อะไรที่รู้สึกอยากได้ เรียกว่าไม่มีไม่ได้ คือ “ของมันต้องมี”

เจ้าตัวจัดของมาแล้วโพสต์บอกต่อ คนที่ยังไม่มีเห็นแล้วก็รู้สึก “ของมันต้องมี” ตามไปหามาบ้าง เป็นกระแส  

น่าคิดว่าปัจจัยอะไรบ้างล่อใจให้เราต้องตามไปมี ตามไปเป็น ตามไปทำ…กับเขาบ้าง

อยากไปกินอาหาร กินขนม ดื่มกาแฟ ร้านนั้นร้านนี้ อยากไปดูงานศิลปะที่นั่นที่นี่ 

ก่อนที่คำว่า “มีม” จะจำกัดอยู่เฉพาะเรื่องภาพตลก ๆ หรือมุกขำ ๆ ที่ทุกคนทำเลียนแบบแล้วแพร่กันไปอย่างรวดเร็วในโลกโซเชียลมีเดีย

เริ่มแรก “มีม” มีความหมายกว้างกว่านั้น  

มีม : ของมันต้องมี - จากบรรณาธิการ ฉบับที่ 429

ริชาร์ด ดอว์กินส์ ผู้เขียนหนังสือชื่อ The Self ish Gene (ยีนเห็นแก่ตัว) นิยามศัพท์นี้ว่า มันคือ “ยีนทางวัฒนธรรม”เป็นไอเดียที่ได้รับความนิยมสามารถทำซ้ำตัวเองแพร่จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง อาจเป็นได้ทั้งแฟชั่น การแต่งกาย ศิลปะ การออกแบบ ไอเดียการทำอะไรสักอย่าง วิถีการใช้ชีวิต ฯลฯ ที่ได้รับการทำต่อซ้ำ ๆ 

ดอว์กินส์เขียนหนังสือเล่มนี้ไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ เกือบ ๔๕ ปีแล้ว

ถึงวันนี้อิทธิพลของสื่อโซเชียลฯ อาจทำให้มีมเป็นมากกว่าการแพร่ยีนตามธรรมชาติ 

แต่เป็น “การตัดต่อยีนทางวัฒนธรรม” ซึ่งมีทั้งที่เจ้าของยีนไม่รู้ตัว และอาจเซ็นรับรองยินยอมตัดต่อยีนเอง

หนังสือชื่อ Mesmerization (ลุ่มหลงวิทยา) เขียนโดย Gee Thomson อธิบายถึงวัฒนธรรมร่วมสมัย (contemporary culture) ซึ่งเต็มไปด้วยกระแสที่กำหนดให้เราเป็นใครต้องการอะไร เชื่ออะไร ว่าขับเคลื่อนด้วยกลไกห้าอย่าง

หนึ่ง นิยามคุณค่าที่ต้องการกับปฏิเสธ ยกตัวอย่างกระแส “คูล” หรือเจ๋ง เท่  ที่ให้ค่ากับความใหม่ ก้าวหน้า ล้ำ ปฏิเสธความปรกติธรรมดาๆ หรืออะไรเดิม ๆ

สอง จับกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ที่พร้อมจะขยายกระแสต่อ  - ใครๆ ก็อยากเจ๋ง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

สาม ใช้ประโยชน์จากอารมณ์ความกลัว ความขาด ไม่มั่นคง ให้เราอยากเป็น อยากมี เพื่อจะได้ไม่รู้สึกต่ำต้อยหรือ
เจอเรื่องที่กลัวในอนาคต  - กลัวเป็นคนซื่อบื้อ กลัวเป็นคนธรรมดา กลัวเป็นคนขี้แพ้ ดังนั้นก็ต้องพยายามเป็นคนที่แตกต่าง

สี่ กระตุ้นอารมณ์ด้วยภาพลักษณ์ และบอกว่าจะเติมเต็มความต้องการหรือกำจัดความเจ็บปวดนั้นได้อย่างไร  - ภาพ
ลักษณ์คนที่ดูเจ๋ง นักสู้ ขบถ ปัจเจก เสรีชน ทันสมัย คาดเดาไม่ได้ สร้างสรรค์ ฯลฯ จะเป็นก็ต้องสร้างอัตลักษณ์ให้ตัวเอง 

ห้า จะเกิดกระแสได้จริงๆ ถ้าให้ผลลัพธ์หรือความเปลี่ยนแปลงที่ต้องการ ตกเป็นรางวัลของคนทำจริงๆ  - เจ๋ง รู้สึก
โดดเด้งเหนือฝูงชน 

ในหนังสือยกตัวอย่างสินค้าที่เกาะกระแสความคูลหรือเจ๋ง เท่ เช่น กระแส iPod (แต่ถึงตอนนี้ตกยุคไปแล้ว) เรโทร (ย้อนยุค) ฯลฯ  รวมถึงกระแสอื่น ๆ อย่างความงาม สุขภาพ ไฮโซ ฯลฯ โดยเรื่องที่มีแรงกระเพื่อมหรือจูงใจเป็นพิเศษมักพัวพันกับเพศ อำนาจ สถานะทางสังคม ความร่ำรวย  - ดีกว่า ใหม่กว่า เร็วกว่า

ด้วยการเล่าเรื่องผ่านกลไกทั้งห้าให้โดนใจ ไอเดีย สินค้า ศิลปะ วัฒนธรรม หรือแม้แต่อุดมการณ์ ก็กลายเป็นกระแสที่“ของมันต้องมี” 

สำหรับคุณผู้อ่านมี “ของมันต้องมี” บ้างไหม ทำไมเราต้องการมัน หรือกระแสอะไรพาเรามาถึงจุดนี้ 

ส่วนผมก็อยากให้ สารคดี เป็น “ของมันต้องมี” บ้าง แต่ต้องทำอย่างไร ใครมีคำชี้แนะช่วยบอกด้วยนะครับ

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com