เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช, เดชาภิวัชร์ นพมิตร
และพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

แค่นิทรรศการเดียวจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ?

แต่หากมีโอกาสดูนิทรรศการดีๆ สักครั้งอาจเปลี่ยนความคิด

บางเรื่องได้สนุกไปกับเนื้อหา เหมือนได้เดินทางสำรวจเรื่องราวต่างๆ จากทั่วโลก ตื่นตากับข้าวของ บางชิ้นเยียวยาจิตใจ ฉลาดในการนำเสนอแบบทิ้งให้ผู้ชมสงสัยเล่น บางเรื่องสามารถสะกดร่างกายเราไว้นิ่งๆ กับความเงียบเชียบเมื่อเราค่อยๆ ไล่สายตาผ่านสิ่งที่ปรากฏตรงหน้าเพื่อซึมซับให้แผ่ซ่านเข้าความคิด

ชวนท่องโลกจัดแสดงไปกับ ผศ. สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ นักมานุษยวิทยาผู้แสวงการเดินทางพอกับเสพงานศิลปะในหอศิลป์-พิพิธภัณฑ์

ไม่เพียงได้เปิดโลกทัศน์วัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ ความรัก กระทั่งความตายที่เต็มด้วยส่วนผสมศรัทธาของคนเป็น ยังได้รู้จัก “ภัณฑารักษ์” เพิ่มในฐานะผู้รังสรรค์ชีวิตชีวาให้นิทรรศการไม่จำเจ

การดูนิทรรศการครั้งต่อไป อาจให้ความรู้ (สึก) ที่ต่างจากเดิม

:: ประวัติศาสตร์ของจริง ::

๑๐.๓๐ น. ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

เรานัดออกเดินทางสู่โลกของสิ่งจัดแสดงกับผู้อำนวยการ “พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ” เพื่อท่องจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเวลานี้กำลังขอรับการขึ้นทะเบียนเป็น “เมืองมรดกโลก” จากยูเนสโก

อาจเพราะ “โคมล้านนา” ทรงแปดเหลี่ยมสีสันน่ารักราวลูกกวาดยักษ์เรียงระย้าประดับสถานที่ ไม่ต่างจากภาพจำทุกครั้งที่มาถึงเมืองเชียงใหม่แล้วต้องเห็นตามย่านชุมชน ถนนคนเดิน วัดวาอาราม ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวล้านนาในอดีตพก-แขวนเป็นเครื่องกำบังลมไม่ให้เป่าเทียนดับยามวิกาล

suddan02

พ้นประตูบานเลื่อนขนาดใหญ่คือโลกอุปโลกน์ของสรรพสิ่ง เวลานี้กางผืนผ้าเหลือง-เครื่องหมายแห่งพุทธศาสนาล้อมทางลาดขึ้นชั้นสองของพิพิธภัณฑ์ที่สมมติเป็นกำแพงเมืองเก่า

มองข้ามเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวคูลๆ ศิลปวัฒนธรรม เครื่องแต่งกายพื้นเมือง การฟ้อนรำ ชาติพันธุ์บนดอยสูง หรือทรัพยากรธรรมชาติอันงดงามไปก่อน อยากชวนสัมผัสอีกมุมที่น่าตื่นเต้นกว่า

“ผมไม่มีบัตรหรอก แต่ผมมีร่างกายของผม”

เสียงจากชายชาติพันธุ์ไทใหญ่ แรงงานข้ามชาติในสังคมภาคเหนือผู้ประกอบอาชีพค้าบริการทางเพศ ลายมือนั้นปรากฏอยู่บนผืนผ้าเหลือง-สัญลักษณ์ศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์

“สิ่งน่าสนใจคือเป็นการเล่าเรื่องเมืองเก่าที่ไม่ใช่แค่อธิบายถึงเมืองที่ฝันจะเป็นมรดกโลกว่าคืออะไรหรือจัดแสดงเฉพาะวัฒนธรรมดีงาม แต่ฉายให้เห็นภาพจริงของเชียงใหม่ที่ไม่ได้มีแค่คนเมือง ยังมีหลากอาชีพโดยหลายชาติพันธุ์ที่ร่วมอาศัยในพื้นที่เดียวกัน ทั้งหมอนวด ขายบริการทางเพศ นิทรรศการนี้จึงมีถ้อยความต่างๆ แสดงให้เห็นว่าพวกเขาที่ถูกจัดอยู่ในมุมมืดของเมืองส่งเสียงบางอย่างถึงเชียงใหม่อย่างไร”

ผศ. สุดแดน อธิบายภาพรวมของนิทรรศการชื่อยาว “I Think The Old Days Are Really Gone ภาพวูบไหวในคำเล่าของเมืองเชียงใหม่” ที่แตกยอดจากงานวิจัยเกี่ยวกับมรดกโลกเชียงใหม่ของ ผศ. ดร. เทียมสูรย์ สิริศรีศักดิ์ อาจารย์ร่วมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

