สมัยที่เป็นเด็กเล็ก ยังทันได้ยินคนรุ่นผู้ใหญ่สั่งสอนว่า ถ้าใครตีพ่อตีแม่ ชาติหน้า มือจะใหญ่เท่าใบตาล หรือถ้าด่าว่าพ่อแม่ ชาติหน้า ปากจะเท่ารูเข็ม มานึกเดี๋ยวนี้ จึงเข้าใจว่าท่านคงหมายถึงว่าต้องไปเกิดเป็นเปรตที่มี “มือเท่าใบตาล ปากเท่ารูเข็ม” นั่นเอง

และอาจด้วยเหตุนั้นเอง สมัยก่อนจึงเชื่อกันว่าเสียงร้องของเปรตจะเป็นเสียงกรี๊ดแหลมสูง คงเพราะต้องรีดหวีดเสียงผ่านช่องหรือรูที่มีขนาดเล็กเท่านั้น

นรกจกเปรต - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 78

อย่างไรก็ตาม น่าสงสัยว่าบางทีคนโบราณเองก็คงก่อกรรมอย่างที่ว่านี้กันไว้ไม่น้อย อย่างในเทศกาลสารทเดือน ๑๐ ของทางภาคใต้ ของกินที่อุทิศให้แก่เปรตบรรพบุรุษผู้หิวโหย คือ “ขนมลา” ที่เส้นเล็กละเอียด เผื่อให้ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับบริโภคด้วยปากไซส์ sss ได้สะดวกนั่นเอง

“เปรต” เป็นรูปคำในภาษาสันสกฤต ส่วนภาษาบาลีเรียกว่า “เปต” มีความหมายว่า “ผู้ไปก่อน” ดังนั้นจึงมีนัยหมายถึงผีบรรพบุรุษ และดูเหมือนคนไทยพุทธสมัยก่อนจะถือกันว่าญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หากมิได้สั่งสมบุญมาเพียงพอ ตายแล้วย่อมต้องไปเกิดเป็นเปรต

ไม่เว้นแม้แต่เจ้านายชั้นสูง

ใน “พระปฐมสมโพธิกถา” ปริจเฉทที่ ๑๖ เล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เกี่ยวพันกับพุทธประวัติ คือเรื่องพระเจ้าพิมพิสารกับพระญาติที่เป็นเปรต ดังนี้

เมื่อพระเจ้าพิมพิสารสร้างอารามเวฬุวัน (วัดป่าไผ่) อุทิศถวายแด่พระพุทธองค์แล้ว บรรดาเปรตที่เป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสารตั้งแต่ในอดีตชาติ พากันมายืนออหวังรอรับส่วนบุญ แต่สุดท้ายก็ต้องพากันน้อยอกน้อยใจว่าพระเจ้าพิมพิสารมิได้อุทิศส่วนกุศลจากการนั้นให้แก่พวกตนเลย คืนนั้น พวกเปรตจึงมาชุมนุมประท้วง กรีดร้องโหยหวนทั้งพระนคร

พอพระเจ้าพิมพิสารได้ฟังเสียงเปรตร้องขอส่วนบุญดังนั้นแล้วจึงเกิดร้อนรุ่มพระทัย เช้าวันรุ่งขึ้นรีบเสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์ ณ เวฬุวนารามอีกครั้ง กราบทูลเรื่องที่เกิดขึ้น แล้วขอถวายภัตตาหารเช้าอีกรอบหนึ่ง เพื่อจะได้อุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับ พระพุทธเจ้าก็ประทานอนุญาต ทั้งในระหว่างพิธีนั้นยังทรงบันดาลให้พระเจ้าพิมพิสารมีโอกาสทอดพระเนตรเห็นบรรดาเปรตบรรพบุรุษที่มารอรับส่วนกุศลอยู่ตามมุมห้องบ้าง บนหลังคาบ้าง

พอพระเจ้าพิมพิสารถวายน้ำให้แก่พระพุทธเจ้า ทันใดนั้นก็เกิดมีสระน้ำทิพย์เต็มไปด้วยดอกบัว ให้ฝูงเปรตได้อาบกิน สิ้นความกระหาย บรรเทาความรุ่มร้อน

ครั้นทรงถวายภัตตาหารแก่พระพุทธองค์และพระสาวก ก็เกิดอาหารทิพย์ต่างๆ ขึ้นมาให้ฝูงเปรตได้บริโภคกันอย่างอิ่มหนำสำราญ

สุดท้ายเมื่อถวายผ้าจีวรและเสนาสนะ แล้วทรงอุทิศผลทานให้แก่ฝูงเปรต บนร่างกายของเปรต ก็เกิดเสื้อผ้าเครื่องทรงอันงดงามขึ้นทันที กระทั่งทำให้ “พ้นจากเปรตวิสัย มีรัศมีโอภาสดุจเทพยดาในดาวดึงสเทวโลก เห็นปรากฏแก่บรมกษัตริย์”

เปรตเป็นอีกภพภูมิหนึ่ง ในคัมภีร์เล่าไว้แยกออกมาต่างหากจากนรก บางทีก็กล่าวเหมือนกับว่าหากตกนรกแล้ว ชดใช้กรรมไปแล้ว แต่ยังเหลือ “เศษๆ” ของบาปอยู่ก็ต้องมา “ปัดเศษ” ชดใช้ด้วยการกลับมาเกิดเป็นเปรตอีก

ในคัมภีร์โลกศาสตร์แจกแจงเปรตกลุ่มต่างๆ ไว้ละเอียดลออ และดูเหมือนเป็นส่วนหนึ่งในการ “ขู่” พวกที่ไม่นับถือ หรือรังคัดรังแกพระสงฆ์องค์เจ้า เช่นมีคนที่ต้องไปเกิดเป็นเปรต เพราะเอาสิ่งไม่สมควรบริโภคไปใส่ในอาหารถวายให้ผู้ทรงศีล ไม่ว่าจะเป็นอุจจาระ ปัสสาวะ ของเผ็ดร้อน หรือน้ำมูกน้ำลาย นอกจากนั้นยังมีเปรตที่ทำบาปเผากุฏิ วิหาร รวมถึงเปรตที่สร้างบาปกรรมจากการล้อเลียนพระพุทธเจ้าก็มี

แต่ตามความรับรู้ของคนไทยทั่วไป ดูเหมือนเปรตจะค่อนมาทาง “ผีๆ” มากกว่า เพราะอย่างสัตว์นรกนั้น ปรกติก็มิได้มาปรากฏตัวให้ใครเห็น แต่ภพภูมิของเปรตดูเหมือนจะอยู่ซ้อนๆ กับโลกมนุษย์อยู่ในที จึงมาปรากฏให้คนเห็นก็ได้ รวมถึงมา “ขอส่วนบุญ” อย่างที่เล่าในเรื่องพระเจ้าพิมพิสารด้วยก็ได้

อย่างในเรื่องสั้นชุด “เรื่องผี” ของครูเหม เวชกร ก็ยังมีตอนที่ไปถูกผีเปรตหลอกหลอนรวมอยู่ด้วย