ศาสตร์จีนโบราณ หมังหมิ่ง : บทเรียนจากเส้นด้าย
“挽面 หมัง หมายถึง ดึง หมิ่ง หมายถึง ใบหน้า”

เรื่อง: อัจฉราวรรณ อัครธรรม

โอ๊ยๆๆๆๆ …

อื้มมมมม (เกร็งปากและกำมือ) …เบาหน่อยได้ไหมคะ หนูขอพักนิดนึง

เฮ้ออออ…….

ทำไมถึงเจ็บขนาดนี้นะ (เราคิดในใจขณะเม้มปาก)

ทันทีที่ลืมตาขึ้นมาจากความเจ็บบนใบหน้าพร้อมซับน้ำตาที่ไหลเมื่อสักครู่ ป้ารีบส่งกระจกให้เราดูผลงานการกำจัดขนผ่านเส้นด้ายมหัศจรรย์ในมือ ว่าเส้นด้ายกำลังทำงานอย่างเต็มกำลังในการเก็บเกี่ยวเส้นขนบนใบหน้าจนเต็มเส้นด้าย

mungming02
ป้าบุญยืนและลูกค้าประจำของร้าน ‘บุญยืน หมังหมิ่ง’ บนฟุตบาทถนนเจริญกรุง ย่านเยาวราช
mungming03
อุปกรณ์การทำหมังหมิ่งจะอยู่ในตะกร้าประจำตัว และข้าง ๆ คือแป้งทาหน้าจากเมืองจีนที่ป้านำมาขายด้วย

เขาทำอะไรกัน

ทุกครั้งที่มาเยาวราช บนเส้นถนนแปลงนาม เราอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมถึงมีเก้าอี้วางเรียงรายข้างทาง พร้อมกับมีหญิงสาววัยกลางคน วัยสูงอายุ รวมถึงชายหนุ่ม กำลังถือเส้นด้ายขยับขึ้นลงบนใบหน้าที่ขาวจั๊วะจากแป้งของลูกค้าซึ่งนั่งหลับตาพริ้ม โดยมีเพียงป้ายติดข้างร้านพอบอกกับเราได้ว่า กิจกรรมตรงหน้าคือ “หมังหมิ่ง”

“หมังหมิ่งไหมหนู ทำแล้วหน้าใสขึ้นนะ ลองดูก่อน”

คำเอ่ยชวนลูกค้าของคุณป้า ผู้สวมที่คาดผมดอกไม้สีสดขนาดใหญ่เป็นเอกลักษณ์สะดุดตา เรียกเราให้หยุดเดินและหันไปมอง ซึ่งต่อมาเราได้รู้ว่าชื่อของเธอคือ บุญยืนอนันต์ เครือวงสุนทร หรือที่รู้จักกันในนามว่าป้าบุญยืน อายุ 67 ปี หญิงผู้ประกอบอาชีพหมังหมิ่งในเยาวราชมานานนับสิบปี เราจึงเดินเข้าไปสอบถามเกี่ยวกับอาชีพที่ไม่คุ้นหูนี้ทันที

“หมังหมิ่ง” คือคำในภาษาจีนกลาง โดยคำว่าหมัง (挽) หมายถึงดึง ส่วนคำว่าหมิ่ง (面) หมายถึงใบหน้า ใช้เรียกวิธีการกำจัดขนบนใบหน้าซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวจีนโบราณ

แม้ไม่ปรากฏข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับที่มา แต่ป้าบุญยืนบอกกับเราว่า หมังหมิ่งนิยมทำกันตั้งแต่สมัยซูซีไทเฮา เพราะการมีขนบนใบหน้าจะทำให้หน้าดูหมองคล้ำไม่สะอาด ดังนั้นจึงมีการคิดค้นการทำหมังหมิ่งเพื่อช่วยขจัดปัญหาดังกล่าวและทำให้หน้าเนียน ลดสิวเสี้ยน

หมังหมิ่งเข้าสู่ประเทศไทยผ่านครอบครัวชาวจีนที่มาตั้งถิ่นฐานในประเทศ ผลัดเปลี่ยนเวียนสอนกันรุ่นต่อรุ่น จากการทำในครัวเรือนสู่อาชีพสร้างรายได้ กลายเป็นธุรกิจความงามขนาดย่อมของชาวจีนในชุมชนเยาวราช

