีพ

จักรแก้วย้อนคืนกลับลงสู่ท้องมหาสมุทรไปดังเดิม

ช้างแก้วม้าแก้วกลับไปอยู่กับฝูงช้างฝูงม้าต้นกำเนิดเหมือนดังเก่า

แก้วมณีพร้อมด้วยแก้วบริวารเหาะกลับไปสถิตยังเขาวิบุลบรรพต

ส่วนนางแก้ว ถ้ามาจากอุตตรกุรุทวีปก็หวนคืนไปยังถิ่นฐาน หรือหากเป็นชาวชมพูทวีป ก็กลับกลายเป็นสตรีธรรมดาๆ “ดั่งฝูงหญิงเราทั้งหลายนี้แล”

ขุนคลังแก้วที่เคยมีตาทิพย์ก็มิอาจมองทะลุอะไรๆ ได้อีกต่อไป

แม้กระทั่งขุนพลแก้วซึ่งเป็นพระโอรสองค์ใหญ่ หากมิได้มีบุญกุศลส่วนพระองค์เพียงพอเพื่อสืบทอดสถานะพระจักรพรรดิราชไว้ ก็ย่อมเสื่อมถอยไปเองในที่สุด เพราะกษัตริย์ผู้มิได้ทรงบำเพ็ญจริยาวัตรในธรรมย่อมไม่คู่ควรกับรัตนะใดๆ

คติเรื่องแก้วเจ็ดประการของพระเจ้าจักรพรรดินี้ มีเขียนไว้เป็นภาพลายรดน้ำที่ตอนล่างด้านในของบานหน้าต่างพระอุโบสถ วัดนางนอง ธนบุรี และบนบานประตูพระวิหาร วัดโสมนัสฯ กรุงเทพฯ ใครสนใจ ลองแวะไปดูชมกัน