ธนพร จิตรจำลอง : เขียน
มาวิน พงศ์ประยูร : ภาพ

เราอยู่ในยุคดิจิทัลที่ทุกอย่างสะดวกสบายไปเสียหมด จนนึกไม่ถึงว่ากลิ่นอายแห่งยุคแอนะล็อกจะกลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นที่ไม่ว่าจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าวินเทจ นำกล้องฟิล์มกลับมาใช้ ฟังเพลง lo-fi ที่มีเสียงแทรก ซ่าๆ ก้องๆ คอยรบกวน แบบแผ่นเสียงสมัยก่อน ฉันก็เป็นหนึ่งในหมู่วัยรุ่นที่หลงใหลเสน่ห์ยุคเก่า และฉันชื่นชอบการฟังเพลงเป็นที่สุด ทำให้โชคชะตาดลใจมาพบกับร้านแผ่นเสียงแห่งหนึ่ง ชื่อว่า “ร้านแผ่นเสียง”
จาก BTS สะพานควาย ทางออกที่ 1 มุ่งหน้ายังซอยประดิพัทธ์ 19 เป็นที่ตั้งของบ้านสีขาวสองชั้นสไตล์ 70s หลังหนึ่ง ลานหน้าบ้านถูกปูด้วยหญ้าสีเขียวขจี บรรยากาศดี มีร้านกาแฟเล็กๆ อยู่ด้านข้างของตัวบ้าน
ฉันเดินเข้ามาทักทายนก-พงศกร ดิถีเพ็ง เจ้าของบ้านหลังนี้ให้การต้อนรับอย่างดี ฉันถอดรองเท้าผ้าใบออก จากนั้นเปิดประตูไม้สีน้ำตาล ฉันได้เห็นแผ่นเสียงจำนวนมากเรียงรายอย่างเป็นระเบียบตามห้องต่างๆ ประมาณสามห้อง พร้อมกับฟังเสียงโน้ตกำลังบรรเลงออกมาจากห้องเล่นแผ่นเสียง ให้ความรู้สึกแตกต่างไปจากการฟังเพลงจากหูฟังที่ฉันทำเป็นประจำ
หัวใจของฉันพองโตและเต้นแรงขึ้นเล็กน้อยจากความตื่นเต้นที่ได้เห็นและได้ยินเป็นครั้งแรก

แผ่นเสียงยังไม่เริ่ม (ขาย)
“จุดเริ่มต้นของผมไม่ได้มาจากการขายแผ่นเสียง แต่เป็นการขายเทปผี” นกเล่าว่าตั้งแต่สมัยเด็ก พ่อแม่ของเขาชอบเปิดเพลงสุนทราภรณ์ และ สวลี ผกาพันธุ์ ให้ฟัง แต่ไม่ถูกจริตของเขานัก พอเรียนมัธยมฯ ปลายที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย (ปี 2525-2527) เขาเริ่มฟังเพลงสากลจากวิทยุของ Nite Spot ในรายการ Radioactive กับ Together Again ดีเจสมัยนั้นมี รุจยาภา อาภากร, วาสนา วีระชาติพลี, วิโรจน์ ควันธรรม และ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์
ทุกวันอาทิตย์มีรายการ American Top 40 ที่จัดอันดับเพลงที่ขายดีที่สุดใน 7 วันที่ผ่านมา พอนกได้ฟังรายการนี้ก็ไปหาซื้อเทปตาม ทว่าเทปเพลงสากลราคาแพงถึงม้วนละ 105 บาท ถึงเก็บเงินก็ยังซื้อไม่ไหว จึงตระเวนหาซื้อเทปผีม้วนละ 30 บาท จนได้ไปเจอกับร้าน “แมงป่อง” ที่ผลิตเทปยี่ห้อฮาราจุกุจากการดึงเพลงที่ดังที่สุดใน 10 ตลับ มารวมกันเป็น Best of vol.1 นกเห็นว่าเป็นเทปที่น่าสนใจและอยากนำไปขายต่อจึงซื้อกลับไปเป็นจำนวนมาก จนที่ร้านลดราคาให้จาก 50 บาท เหลือ 35 บาท พร้อมกับให้แค็ตตาล็อกตั้งแต่ Best of vol.1-50 นับเป็นครั้งแรกที่นกทำเงินได้จากการฟังเพลงสากลอันโปรดปรานของเขา