ป้าบุญยืนเริ่มทำอาชีพหมังหมิ่งเมื่อปี 2551 หลังจากที่เคยประกอบอาชีพหลายอย่างมาก่อน เช่น ขายแว่นตา ชุนผ้า ขายขนมจีน จนมาทำหมังหมิ่ง ซึ่งได้รับการสอนมาจากอาจารย์ชาวจีนที่มาอาศัยอยู่บ้านข้างกันในเยาวราช เพราะอยากให้เธอมีวิชาที่เก็บไว้ทำเป็นอาชีพต่อไปได้

เมื่อเริ่มเปิดบริการก็มีลูกค้าหลากหลายวัยเข้ามาลองทำไม่ขาดสาย จนลูกสาวของป้าบุญยืน สุชาดา สิริพรพิทักษ์ วัย 50 ปี หรือพี่ใหญ่ ลาออกจากงานบัญชีมาเรียนวิชาหมังหมิ่งจากป้าบุญยืนเพื่อช่วยเหลือกิจการของผู้เป็นแม่จนถึงตอนนี้

mungming04
แป้งทาหน้าจากเมืองจีนเหลือก้อนเล็กก้อนน้อย บ่งบอกถึงปริมาณที่ถูกใช้งาน ข้าง ๆ คือแหนบที่ใช้ถอนขนคิ้วบนใบหน้าของลูกค้าเพื่อเสริมความงาม
mungming05
การลงแป้งทาหน้าคือขั้นตอนสำคัญของการทำหมังหมิ่ง เนื่องจากช่วยลดแรงเสียดทานระหว่างผิวและเส้นด้าย
mungming06
ป้าบุญยืนกำลังขะมักเขม้นทำหมั่งหมิ่ง นอกเหนือจากแรงแขนเธอยังต้องใช้ริมฝีปากช่วยตรึงเส้นด้ายให้ตึงเพื่อขจัดขนบนใบหน้าได้อย่างหมดจด

ทาแป้งขาวและตรึงเส้นด้าย

แป้งจีนและเส้นด้ายคืออุปกรณ์สำคัญที่สุดในการทำหมังหมิ่ง รวมถึงที่คาดผมและผ้ากันเปื้อน แม้ไม่สำคัญเท่าสองสิ่งแรกแต่ก็ขาดไม่ได้ เพื่อไม่ให้ไรผมตกลงมาบังหน้าและป้องกันไม่ให้ชุดเลอะแป้งขาว

ขั้นตอนแรกของการทำต้องเก็บผมด้วยที่คาดผมขึ้นไปให้หมดก่อนให้เหลือแต่หน้าโล่งๆ แล้วจึงลงแป้งจีนต่อให้ทั่วใบหน้าจนขาวจั๊วะ เพราะเมื่อลงเส้นด้ายแล้วจะทำให้เส้นด้ายจับขนบนหน้าได้ง่ายขึ้น

ขั้นถัดมาต้องประเมินผิวหน้าของลูกค้าก่อนเพื่อเลือกว่าควรใช้ด้ายขนาดใด หากว่าหน้ามีปัญหาสิวเสี้ยนต้องใช้ด้ายเส้นใหญ่และออกแรงเยอะในการถอนขนมากกว่าคนหน้าเนียนที่ใช้เส้นด้ายที่เล็กและแรงที่น้อยกว่าเพื่อไม่ให้ลูกค้าเจ็บ

เมื่อเลือกได้แล้วจึงเริ่มตรึงเส้นด้ายโดยใช้ริมฝีปากขึงเส้นด้ายด้านหนึ่งไว้ และใช้เส้นด้ายอีกด้านพันเข้ากับนิ้วมือทั้งสองข้างให้ตึง จากนั้นจึงเริ่มรูดไล่เส้นด้ายบนใบหน้าจากบริเวณหน้าผาก คิ้ว แก้ม ปาก จมูก และจะทำทั้งหมดสองรอบโดยจะค่อยๆ ออกแรงกดน้ำหนักลงเพื่อให้เส้นด้ายเข้าไปเก็บไรขน แต่เฉพาะที่ร้านของป้าบุญยืนจะมีการเก็บสิวเสี้ยนออกด้วยซึ่งมาจากเรียนรู้ต่อยอดของพี่ใหญ่เอง

