วนบุษป์ ยุพเกษตร : เรื่อง
ศิริรักษ์ วงศ์ซิ้ม : ภาพ

“กลีบทับกันมันผิดนะ แบบนี้มันผิดธรรมชาตินะแอน”
ข้อความตอบกลับอย่างเป็นกันเองในกล่องข้อความ หลังคู่สนทนาส่งภาพวาดทางพฤกศาสตร์ที่เพิ่งร่างไปปรึกษาความถูกต้อง
“ถ้าตำแหน่งตรงนี้จะใส่ดอก จะซ้อนดอกให้มาอยู่ด้านหลังได้ไหม คือเราจะจัดองค์ประกอบแบบนี้ รายละเอียดใช้ได้หรือยัง”
นี่เป็นเพียงตัวอย่างสั้นๆ จากบทสนทนาที่ แอน-ศันสนีย์ดีกระจ่าง นักวาดภาพประกอบคุยกับจิ๋ว-สุนิสาแสงวิโรจนพัฒน์ คู่หูนักพฤกษศาสตร์ของเธอ
ในห้องเรียนสอนวาดภาพบนชั้น 2 ของร้านขนมในซอยสุขุมวิท 49 หลังผละจากนักเรียนที่กำลังบรรจงจดพู่กันลงสีใบมะละกออย่างค่อยเป็นค่อยไป แอนเล่าถึงกระบวนการทำงานในฐานะนักวาดภาพประกอบร่วมกับนักพฤกษศาสตร์
แค่วาดให้สวยงามตามหลักศิลปะยังไม่พอ แต่ยังต้องถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ด้วย
การสื่อสารและแลกเปลี่ยนความรู้อย่างเข้มข้นจริงจัง ยิ่งช่วยขับให้เห็นถึงความสำคัญของงานพฤกษศิลป์ที่ประกอบไปด้วยนักพฤกษศาสตร์และนักวาดภาพประกอบ
เหมือนสมองสองข้างที่ทำงานประสานสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียว


สมองเริ่มทำงาน
คุณมีข้อความใหม่…
“คุณไปหาจิ๋ว-สุนิสานะ เป็นลูกศิษย์เอกของฉันเอง”
เนื้อความในอีเมลจาก ดร. มาร์ก เอฟ. นิวแมน (Mark F. Newman) นักพฤกษศาสตร์ประจำสวนพฤกษศาสตร์เอดินบะระ สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ขิง-ข่า (Zingiberaceae) ส่งมาถึงศันสนีย์ เมื่อเธอไปขอคำปรึกษาในการริเริ่มโปรเจกต์วาดภาพพรรณไม้วงศ์นี้
นักเขียนภาพเล่าย้อนเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างที่ปรึกษาของเธอและอาจารย์ผู้นี้ให้ฟังอย่างยกย่องและนับถือในความเก่งกาจของคู่หูที่รู้จักกันมาระยะ 1 ปีตั้งแต่ได้รับอีเมลฉบับนี้ เธอไม่ลังเลที่จะนัดแนะให้เราได้ไปรู้จัก
อาจเรียกได้ว่า “พืช” นำพาให้ทั้งคู่มาเจอกัน
—————————————————————————————————————
ณสำนักงานหอพรรณไม้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ไม่กี่วันถัดมา เรายืนอยู่หน้าสำนักงานหอพรรณไม้ (Bangkok Forest Herbarium : BKF) ณ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับจิ๋ว-สุนิสา แสงวิโรจนพัฒน์ นักวิจัยหลังปริญญาเอก ผู้ศึกษาพืชวงศ์ขิง-ข่า และผู้ตั้งชื่อดอกเข้าพรรษา (Globba) ชนิดใหม่ของโลก 18 ชนิด
เรือนกระจกสูงโปร่งสำหรับปลูกพรรณไม้เกียรติประวัติตั้งโดดเด่นอยู่ด้านหน้าทางเข้าสำนักงาน นักพฤกษศาสตร์นำเราขึ้นไปชั้น 3 ของตึกหอพรรณไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเพื่อดูตัวอย่างพรรณไม้แห้งที่ถูกเก็บรักษาไว้กว่า 3 แสนชิ้น มานานกว่า 89 ปีแล้ว