เขาเปิดวีดิโอกึ่งสารคดีสั้น-ส่วนหนึ่งของสิ่งจัดแสดงฉายให้เห็นอาชีพของผู้คนสังคมกลางคืนหลังพระอาทิตย์หรี่แสงและไฟฟ้าตามท้องถนนยามราตรีเริ่มทวีความคึกคักเมื่อสมทบกับแสงสีตามไนต์คลับ พร้อมเสียงสัมภาษณ์ของหนุ่มชาวไทใหญ่ผู้ประกอบอาชีพสุจริตที่สังคมไทยไม่กล้ายอมรับแต่รู้กันว่าเป็นธุรกิจที่สร้างเศรษฐกิจให้เชียงใหม่ไม่น้อย หลายภาพวูบไหวของชายกำยำทั้งผู้ค้าและลูกค้าเพศเดียวกันสะกดให้ยืนดูและฟังสำเนียงเสียงแปร่งอยู่นานโดยยากจะห้ามสายตาไม่ให้เหล่ผ้าเหลืองที่ล้อมอยู่

suddan04 1

อาจารย์-นักมานุษยวิทยาพาออกจากย่านสถานบันเทิง ลอดซอยแคบที่คลุมผ้าดำจนมืดชวนให้จินตนาการต่อเองว่าเป็นตรอกของคนทำงานให้บริการความสุข คิดเองว่าน่าจะดีถ้ามีแสงไฟกระพริบพร่างพรายอยู่ในห้องมืดเล็กๆ พร้อมโต๊ะวางเครื่องดื่มสักชุดเพื่อดึงดูดให้ยิ่งเข้าถึงบรรยากาศของนิทรรศการ

ภัณฑารักษ์-นักวิชาการหัวเราะ ก่อนเดินมาตรงนี้เขาเพิ่งเล่าถึง “พิพิธภัณฑ์ ดู เก บร็องลี่ย์” (Musee du quai Branly) ที่กรุงปารีส สวรรค์ของผู้นิยมศิลปะแห่งชาติพันธุ์และเรื่องราวอารยธรรมโลก

“พิพิธภัณฑ์นั้นจัดตั้งขึ้นเพื่อแสดงสิ่งของชาติพันธุ์จากทั่วโลก แต่ภายในกลับนำเสนอการจัดแสดงราวกับเป็นพื้นที่ทางศิลปะ มีการจัดแสงสีสวยงาม ฝ่ายนักมานุษยวิทยาวิจารณ์ว่าเป็นการมุ่งเน้นให้เสพความงามทางศิลปะมากกว่าที่จะมุ่งให้ความรู้ความเข้าใจวัฒนธรรมในสังคมผ่านการจัดแสดงสิ่งของ ขณะเดียวกันก็มีผู้สนับสนุนว่าการนำเสนอในรูปแบบศิลปะเป็นเพียงวิธีดึงดูดความประทับใจผู้ชมอย่างหนึ่งแต่ก็ยังคงให้ข้อมูลอยู่ ซึ่งมีช่องทางแนะนำให้ผู้สนใจศึกษาเพิ่มได้ เราว่าประเด็นนี้น่าสนใจนะ เช่นเดียวกับที่ในยุคแรกของการจัดตั้ง ‘พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์’ สิ่งของต่างๆ ของชาติพันธุ์แทบไม่เคยได้จัดแสดง มีแต่งานศิลปะชั้นเลิศอย่างภาพเขียนโมนาลิซา หรือผลงานของ Louis David จนมายุคนี้ถึงมีห้องหนึ่งจัดแสดงสิ่งของชาติพันธุ์ เป็นเรื่องน่ายินดีว่าการที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้แสดงผลงานประติมากรรมหินอ่อนที่สร้างโดย Michelangelo ร่วมกับงานแกะสลักไม้ของชนเผ่า ก็คือการยอมรับว่ามีคุณค่าเทียบเท่ากัน”

ออกจากตรอกกลางคืนย่านกำแพงเมืองเก่า อาจารย์สุดแดนพาเยี่ยมวิถีชาวคุก

suddan05

“ในเชียงใหม่มีชาวไทใหญ่จำนวนไม่น้อยที่ถูกตัดสินจากความผิดในคดีต่างๆ สะท้อนปัญหาและการแก้ปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญอันเนื่องมาจากการเข้ามาทำงานในเมืองเชียงใหม่”

