พู่กัน เรืองเวส : เรื่อง / ภาพ: ธนภัทร สนธยาสาระ

ก่อนนาฬิกาโบราณจะหยุดเดิน
ช่วงเวลาที่ช่างทำงานเขาต้องใช้สมาธิอย่างมากเนื่องจากงานซ่อมนาฬิกาโบราณมีความละเอียดอ่อนในทุกขั้นตอน เพราะชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็กและปริมาณมาก
narika02
พิพิธภัณฑ์นาฬิกาโบราณตั้งอยู่ในเขตห้วยขวาง ซึ่งเป็นที่จัดแสดงนาฬิกาของครอบครัวมหาดำรงค์กุล

“แก๊ง… แก๊ง… แก๊ง…”

เสียงระฆังบอกเวลาของนาฬิกาก้องดังกังวาน ขณะนี้ตรงหน้าของฉันมีนาฬิกาโบราณหลากหลายประเภทเรียงกันอยู่ไม่เป็นระเบียบ บ้างก็ตั้งอยู่ที่พื้น บ้างก็แขวนอยู่กับผนัง บ้างก็เป็นเรือนย่อมๆ วางไว้ในตู้กระจก ฉันไม่แน่ใจนักว่าเสียงเมื่อครู่ดังมาจากเรือนไหนกันแน่

ที่นี่คือร้านซ่อมนาฬิกาที่ตั้งอยู่ในตรอกเล็กๆ ชื่อว่าตรอกพิพากษา 1 ถนนแปลงนาม ย่านเยาวราช เท่าที่จำได้ฉันไม่เคยได้ย่างเท้าเข้าไปในร้านซ่อมนาฬิกาโบราณที่ไหนมาก่อนเลย ร้านแคบๆ คลอเสียงเพลงสุนทราภรณ์แห่งนี้จึงน่าตื่นตาตื่นใจมากสำหรับฉัน

narika04
บรรยากาศร้านซ่อมนาฬิกาโบราณในซอยพิพากษา ๑ ที่ทำให้รู้สึกเหมือนได้ย้อนเวลาไปหลายสิบปี

ที่มาของนาฬิกาโบราณ

“นาฬิกาจักรกล” เริ่มเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงติดต่อกับต่างประเทศ จึงได้รับเครื่องราชบรรณาการจากที่ต่างๆ มากมาย ถึงอย่างนั้นก็เพิ่งจะ 100 กว่าปีหลังมานี่เองที่นาฬิกาจักรกลเริ่มปรากฏในบ้านคนธรรมดา ทว่าขนาดจะใหญ่จะเล็ก หรือละเอียดประณีตแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับฐานะของบ้านนั้น ๆ

นาฬิกามีหลายประเภท นาฬิกาตั้งพื้นมักจะมาจากปารีส จึงเรียกกันว่า “นาฬิกาปารีส” ส่วนแบบที่แขวนก็มักจะมาจากลอนดอน จึงเรียกว่า “นาฬิกาลอนดอน” นอกจากนั้นยังมีนาฬิกาไหมซอ นาฬิกากุ๊กกู นาฬิกาตั้งโต๊ะ นาฬิกาแปดเหลี่ยม และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ตั้งชื่อตามลักษณะเด่นของนาฬิกา

สมัยก่อนนาฬิกาที่นำเข้ามาในไทยจะต้องขนมาทางเรือ ตัวตู้จึงเกิดความเสียหายได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ส่วนใหญ่จึงนำเข้ามาแต่ตัวเครื่องแล้วให้ช่างไทยทำตู้กันเอง ซึ่งช่างไทยมักจะใช้ไม้สัก ตัวตู้จึงคงทนกว่าของนอกและอยู่มาได้เป็นร้อยปี นอกจากนี้ยังมีการใส่รายละเอียดแบบไทยๆ ลงไปที่นาฬิกานำเข้าเหล่านี้ด้วย ทั้งหมดนี้ ช่างสุชาติ บ่างตระกูลนนท์ ผู้ดูแลและช่างซ่อมนาฬิกาประจำพิพิธภัณฑ์นาฬิกาโบราณ ได้เคยให้ข้อมูลเอาไว้

narika05
ช่างชาญ ศรีเดช เจ้าของร้านซ่อมนาฬิกาโบราณ ผู้แสนอารมณ์ดีกับโต๊ะทำงานของเขาในย่านเยาวราช