เพิ่มประสบการณ์
หลังจากเรียนจบ นกได้คลุกคลีกับธุรกิจ Pub & Restaurant มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่อายุ 20 โดยเริ่มจากบ้านทำธุรกิจอาหารนำดนตรีสดมาเล่น นำไปสู่การเข้าไปบริหารในร้านอื่นๆ ทำแบบนี้จนกระทั่งอายุเกือบ 40 ร้าน Charcoal Greyได้หมดสัญญาตึก ปิดกิจการ ทำให้นกเป็นคนว่างงานอยู่พักหนึ่ง
แต่ไม่นานมีรุ่นพี่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่เป็นเพื่อนบ้านชวนไปทำงานด้วย ร้านชื่อว่า Bangkok Hifi อยู่ที่ฟอร์จูนทาวน์ เป็นร้านเครื่องเสียงที่ขายแผ่นเสียงด้วย นกได้เข้าไปทำงานที่ร้านแห่งนี้ในฐานะคนขายแผ่นเสียงเป็นหลัก
ด้วยรสนิยมการฟังเพลงที่ดีเยี่ยม ประกอบกับสกิลล์การขายอันเป็นเลิศเหมือนกับดีเจ ทำให้เจ้าของร้านไว้ใจให้นกดูแลการซื้อ-ขายเองทั้งหมด และเป็นที่รู้จักในหมู่นักเล่นแผ่นเสียงในชื่อ “นก บางกอก”

ย้ายมาเจอสิ่งดีๆ
นกทำงานที่ร้าน Bangkok Hifi 5 ปี จากนั้นเจ้าของร้านได้ขายกิจการให้นกต่อ ทำให้นกมีร้านแผ่นเสียงของตัวเองเป็นครั้งแรก ทว่าเปิดร้านในนามตนเองได้ไม่นานกลับต้องย้ายไปในสถานที่ใหม่มาอยู่ด้านหลังร้าน Coffee Model แถวประดิพัทธ์ ในปี 2553 เพราะมีการปรับปรุง
“เมื่อก่อนใช้ชื่อร้านว่า ‘นก บางกอก ไฮไฟ’ (Nok Bangkok Hifi) 7-8 ปีให้หลังค่อยมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ร้านแผ่นเสียง’ คนตั้งชื่อให้คือพี่โอ๋-จิรภัทร อังศุมาลี นามปากกา ‘สิเหร่’ เป็นกูรูเพลงร็อกยุค 70s และคนแต่งหนังสือ ผีเพลง”
อาจเป็นชื่อที่ใครหลายคนเห็นว่าธรรมดา แต่กลับแฝงไปด้วยการตลาดอันชาญฉลาด ที่พอใครค้นหาคำว่า “ร้านแผ่นเสียง” ร้านของนกก็จะปรากฎขึ้นมาเป็นอันดับแรก
“พอย้ายมาใหม่ๆ ยังไม่มีใครรู้ว่าเป็นร้านขายแผ่นเสียง ทำให้คนที่มานั่งร้านกาแฟเข้าใจผิดว่าเป็นประตูห้องน้ำเสียอย่างนั้น ไม่รู้ว่าเป็นความโชคดีไหมที่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นประตูห้องน้ำ แต่ทุกคนก็เดินเข้ามาในร้าน เพราะไม่เคยเห็นแผ่นเสียงของจริง เข้ามาถ่ายรูป ทำให้ร้านของเราถูกบอกต่อมากขึ้น” นกพูดไปหัวเราะไป
แต่หลังจากย้ายร้านเพียง 6 ปี ที่ดินของร้านก็ถูกเรียกคืน ยังดีที่โชคเข้าข้างนกให้รู้จักกับเจ้าของบ้านซึ่งปัจจุบันเป็นร้านแผ่นเสียง นกเล่าว่าเมื่อได้เห็นบ้านหลังนี้ครั้งแรกเขาชื่นชอบและไม่ต่อเติมใดๆ นอกจากชั้นวางและปูหญ้าด้านหน้าเพิ่ม เพื่อให้บรรยากาศดูร่มรื่น เพราะด้วยตัวบ้านเป็นโครงเก่ายุค 70s เหมาะสมกับการจัดวางแผ่นเสียงให้เรียงรายตามผนังของบ้านอย่างที่เห็น