“เพราะพี่เคยทำหน้าให้ลูกค้าที่เป็นสิวแล้วลงด้ายหนักไปก็จะบาดหน้าเขา พี่ถึงต้องไปศึกษาเพิ่มเอง พี่เดินเข้าศูนย์หนังสือที่จุฬาฯ เพื่อหาหนังสือร่างกายของเราและปรึกษาเพื่อนว่าผิวหนังคนมีกี่ชั้น เพื่อที่กะน้ำหนักให้ลูกค้าได้แม่นยำขึ้น กว่าจะมายืนทำทุกวันนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย” พี่ใหญ่อธิบายเหตุผลเพิ่ม

ขั้นสุดท้ายเมื่อตรึงเส้นด้ายขึ้นลงสลับไปมาบนหน้าจะทำให้แป้งที่ลงไว้ทั่วหน้าค่อยๆ บางลง เมื่อเสร็จป้าจะส่งทิชชูเปียกให้เราทำความสะอาดแป้งที่เหลืออยู่เป็นอันว่าหมดขั้นตอนในการทำหมังหมิ่ง

ยกเว้นหากหน้ามีปัญหาจริงๆ ป้าบุญยืนจะเพิ่มขั้นตอนพิเศษในการดูแลให้เป็นการเฉพาะ คือการใช้ศาสตร์จีนโบราณ “กัวซา” หินหยกที่มีคุณสมบัติในการดูดพิษสกปรก กระตุ้นให้เลือดหมุนเวียน นวดทั่วใบหน้าอีกครั้งหนึ่ง

โดยราคาจะเริ่มตั้งแต่ 150-200 บาท ขึ้นอยู่กับสภาพหน้าของผู้ใช้บริการ ซึ่งจะทำให้เวลาในการทำหมังหมิ่งแตกต่างกัน หากแค่ถอนขนจะใช้เวลาประมาณ 30-40 นาที แต่หากในกรณีที่มีสิวเสี้ยนมาก อาจใช้เวลามากถึง 50 นาทีถึง 1 ชั่วโมง

รัตนา เตชะพิทักษ์กุล อายุ 63 ปี ผู้ใช้บริการขาประจำได้บอกกับเราว่า เดินทางมาจากชลบุรีเพื่อซื้อของในเยาวราชไปขายเดือนละสองสามครั้งก็จะแวะมาทำตลอด และเพราะตั้งแต่เด็กๆ แม่เธอเป็นคนจีนและเคยทำหมังหมิ่งให้ พอเจอป้าบุญยืนที่เป็นคนเชื้อสายจีนเหมือนกันเลยทำให้เชื่อมือ จนตัดสินใจทำด้วยกันมานานกว่า 5 ปีแล้ว

“ลองทำดูสิถ้ามีโอกาส เพราะมันจะทำให้หน้าเราเนียนขึ้น สดชื่นขึ้น แล้วมันราคาถูกกว่าพวกคลินิก สปานวดหน้าอีก แถมยังดีไม่แพ้กันเลย” ป้ารัตนาบอก

“แปลกนะทำไปทำมาแล้วเหมือนญาติ คนรู้จัก คุยกันไปมา”

“อ่าใช่ๆ แต่ลื้อรีบทำให้อั๊วเลย เดี๋ยวคนมาเยอะอั๊วไม่ได้ทำ” ป้ารัตนาพูดแซวขณะที่ป้าบุญยืนหันมาคุยกับเรา

ระหว่างที่ป้าบุญยืนกำลังลงเส้นด้ายบนใบหน้า เราแอบเห็นสายตาจากบนฝั่งถนน ที่มองจากบนรถเมล์ สายตาของหญิงสาวที่ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ สายตาคนที่เดินผ่านมา บ้างอาจเดินเลยผ่านไปไม่สนใจ บ้างอาจหันมองจนเหลียวหลัง บ้างอาจเดินมาถามด้วยความสนใจและเดินจากไป และบ้า

อาจยืนดูเป็นเวลานานโดยไม่พูดอะไร

หนึ่งในผู้เดินผ่านมายืนมองดูป้าบุญยืนบริการลูกค้าชื่อ นิพาพร แก้วเจริญชัย อายุ 62 ปี ทำให้เราแอบสงสัยว่าเขาจะรู้จักหมังหมิ่งไหม