อย่างที่ต่างรู้ นับแต่แบ่งเขตประเทศ ชนกลุ่มน้อยจากเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ลาว เวียดนามตอนเหนือ จีนตอนใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ต่างอพยพมาไทยจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือชาวไทใหญ่-รัฐฉานที่แยกย้ายหางานทั่วภาคเหนือ บ้างได้บัตรผู้พลัดถิ่น บัตรประชาชนชาวเขา บัตรประชาชนปลอม ฯลฯ ซึ่งแสดงสิทธิแตกต่างในสังคมไทย ชาวพลัดถิ่นจึงพยายามแสวงหาโอกาสในเชียงใหม่

“พวกนี้เป็นจดหมายจริงที่เขียนโดยผู้ต้องขังในเรือนจำ บางคนเขียนไปขอเพลงกับดีเจที่สถานีวิทยุของเชียงใหม่ซึ่งมักเปิดเพลงหลายภาษา เพลงสำหรับชาวไทใหญ่ก็มี”

ภัณฑารักษ์ชี้ชวนดูกระดาษที่วางใต้แผ่นกระจก ตื่นตาพอควรสำหรับเราซึ่งเป็นคนต่างถิ่น แต่คงไม่แปลกสำหรับคนพื้นที่ รู้กันว่ามีสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่ ภาคภาษาชนเผ่า ที่ให้บริการถึง ๗ ภาษา นักจัดรายการวิทยุชื่อดังที่เป็นชาวไทใหญ่ก็มี แม้แต่คอนเสิร์ตเพลงไทใหญ่ก็เคยจัดในสวนสัตว์เชียงใหม่มาแล้ว แต่จดหมายขอเพลงฉบับจริงด้วยลายมือผู้ต้องขังก็หาดูไม่ง่าย

ในแง่ประวัติศาสตร์หลักฐานน้อยใหญ่ล้วนทำหน้าที่ยืนยันความเป็นไปของยุคสมัย

สำหรับพิพิธภัณฑ์ถือเป็นสิ่งจัดแสดงที่มีชีวิต มีลมหายใจ มีกลิ่นสถานที่จดปากกา

“แต่ไหนแต่ไรเราต่างยอมรับกันว่าพิพิธภัณฑ์คือสถานที่จัดแสดงสิ่งของและให้เนื้อหาในแง่ความรู้ หัวใจของพิพิธภัณฑ์จึงต้องมี ‘วัตถุจัดแสดง’ ของจริงเพื่อประโยชน์ในการศึกษา แต่เดี๋ยวนี้พิพิธภัณฑ์บางแห่งก็จัดแสดงเรื่องราวต่างๆ โดยไม่มี ‘ของจริง’ หรือมีน้อย แต่อาศัยการแสดงโดยสื่อสมัยใหม่ที่อาจดูหวือหวากว่า เช่น ภาพยนตร์ สื่อเคลื่อนไหว หรืองานสร้างสรรค์ ในระยะหลังจึงมีการถกเถียงว่า ความเป็นพิพิธภัณฑ์ต้องมีสิ่งของจัดแสดงมากน้อยแค่ไหน มีแต่ของจำลองหรือใช้เทคโนโลยีทำเป็นภาพสาม-สี่มิติแค่นั้นพอหรือ ถ้าเช่นนั้นก็เท่ากับว่าแค่เป็นสถานที่ให้ความรู้ ให้ประสบการณ์ใหม่ แต่ไม่ได้มีของจริงให้ศึกษา แล้วหน้าที่ของวัตถุกับพิพิธภัณฑ์ยังมีความเชื่อมโยงกันหรือ”

เราพากันออกจากเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ พยายามจดจำเรื่องราวของผู้คนผ่านสื่อจัดแสดงต่างๆ ความจริงการได้มารู้เห็นเชียงใหม่ในอีกมิติก็ตื่นใจระดับหนึ่ง แต่อาจยังสัมผัสไม่ถึงความเป็นเมืองเชียงใหม่เท่าไร ต่อเมื่อได้เห็นจดหมายของจริงหลายฉบับจากลายมือผู้ต้องขังนั่นล่ะ

“ภาพวูบไหวในคำเล่าของเมืองเชียงใหม่” จึงสมบูรณ์และมีชีวิตชีวา

:: ข้าวของบอกเล่าวิถีมนุษย์::

คล้ายกำลังไต่กำแพงเมืองเก่าเมื่อเดินขึ้นทางลาดสู่ชั้นสองของพิพิธภัณฑ์

เป็น “คลังเปิด” หรืออาจเรียกว่า “นิทรรศการถาวร” ที่มาเมื่อไรย่อมได้เห็น

ว่าด้วยเรื่อง “สิ่งของ กับ ผู้คน” แสดงเครื่องใช้สะสมนานกว่า ๔๐ ปี และศิลปวัตถุกว่าครึ่งหมื่นชิ้น เกือบครึ่งรับบริจาคจาก ดร.วินิจ วินิจฉัยภาค ศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย และคุณหญิงพรรณี วินิจฉัยภาค

