“ถ้าท่านมีมหิทธิฤทธิ์เหาะเหินขึ้นไปในเวหา แลลงมาพิจารณาดูจักรวาลละอันๆ นั้น เห็นเขาจักรวาลปรากฏประดุจขอบสระอันกลม เป็นเขาพระสุเมรุอันแวดล้อมไปด้วยเขาสัตตบริภัณฑ์นั้น ปรากฏประดุจดอกบัวดอกหนึ่ง อันอยู่ท่ามกลางแห่งสระ เห็นทวีปทั้ง ๔ นั้น ปรากฏประดุจใบบัว ๔ ใบอันอยู่ในทิศทั้ง ๔ แห่งดอกบัว”

ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา ของพระยาธรรมปรีชา (แก้ว)

ในจักรวาลแบบเขาพระสุเมรุ ท่านว่ามีแหล่งน้ำใหญ่อยู่สองลักษณะ

อย่างหนึ่งเรียกว่า “สีทันดรสมุทร” เป็นทะเลสาปรูปวงแหวน คั่นระหว่างเขาพระสุเมรุและสัตตบริภัณฑ์แต่ละชั้น

ใน “ไตรภูมิพระร่วง” หรือ “ไตรภูมิกถา” พระราชนิพนธ์ของพญาลิไทย กษัตริย์แคว้นสุโขทัย ซึ่งตั้งอยู่ในเขตที่ดอน พระองค์อาจทรงไม่คุ้นเคยกับ “ทะเล “ จึงเรียกว่าเป็น “แม่น้ำ” คือ “แม่น้ำสีทันดรสมุทร”

สีทันดรสมุทรและโลณสมุทร - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 63

ส่วนคัมภีร์ “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” รุ่นกรุงเทพฯ ระบุว่าสีทันดรสมุทรทั้งเจ็ดชั้นเป็นทะเลสาบน้ำจืด น้ำนิ่งสนิทเพราะถูกขนาบอยู่ด้วยเขาสูงเสียดฟ้าทั้งสองด้าน ไม่มีลมพัดให้เกิดคลื่น “เหตุฉะนี้น้ำในสีทันดรมหาสมุทรนั้นจึงผ่องใสยิ่งนักบมิได้ขุ่นได้มัว น้ำนั้นจืดสนิทกินมีรสอันเย็นชื่นใจทั้งใสทั้งละเอียด แต่แววนกยูงตกลงก็บ่มิอาจจะลอยอยู่ได้ ย่อมจมลงสู่ภูมิภาคเบื้องต่ำ” คือแม้แต่เส้นขนหางนกยูงซึ่งเป็นฝอยยิบย่อยบางละเอียด หากตกลงไปก็ยังมีจม

เรื่องนี้นับเป็นอีกหนึ่งความรู้พื้นฐานของคนสมัยโบราณ อย่างในตอนท้ายเรื่อง “สมบัติอมรินทร์คำกลอน” ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) หลังจากพระอินทร์ไปลักพานางสุชาดา มเหสีหมายเลข ๔ กลับมาจากพิภพอสูรได้ ก็พานางขึ้นเวชยันตราชรถ ให้มาตุลีขับพาเหาะตระเวนเที่ยวชมจักรวาล

“๏ ดำเนินโดยอากาศวิถี                   ตามราศีจักรวาลหว่างไศล
พระชี้ชวนสุชาดายาใจ            ให้ชมน้ำในสีทันดร
แปดหมื่นสี่พันโยชน์ลึกกว้าง  อยู่หว่างมหาสิงขร
กำหนดเขาสัตภัณฑ์ชโลธร                 ชะง่อนสูงกว้างลึกละกึ่งกัน
ใสสะอาดมาตรแม้นมยุรหงส์                จะวางแววหางลงไม่หวนหัน
จนกระทั่งทรายแก้วอันแพรวพรรณ       เจ็ดชั้นล้อมรอบพระเมรุทอง”

ส่วนมหาสมุทรใหญ่ เรียกว่า “โลณสมุทร” ตั้งอยู่ระหว่างเขาอัสสกรรณ ทิวเขาสัตตบริภัณฑ์ชั้นนอกสุด กับเขาจักรวาลที่เป็นกำแพงรอบจักรวาล โดยโลณสมุทรแต่ละทิศจะสะท้อนสีของเหลี่ยมเขาพระสุเมรุในทิศนั้นๆ แยกย่อยไปอีกสี่ทิศ คือขีรสาคร (ขาว) นิลสาคร (เขียว) ผลิกสาคร (แดง) และปีตสาคร (เหลือง) ดังกล่าวมาแล้วแต่ต้น

ความแตกต่างอย่างสำคัญกับสีทันดรสมุทร คือโลณสมุทรเป็นทะเลน้ำเค็ม “น้ำนั้นหยาบ เรือแพนาวาทั้งหลายอาจจะเดินได้”

water cat

ทว่าหากชาวชมพูทวีปคนใดคิดว่าจะลองเป็นนักสำรวจ ออกเรือแล่นตรงขึ้นไปทางเหนือให้ถึงเขาอัสกรรณ (หรืออัสสกัณณะ) หรือล่องลงไปทางทะเลใต้เพื่อหวังชมเขาจักรวาลให้เห็นกับตา คัมภีร์ก็ให้คำตอบไว้เสร็จสรรพว่า “เป็นไปไม่ได้” เพราะบริเวณชายฝั่งโลณสมุทรทั้งสองด้านเป็นทะเลคลั่งสุดแสนอันตราย เรียกว่า “วลวามุขมหาสมุทร”

“คลื่นทั้งหลายนั้นถ้าบังเกิดในกาลเมื่อลมพัด เข้าไปข้างเขาอัสสกัณณะก็กลิ้งเข้าไปเฉพาะสู่เขาอัสสกัณณะ กระทบเขาอัสสกัณณะมีสำเนียงดังสนั่นครั่นครื้นประดุจดังโสตประสาทจะแตกจะทำลาย กระทบนั้นใช่ว่าจะกระทบต่ำหาบมิได้ กระทบสูงได้โยชน์หนึ่งบ้าง สองโยชน์บ้าง ๓-๔-๕ โยชน์บ้าง ๑๐ โยชน์บ้าง”

๑ โยชน์ หากเทียบกับมาตราชั่งตวงวัดปัจจุบันคือ ๑๖ กิโลเมตร

คลื่นสูง ๑๐ โยชน์ ก็คือสูง ๑๖๐ กิโลเมตร !

และว่า “ประเทศที่คลื่นกระทบเขาจักรวาลแล้วแลกลับตกลงสู่มหาสมุทรนั้น ก็เห็นปรากฏประดุจเหวอันใหญ่ แลมหานรกอันใหญ่น่าพิลึกสะพรึงกลัว หนังพองสยองเศียรเหมือนกัน”