“โอ๊ยไม่ใช่แค่รู้จัก ยายของน้าก็เคยทำอาชีพนี้มาก่อน ตอนทำเสร็จจะใส่น้ำมันหมูที่เจียวแล้วทา จะทำให้ผิวหน้าละเอียด รูขุมขนแคบ แต่พอยายเสียก็ไม่ได้ทำแล้ว อีกอย่างแต่ก่อนมีความเชื่อของคนจีนดั้งเดิมที่เชื่อถือโชคลางก็จะเชื่อว่าถ้าถอนแล้วจะมีโชคดี หญิงที่ต้องแต่งงานสมัยก่อนเขาก็ต้องหาวิธีกำจัดขนด้วยวิธีการนี้ทั้งนั้น

“ถ้ามีโอกาสแล้วลองทำดูสิ ดีจริงๆ นะ” ป้านิพาพรกล่าวทิ้งท้ายก่อนเดินไป

mungming07
เส้นด้ายถูกตรึงทาบลงบนใบหน้า ขยับไปมาเพื่อกำจัดขนและสิ่งสกปรก ภูมิปัญญาที่ส่งต่อจากคนจีนโพ้นทะเล
mungming08
หมังหมิ่งที่ป้าได้เรียนรู้จากอาม่าได้กลายมาเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวและโด่งดังไม่เพียงแค่ในประเทศ ยังเป็นที่รู้จักถึงประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอีกด้วย

รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง

การเข้าคลินิกเสริมความงามคือหนึ่งสิ่งที่เราไม่เคยทำเลยในชีวิต แต่การมาหาคำตอบในครั้งนี้ และจากคำบอกเล่าของบรรดาลูกค้าที่ยืนยันถึงพลังของเส้นด้ายป้าบุญยืน ทำให้เราตัดสินใจขอทดลองศาสตร์ของเส้นด้ายดูสักครั้ง

เรา : โอ๊ยๆๆๆ

: อื้มมม (เกร็งปากและกำมือ) …เบาหน่อยได้ไหมคะ หนูขอพักนิดนึง

: เฮ้อออ…….

: ทำไมถึงเจ็บขนาดนี้นะ (เราคิดในใจขณะเม้มปาก)

ป้าบุญยืน : นึกไว้ว่าถ้าเสร็จแล้วเราจะไปเที่ยวไหน

: นึกเรื่องที่มีความสุขเข้าไว้แล้วเราจะลืมความเจ็บ

เรา : เจ็บมากเลยค่ะ (น้ำตาเริ่มไหล)

ป้าบุญยืน : ทนอีกนิดเดียวนะลูก หนูห้ามโกรธหมังหมิ่งนะ

: เรียบร้อยแล้ว เสร็จแล้วลูก

ทันทีที่ลืมตาขึ้นมาจากความเจ็บบนใบหน้าพร้อมซับน้ำตาที่ไหลเมื่อสักครู่ ป้ารีบส่งกระจกให้เราดูผลงานการกำจัดขนผ่านเส้นด้ายมหัศจรรย์ในมือ ว่าเส้นด้ายกำลังทำงานอย่างเต็มกำลังในการเก็บเกี่ยวเส้นขนบนใบหน้าจนเต็มเส้นด้าย

เราหัวเราะอย่างอายๆ ปนรู้สึกผิดว่าเราทำให้ป้าต้องเป็นกังวลหรือเปล่าจนต้องเอ่ยขอโทษต่อทันที หลังจากชมผลงานฝีมือการตรึงเส้นด้ายของป้า เมื่อเอามือสัมผัสใบหน้าเราและพบมันเนียนขึ้นเหมือนอย่างที่ได้ยินมาจริงๆ

“เคยมีคนร้องไห้แบบหนูไหมคะ แล้วต้องหยุดทำหรือเปล่า” เราถามพี่ใหญ่ที่นั่งอยู่ข้างเราแก้เขินต่อ

“มีอยู่แล้ว แต่เราจะหยุดจริงๆ ถ้าเขาบอกว่าพอแล้ว ไม่เอาแล้ว ทำได้แค่หน้าผากแล้วต้องหยุดก็มี เพราะความทนทานต่อความเจ็บของคนเรามันต่างกัน บางคนเพิ่งทำครั้งแรกนั่งนิ่งไม่รู้สึกอะไรก็มี เท่าที่สังเกตมาส่วนใหญ่ระดับผู้ใหญ่ที่มีครอบครัว มีลูกแล้ว จะทนอะไรได้มากกว่า เหมือนผ่านชีวิตมาเยอะ แต่ก็มีผู้ใหญ่บางคนที่เจ็บแต่อาจจะไม่ได้ร้องไห้ แต่ออกปากว่านี้คือการทำครั้งแรกและครั้งสุดท้ายก็มี

“ส่วนวัยเด็กอย่างเราบางส่วนจะเข้ามาถามก่อนและถ้าเจ็บก็จะไม่ทำเลย หรือบางคนทำไปน้ำตาไหลไปแบบเราก็มี รวมถึงเด็กบางคนในวัยเดียวกันที่ทำและสามารถทนความเจ็บได้เหมือนผู้ใหญ่ก็มี เพราะคนในวัยเดียวกันก็ย่อมมีความต่าง”

เรารีบพยักหน้าเห็นด้วยว่าหมังหมิ่งสำหรับผู้ใหญ่ที่เรานั่งดูก่อนทำ ทุกคนต่างนั่งนิ่งเหมือนมาพักผ่อน เอนตัวลงนั่ง หลับตาพริ้ม พร้อมให้ป้าบุญยืนและพี่ใหญ่ช่วยเสริมความงาม แต่กลับเป็นเราที่ร้องจ๊ากตั้งแต่เส้นด้ายเส้นแรกลงบนใบหน้าจนเกือบเสร็จแล้วจึงเริ่มทนได้

ทำให้เราเข้าใจว่า จริงๆ แล้วไม่สำคัญว่าใครจะเกิดก่อนหรือเกิดหลัง เพราะเมื่อเส้นด้ายลงใบหน้า เราทุกคนต่างกำลังถูกทดสอบความอดทนไม่ต่างกัน การที่คนหนึ่งคนทนได้ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นจะทนได้เหมือนกัน เพราะทุกคนมีความแตกต่างที่ไม่มีวันเหมือนกัน

“หมังหมิ่งไหมหนู ทำแล้วหน้าใสขึ้นนะ ลองดูก่อน ” คำเอ่ยชวนของป้าบุญยืนถูกเอ่ยขึ้นอีกครั้งเพื่อเรียกกลุ่มวัยรุ่นชายหญิงสามคนที่เดินผ่านมาให้หันมองด้วยความสนใจ

“เท่าไหร่ครับ”

“ร้อยห้าสิบบาทจ้ะ เดี๋ยวป้าจะทำให้หน้าใสๆ เลย”

วัยรุ่นชายตรงหน้านิ่งคิดไปชั่วขณะหนึ่งก่อนตอบ “ลองดูก็ได้ครับ”

mungming09
ป้าบุญยืนและพี่ใหญ่ สองแม่ลูกที่ยังคงโอบพยุงร้านบุญยืนหมังหมิ่ง ศาสตร์การดูแลผิวหน้าจากเมืองจีน ให้คงอยู่ได้ต่อไป
mungming10
แต่ชีวิตนั้นก็ไม่ได้ง่ายนัก เศรษฐกิจที่แย่ลงอาจส่งผลถึงการแข่งขันที่สูงขึ้นของร้านหมังหมิ่ง ณ แยกแปลงนาม ถนนเจริญกรุง แห่งนี้..

ไม่ใช่แค่คนมีอายุที่รู้จักหมังหมิ่งเท่านั้นถึงจะตั้งใจเดินเข้ามาทำหมังหมิ่ง แต่วัยรุ่นหนุ่มตรงหน้าเรา แม้จะไม่เคยรู้จักมาก่อนเหมือนกัน แต่หากความสงสัยทำงานมากพอจนทำปฏิกิริยากับสมอง ก็จะสั่งการให้ร่างกายเดินเข้าไปนั่งบนเก้าอี้ แล้วก็จะได้รู้ว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่าลงมือทํา”

ระหว่างที่เราเก็บของเดินออกมาเพราะเกรงใจเวลาทำงานคุณป้าบุญยืนและพี่ใหญ่นั้น เราไม่แม้แต่จะได้ยินเสียงแสดงความเจ็บปวดใดๆ ออกมาจากชายหนุ่ม มีเพียงแต่เสียงหัวเราะขบขันของเพื่อนสาวในกลุ่มที่ต่างหยิบมือถือขึ้นมาถ่ายรูปชายหนุ่มหน้าขาวที่กำลังถูกทดสอบจากเส้นด้ายของศาสตร์จีนโบราณที่ชื่อว่า “หมังหมิ่ง”