ช่างซ่อมนาฬิกาแห่งเยาวราช

ช่างชาญ-ชาญ ศรีเดช เจ้าของร้านซ่อมนาฬิกาแห่งตรอกพิพากษา 1 เป็นชายวัย 59 ปี ท่าทางอารมณ์ดี มีป้านุช-สมจิตต์ ศรีเดช ภรรยาผู้เป็นคู่ชีวิตและเพื่อนคู่คิด ช่วยส่งเสริมกิจการร้านซ่อมนี้มาแต่ไหนแต่ไร

ช่างชาญเล่าให้ฟังว่า เมื่อเริ่มเป็นวัยรุ่นก็ได้จากบ้านเกิดที่สุพรรณฯ เดินทางเข้ามาตั้งหลักหางานทำในกรุงเทพฯ หลังจากที่ไปเริ่มทำงานในโรงพิมพ์ได้สักพักก็ย้ายมาทำงานในร้านนาฬิกาแถวสี่แยกราชวงศ์ ตำแหน่งของเด็กหนุ่มชาญในตอนนั้นคือ “ลูกจ้างในร้าน” เขาทำทุกอย่างในร้านเท่าที่จะทำได้ ตั้งแต่เฝ้าร้าน ยกของ ไปซื้อกับข้าว ยกเว้นอย่างเดียวที่ไม่ได้ทำเสียทีก็คือการเป็นช่าง

หลังจากที่ตัดสินใจออกจากร้านนั้น ชีวิตในเยาวราชของช่างชาญก็เริ่มต้นขึ้น เขาได้งานใหม่ที่ “แสงดีเทรดดิ้ง” ร้านค้านาฬิกานำเข้าจากญี่ปุ่นที่กำลังขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

“สมัยก่อนขายดีมาก ขายส่งนาฬิกาจากญี่ปุ่น นาฬิกาไขลาน นาฬิกาปลุก นาฬิกาใช้ถ่าน เขาส่งจากบริษัทใหญ่มาอีกที เป็นตัวแทนจำหน่าย” ช่างชาญเล่าให้ฟังถึงอดีตอันรุ่งเรืองของร้านที่เขาเคยทำงานอยู่ ในสมัยที่นาฬิกายังเป็นสิ่งจำเป็นประจำทุกที่ที่ผู้คนใช้ชีวิต ไม่ว่าจะในบ้านคน ออฟฟิศ หรือร้านรวงไหนๆ ก็ต้องมีนาฬิกาไว้บอกเวลา หรือมากไปกว่านั้นคือมีไว้เป็นเครื่องประดับ เป็นความภูมิใจของสถานที่ หากเป็นคนจีน เมื่อมีการขึ้นบ้านใหม่ เปิดร้านทองหรือโรงเลื่อย ก็มักจะให้นาฬิกากันเป็นของขวัญ และมีการเขียนอวยพรให้ร่ำรวยมั่งมีศรีสุขกันเป็นภาษาจีน ซึ่งปัจจุบันนาฬิกาที่มีข้อความบนกระจกก็เป็นที่ชื่นชอบของเหล่านักเล่นนาฬิกาโบราณมากทีเดียว

สำหรับเยาวราช นอกจากจะเป็นย่านทองแล้ว ณ ขณะนั้นจะเรียกว่า “ย่านนาฬิกา” ด้วยก็คงไม่ผิดนัก ใครต้องการซื้อหรือซ่อมนาฬิกา หากมาเดินแถวถนนแปลงนามก็คงไม่ผิดหวัง เพราะมีร้านนาฬิกามากมายหลายร้านเรียงกันเป็นแถวให้ผู้คนเดินเลือกกันจนหนำใจ ซึ่งในสมัยนั้นร้านขายนาฬิกาจะมีช่างซ่อมนาฬิกานั่งอยู่หลังร้านด้วย เป็นบริการแบบครบวงจร

เด็กหนุ่มชาญใช้เวลาอยู่หลายปีในร้านแสงทองเทรดดิ้ง หยิบจับช่วยเหลือในร้าน พอช่างตัวจริงเผลอก็แอบหยิบชิ้นส่วนนาฬิกาไขลานขึ้นมาดูอย่างใคร่รู้

“ไอ้เรามันอยากรู้ไง ช่างไม่อยู่ก็ลองทำเองมั่ง” ช่างชาญเล่าไปหัวเราะไป เขาบอกว่าสมัยก่อน “วิชา” เป็นสิ่งที่ไม่ได้จะให้กันง่ายๆ ใครอยากรู้ก็ต้องขวนขวายกันเอง

หลายปีถัดมาวิธีการครูพักลักจำของเขาก็สัมฤทธิผล เด็กหนุ่มชาญได้กลายเป็น “ช่างชาญ” รับซ่อมนาฬิกาทุกประเภทอย่างเต็มตัว เขาค่อยๆ ชำนาญขึ้นตามประสบการณ์ที่เพิ่มพูน และอยู่คู่ร้านแสงดีเทรดดิ้งยาวนานหลายสิบปี

เวลาผ่านไป เมื่อถึงเวลาที่รุ่นลูกหลานของร้านนาฬิกาต่างๆ จบการศึกษามาจากต่างประเทศ แต่ละร้านก็ทยอยเลิกกิจการ หันไปทำธุรกิจอื่นที่เข้ากับยุคสมัย เหลือเพียงแสงดีเทรดดิ้งที่ยังเปิดอยู่

แต่ช่างชาญเอง เมื่อได้พบกับป้านุช ภรรยาสุดที่รัก ก็ได้ตัดสินใจลาออกจากแสงดีเทรดดิ้ง ร้านที่ให้กำเนิดช่างซ่อมนาฬิกาอย่างเขา มาเช่าที่เพื่อเปิดกิจการร้านซ่อมเล็กๆ เป็นของตัวเอง อยู่ไม่ไกลจากร้านเดิมมากนัก ด้วยความหวังจะใช้ความรู้ที่ได้มาเลี้ยงภรรยาและลูกๆ ให้ได้ด้วยลำแข้งของตนเอง

ฉันตกอยู่ในภวังค์ นั่งฟังช่างชาญเล่าถึงอดีตอย่างสนใจ เส้นทางช่างซ่อมนาฬิกาของเขาช่างยาวนาน กว่าจะซ่อมเป็น กว่าจะสร้างเนื้อสร้างตัวได้ ทุกอย่างล้วนไม่ใช่เรื่องง่าย

ทุกวันนี้ช่างชาญมีชีวิตที่ตนเองพอใจ ออกจากบ้านมาเปิดร้านช่วงสายๆ เปิดเพลง เปิดโคมไฟ แล้วลงมือซ่อมที่โต๊ะไม้หลังร้านตัวเดิม ท่ามกลางนาฬิกาโบราณที่ล้อมหน้าล้อมหลัง โดยมีป้านุชเป็นลูกมือที่รู้ใจในการช่วยหยิบจับ เช็ดนาฬิกา ช่วยซื้อของซื้ออะไหล่มาเติมให้ที่ร้าน หากมีลูกค้าคนไหนที่ขนย้ายนาฬิกายากหรือถอดนาฬิกามาซ่อมไม่เป็น ช่างชาญคนนี้ก็จะถือเครื่องมือเดินทางออกไปซ่อมให้ถึงที่

ช่างชาญบอกกับเราว่า ถึงแม้ความเป็นย่านนาฬิกาของเยาวราชจะจางลงไปแล้ว แต่ร้านซ่อมนาฬิกาโบราณของเขาก็ไม่ใช่ร้านเดียวในถนนแปลงนาม เพราะถัดไปไม่กี่ร้านก็มีร้านของช่างกันต์-ธนกันต์ สร้อยอยู่ ตั้งอยู่ด้วย ซึ่งช่างกันต์คนนี้เป็นช่างรุ่นใหม่ที่ช่างชาญภูมิใจมากทีเดียว

narika07
ช่างกันต์เป็นคนที่สนุกกับการซ่อมนาฬิกาโบราณ เมื่อเขาสงสัยอะไรก็จะพยายามให้ตัวเองรู้ให้จริงให้ได้

ช่างกันต์กับโลกนาฬิกาโบราณ

“สวัสดีครับ เชิญครับ เชิญเลย” เสียงต้อนรับดังมาจากหลังร้าน ทำให้ฉันที่กำลังตื่นเต้นรู้สึกผ่อนคลายขึ้นมา

