ชยพล มาลานิยม : เรื่อง

หลังม่าน The Showhopper ก้าวกระโดดเล็กๆ ของคนมีฝัน
ก่อนจะมาเป็นเพจ The Showhopper เดิมทีเคยชื่อ “Musical & Review” มาก่อน

เบิกโรง

ในปี 2563 ประเทศไทยมีผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 53 ล้านคน ในจำนวนนั้นจะมีสักกี่คนที่เคยได้ยินชื่อเพจ The Showhopper หรือเดอะโชว์ฮอปเปอร์ ชื่อไม่ยาวไม่สั้น ไม่ค่อยเข้าปากคนไทย และยังไม่ค่อยแพร่หลาย แต่อย่างน้อยก็มีคนกดถูกใจไว้ 2 หมื่นกว่าคนแล้ว สำหรับผู้ที่ไม่ใช่หนึ่งในนั้น นี่คือข้อควรทราบ :

เพจนี้เริ่มก่อตั้งในปี 2560 ภายใต้ชื่อ “Musical & Review” แปลอย่างทื่อๆ ก็คือ “มิวสิคัลและบทวิจารณ์” ซึ่งเนื้อหาก็มีแค่นั้นจริงๆ ! เป็นบทวิจารณ์การแสดงละครเพลงจากทั่วโลกที่ผู้ดูแลเพจหรือแอดมินได้รับชมมา ต่อมาเนื้อหาในเพจเริ่มหลากหลายและลึกซึ้งขึ้น มีทั้งบทความให้ความรู้ ภาพกราฟิกดึงดูดสายตา วิดีโอ รวมทั้งข่าวสารจากวงการละครเวทีทั้งไทยและสากล ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเพจเป็น “The Showhopper” เมื่อปี 2562

ลองสังเกตตัวอักษรขาวเด่นหราบนพื้นสีแดงเบอร์กันดี ที่เพื่อนคอละครเวทีของคุณชอบแชร์ข่าวสารการแสดงมาบนหน้าฟีดดูสิ นั่นแหละคือ The Showhopper แน่นอน ไม่ใช่ใครอื่น

ออฟฟิศของ The Showhopper ตั้งอยู่ในสถานที่ซึ่งยากจะคาดเดา บนชั้น 2 ของคลินิกทันตกรรมแห่งหนึ่งริมถนนสีลม โปสเตอร์การแสดงละครเวทีจากทั่วโลกหลายสิบใบเรียงรายเต็มผนังห้อง ล้วนใส่กรอบอย่างเรียบร้อย หนังสือเกี่ยวกับศิลปะการละครหลากแขนงแน่นขนัดบนชั้นวาง และพิเศษกว่านั้นคือ สูจิบัตรละคร ตั๋วเข้าชม และ “เพลย์บิลล์” — นิตยสารรายเดือนที่แจกในโรงละครย่านบรอดเวย์และทั่วอเมริกา — ตั้งแต่เก่าแก่จนถึงใหม่เอี่ยม ถูกจัดเก็บไว้เป็นปึกๆ พบเห็นได้ยากในประเทศไทย เว้นเสียแต่ในคลังของคอละครตัวยงเท่านั้น

สิ่งของเหล่านี้ยืนยันความหลงใหลในละครเวทีของ วสวัตติ์ ดุลยวิทย์ หรือเต๋ผู้ก่อตั้งและรังสรรค์ The Showhopper มาตั้งแต่แรกเริ่มตราบจนปัจจุบัน ช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงในวันอันยุ่งเหยิง วสวัตติ์ผละจากงานมากมายบนหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อใช้เล่าความเป็นมาของผลงานอันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

และหากจะเล่าอย่างผู้กำกับละครเพลง จังหวะนี้แสงไฟต้องตีวงแคบมาจับยังตัวละครเอก แล้ววงดนตรีเริ่มบรรเลง…

showhopper01
The Showhopper ก้าวกระโดดเล็ก ๆ ของคนมีฝัน ที่ต้องการผลักดันละครเวทีไทย

โดดไปโดดมา เสาะหาละครเวที

วสวัตติ์นิยามกริยาของ show hopping ว่า เสมือนการ “โดด” ไปมาตามสถานที่ต่างๆ เพื่อรับชมละครเวที เริ่มต้นเมื่อ 10 ปีก่อน ครั้งชายหนุ่มไปเรียนต่อที่ลอนดอน สหราชอาณาจักร ย่านหนึ่งของเมืองนั้นเป็นชุมทางโรงละครอันคึกคัก มีการแสดงให้ชมทุกวัน เขาสัมผัสวัฒนธรรมการ “hop” ไปดูละครมาจากที่นั่น และอยากส่งเสริมให้วัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นในไทยบ้าง ทว่าคอละครชาวไทยยังขาด “ลายแทง” ละครเวทีให้สามารถโดดไปดูได้

“ก่อนหน้านี้มันไม่มีแหล่งรวมข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะการแสดงในประเทศไทยมาก่อน ถ้าเราสามารถสร้างศูนย์ที่รวมข้อมูลทุกอย่างไว้ด้วยกัน มันถึงจะเกิดการ “hop” ไปดูละครได้” ดังนั้นเนื้อหาประเภทหนึ่งที่ The Showhopper จะผลิตออกมาทุกต้นเดือนคือ “ปฏิทินละครเวที” ซึ่งรวบรวมละครและการแสดงทุกเรื่องในไทยซึ่งจะจัดแสดงภายในแต่ละเดือน เพื่อเป็นลายแทงและหมุดหมายให้กับคอละครเวทีไทย ยังไม่นับข่าวประชาสัมพันธ์รายวันจากวงการละครเวทีไทยและทั่วโลก

แม้วสวัตติ์จะเริ่มทำเพจด้วยความชอบส่วนตัว แต่เขาก็พบปัญหาว่า มีอีกหลายส่วนในวงการที่ยัง “ตกไฟ” — เป็นภาษาของละครเวที หมายถึงตัวแสดงที่รัศมีไฟส่องไปไม่ถึง ผู้ชมจะเห็นเป็นเพียงเงาเลือนรางบนเวที

“มันมีศิลปินที่พยายามจะผลิตผลงานดีๆ ออกมาเยอะมากในประเทศไทย แต่มันไม่ถูกสื่อสารไปถึงคนที่สนใจ นอกเหนือไปจากกลุ่มคนที่ดูกันเองอยู่ในนี้” เช่นคนไทยน้อยคนจะรู้ว่า ยังมีละครเวทีโรงเล็กซึ่งไม่ใช่ สี่แผ่นดิน หรือ บัลลังก์เมฆ อยู่อีกมากมาย ประเทศไทยเต็มไปด้วยละครหลากหลายรูปแบบให้เลือกสรร ทว่าความสนใจยังจำกัดอยู่ในกลุ่มแฟนตัวยงหรือคนในวงการเท่านั้น

“ถ้าละครเวทีจะอยู่ได้อย่างยั่งยืน การเข้าถึงกลุ่มคนที่กว้างขึ้นก็สำคัญ เรารู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันได้ ช่วยสื่อสารออกไปให้เขารู้ว่ามีละครเรื่องนี้อยู่นะ เผื่อบางคนที่อาจไม่เคยดูละครมาก่อนแต่เขารู้สึกเชื่อมโยงกับเนื้อหา เขาก็สามารถเลือกมาดูครั้งแรกได้ มีครั้งแรกแล้วก็อาจจะมีครั้งต่อๆ ไป” นี่เป็นวิสัยทัศน์ และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นพันธกิจของผู้ก่อตั้ง The Showhopper

กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียวหรือด้วยคนเพียงคนเดียว ดังนั้นแล้วสเตจหลังเวทีก็ “ให้คิว” ส่งสัญญาณให้ตัวละครตัวต่อไปเร่งรุดเข้ามาในฉาก…

showhopper02
วสวัตติ์หลงใหลในเสน่ห์ของละครเวที และเป็นผู้ก่อตั้ง The Showhopper – งานของเขาไม่ใช่แค่การหาคอนเทนต์มาลงเพจออนไลน์ แต่ยังพยายามสร้างสังคมเล็ก ๆ ของคนรักละครเวที เพื่อให้คนเหล่านี้ได้มีโอกาสมาพบปะแลกเปลี่ยนคิดเห็นกันผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ของเพจอีกด้วย

หมู่มวล : หลากหน้าแต่ใจเดียว

วสวัตติ์พบกับ ชวิศา ฉายอินทร์ หรือปิ๊กครั้งแรกก็เพราะละครเวที ชวิศาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับศิลป์ของละครเพลงเรื่อง ก๊วนคานทอง Love Game The Musical เปิดแสดงปี 2560 ครานั้นชายหนุ่มผู้รักละครได้มีส่วนร่วมในฐานะเด็กฝึกงาน

“พบกันครั้งแรกเป็นอย่างไร?” ยิงคำถามไป

“เกลียดกันจะตาย” ชวิศาตอบแบบไม่ต้องคิด บุคลิกของสองคนเหมือนลิ้นกับฟันที่ไม่ค่อยลงรอยกันนัก “ขออย่าเจอกันอีกเลย คิดว่าเส้นทางชีวิตคงไม่เหมือนกัน น่าจะไม่ต้องเจอกันแล้วแหละ”

แต่ตัวละครจะมารู้เส้นทางชีวิตตัวเองได้อย่างไร!

ไม่ถึงปีหลังจากนั้น เส้นทางของทั้งคู่เวียนมาพ้องพานกันอีกครั้ง การเริ่มทำเพจในช่วงแรกดูเหมือนงานอดิเรก ชวิศาจึงเข้ามาช่วยเหลือ “หาอะไรทำแก้เบื่อก่อนไปเรียนต่อ แต่ปรากฏว่าทำยาว ไปเรียนต่อแล้วก็ยังทำอยู่”

ทั้งสองได้เจอหน้ากันแค่ไม่กี่สัปดาห์ช่วงวางแผน แลกเปลี่ยนไอเดีย แบ่งปันประสบการณ์และทักษะของตนที่ต่างแนวกัน คนหนึ่งชอบละครเพลง อีกคนชอบละครพูด เนื้อหาเพจจึงเพิ่มความหลากหลายรอบด้าน และขยายจาก Musical & Review ออกไปครอบคลุมศิลปะการแสดงแทบทุกแขนง จนนำมาสู่การเปลี่ยนเป็นชื่อใหม่ TheShowhopper

แทนที่จะวิจารณ์ละครให้ฟัง ชวิศามองว่าจุดประสงค์ของแบรนด์ใหม่ในเพจเก่าคือ “เราอยากให้คนดูออกมาพูดเองว่าชอบหรือไม่ชอบละครเรื่องไหน เพราะอะไร โดยไม่ต้องมีการไปชี้นำ”

“The Showhopper ตั้งตัวเองในฐานะ ‘คนดู’ เสมอมา” วสวัตติ์ย้ำว่าเขาไม่เคยทำละครหรือเรียนการละครมา เป็นเพียงนิสิตจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ที่มีความหลงใหลในละครเวทีเท่านั้น และอยากเผื่อแผ่ความหลงใหลนี้ไปสู่ผู้อื่นด้วยการทำเพจ แต่แน่นอนคนในสังคมก็มีพื้นฐานความเข้าใจในละครต่างกัน การสื่อสารให้คนดูสนใจด้วยตัวเองได้จึงเป็นสิ่งที่วสวัตติ์เน้นย้ำ เขาชวนคนมาดูละครโดยไม่ได้เน้นไปที่ความเป็นละครเวที แต่เน้น “เนื้อหา” และรายละเอียดซึ่งคนดูน่าจะสนใจ