โอกาสมาถึงแล้ว
ช่วงหนึ่งแผ่นเสียงเคยไร้ค่าในยุคที่แผ่นซีดีรุ่งเรืองที่สุด แต่นกไม่เคยที่จะลดราคาเพื่อจะรีบขายแผ่นเสียงให้หมดไวๆ เพราะเขาเชื่อว่าความคลาสสิกของซีดียังไงก็สู้แผ่นเสียงไม่ได้ มันเป็นของเก่า เป็นของเล่นที่สะสมได้ มีมูลค่า ไม่เคยสูญเปล่า จากกระแสของแผ่นเสียงที่เริ่มกลับมาอีกครั้งในหมู่นักเล่นเครื่องเสียงไฮเอนด์และนักสะสมของเก่า
ในปี 2555 นกสามารถขายแผ่นเสียงของปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว อัลบัม Jazz เดี่ยว จากค่าย classy record ที่ผลิตออกมา 500 แผ่น แล้วนกขอนำมาขาย 300 แผ่น ปรากฎว่าขายจนหมดเกลี้ยง ทำให้ต่อมาผู้ผลิตอิสระต่างๆ ก็นำมาฝากขายเรื่อยๆ ซึ่งช่องทางการขายของนกในสมัยนั้นมีทั้งหน้าร้านและเว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ต
กระแสแรงถึงขั้นว่าค่ายเพลงไทย ไม่ว่าจะเป็นค่ายโซนี่ มิวสิค (ประเทศไทย), วอร์นเนอร์ มิวสิก ไทยแลนด์ และแกรมมี่ มิวสิค จะผลิตแผ่นเสียงเพลงไทย ก็เลือกร้านของนกเป็นร้านแรกในการวางขาย ซึ่งอัลบัมเพลงไทยที่ประสบความสำเร็จสูงสุดคือ Modern Dog ให้มา 1,000 แผ่น ขายหมด 1,000 แผ่น
เรียกได้ว่าแจ้งเกิดร้านไปด้วย หลังจากวันนั้นกิจการก็ดำเนินเรื่อยมาและมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นตลอด โดยเฉพาะในปี 2557 ที่มีม็อบนกหวีด นกเล่าว่าช่วงนั้นม็อบประท้วงรัฐบาลทำให้ทุกคนต้องหยุดงานคล้ายๆ กับ work from home คนอยู่บ้านมากขึ้น มีเวลาซื้อของมากขึ้น โซเชียลมีเดียทั้งหลายเข้าถึงผู้คนได้ค่อนข้างมาก ประจวบกับที่มีคนมาสัมภาษณ์จากรายการทีวีบ้าง ทำให้คนเริ่มพูดถึงกันมากขึ้น