“ตัวอย่างต้นไม้ถูกจัดเก็บไว้เป็นระบบและรักษาในระยะยาว หลายชิ้นอายุเกิน 50 ปี ฉะนั้นจำเป็นต้องตรวจคนเข้าไปใช้งานและไม่ได้เปิดเป็นสาธารณะ”
สุนิสาในชุดเสื้อเชิ้ตขาวกางเกงยีนหันมาอธิบายในท่าทีเป็นกันเอง ก่อนที่จะเล่าเส้นทางสู่การเป็นนักพฤกษศาสตร์ของเด็กหญิงคนหนึ่งที่ชื่นชอบต้นไม้เป็นชีวิตจิตใจ เธอไม่ลืมที่จะเล่าถึงคู่หู พ่วงกับทีมงานด้วยน้ำเสียงชอบอกชอบใจในสปิริต และความรู้สึกโชคดีที่ได้มาเจอกัน
“เราชอบความจริงจังของแอนและสบายใจที่ทำงานกับเขา แอนประสบการณ์สูง จะค่อนข้างละเอียด เราคุยถามกลับไปกลับมากันตลอดเลย”
เธอพูดถึงนักวาดภาพระดับเวิลด์คลาสด้วยน้ำเสียงสดใส
การสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญ ทั้งคู่สนทนากันผ่านแชตส่วนตัวเป็นประจำ เนื่องจากงานชนิดนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องของข้อมูล หากรู้ลึกและละเอียดเท่าไรก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อการทำงานมากเท่านั้น ประกอบกับความใคร่รู้ส่วนตัวของนัดวาดมืออาชีพที่คอยถามไถ่ข้อเท็จจริงเสมอๆ การทำงานของทั้งคู่จึงค่อนข้างลื่นไหลและเต็มไปด้วยพลัง


สมองฝั่งซ้ายกับตัวอย่างพรรณไม้
เสียงเครื่องดูดความชื้นดังหึ่งๆ ทั่วห้องเก็บตัวอย่าง เพื่อป้องกันพืชพันธุ์จากเชื้อราที่อาจเกิดขึ้น
นักพฤกษศาสตร์สาวพาชมตู้เหล็กสูงใหญ่เรียงรายนับร้อยตู้ เธอเดินเข้าไปหมุนตู้เหล็กและเปิดออกเพื่อหาพืชสกุลที่เธอเชี่ยวชาญมาคุยกับเรา
“นี่ลูกรักของพี่ ดอกเข้าพรรษา เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ขิงนี่ละค่ะ”
นักพฤกษศาสตร์แนะนำต้นไม้ที่เธอถนัด พร้อมค่อยๆ ยกกระดาษแข็งขนาด A3 ออกมาอย่างเบามือ บนกระดาษมีตัวอย่างต้นเข้าพรรษาแห้ง ที่ประกอบไปด้วยลำต้น ใบ และดอก ทั้งหมดถูกเย็บติดกับกระดาษด้วยเส้นด้ายบางๆ สีขาว ด้านล่างซ้ายมีแผ่นป้ายเขียนระบุชื่อวงศ์ ชนิด แหล่งที่เก็บ และวันที่เก็บตัวอย่างโดยละเอียด
งานอนุกรมวิธาน (Taxonomy) เป็นสิ่งที่เธอถนัด ซึ่งจะเกี่ยวกับการจำแนกพรรณไม้และจัดหมวดหมู่โดยต้องมีข้อมูลพร้อมเหตุผลสนับสนุนการจัดกลุ่มของพืช แต่คำตอบของวันนี้อาจไม่ถูกต้องเสมอไป ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนได้ตามข้อมูลที่เพิ่มขึ้น
“คล้ายกับการทำบันทึกทางประวัติศาสตร์เหมือนกันเนอะ”
เราฟังพลางคิดในใจ