“เรายึดโยงคนด้วยเนื้อหาของละครเรื่องนั้น ๆ เพื่อให้เขาสามารถเปิดใจเข้ามานั่งดูสักครั้งหนึ่งก่อน” วสวัตติ์กล่าวว่าหน้าที่ของเพจไม่ใช่การพยายามพาคนมาดูละคร แต่พยายามทำให้คนสนใจในเนื้อหาละคร ให้เขารู้ว่าละครเรื่องนี้มีสิ่งที่เขาสนใจอยู่ และพาตัวเองเข้ามาดู คนรักประวัติศาสตร์อาจสนใจ แฮมิลตัน ทาสแมวก็อาจชอบ แคทส์ หรือคอการเมืองก็ไม่ควรพลาดชม ละครเวที ซ้อมหกปีไม่ได้เล่น เป็นอาทิ

เมื่อมีการพลิกโฉม เพจต้องเร่งแนะนำตัวและทำคะแนนอีกรอบ เนื้อหาของเพจในช่วงนั้นจึงต้องต่อเนื่องและหลากหลายมากขึ้น ทั้งวิดีโอ อินโฟกราฟิก และบทความขนาดยาว อย่างน้อยต้องเนรมิตให้ได้วันละหนึ่งบทความ

“ก็เลยเป็นช่วงที่หนักหนาสาหัส” ชวิศาสารภาพ เมื่อต้องเปลี่ยนสถานะจากเพื่อนที่มาช่วยเพื่อน กลายเป็นพนักงานเต็มตัวของเพจภายใน 2 ปี

และอย่างที่ย้ำไปว่า กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จด้วยคนเดียว…หรือสองคน ผู้กำกับจึงปล่อยบรรดาหมู่มวลให้เข้ามาเติมเต็มเวที

“เราเปิดรับนักเขียนคนนอกมาตลอด เพราะเนื้อหามันลึกขึ้นเรื่อยๆ” ชวิศาเล่าว่าอยากกระจายความสนใจไปให้กว้างที่สุด นักเขียนที่หมุนเวียนกันมาช่วยคิดช่วยสร้างจึงมีตั้งแต่นักร้อง ครูสอนบัลเลต์ นักเรียนวิศวะเคมี ไปจนถึงแฟนพันธุ์แท้เจ้าหญิงดิสนีย์ ต่างคนล้วนรักในละครเวที แต่มีแง่มุมที่สนใจต่างกันไป คนเหล่านี้ไม่ได้เขียนเพจเป็นงานประจำ แต่อย่างน้อยการมาของพวกเขาก็ช่วยต่อเติมและขยายรากฐานของ The Showhopper ให้แตกแขนงเนื้อหาไปได้ในหลายแวดวง และแน่นอนจำนวนคนกดถูกใจก็ไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆ

รู้ตัวอีกทีก็เข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว วสวัตติ์ย้อนมองอดีตเพื่อขีดทางสู่อนาคต “แม้จะผ่านมาแล้ว 3 ปี แต่เรายังอยู่ในขั้นที่ต้องเรียนรู้และพัฒนาอยู่เรื่อยๆ เรายังไม่เจอว่าโมเดลแบบไหนจะได้ผลดีที่สุด แต่ตอนนี้เรากำลังสนุกกับการร่วมมือกับคนนั้นคนนี้เพื่อทำสิ่งต่างๆ แล้วดูว่าผลลัพธ์เป็นอย่างไร ก็สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง แต่เราก็ค่อยๆ เก็บประสบการณ์”

นาทีนั้นทั้งโรงละครพลันมืดสนิท ไฟทางเดินสว่าง เสียงประกาศดังจากลำโพงว่า “intermission”

showhopper04
หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มิวสิคัล สูจิบัตร และตั๋วเข้าชมละครเวทีมากมายเรียงรายอยู่บนชั้นวางหนังสือในออฟฟิศ The Showhopper แสดงถึงความเป็นคอละครตัวยงของวสวัตติ์