ฉันเดินมาสำรวจที่ร้าน “ช่างกันต์ นาฬิกาโบราณ” ต่อ ตามคำแนะนำของช่างชาญ ที่นี่บรรยากาศดูคล้ายคลึงกับร้านของช่างชาญ จะต่างก็ตรงที่ร้านนี้ออกจะใหญ่กว่า มีโต๊ะซ่อมนาฬิกาถึงสามตัว และมีคนถึงสามคนในร้าน นั่นก็คือช่างกันต์ ช่างหนุ่มผู้หลงใหลในนาฬิกาโบราณ ปิง-อดิศักดิ์ สร้อยอยู่ ลูกชายของเขา และปั้น-บูรณ์พิภพ เกิดโภคา หลานชายวัยไล่เลี่ยกัน

ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ ช่างกันต์เล่าให้ฟังว่า อดีตเขาเคยเป็นช่างทองมาก่อน พอประสบปัญหางานทำทองน้อยลง ช่างชาญก็ชวนช่างกันต์ ผู้เป็นลูกเขยของเขาในตอนนั้น มาทำความรู้จักกับนาฬิกาโบราณที่เขารัก ซึ่งเมื่อได้เห็นแล้วช่างชาญเองก็รู้สึกชอบ และอยากจะก้าวเข้าสู่โลกของนาฬิกาไปศึกษาให้ลึกยิ่งกว่าเดิม จึงไปเรียนซ่อมนาฬิกาประเภทข้อมือเพิ่มเติมที่บริษัท Time Clinic แถวประตูน้ำ เรียกได้ว่าเป็นคนละวิถีกับช่างชาญ ที่เรียนรู้ด้วยวิธีครูพักลักจำและประสบการณ์ของตัวเองเป็นหลัก

ด้วยนิสัยชอบเรียนรู้ นิสัยชอบทำงานละเอียดแบบช่างทอง และการที่ได้เพิ่มพูนความรู้มาอย่างจริงจัง ทำให้ปัจจุบันช่างกันต์กลายเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญด้านนาฬิกามาก ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาโบราณหรือนาฬิการะบบใหม่ๆ ช่างกันต์ก็เข้าใจเป็นอย่างดี และซ่อมนาฬิกาด้วยความรักในทุกๆ วัน

narika08
นี่คือ “หัวใจนาฬิกาโบราณ” เป็นกลไกที่ต้องสั่งมาจากต่างประเทศ มีส่วนที่สำคัญที่สุดและมีความมหัศจรรย์ที่ทำให้ช่างซ่อมนาฬิกาโบราณต้องหลงใหล

 เสน่ห์ของเสียงเพลง

ระหว่างที่บทสนทนาหยุดพัก ฉันมองไปรอบๆ ร้านอีกครั้งหนึ่ง ด้วยสายตาที่สังเกตสังกามากขึ้น แล้วก็ได้พบว่าที่ร้านนี้มีนาฬิกากุ๊กกูหลายเรือน และเรือนที่แขวนอยู่หน้าโต๊ะช่างนี่ก็น่ารักมากเสียด้วย

เมื่อฉันทักเรื่องนาฬิกากุ๊กกูขึ้นมา ช่างกันต์ก็ยิ้มอย่างแช่มชื่น แล้วก็เริ่มเล่าถึงนาฬิกากุ๊กกูเรือนแรกที่เขาเห็นที่ร้านช่างชาญ ซึ่งเสียงเพลงและกลไกของเรือนนั้นเองที่ทำให้เขารู้สึกหลงเสน่ห์ของสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่านาฬิกา

“ครั้งแรกที่มาเยาวราชเนี่ยมาเจอนาฬิกากุ๊กกู เราเป็นช่างทองอยู่แล้ว เรารู้ว่าในทองหนึ่งเส้นมีอะไรบ้าง แต่ทีนี้เรามาเห็นนาฬิกากุ๊กกู เราอยากรู้ข้างในมันมีอะไรบ้าง ก็ลองเริ่มเรียน ศึกษา ศึกษาแล้วมันก็ชอบ มันก็ลึกไปเรื่อยๆ มันเป็นแบบนี้ได้ยังไง มันมีเสียงได้ยังไง”

ช่างกันต์อธิบายว่า นาฬิกากุ๊กกูนี้จะมาจากสามประเทศเป็นหลัก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และญี่ปุ่น หากเป็นสวิตเซอร์แลนด์และเยอรมนีเครื่องจะทำด้วยทองเหลืองดังเช่นเรือนตรงหน้านี้ ส่วนที่มาจากญี่ปุ่นโดยมากจะทำมาจากพลาสติกและใช้แบตเตอรี่

“ลูกปิง! ดึงโซ่ขึ้นไปแล้วไขให้นาฬิกาตีครึ่งชั่วโมง” ช่างกันต์พูดกับลูกชาย

“กุ๊กกู! กุ๊กกู! กุ๊กกู! กุ๊กกู!” นกกุ๊กกูเปิดหน้าต่างออกมาร้องเจื้อยแจ้ว

เมื่อเสียงนกเงียบลง เสียงเพลงก็บรรเลงขึ้นจากกล่องดนตรีที่อยู่ภายใน แล้วชายหญิงสี่คู่ที่ระเบียงใต้หน้าต่างนกก็จับมือกันเต้นรำเป็นวงกลมจนเพลงจบ

“เป็นคนชอบอะไรกุ๊กกิ๊กๆ อยู่แล้ว เวลามาเจอแบบนี้เรารู้สึกว่ามันมหัศจรรย์ กลไกมันน่ารักมากนะ ไม่หลงรักก็บ้าแล้ว” ช่างกันต์พูดถึงนาฬิกากุ๊กกู เมื่อจบประโยคก็หัวเราะให้กับคำพูดของตัวเอง แต่ฉันก็ไม่คิดว่าเขาพูดเล่นแต่อย่างใด

เซียนอั๋น ผู้เชี่ยวชาญด้านนาฬิกาโบราณ เคยเขียนลงนิตยสาร พระเครื่องอภินิหาร ว่า เสียงของนาฬิกาเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศ ดูดพลังที่ดีเข้าบ้าน ทำให้ร่มเย็นเป็นสุขและมีโชคลาภ บ้านไหนไร้เสียงกระดิ่งใส ไร้เสียงเพลง ตามหลักความเชื่อก็คิดว่าไม่ดีนัก

หากเป็นนาฬิกาโบราณแบบไขลานจะแบ่งออกเป็นสามแบบ ถ้าที่หน้าปัดมีรูไขลานรูเดียว รูนั้นจะใช้สำหรับไขเพื่อให้ลานของนาฬิกาเดิน ให้จักรด้านในหมุนอย่างเป็นระบบ จักรชั่วโมงจะหมุนช้ากว่าจักรนาที ซึ่งนาฬิกาที่เดินเพียงอย่างเดียวแบบนี้จะเรียกว่านาฬิกาใบ้ แต่หากมีสองรู นาฬิกาจะสามารถตีเป็นจังหวะเมื่อถึงเวลาได้ด้วย ส่วนนาฬิกาสามรูนั้น รูที่ 3 ที่เพิ่มมาจะเป็นรูของเสียงเพลงประจำนาฬิกา

นาฬิกาบางแบบก็ไม่มีรูไขลาน เช่นนาฬิกาลูกตุ้มที่ใช้ระบบโซ่หรือระบบเคเบิล นาฬิกาประเภทนี้จะมีลูกตุ้มหนึ่งถึงสามลูกทำหน้าที่แทนรูไขลาน ซึ่งหน้าที่ของแต่ละลูก ได้แก่ การทำให้เข็มนาฬิกาเดิน การตีเมื่อครบชั่วโมง และการทำให้เสียงเพลงดังขึ้น โดยลูกตุ้มจะค่อยๆ เคลื่อนต่ำลงมาเรื่อยๆ เมื่อผ่านไปประมาณ 1 อาทิตย์จึงต้องดึงขึ้นไปด้านบนใหม่เพื่อให้นาฬิกาเดินอย่างต่อเนื่อง

เสียงเพลงของนาฬิกาเรียกว่า clock chime เพลงที่คนไทยเราคุ้นหูที่สุดก็น่าจะเป็นเพลง Westminster เพราะปรากฏอยู่ในนาฬิกาทั่วๆ ไป และใช้บอกเวลาตามโรงเรียน แต่จริงๆ แล้วนาฬิกาโดยทั่วไปยังมีอีกหลายท่วงทำนอง ไม่ว่าจะเป็น Whittington, Winchester หรือแม้แต่เพลงอื่นๆ ตามที่ช่างนาฬิกาจะทำ ซึ่งการตั้งเวลาของนาฬิกาแต่ละชนิดก็จะต่างกัน หากเป็นรุ่นที่มีเสียงเพลงก็จะต้องค่อยๆ หมุนไปครั้งละ 15 นาที ให้เพลงดังขึ้น เมื่อเพลงจบแล้วจึงหมุนต่อไปยัง 15 นาทีถัดไปได้ ทำอย่างนี้จนถึงเวลาที่ต้องการ

ถ้าจะพูดถึงความเชื่อ มันก็คงเป็นเรื่องปัจเจก แต่หลังจากที่ได้ฟังเสียงเพลงจากนาฬิกาในร้าน เรือนนั้นทีเรือนนี้ที ฉันก็เริ่มคิดว่าหากฉันได้เป็นเจ้าของนาฬิกาที่มีเสียงเพลงสักเรือน บ้านที่เคยเงียบเหงาคงมีชีวิตชีวามากขึ้นจริงๆ

narika09
ปัจจุบันยังมีช่างรุ่นใหม่ที่มีใจรักในการเรียนวิชาซ่อมนาฬิกาโบราณต่อจากผู้มีประสบการณ์เพื่อสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป

ลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามา         

“เฮีย ไอ้นาฬิกานั่นจะเสร็จเมื่อไร” เสียงตะโกนดังมาจากหน้าร้าน ฉันหันไปตามเสียงนั้น ชายคนหนึ่งขี่มอเตอร์ไซค์มาจอดด้วยท่าทางสบายๆ คงเป็นลูกค้าที่คุ้นเคยกันมากทีเดียว

“อ่า จริงๆ มันเสร็จแล้วครับ เทียบเวลาอยู่ วันอังคารน่าจะได้” ช่างหนุ่มตะโกนตอบทันที

ช่างกันต์บอกกับเราว่า คนที่สะสมนาฬิกาโบราณต้องเป็นคนที่รักจริงและไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน พร้อมที่จะทุ่มเทไปกับการเสาะหาเรือนสวยๆ มาครอบครอง ทั้งยังต้องดูแลให้ใช้ได้ดีอยู่ตลอด โดยราคาที่ซื้อขายกันก็จะมีทุกราคา ตั้งแต่หลักร้อย หลักพัน หลักหมื่น ไปจนถึงหลักแสน ใกล้จะแตะล้าน ขึ้นอยู่กับคุณภาพ ความเก่าแก่ และความหายากของนาฬิกาเรือนนั้น

ทว่าตอนนี้มีคนเล่นนาฬิกาโบราณไม่เยอะนัก เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ลูกค้าส่วนใหญ่ของเขาจึงไม่ใช่นักสะสม แต่เป็นคนที่นำนาฬิกาของพ่อแม่มาให้ซ่อม เพื่อให้นาฬิกาในความทรงจำนี้กลับมาเดินเหมือนสมัยพ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ เขาเองถึงแม้จะหลงใหลแค่ไหนก็ไม่คิดจะสะสมเลย เพราะถ้าหากเริ่มเมื่อไรก็คงซื้อมาเก็บเองจนไม่เป็นอันขาย รายได้ก็ไม่พอใช้

แม้ว่ากลุ่มลูกค้าจะดูแคบ แต่ก็ยังมีลูกค้ามาให้ซ่อมนาฬิกาโบราณเรื่อยๆ ในปริมาณพอกันกับนาฬิกาข้อมือ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะทุกวันนี้ไม่ได้มีช่างซ่อมนาฬิกาโบราณมากนัก กลุ่มที่เรียนกับช่างกันต์มาที่บริษัท Time Clinic ก็ซ่อมแต่นาฬิกาข้อมือเท่านั้น มีเพียงช่างกันต์ที่ชื่นชอบของโบราณเหล่านี้

 อนาคตของวงการนาฬิกาโบราณ

“ต้องใจรัก” “ใช้ความอดทนสูง” เป็นคำที่ฉันได้ยินอยู่ตลอดการพูดคุย ทั้งที่ร้านช่างชาญและร้านช่างกันต์

เป็นที่รู้กันในวงการช่างซ่อมนาฬิกาว่านาฬิกาโบราณเหล่านี้ต้องใช้เวลาฝึกฝนมากถึงจะซ่อมได้ และหากซ่อมได้แล้วจะยึดเป็นอาชีพก็ต้องอดทนนั่งทำ กว่าจะเสร็จแต่ละเรือนก็นานกว่านาฬิกาข้อมือหลายเท่า จึงหาได้ยากมากที่จะมีช่างใหม่เกิดขึ้นสักคน หากจะมีใครมาขอเรียนด้วย ช่างซ่อมนาฬิกาที่ง่วนอยู่กับเครื่องมือช่างทั้งเช้าทั้งเย็นก็ไม่มีเวลาสอนเท่าไรนัก คนที่ช่างจะถ่ายทอดวิชาให้ส่วนใหญ่จึงเป็น “คนในครอบครัว” ที่ใกล้ชิดกับช่างจริงๆ