“คุณค่าสิ่งของคือช่วยให้เราเข้าใจมนุษย์ สิ่งสะสมที่รับบริจาคอันหลากหลายจึงมีความหมายเมื่อผ่านสายตาของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ซึ่งมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับสังคมวิทยาพิพิธภัณฑ์ โบราณคดี พิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรม ที่นี่จึงเป็นทั้งที่จัดแสดงและใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในตัว”

อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาชวนชมสิ่งละอันพันละน้อยตามกำแพงทางลาดที่ใช้กั้นกำหนดเขตสู่อีกบริเวณและเป็นตู้จัดแสดงในตัว หลังกระจกกั้นมีทั้งภาชนะดินเผา เครื่องเบญจรงค์ เครื่องจักสาน เครื่องสำริด เครื่องประดับ เครื่องรางของขลัง ฯลฯ อายุนับพันปีไล่มาถึงของที่ทันเห็นในช่วง ๕๐ ปี

เราสนใจขวดแก้วจิ๋ว ภายในบรรจุตุ๊กตาแกะสลักจากไม้-ความจริงคือรากของ “ต้นรัก” และ “ต้นมะยม” นำมาอุปโลกน์เป็นตุ๊กตาเด็กผมจุก นุ่งโจงกระเบน ไม่ใส่เสื้อ แล้วเรียก “รัก-ยม”

ต้องไม่ลืมว่านี่คือของจริงจากเจ้าของเดิมซึ่งคงไม่ได้ตั้งโชว์เป็นตุ๊กตาเฉยๆ นึกถึงครอบครัวตัวเองสัก ๓๐ ปีก่อน พ่อนำเข้าบ้านมาแนะนำให้ทุกคนรู้จัก “สมาชิกใหม่ของครอบครัว” เวลากินข้าวก็เรียก ไปเที่ยวก็ชวน เซ่นไหว้อาหาร ของเล่น เครื่องนอนเหมือนของมนุษย์ย่อส่วน ด้วยเชื่อว่าผ่านพิธีปลุกเสกแล้ว เด็กสองตนที่แช่อยู่ในน้ำมันจันทน์ขวดจิ๋วจะช่วยให้ธุรกิจค้าขายของพ่อรุ่งเรือง เป็นหูเป็นตาดูแลคนในบ้าน

ไม่มีใครเคยเห็นวิญญาณเด็กสองตน แต่แปลกที่มักแว่วเสียงหัวเราะ-วิ่งเล่นในบ้านเสมอ

“สมเด็จพระเทพฯ เคยเสด็จฯ ตอนเปิดพิพิธภัณฑ์นี้แล้วรับสั่งว่าต้องมีของกินให้เขาด้วย”

จากที่รู้สึกเฉยๆ สิ้นเสียงเรื่องเล่าจากภัณฑารักษ์เลยเกิดอาการขนลุกเล็กๆ นึกตามว่าถ้านำขนมหรือน้ำหวานเสียบหลอดตั้งไว้หน้าตู้จัดแสดงจริงและมีเจ้าหน้าที่คอยเปลี่ยนให้ทุกวันคงพิลึก

suddan10

“เคยมีเพื่อนเล่าถึงนิทรรศการหนึ่งที่เมืองเบอร์ลินว่าที่นั่นจัดแสดงวัตถุในวัฒนธรรมอิสลาม ครั้งหนึ่งมีผู้ชมชาวมุสลิมเข้าไปทำพิธีสวด นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่แปลกมาก ปรกติวัตถุในพิพิธภัณฑ์มักจะจัดแสดงเพื่อการมองดู แต่เมื่อมีศาสนิกบางคนนั่งลงเบื้องหน้าวัตถุและสวดทำพิธี ทำให้พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์เปลี่ยนความหมายไปจากเดิม คนที่ยึดติดหลักการพิพิธภัณฑ์ก็มองว่าไม่เหมาะ เพราะพิพิธภัณฑ์ควรอยู่ในโลกฆราวาสทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้ความรู้ หากให้ประกอบพิธีกรรมพิพิธภัณฑ์จะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ภัณฑารักษ์ที่นั่นก็เปิดโอกาส จริงอยู่ว่าในบางพิพิธภัณฑ์อาจจัดให้มีเสียงในพิธีกรรมเปิดให้ได้ยิน เพื่อสร้างบรรยากาศขรึมขลัง แต่เสียงจากลำโพงก็ยังเป็นเพียงเครื่องประดับของการจัดแสดง แต่นี่คือเสียงสวดจริงทำให้วัตถุนั้นมีพลังจากศรัทธา หรืออย่างพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่กรุงเดลลีในอินเดียก็มีแสดงพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า จากเคยให้แต่ความรู้ว่าเป็นกระดูกที่พบในโบราณสถาน ต่อมามีคนเข้าไปกราบ สวดมนต์ ภัณฑารักษ์ก็อนุญาต พิพิธภัณฑ์นั้นจึงกลายเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่มีชีวิต”

ข้อดีหนึ่งของศิลปะคือทำให้มนุษย์เห็นความงามและเคารพในสิ่งอื่น พอหัวใจละเอียดอ่อนก็ช่วยให้ใช้ปัญญามากกว่ารสนิยมตัดสิน เป็นการมองเห็นคุณค่าจริงที่อยู่ในสิ่งนั้น

“มีเหมือนกันที่บางพิพิธภัณฑ์นำสิ่งศรัทธาทางศาสนาเข้าไปจัดแสดง แล้วเกิดข้อเรียกร้องว่าควรออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมด้วย ของบางสิ่งไม่เหมาะสำหรับให้ทุกคนเข้าชม หรือวัตถุบางอย่างก็มีคุณค่าขนาดว่าควรสงวนสิทธิ์ให้เข้าชมได้เฉพาะชาวชาติพันธุ์นั้นๆ พิพิธภัณฑ์จึงต้องปรับตัวเข้าหาสังคมมากขึ้น”

ในแง่ของการจัดแสดงสิ่งต่างๆ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ภัณฑารักษ์ยิ่งต้องคิดให้รอบด้าน

“สมัยก่อนพิพิธภัณฑ์นำศพคนมาแสดงเป็นกรณีศึกษาได้ แต่ปัจจุบันถือเป็นเรื่องละเมิดสิทธิในร่างกายของผู้ตาย เห็นได้จากประเด็นซีอุยที่เคยอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของโรงพยาบาลศิริราช ต่างประเทศที่มีการจัดแสดงร่างผู้ตายเป็นนิทรรศการถาวรก็เจอปัญหานี้ มีชาวอินเดียนแดงเรียกร้องพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งขอคืนร่างนักรบไปประกอบพิธีกรรมให้ถูกต้องตามความเชื่อว่าวิญญาณจะได้ไปสู่สุขคติจริงๆ ทางพิพิธภัณฑ์จึงประนีประนอมโดยอนุญาตให้ชนเผ่าเข้าไปประกอบพิธีแก่ซากศพที่พวกเขาเคารพปีละครั้ง”

แม้จะมีข้อควรระวังมากมาย แต่ในแง่ดีก็เป็นการเปิดโอกาสให้มีพื้นที่สนทนา

“ปัจจุบันมีการเรียกร้องว่าพิพิธภัณฑ์น่าจะทำอะไรได้มากกว่าให้ความรู้ เช่น จัดแสดงเนื้อหาที่เปิดโอกาสให้สังคมได้ถกเถียง-แลกเปลี่ยนบ้าง อย่างเรื่องเพศ การเหยียดสีผิว ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เลิกทาส แต่ก็มีความเห็นแตกเป็นสองฝ่ายอยู่ว่าจะดีหรือหากพิพิธภัณฑ์มีบทบาทแบบนั้น”

เพราะอาจกลายเป็นพื้นที่สร้างความขัดแย้ง โดยเฉพาะเมื่อเป็นเหตุการณ์สะเทือนใจ

suddan12

“ล่าสุดพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์ฯ จัดนิทรรศการ ‘เจ้าชายน้อย’ มีมุมหนึ่งเจ้าชายน้อยยืนดูเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เป็นภาพชายใช้เก้าอี้พับตีศพนิรนามที่ถูกแขวนคอ ก็มีผู้ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมว่าเป็นการตอกย้ำเรื่องความรุนแรงไหม หรือการนำภาพของเขามาเล่าซ้ำละเมิดสิทธิผู้ตายหรือเปล่า กรณีนี้เราอธิบายว่าภาพนี้เป็นภาพจำของสังคมอยู่แล้ว การที่เรานำมาจัดแสดงก็มีเป้าหมายเพื่อสะท้อนความรุนแรงของเหตุการณ์ในวันนั้น และเราได้ใช้เทคนิคลบเลือนบางส่วนของใบหน้า ซึ่งภาพนี้ก็รุนแรงน้อยกว่าภาพที่มีการใช้ไม้ตอกอวัยวะเพศหญิง เราคิดว่าขึ้นอยู่กับการจัดแสดงทำด้วยเจตนาใด จากเดิมอาจมองว่าการจัดนิทรรศการคือศิลปะอย่างหนึ่ง ให้ความงาม เสนอความรู้ สื่อความสำคัญ แต่ปัจจุบันสิ่งจัดแสดงมีความซับซ้อนมากขึ้น ที่ว่ามาจึงไม่พอ ต้องให้ความเคารพด้วย”