หล่อหลอมเป็นวันนี้
จากในวัยเด็กที่ซึมซับการฟังแผ่นเสียงมาจากพ่อแม่ พอโตมาเป็นวัยรุ่นเริ่มหาเงินจากการขายเทปมาเรื่อยๆ จนกระทั่งได้มีโอกาสเข้ามาบริหารธุรกิจเกี่ยวกับร้านอาหาร สุดท้ายต้องมาลงเอยกับจุดเริ่มต้นอย่างแผ่นเสียง และการเดินทางมาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี ผ่านอะไรต่อมิอะไรมานับไม่ถ้วน จนปัจจุบันนี้ร้านแผ่นเสียงไม่ได้ขายแค่แผ่นเสียงหรือเทปคาสเส็ต แต่ยังมีร้านกาแฟเล็กๆ ให้คนได้มาจิบกาแฟบริเวณหน้าบ้านและดื่มด่ำบรรยากาศ
ส่วนพื้นที่หน้าบ้านที่ถูกปูด้วยหญ้าเป็นที่สำหรับจัดมินิคอนเสิร์ตเล็กๆ ให้ศิลปินต่างๆ มาเล่นในยามค่ำคืน นกเล่าว่าตอนนี้ตารางศิลปินที่มาเล่นเต็มเกือบทุกวัน เขาไม่คิดว่าจะได้รับผลตอบรับดีขนาดนี้ พอมองย้อนกลับไปในอดีตไม่คิดเลยว่าตนเองจะมาทำอาชีพนี้แม้จะคลุกคลีมาตั้งแต่ยังเด็ก คงเพราะความหลงใหลและเสพติดในเสียงดนตรีง่าย รวมไปถึงโอกาสต่างๆ ที่เข้ามาสร้างเส้นทางให้เกิดเป็นร้านแผ่นเสียงอย่างทุกวันนี้

ความโชคดีในโชคดี
ปรกติร้านของนกจะมีศิลปินที่ออกแผ่นเสียงใหม่มาเซ็นปกแผ่นเสียงอยู่บ่อยครั้ง และครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ด้วยความโชคดีที่ฉันไปในวันที่มีศิลปินมาพอดิบพอดี ศิลปินคนนั้นคือ เมธี น้อยจินดา มือกีตาร์แห่งวง Modern Dog ซึ่งเป็นหนึ่งในศิลปินที่มียอดขายดีที่สุด
นับเป็นโชคสองชั้นที่ได้มาสัมผัสกับบรรยากาศเก่าๆ และได้เจอกับศิลปินสุดเก๋าและโด่งดังที่สุดวงหนึ่งแห่งยุค 90s พอโอกาสมาถึงฉันจึงไม่รีรอที่จะขอลายเซ็นและถ่ายรูปเป็นที่ระลึก

มาเล่น (แผ่นเสียง) กันเถอะ!
“ให้เข้ามาที่ร้านมาลองฟังมาซึมซับก่อนว่ารักแผ่นเสียงจริงๆ ไหม หากพิสูจน์แล้วว่ารักแผ่นเสียงเข้าแล้วจริงๆ ให้ค่อยๆ สะสมจากแผ่นเสียงราคาไม่สูงมากหรือมือสอง ส่วนเครื่องเล่นแผ่นเสียงก็มีหลายราคา ถ้าไปมองเครื่องละล้านคงจะซื้อไม่ไหว ลองมองเครื่องราคาประมาณ 4,000-5,000 ก่อน แล้วค่อยขยับขึ้นไป” นกกล่าวแนะนำฉันรวมไปถึงนักสะสมมือใหม่หลายๆ คน
ร้านของนกตอบสนองการฟังเพลงหลากหลายแนว ไม่ว่าจะเป็นร็อก ป็อป แจซ ป็อปร็อก นูเมทัล เมทัล คลาสสิก ฮาร์ดร็อก และแนวอื่นๆ แต่แนวแรปจะมีน้อยหรือไม่มีเลย เพราะนักร้องแรปไม่ค่อยผลิตแผ่นเสียง ค่อนข้างหนักไปทางร็อก กับแจซมากกว่า อีกทั้งมีหลากหลายราคาตั้งแต่ 1,000-10,000 บาท ทั้งเก่าและใหม่ สำหรับใครที่กำลังสนใจเกี่ยวกับแผ่นเสียงและเครื่องเล่นแผ่นเสียง สามารถเข้ามาขอคำปรึกษากับนกได้ตลอด รับรองว่ามาแล้วไม่ผิดหวังแน่นอน
ถึงไม่ได้แผ่นเสียงกลับไป อย่างน้อยๆ ก็มีความทรงจำดีๆ และพลังบวกให้อบอุ่นหัวใจแน่นอน ซึ่งร้านจะเปิดทุกวันตั้งแต่ 11.00-20.00 น.