“มันเป็นอาชีพของพ่อครับ มาทำจะได้ช่วยพ่อด้วย” ปิง ลูกชายช่างชาญเอ่ยปากพูดอย่างอายๆ

ทันทีที่เรียนจบ ปวช. สาขาเครื่องยนต์ ปิงก็ดรอปเรียนมาอยู่ที่ร้าน ถึงตอนนี้ก็ 2 เดือนแล้วที่เด็กหนุ่มเริ่มมาเรียนรู้การซ่อมนาฬิกาโบราณจากช่างผู้เป็นพ่อของเขาเอง เขาตั้งใจอย่างมากที่จะยึดเป็นอาชีพจากนี้เป็นต้นไป สำหรับเขา นาฬิกาเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ “มหัศจรรย์” อย่างมาก เพราะผ่านการคิดมาอย่างซับซ้อน มีการพัฒนาระบบให้ดีจนเที่ยงตรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ตามยุค และมีการใส่ลูกเล่นลงไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด นอกจากนี้นาฬิกาแต่ละแบบแต่ละเรือนยังมีประวัติเป็นของตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้กลายเป็นเสน่ห์ที่ลอกเลียนแบบกันไม่ได้

“เรือนที่รู้สึกพิเศษน่าจะเป็นตัวนกใช้ถ่าน เพราะว่าได้ทำเป็นตัวแรก” ปิงพูดถึงนาฬิกากุ๊กกูใช้ถ่านจากญี่ปุ่น ถึงตรงนี้หากมีใครมาบอกฉันว่าการชื่นชอบนาฬิกากุ๊กกูนี่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ฉันก็คงไม่แปลกใจเท่าไรนัก

narika10
ตัวอย่างนาฬิกากุ๊กกู–เวลายังคงเดินไปข้างหน้าเสมอ

เย็นวันนั้นหลังจากที่ร่ำลาชาวนาฬิกาโบราณเรียบร้อยแล้ว ฉันก็ออกจากร้านไปเดินเตร็ดเตร่ในซอยพิพากษา 1 แล้วเลยออกมาซึมซับบรรยากาศของถนนใหญ่ย่านเยาวราช ไม่นานสายตาของฉันก็กวาดไปเจอร้านนาฬิกาขนาดสองคูหา ตั้งอยู่ท่ามกลางร้านอาหารน่าอร่อย “แสงดีเทรดดิ้ง” ที่ช่างชาญพูดถึงคือที่นี่นั่นเอง

ฉันนึกไปถึงอดีต นึกไปถึงภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ตอนที่แถวนี้ยังคงเป็นย่านนาฬิกา มีร้านนาฬิกาเรียงราย คิดแล้วก็แปลกดี สิ่งที่เคยรุ่งเรืองมากในช่วงเวลาหนึ่ง ปัจจุบันนี้กลับหายไปจนเหลือเพียงไม่กี่ร้าน หากในวันข้างหน้าไม่มีคนสืบต่อ “นาฬิกาโบราณ” ก็อาจจะค่อยๆ หายไปอย่างน่าเสียดาย เหมือนกับนาฬิกาไขลาน หากไม่มีคนไข เข็มนาฬิกาก็คงไม่เดินต่อ และไม่มีเสียงระฆังที่คุ้นหูอีกต่อไป แต่โชคดีที่ทุกวันนี้ยังมีคนกลุ่มเล็กๆ ที่ชื่นชอบ มีช่างที่ยังคงนั่งหลังขดหลังแข็งซ่อมนาฬิกาโบราณกันด้วยใจรัก

“ถ้าคนรุ่นใหม่มาเห็นผมว่าเขาน่าจะสนใจกันนะครับ”

ประโยคที่ปิง ลูกชายช่างกันต์พูดทิ้งท้ายก่อนที่ฉันจะออกจากร้านลอยเข้ามาในหัวของฉันอีกครั้ง คงจะจริงของปิง ขนาดฉันที่เพิ่งมารู้จัก ยังรู้สึกหลงเสน่ห์ นึกอยากจะได้มาครอบครองสักหนึ่งเรือน เรือนแรกอาจจะเป็นนาฬิกากุ๊กกูก็ได้นะ