เขาว่า แรกคิดทำนิทรรศการ “เจ้าชายน้อย : หนังสือ การสะสม และการสนทนาข้ามวัฒนธรรม” ก็มีฉากนี้อยู่ในใจแล้ว เพียงอยากเสนอว่าถ้าเจ้าชายน้อยเดินทางมาถึงสนามหลวงในช่วงสายของวันนั้นตามคำแนะนำของนักภูมิศาสตร์แห่งดวงดาวหมายเลข ๓๓๐ “ภาพนี้” อาจคือสิ่งที่เจ้าชายน้อยจะได้พบ

“ที่เลือกใช้เพราะชวนให้สะเทือนใจ เกือบทุกคนที่ยืนดูบ้างยิ้มสะใจ บ้างหัวเราะ หลายคนในนั้นเป็นเด็กที่มีอายุ ๗-๑๕ ปี บางคนคงอายุเท่าเจ้าชายน้อย และรอยยิ้มของพวกเขาก็ดูบริสุทธิ์”

เจ้าของนิทรรศการว่า ถ้าใช้ “ความรู้สึกสัมผัส” อาจเห็นบางสิ่งที่แจ่มชัดกว่านั้น

“ถ้าใช้สายตาพิพากษาคงอดไม่ได้ที่จะกล่าวตำหนิคนที่ยืนนิ่งมองดูคนทำร้ายศพ แต่ถ้านึกถึงคำพูดของสุนัขจิ้งจอกที่บอกความลับแก่เจ้าชายน้อยว่า ‘สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยดวงตา เราจะเห็นได้ก็ด้วยหัวใจเท่านั้น’ อาจต้องหยุดคิดและตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้คนเหล่านี้ สิ่งใดทำให้เขาเป็นเช่นนั้น”

อันที่จริง จะเรื่องรัก-ยม วัตถุสัญลักษณ์ของอิสลาม พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ศพซีอุย ร่างนักรบอินเดียนแดง หรือภาพศพนิรนามที่ถูกแขวนคอ

มองให้ดีก็เป็นเรื่องเดียวกัน “ดูของเพื่อเข้าใจคน”

suddan14

:: มือของผู้จัดแจงชีวิตใส่พิพิธภัณฑ์::

ขยับเป้ให้กระชับบ่าอีกครั้ง ผู้อำนวยการกำลังนำทางกลับ “ทุ่งรังสิต”

ท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เคยทำหน้าที่เป็นแอ่งรับน้ำหลากจากภาคเหนือเมื่อฤดูฝนมาเยือน ความที่เป็นแหล่งอุดมพืชหญ้าพลอยเป็นที่อาศัยของสัตว์น้อยใหญ่ตั้งแต่หนู นก งู สัตว์เลื้อยคลานอย่างเหี้ย ไปจนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างกวาง ละมั่ง สมัน และช้าง

น่าสนใจ “สมัน” สัตว์สูญพันธุ์แล้ว เคยมีชุกตามทุ่งหญ้าภาคกลางย่านบางเขน หลักสี่ ดอนเมือง รวมถึงทุ่งรังสิต กระทั่งถึงยุคที่ “นาข้าว” มาแทนที่ทุ่งธรรมชาติ สมันจึงหายจากพื้นที่

เคยมีผู้บันทึกว่า “สมันตัวสุดท้ายของไทย” เป็นตัวผู้ อาศัยอยู่วัดหนึ่งในย่านมหาชัย ได้รับการเลี้ยงโดยสมภาร เมื่อทางราชการได้ข่าวก็ติดต่อขอซื้อ แต่ช้าไปวันเดียวสมันตัวนั้นก็ถูกตีตายด้วยเหตุผล “มันขวางทาง” ปิดตำนานกวางที่มีเขาสวยที่สุดในโลกลงอย่างถาวรในปี ๒๔๘๑ ปัจจุบันตัวอย่างสมบูรณ์ของซากสมันจริงที่สตัฟฟ์ไว้มีให้ชมเพียงแห่งเดียวในโลกที่ “พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติ” (Museum national d’histoire naturelle) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ถึงอย่างนั้นเรื่องสมันก็น่าศึกษาในฐานะสิ่งสะท้อนความเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทุ่งรังสิตก่อนเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญของประเทศ กระทั่งเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมเฟื่องฟูก็พัฒนาเป็นย่าน “อุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศ” เกิดเป็นอาชีพ “สาวโรงงาน” มีวิถีอยู่บนพื้นที่เดียวกับ “นักศึกษา” ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตยุคบุกเบิก เครื่องแบบหนึ่งทำงานเป็นเวลา อีกเครื่องแบบร่ำเรียนวิชาเพื่อเป็นบัณฑิต

เมื่อไม่ใช่แค่มนุษย์ที่มีอัตชีวประวัติ สถานที่แต่ละแห่งก็มีชีวประวัติของตน

อุรฉัตร อุมาร์, เหมือนพิมพ์ สุวรรณกาศ และเดชาภิวัชร์ นพมิตร คณะภัณฑารักษ์แห่งทุ่งรังสิตจึงจัดนิทรรศการหมุนเวียน “จากสมัน นาข้าว สาวโรงงาน ถึงนักศึกษา และเหี้ย” ขึ้นโดยจำลองบางส่วนของ “ทุ่งรังสิต” มาเล่าความสัมพันธ์ผ่านการเชื่อมโยงเรื่องราวกับวัตถุทางวัฒนธรรม

สิ่งจัดแสดงในงานไม่เพียงให้ความรู้ ยังแฝงอารมณ์ขันและความสนุกไว้กับตุ๊กตา “เหี้ย” ตัวโต นอนสงบอยู่กลางห้องขนาด ๑๐x๑๐ เมตร ที่สมมติเป็นส่วนหนึ่งของท้องทุ่ง ให้อุ้มขึ้นกอดหรือนอนหมอบคลานเป็นเพื่อนเหี้ยถ่ายรูปเล่นได้ บนป้ายนิทรรศการมีเกร็ดคำเรียกขานเหี้ยด้วยชื่อต่างๆ เช่น คิตตี้ บุ๋ย ตุ๊ดตู่ กุ๊งกิ๊ง จุ๊บแจง ฯลฯ พร้อมเรื่องน่ารักน่าชังของหมู่เหี้ยกับชาวธรรมศาสตร์

  • suddan17 1
  • suddan17 2

นึกชื่นชมคนเบื้องหลัง ด้วยรู้ว่านิทรรศการสวยๆ สักเรื่องไม่เพียงต้องใส่ใจบรรยากาศการเดินชมนิทรรศการที่ควรต้องมีชีวิต และถ่ายทอดให้ใกล้เคียงประสบการณ์ของผู้เคยเห็นมากที่สุด ยังหมายรวมถึงป้ายความรู้ที่ต้องจัดวางตัวหนังสือ รูปภาพ สเปซ อย่างพอเหมาะ ภาพประกอบที่เลือกนำมาจัดวางก็ต้องดึงดูดสายตาเป็นระยะ เพราะเลย์เอาต์ที่ดีจะช่วยเสริมให้เนื้อหายิ่งทรงพลัง

สมัยก่อนแทบจะไม่มีใครเคยคิดว่า นั่นคือบทบาทของภัณฑารักษ์

ย้อนความกันหยาบๆ ตามพจนานุกรม “ภัณฑารักษ์” คือผู้ดูแลสถานที่และสิ่งจัดแสดง

มาจากศัพท์สันสกฤต “ภาณฺฑารกฺษ” (ภาณฺฑ + อารกฺษ) คนไทยจึงเหมาความว่าคงเป็นงานด้าน “อนุรักษ์” วัตถุโบราณหรือศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ทำหน้าที่เบื้องหลัง จัดทำทะเบียนหมวดหมู่สิ่งของ ฯลฯ

ภาษาอังกฤษเรียกตำแหน่งที่รับผิดชอบสูงทั้งแง่บริหารและปฏิบัติการนี้ว่า “คิวเรเตอร์” (Curator) ยืมจากคำละติน “Cura” หมายถึง “การดูแล” อดีตใช้กับผู้รักษาวัตถุทางวัฒนธรรมของหอศิลป์-พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ต่างๆ แต่ปัจจุบันมีบทบาทด้านจัดงานนิทรรศการรวมถึงการคัดสรรงานของศิลปินใดๆ ที่จะนำมาจัดแสดงก็ล้วนผ่านวิสัยทัศน์ของคิวเรเตอร์ กลายเป็นตำแหน่งสำคัญและมีงานชุกในระดับนานาชาติ

“สำหรับพิพิธภัณฑ์ที่นี่เราอยากเรียกใหม่ว่า ‘พิพิธภัณฑกร’ มากกว่า”

แรกฟังการออกเสียง “พิ-พิด-ทะ-พัน-ทะ-กอน” ถึงกับอุทาน “ฮะ?” ซ้ำๆ

“มันมาจาก ‘พิพิธ+ภัณฑ์+กร’ เพื่อสื่อถึง ‘มือของผู้จัดแจง จัดแสดงสิ่งของต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์’ ซึ่งน่าจะตรงกับบทบาทที่แท้จริงมากกว่า อย่างที่พิพิธภัณฑ์ของเรามีของในคลังมากมาย การจะทำให้ข้าวของเหล่านั้นนำไปสู่ความเข้าใจในมนุษย์ก็ต้องคิดว่าจะนำอะไรออกมาใช้บ้างเพื่อเสนอเรื่องอะไร จะเล่าแบบไหนจึงจะสื่อความไปถึงผู้ชมได้มากที่สุด ก็เป็นหน้าที่ของพิพิธภัณฑกรนั่นล่ะ วัตถุแต่ละชิ้นเล่าเรื่องได้ไม่รู้จบ นำมาหมุนเวียนจัดทำนิทรรศการได้หลายเนื้อหา กระดูกชิ้นเดิมครั้งหนึ่งเคยเล่าเรื่องความเป็นมนุษย์ ครั้งต่อไปอาจเล่าเรื่องเพศ ชนชั้น หรืออะไรอีกมากขึ้นอยู่กับเราจะมองของสิ่งนั้นในประเด็นไหน”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เจ้าของพื้นที่เล่าถึงความตั้งใจในการออกแบบพิพิธภัณฑ์

“แต่ละปีจะมีนิทรรศการหมุนเวียนอย่างน้อย ๒ เรื่อง คำนึงถึงประโยชน์การศึกษาเป็นหลักเพื่อให้นักศึกษาจากหลายคณะได้เวียนมาเยี่ยมชมแบบมีส่วนร่วมกับเนื้อหานั้นๆ เช่น อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ที่สอนสิ่งแวดล้อมรู้ว่าพิพิธภัณฑ์กำลังจัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับทุ่งรังสิตซึ่งมีความเกี่ยวพันกับในสาขาวิชาก็ให้นักศึกษามาดูหรือออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนให้นักศึกษามาชมนิทรรศการเพื่อทำรายงาน หรือนิทรรศการเจ้าชายน้อยก็มีอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ภาควิชาภาษาฝรั่งเศส จัดการเรียนให้นักศึกษามาเล่นละครสั้นๆ เช่นเดียวกับในรายวิชา ‘Voice Training’ ของคณะศิลปกรรมก็มาเรียนกันที่นี่”

เขาว่าในอนาคต อาจผลักดันนิทรรศการหมุนเวียนเรื่องทุ่งรังสิตขึ้นเป็นนิทรรศการถาวร

“เพราะคิดว่าพื้นที่นี้มีความสำคัญกับประเทศหลายด้าน ทั้งทรัพยากรธรรมชาติไปจนเศรษฐกิจ และอย่างน้อยที่สุดนักศึกษาที่เพิ่งมาเรียนปี ๑ ก็จะได้รู้จักและเข้าใจพื้นที่อยู่อาศัยของตนเอง มากกว่านั้นคืออยากเห็นพิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมของทุ่งรังสิต ให้ภาพจำของย่านนี้มีมากกว่ามหาวิทยาลัยหรือหอพักนักศึกษา แต่เนื่องจากชาวชุมชนละแวกนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นนักศึกษานับหมื่นคน วันว่างถ้าพวกเขาไม่อยากเข้าห้องสมุดหรือโรงละครก็อาจจะมาพิพิธภัณฑ์บ้าง คนที่อาศัยอยู่ในย่านนี้ก็มาเที่ยวได้”

ยังมีอีกหลายประเด็นสนุกที่น่าใช้เวลาละเลียด นอกจากได้อิ่มสมองกับเกร็ดของทุ่งรังสิตยังได้มีโอกาสย้อนความทรงจำที่แฝงอยู่กับสรรพสิ่งจัดแสดง ซึ่งบางอย่างอาจถูกลืมไปให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

“โดยปรกติแล้วที่นี่เปิดโอกาสให้เดินชมได้ตามอัธยาศัย แต่หากต้องการให้มีพิพิธภัณฑกรนำชมทุกคนก็ยินดี ผู้ชมก็จะเที่ยวได้สนุกขึ้น อาจได้ข้อมูลเพิ่มในส่วนที่ป้ายนิทรรศการเล่าได้ไม่หมด หรือบางทีพิพิธภัณฑกรบางคนก็อาจเล่าไปได้ไกลกว่าเรื่องที่อยู่ในนิทรรศการด้วย”

suddan20

กลับจากการเดินทางท่องโลกนิทรรศการ

เราแยกย้ายกันที่หน้าอาคารสีขาวสองชั้นทรงทันสมัยของพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในไม่ช้าบางนิทรรศการข้างในนั้นจะเปลี่ยนเป็นเรื่องอื่น เพื่อเชื้อเชิญให้ผู้เคยมากลับมาเยือนอีกครั้ง ไม่ใช่เพียงเสพความรู้ ดูงานศิลปะ ยังได้แอบซึมซับความคิดสร้างสรรค์ของเหล่านักจัดแจงชีวิตใส่พิพิธภัณฑ์

ขณะที่พวกเขาคิดวิธีจัดแจงนิทรรศการ

พิพิธภัณฑ์ก็จัดแสดงวิธีคิดของพวกเขา