งานพฤกษศาสตร์ที่ว่ายังรวมถึงการศึกษาลักษณะของต้นไม้ทุกส่วนโดยละเอียด เป็นการทำความรู้จักพืชในแง่มุมต่างๆ เช่น การตอบสนองของพืชต่อสิ่งแวดล้อม การนำพืชมาใช้ประโยชน์ เพราะการที่รู้ว่าบ้านเรามีทรัพยากรอะไรบ้าง และทรัพยากรเหล่านั้นซ่อนตัวอยู่ตรงไหนเป็นสิ่งจำเป็นมาก เหมือนกับที่ ศ.ดร. เต็ม สมิตินันท์ บุคคลสำคัญด้านพฤกษศาสตร์ ผู้ริเริ่มโครงการ “การศึกษาพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย (Flora of Thailand)” เคยบรรยายไว้ในงานนิทรรศการทางวิทยาศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ ณ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อปี 2505 ว่า
“การค้นคว้าด้านการใช้ประโยชน์จากไม้และของป่า จำเป็นต้องอาศัยวิชาพฤกษศาสตร์เป็นหลักอยู่อย่างมาก เพราะบรรดาตัวอย่างไม้และของป่าที่ได้จากการสำรวจเก็บหามานั้น หากไม่ทราบชนิดแล้ว ก็ย่อมไม่มีคุณค่าทางวิชาการแต่อย่างใด การรู้จักพรรณพืชของเราโดยกว้างขวางนั้นเท่ากับรู้จักว่า เรามีทรัพยากรธรรมชาติชนิดใดบ้าง”
ในการสำรวจพืชภาคสนาม การเก็บตัวอย่างพืชเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นหลักฐานว่าพบพืชชนิดใดขึ้นอยู่ที่ใดบ้าง ซึ่งมักจะเก็บเป็นแบบแห้ง เพราะเก็บไว้ได้ในระยะยาว หรือบางชิ้นส่วนที่บอบบางเกินว่าจะเก็บแบบแห้ง พวกเขาก็เลือกที่จะเก็บแบบดองในแอลกอฮอล์ 70% แทน ส่วนข้อมูลทั่วไปอื่นๆ เช่น สภาพป่า ระดับความสูง ชื่อพื้นเมือง สี หรือส่วนที่จะหายไปเมื่อตัวอย่างแห้ง ก็จะจดเก็บเป็นบันทึกเอาไว้
จังหวะเวลาเป็นอีกสิ่งที่สำคัญเมื่อต้องลงพื้นที่สำรวจและเก็บตัวอย่าง ฉะนั้นการรวบรวมข้อมูลจากบันทึกเก่าในอนุกรมวิธานก็จะช่วยบอกขอบเขตคร่าวๆ ได้ว่าครั้งถัดไปควรเก็บตัวอย่างใหม่ได้ในช่วงไหนหรือสภาพพื้นที่แบบไหน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ณ ตอนนั้นด้วย เพราะต้นไม้บางชนิดอาจมีให้เห็นแค่ครั้งเดียวในรอบปี
————————————————————————————————————–
“ภาพวาดเคยช่วยชีวิตพี่ครั้งหนึ่ง”
สุนิสาเปิดประโยคด้วยน้ำเสียงภูมิใจปนตื่นเต้น และเริ่มเล่าประสบการณ์การทำงานวิจัยตอนช่วงปริญญาเอกเกี่ยวกับประโยชน์ของภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ ขณะที่ศึกษาเรื่องการผสมเกสรของดอกเข้าพรรษา เธอพบลักษณะของพืชที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อน และร้อนใจอยากตรวจสอบตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้
สุดท้าย หลักฐานภาพวาดโบราณจากอินเดียที่เคยถูกบันทึกไว้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 นี่เองที่ช่วยชีวิตเธอไว้
“ไม่น่าเชื่อว่าศิลปินเขาวาดทุกอย่างเหมือนตาเห็น คือภาพวาดทางพฤกษศาสตร์จะต้องไม่แต่งเติมตามความงามที่เราอยากให้มันเป็น แต่มันคือการที่เอาสิ่งที่ตาเห็นจากธรรมชาติแสดงออกมา”
แม้จะเป็นลักษณะที่เล็กและซับซ้อนมาก แต่หลักฐานเหล่านั้นก็ให้ความกระจ่างแก่เธอจนครบถ้วนตรงตามสมมุติฐานที่ได้ตั้งไว้ เพราะรายละเอียดที่นักวาดภาพในอดีตทิ้งเอาไว้นั้นเทียบเท่าได้กับการตรวจสอบจากตัวอย่างสดทุกกระเบียดนิ้ว
ประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้เธอเห็นความสำคัญของการมีภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ อาจกล่าวได้ว่าหากคนไม่เคยใช้ประโยชน์จากมันคงไม่เข้าใจ และเมื่อได้มาทำงานกับนักวาดภาพทำให้เธอยิ่งหลงใหล


สมองฝั่งขวากับพู่กันสีน้ำ
ห้องเรียนวาดภาพของครูแอน
“ถ้าเราลงสีใบแล้วเว้นขาวตรงที่ต้องเว้นไว้แบบนี้ได้มั้ยครับ”
เสียงนักเรียนคนหนึ่งถามขึ้นมาในกลุ่มนักเรียนที่กำลังมุงดูศันสนีย์ช่วยลงสีในงานของนักเรียนอีกคนอย่างชำนิชำนาญ
“อย่างนั้นมันก็ทำได้ แต่ต้องใส่รายละเอียดไปด้วยนะ”
ความแตกต่างของการเขียนภาพทางพฤกษศาสตร์เด่นชัด ไม่เหมือนกับศิลปะติดผนัง (wall art) หรือศิลปะร่วมสมัย (contemporary art) จึงต้องมีเรื่องรายละเอียดทางวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเลี่ยงไม่ได้ ครูแอนย้ำกับนักเรียนว่าถ้าลงสีไปที่เดียวหมด สีจะกลบรายละเอียดที่ควรจะมีโดยที่เราแก้กลับมาไม่ได้แล้ว
“ด้วยความที่มันเป็นภาพประกอบทางพฤกษศาสตร์ (botanical illustration) เนอะ แต่ถ้ามันเป็นศิลปะร่วมสมัย เราจะลงแปดสีก็ไม่มีใครว่า เพราะมันไม่มีเรื่องของความถูกต้องเข้ามาเกี่ยว”
ว่าเสร็จเธอก็เปลี่ยนไปเดินดูแลนักเรียนคนอื่นๆ ในชั้น และแวะเวียนไปพูดคุยกับศิษย์เก่าที่ตอนนี้กลายเป็นเพื่อนร่วมทีมแสนกลมเกลียว ทุกคนกำลังฝึกซ้อมวาดภาพต้นไม้ที่ได้รับมอบหมายอย่างขะมักเขม้น
“สิ่งที่ยากที่สุดของนักวาดภาพ คือการแปลงตัวหนังสือออกมาให้เป็นภาพ”
พืชบางสกุล บางชนิด มีเพียงข้อมูลเอกสารและตัวอย่างแห้งที่ลักษณะบางอย่างอาจเลือนราง เหล่าศิลปินจำเป็นต้องจินตนาการสภาพต้นไม้ตอนที่ยังอยู่เป็นต้นสดแล้ววาดออกมาให้เหมือนของจริง นักวาดภาพระดับปรมาจารย์หรือผู้ที่เคยสัมผัสต้นจริงมาก่อนเท่านั้นจึงจะถ่ายทอดออกมาได้อย่างถูกต้องครบถ้วน และที่ขาดไม่ได้ก็คือความช่วยเหลือจากนักพฤกษศาสตร์ในการเป็นที่ปรึกษา
เราสบโอกาสได้นั่งคุยกับนักเรียนในคลาส เธอคนนี้เป็นอาจารย์ประจำสอนอยู่ที่ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นศิษย์เก่าที่เคยผ่านประสบการณ์การวาดภาพมาแล้วด้วย
“พอมาเรียนก็เหมือนจุดประกายให้เรารู้สึกว่าวิทยาศาสตร์กับศิลปะไม่ต่างกัน คือต้องการสื่อสารอะไรบางอย่างให้คนรู้ ในขณะที่วิทย์มันจะดูทื่อๆ ตรงๆ แต่ศิลปะมันจะลื่นไหล เข้าถึงคนง่าย”
ด้วยความที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ เธอจึงเข้าใจหลักการเป็นอย่างดี และพกความรู้จากชั้นเรียนกลับไปส่งต่อให้กับนิสิตในชั้นเรียนของตนอีกทอดหนึ่งด้วย