พักองก์ : ฟังเสียงผู้ชมนอกโรง

ไม่ไกลจากร้านทำฟันที่ The Showhopper แฝงตัวอยู่ ในห้องรับรองชั้นใต้ดินของโรงแรมตวันนา ถนนสุรวงศ์ ก็มีห้องซ้อมละครแฝงฝังอยู่เช่นกัน Bangkok Goddess คือละครมิวสิคัลโรแมนติก-คอเมดีเรื่องใหม่ จะเปิดแสดงปลายธันวาคม 2563 โดยทั้งนักแสดงและผู้กำกับฯ ต่างก็กำลังเร่งผลิตละครเรื่องดังกล่าวกันอย่างเข้มข้นภายในห้องซ้อมชั่วคราวแห่งนี้

กิจกรรม “อิมโพรไวส์” หรือการด้นสด จะช่วยฝึกให้นักแสดงปรับตัวกับสถานการณ์ตรงหน้าได้อย่างฉับพลัน โดยเฉพาะการแสดงละครเวที ซึ่งเหตุผิดพลาดไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอในทุกรอบการแสดง อิมโพรไวส์จึงเป็นทักษะสุดสำคัญ เมื่อไปถึงก็ได้เห็นนักแสดงต่างกำลังหัวเราะร่า น้ำตาร่วง ทุ่มเถียงกันเสียงดังไปตามสถานการณ์ต่างๆ ตามแต่ผู้กำกับจะโยนมาให้

ท่ามกลางเหล่านักแสดงที่ยังเป็นเด็กวัยเรียนไปกว่าครึ่ง มี พิจิกา จิตตะปุตตะ หรือลูกหว้า นักแสดงหญิงผู้มากประสบการณ์รวมอยู่ด้วย หากกล่าวกันอย่างหาความก็ต้องยอมรับว่า พิจิกาโลดแล่นอยู่บนเวทีละครตั้งแต่นักแสดงเรื่องนี้หลายคนยังเป็นเด็กน้อยด้วยซ้ำ จึงนับว่าเป็นการรวมตัวที่น่าสนใจยิ่ง

“เราเห็นว่าเขาทำด้วยความตั้งใจจริงๆ เราก็เอาใจช่วยมากๆ อยากสนับสนุน” พิจิกากล่าวถึง The Showhopper ในฐานะผู้ที่เคยร่วมงานด้วยบ่อยครั้ง เธอมองว่าเนื้อหาของเพจมีความทันสมัย ขณะเดียวกันก็ครอบคลุมความสนใจของผู้อ่านได้หลายช่วงวัย เพราะนำเสนอหลากหลายแง่มุม “มีเนื้อหาอันหนึ่งซึ่งเราปลื้มมาก คือเขารวมละครที่ลูกหว้า พิจิกา เล่น ประมาณ 18 เรื่อง ไล่เรียงมา และก็มีอาร์ตเวิร์กน่ารักมาก รู้สึกซึ้งใจมากเลย ขนาดบางรูปเราเองยังไม่มี แต่เขาก็ไปหามาได้ รู้สึกขอบคุณมากๆ …เราเซฟภาพเก็บไว้เหมือนเป็นแฟ้มผลงานของเราเลย”

สำหรับนักแสดงละครเวทีผู้ทุ่มเท การมีผู้ใส่ใจและบันทึกจดจารผลงานของตนย่อมมีค่าต่อใจอย่างมหาศาล

ไม่ต่างจาก จิรภัทร เสถียรดี พนักงานบัญชีของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเคยร่วมกิจกรรม Hop in Japanกิจกรรมแรกๆ ของ The Showhopper ที่จัดทริปพาผู้ติดตามเพจไปชมละครเวทีถึงประเทศญี่ปุ่น ซึ่งลูกหว้า พิจิกา ก็เป็นแขกพิเศษของทริปด้วย จิรภัทรเล่าย้อนประสบการณ์ครั้งนั้นว่านอกจากความประทับใจที่ได้ชมละครแล้ว ยังได้พบสังคมเล็กๆ แห่งใหม่ของคนที่ชอบในสิ่งเดียวกัน

“มันเป็นสังคมที่น่าสนใจดีนะ แต่เราไม่เคยรู้ว่ามันมีมาก่อน… อาจจะเป็นเพราะชีวิตการทำงานของเรา เราทำงานบริษัท มันก็น่าเบื่อประมาณหนึ่ง แต่นี่มันคือวงศิลปะ ซึ่งเขาอาจจะเป็นกลุ่มก้อนอยู่แล้ว และเราก็ได้ไปอยู่ตรงนั้น” จิรภัทรเห็นความพยายามของ The Showhopper ที่จะสร้างพื้นที่ให้ผู้คนได้รู้จักละครเวทีอย่างหลากหลายและทั่วถึงมากขึ้น เริ่มจากในโลกออนไลน์ ก่อนจะขยายสู่วงสนทนาในชีวิตจริง “ปิ๊กกับเต๋เคยบอกเราว่า เขาอยากจะสร้างชุมชนขึ้นมาจริงๆ มันจึงไม่ใช่แค่การรายงานข่าวเท่านั้น แต่มันคือการนำคนเข้ามารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งมันไม่เคยมีมาก่อนในไทย”

จากมุมมองของผู้ติดตามเพจหรือ “คนดูแถวหน้า” ของทั้งพิจิกาและจิรภัทร พวกเขากล่าวสอดคล้องกันว่า อยากเห็น The Showhopperได้โดดไปร่วมงานกับคนจากหลากหลายวงการ เพื่อขยายความสนใจไปสู่กลุ่มคนใหม่ๆ ขณะที่กลุ่มผู้ติดตามเดิมก็มีแต่จะทวีความเหนียวแน่นขึ้นเรื่อยๆ

showhopper07
บรรยากาศการซ้อมละครเวทีเรื่อง “Bangkok Goddess” โดยมี ลูกหว้า-พิจิกา นักแสดงหญิงมากความสามารถ ผู้เคยร่วมงานกับ The Showhopper หลายครั้ง เป็นส่วนหนึ่งของละครเวทีเรื่องนี้ พิจิกามองว่าละครเวทีเป็นสิ่งพิเศษ ทุกรอบการแสดงจะไม่เหมือนกัน และการแสดงแต่ละรอบจะเกิดขึ้นครั้งเดียวเท่านั้น

ทำไมต้องละครเวที

ในยุคที่ความบันเทิงอยู่เพียงสุดปลายนิ้วเลื่อนไถ ระบบสตรีมมิงบนออนไลน์ที่ก้าวหน้า ไยเราจึงยังอยากก้าวออกจากบ้านเพื่อไปชมมหรสพเก่าแก่เช่นละครเวทีกันอยู่อีก สำหรับวสวัตติ์แล้ว น่าจะเป็นเหตุผลเดียวกับที่คนออกจากบ้านเพื่อไปจ้องมองงานศิลป์ของจริงในแกลเลอรี เพราะมันคือความสดที่ต้องประจักษ์ด้วยสายตา ณ ห้วงเวลานั้น

ข้อโต้แย้งจึงตามมา “แต่เมืองไทยมันต่างจากลอนดอนหรือนิวยอร์ก ละครเวทีซึ่งคนรู้จักเข้าถึงไม่ง่าย ที่สำคัญตั๋วยังแพงอีก”

วสวัตติ์พยักหน้าเห็นด้วย แต่ก็ตอบกลับด้วยข้อเท็จจริง “เหตุผลที่ตั๋วแพงเป็นเพราะต้นทุนมันสูงมาก นอกจากนั้นละครเวทีเป็นการรวมศาสตร์สร้างสรรค์มาไว้ด้วยกันเยอะมาก นักดนตรีต้องแต่งเพลงเป็นสิบเพลงกว่าจะได้ ไหนจะนักแสดง ออกแบบเสื้อผ้าหรือฉาก รวมกันแล้วเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง”

ถึงกระนั้นผู้ก่อตั้ง The Showhopper มีความเชื่อว่า “ละครเวทีต้องเอื้อมมือเข้ามาหาคนให้มากขึ้น” จากทุกวันนี้จะเห็นได้ว่าต่างประเทศเองก็เริ่มฉายบันทึกการแสดงให้ชมทางออนไลน์ด้วยราคาที่ต่ำล

จริงอยู่ว่าประสบการณ์หน้าจอนั้นเทียบไม่ได้กับรับชมในโรง แต่หากผู้ชมหลงเสน่ห์เข้าแล้ว เมื่อโปรดักชันจริงกลับมาจัดแสดงเต็มรูปแบบ เชื่อได้เลยว่าพวกเขาจะต้องขวนขวายกันออกไปดูแน่นอน

“มันก็คล้ายการที่คนเก็บตังค์เพื่อไปดูคอนเสิร์ต Blackpink น่ะ” เขายกตัวอย่าง

หลายคนทั้งในและนอกวงการละครเวทีก็เริ่มสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะราว 2 ปีที่ผ่านมา ละครเวทีในไทยเริ่มเฟื่องฟูและมีผู้สนใจมากกว่าเดิม ควบคู่กับเนื้อหาที่หลากหลายขึ้นด้วย

“คุณเชื่อไหมว่ามันมีละครเวทีเกี่ยวกับ จิตร ภูมิศักดิ์ ใช้เพลงแนวเพื่อชีวิตดำเนินเรื่อง แต่คุณอาจจะติดภาพว่ามีแต่นักร้องดีว่าจากเวทีบรอดเวย์… ละครมันหลากหลายกว่าที่คุณคิดนะ” จิรภัทรสนับสนุน และมองว่าการสนทนาในกลุ่มเพื่อนจะช่วยขยายความสนใจในละครเวทีออกไปได้

พิจิกาเองก็ยืนยันว่าละครเวทีเป็นศาสตร์ที่พิเศษ ทุกรอบการแสดงจะไม่เหมือนกันเลย แต่ละรอบจะเกิดขึ้นครั้งเดียวเท่านั้น อีกทั้งละครเวทีจะทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีผู้ชมในโรงมาช่วยเติมเต็ม “อย่างละครแนวคอเมดีจะเห็นได้ชัดเลยว่ามุกไหนมันได้บ้าง ซึ่งตอนซ้อมเราอาจจะไม่รู้มาก่อน มันสร้างสายสัมพันธ์กับคนดูมากๆ”

นักแสดงหญิงผู้มากประสบการณ์ทิ้งท้ายว่า ละครเวทีในไทยยังคงมีความเฉพาะกลุ่มอยู่ ด้วยตลาดและพื้นที่ของการแสดงยังไม่เปิดกว้างเหมือนต่างประเทศ “อาจจะเป็นพฤติกรรมของคนไทยเราที่คิดว่า ‘เราดูอะไรก็ได้’ นอนดูอยู่ที่บ้านก็ได้ เขาอาจเห็นว่าภาพยนตร์กับการแสดงสดมันไม่ได้ต่างกันขนาดนั้น สิ่งหนึ่งที่คิดว่าควรต้องเริ่มคือ ปลูกฝังตั้งแต่มัธยมฯ เลย ให้เขาเห็นการแสดงหลากหลายรูปแบบและเนื้อหา ให้เห็นว่ามหรสพแต่ละอย่างมันมีคุณค่าต่างกัน”

showhopper08
วสวัตติ์มุ่งปรับเปลี่ยนและพัฒนา The Showhopper อย่างต่อเนื่อง รวมถึงร่วมผลักดันวงการละครเวทีไทยต่อไป

The Ghost Light ยังเรืองรอง!

ปี 2563 ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ไวรัสร้ายยังไม่คลายกรงเล็บจากโลกใบนี้ รวมทั้งพญาอินทรี…

ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นิวยอร์กไทมส์พาดหัวว่า “บรอดเวย์จะปิดไปถึงพฤษภาคมปีหน้าเป็นอย่างน้อย” นานทีเดียวกว่าชุมทางโรงละครอันดับต้นๆ ของโลกจะกลับมาครึกครื้น และผู้คนเรือนหมื่นจะตบเท้าเข้ามาชมการแสดงได้อีกครั้ง เมื่อไฟดวงสุดท้ายในโรงละครย่านบรอดเวย์ดับวูบลง วงการละครเวทีทั่วโลกราวกับจะหม่นแสงลงตาม

ธรรมเนียมสากลของละครเวที เมื่อโรงละครมืดสนิทและร้างผู้คน จะยังมีไฟดวงหนึ่งส่องสว่างอยู่บนเวทีเสมอ เรียกกันว่า “the ghost light” เป็นสัญลักษณ์สื่อความหมายว่า “พวกเราจะกลับมา”

โลกศิลปิน โดยเฉพาะศิลปะการแสดง ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 อย่างสาหัส แต่ท่ามกลางความเงียบงันและทรมาน ghost light ยังคงทอแสงท่ามกลางโรงละครมืดมิด ไม่ต่างจากไฟฝันซึ่งยังกรุ่นในอกของบรรดาศิลปิน เมื่อโมงยามเลวร้ายพ้นไป พวกเขาจะต้องนำละครเวทีกลับมาแน่นอน

และในปัจจุบัน ละครเวทีเองก็ไม่จำเป็นต้องอยู่บนเวทีหรือในโรงละครเสมอไป แต่กลายเป็นสถานการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานแห่งหน ไม่ว่าจะในสวน บนดาดฟ้า ลานจอดรถ ท่ามกลางพื้นที่ชุมนุม หรือออนไลน์ผ่านระบบซูม ตราบใดที่มีผู้แสดง และมีผู้ชมเฝ้าจ้องมองพร้อมร่วมอารมณ์ เมื่อนั้นละครเวทีได้เกิดขึ้นแล้ว

สิ่งที่วสวัตติ์เชื่อและหวังเริ่มเป็นจริงขึ้นมาแล้ว “ละครเวทีต้องเอื้อมมือเข้ามาหาคน” มันกำลังเกิดขึ้นอยู่ ในไทย และทั่วโลก ละครต้องไม่หยุดนิ่งอยู่แค่ในโรง แต่ทั้งรูปแบบการนำเสนอและเนื้อหาต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย

เราต้อง “อิมโพรไวส์”!

เช่นเดียวกันกับ The Showhopper ที่เพียรพัฒนา ปรับเปลี่ยนตนเองอย่างต่อเนื่อง แม้วงการละครเวทีจะหยุดชะงักไป เพจก็ยังคงผลิตเนื้อหาและข่าวสารทางออนไลน์ออกมาอย่างไม่ขาดสาย

ด้วยความรู้และความรักของผู้คนหลายสายอาชีพและช่วงวัย แต่มีใจรักในสิ่งเดียว ได้ร่วมแรงกันสร้างสังคมเล็กๆ ให้ก่อตัวขึ้นมาและดำรงอยู่เสมอไป

ชวิศาเปิดหน้าหนึ่งในสมุดบันทึก “น่าจะเป็นบันทึกวันที่เต๋มาคุยเรื่องทำเพจอย่างจริงจัง”

ลายมือบนกระดาษขาวเขียนไว้สั้นๆ 14 มิถุนายน 2560 ได้อ่านความฝันที่มีค่า มีพลัง และมีอยู่จริง”

โรงละครทุกแห่งมี ghost light เรืองรองบนเวที เหมือนกับทุกชีวีต้องมีฝันเป็นแรงบันดาล

ม่านโรยตัวลงปิด…