“ถามว่ามันดีกว่าการถ่ายภาพมั้ย มันดีกว่า เพราะภาพถ่ายไม่สามารถรวมทุกอย่างเข้ามาไว้รวมกันในภาพเดียว”
ดูหนึ่งภาพตอบทุกเรื่อง เหมือนจะเป็นคำอธิบายที่ตรงไปตรงมาสำหรับภาพชนิดนี้ การจัดวางองค์ประกอบให้ธรรมชาติ เพื่อจะสื่อว่าสิ่งใดในภาพที่เด่น ก็ต้องอาศัยจังหวะ เช่น การบานของดอก หรือผลที่ออกมาไม่พร้อมกัน
คำนิยามนี้เห็นจะชัดเจนอยู่บนภาพองค์ประกอบของมะละกอบนกระดาษสำหรับสีน้ำ 640 แกรม ขนาด 76×56 เซนติเมตร (เล็กกว่า A1 หน่อยเดียว) ที่วางไว้เป็นตัวอย่างให้นักเรียนในคลาสวาดภาพใบมะละกอ องค์รวมของภาพนำเสนอลักษณะเด่นของต้นจนครบถ้วนทั้งใบ ลำต้น ผล เมล็ด แม้แต่ใบที่เหี่ยวแห้ง
“เราให้น้ำหนักทั้งสองศาสตร์เท่ากัน ซึ่งมันลำบากมากที่จะทำให้ความสวยและถูกต้องมาอยู่ด้วยกันได้ บางทีมันต้องหลอกสายตาคนดูด้วยความสวยตะลึง แต่ว่าอาจจะมีรายละเอียดวิชาการที่ซ่อนไว้อยู่”
ครูแอนใช้สมองซีกที่ถนัดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่ไม่ลืมที่จะฝึกใช้สมองซีกขวาให้เท่าเทียมเช่นกัน


สมองทั้งสองข้าง
กว่าพืชหนึ่งต้นจะได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของวงศ์ตระกูลและกลายเป็นที่รู้จัก นักพฤกษศาสตร์และนักวาดภาพต้องลงแรงใจกันอย่างหนักหน่วง การที่เรารู้จักพืชมากเท่าไรยิ่งช่วยขับเน้นให้พืชต้นนั้นมีตัวตนและชีวิตชีวามากเท่านั้น
“เวลาทำงานคนเดียวมันเร็ว แต่เวลาทำงานเป็นทีมมันมีพลัง”
เสียงที่ออกจากปากของสุนิสา พร้อมรอยยิ้มที่มั่นใจ และดวงตาที่เปล่งประกายของเธอ ส่งต่อมาให้เรารับรู้ถึงพลังความเป็นทีมของทั้งคู่
“จิ๋วเป็นนักวิชาการก็จะมีกรอบความคิดของเขา ส่วนเรานักวาดภาพก็จะมีกรอบความคิดของตัวเอง แล้วทำไมมันถึงเป็นทีมเวิร์กที่ดีได้ มันก็ต้องมีความบ้าบอ ความเนิร์ดเหมือนกันระดับหนึ่ง ถึงไปด้วยกันได้”
สองศาสตร์ สองเส้นทางชีวิตที่ขนานกัน มาบรรจบด้วยความรักที่มีต่อต้นไม้ใบหญ้า และสุดท้ายก็ทำให้ทั้งสองกลายเป็นสมองสองซีกที่ทำงานร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์
“ไม่ใช่ว่าเราเก่งกว่าเขาหรือเขาเก่งกว่าเรา แต่มันคือ ‘เราทำงานร่วมกันให้ใคร’ ต่างหาก”
ไม่ผิดอย่างที่พฤกษศิลปินผู้นี้ว่า ความตั้งใจวาดภาพของเธอและความมุ่งมั่นศึกษาพืชพรรณของคู่หู ก็เพื่อช่วยให้สิ่งมีชีวิตสีเขียวเหล่านี้เป็นที่รู้จักตามงานวิจัยที่ค้นพบ
อาจไม่ใช่แค่ “สมอง” ที่พวกเธอใช้ แต่ “หัวใจ” ก็ด้วย
ขอขอบคุณ
- คุณศันสนีย์ ดีกระจ่าง ทีมงาน และนักเรียนในคลาส
- ดร. สุนิสา แสงวิโรจนพัฒน์ สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- อาจารย์ ดร. ฉัตรทิพย์ รอดทัศนา และ ผศ.ดร. ต่อศักดิ์ สีลานันท์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย