ณัฐพงศ์ คงพุนพิน : เรื่อง
ภาพ : พัชริดา ภักดิ์ดี

kruyai00 resize
ห้องเรียนกายวิภาคศาสตร์ของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กำลังได้รับการจัดเตรียมไว้เพื่อการเรียนภาคการศึกษาถัดไปของนักศึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ และกายภาพบำบัด
ครูใหญ่ผู้ให้ชีวิต
ชายคนนี้กำลังนั่งกรอกข้อมูลการบริจาคร่างกาย เขาเล่าว่าเป็นความตั้งใจของตัวเองในการการมาบริจาคครั้งนี้ เมื่อเขาเสียชีวิตร่างที่ไร้ลมหายใจนี้น่าจะเป็นประโยชน์ในทางการแพทย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

“เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย…” สิ้นเสียงเพลงชาติไทย หลังการยืนตรงเคารพธงชาติ เวลา 08.30-16.30 น. ตามเวลาราชการ เป็นเวลาเริ่มทำงานของคุณครูทั้งสาม–ครูเฟรช ครูเอ็ม ครูแมน คุณครูทั้งสามท่านแม้ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน มีภูมิลำเนา ภูมิหลังที่ต่างกัน แต่ละท่านมีความถนัด ความสามารถที่แตกต่างกันออกไป มาเป็นครูอยู่ร่วมกันในภาควิชากายวิภาคศาสตร์ เนื่องจากทั้งสามท่านล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ เพื่อสร้างประโยชน์ ผลิตนักเรียนที่มีคุณภาพออกไปสู่สังคม

วันนี้ถือเป็นโอกาสดี มีน้องนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนใกล้เคียงมาทัศนศึกษา ฉันเลยได้รับอนุญาตให้เข้าไปดูคุณครูสอนนักเรียนได้ เพราะปรกติแล้วคุณครูจะไม่อนุญาตให้คนนอกเขาไปดูตอนสอนสักเท่าไร ฉันคิดว่าครูคงหวงวิชาหรือไม่ก็อายคนนั่นแหละ ก็พอเข้าใจได้อยู่

kruyai02 resize
เด็กนักเรียนที่มาทัศนศึกษากำลังรับฟังอาจารย์ภาควิชากายวิภาคศาสตร์อธิบายถึงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายผ่านร่างของครูใหญ่

ห้องเรียนคุณครู

ห้องเรียนอยู่ที่ชั้น 3 ฉันจึงเดินไปกดลิฟต์แล้วยืนรอสักพัก ลิฟต์ที่นี่ช้ามากกว่าจะมาถึง แต่ก็คงเป็นเพราะความใหญ่ของลิฟต์ จุคนจำนวนมากได้สบาย สงสัยเอาไว้ใช้ขนของด้วย ไม่ได้เอาไว้ขนคนอย่างเดียว เพราะรูปร่างมันเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวๆ แถมยังมีกลิ่นแปลกๆ อีก

“ติ๊ง” พอประตูลิฟต์เปิดออกที่ชั้น 3 กลิ่นแปลกๆ มันก็เริ่มแรงขึ้น ชั้นนี้เป็นห้องเรียนของ “ครูเอ็ม” แต่ก่อนจะเข้าไปได้ก็ต้องเปลี่ยนชุดอีกที แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะห้องเรียนครูเอ็มเขามีเตรียมไว้ให้ ฉันสวมหน้ากากอนามัยถึงสองชั้น แล้วก็ต้องใส่หมวกคลุมผม สวมถุงมืออีก ไม่รู้ทำไม สงสัยครูเอ็มคงจะกลัวเชื้อโรคมาก อย่างโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ตอนนี้

“อือ” เสียงร้องในลำคอของฉันเอง “ห้องครูเอ็มกลิ่นโคตรฉุนเลย” นี่ก็เสียงจากความคิดของฉันอีกนั่นแหละ กลิ่นแปลกๆ ที่ว่ามันมาจากห้องเรียนของครูเอ็ม แม้จะมีเครื่องระบายอากาศขนาดใหญ่ร้องดังหึ่งๆ อยู่ตลอดเวลาก็ตาม

หลังจากเดินเข้ามาในห้องเรียน ผ่านไปสักพัก พอเริ่มปรับตัวให้ชินกับกลิ่นได้แล้ว ฉันก็ไปยืนเกาะกลุ่มกับน้องนักเรียน ครูเอ็มเขาชอบให้นักเรียนล้อมตัวเยอะๆ จะได้สอนได้สะดวกเห็นชัดๆ ใครมีคำถามก็ถามได้เลย เรียนเหมือนกับต่างประเทศว่าอย่างนั้นเถอะ

ฉันลองมองไปรอบห้องเรียน ห้องเรียนของครูเอ็มค่อนข้างแตกต่างจากห้องเรียนที่ฉันเคยเรียนมา มันเป็นห้องเรียนสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ เต็มไปด้วยเตียงสเตนเลส พร้อมกับผ้าคลุมสีเขียวเรียงต่อกันเป็นแนวยาว ด้านข้างมีกล่องพลาสติกเก็บของวางซ้อนกันเป็นจำนวนมาก ติดแผ่นกระดาษ เขียนข้อความที่ฉันอ่านแล้วไม่เข้าใจติดไว้ ด้านบนเพดานมีจอโทรทัศน์ติดประจำเตียง แถมเปิดไฟสว่างทุกดวง เหมือนกลัวว่านักเรียนจะมองไม่เห็นครูเอ็มตอนสอน

ก่อนครูเอ็มจะเริ่มสอน ครูแมนก็ถูกเชิญเข้ามาในห้อง มายืนอยู่ข้างๆ ครูเอ็ม แต่ครูเขาไม่พูดอะไรเลย ไม่ทักทายกันด้วย ฉันเป็นเพียงแค่คนนอกก็ได้แต่สงสัย และคงไม่มีใครกล้าถามครูเขาหรอก กลัวครูจะดุเอา แล้วฉันก็เพิ่งมาสังเกตเห็นว่า ที่จริงแล้วครูเขาพยายามช่วยกันอธิบายเพื่อให้นักเรียนเห็นภาพได้มากขึ้น ไม่ได้โกรธกันเหมือนอย่างที่ฉันเข้าใจ

วันนี้ครูเอ็มสอนเรื่องระบบไหลเวียนเลือด ลืมบอกไปว่าครูเอ็มเขาสอนเกี่ยวกับเรื่องร่างกาย เกี่ยวกับพวก anatomy คล้ายกับวิชาวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา ตอน ม.ปลาย ที่เราเรียนกันมา แต่ที่นี่ครูเอ็มสอนละเอียดกว่าเยอะ และจะมีอาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์คอยช่วยอธิบายสิ่งต่างๆ เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าใจได้มากขึ้น

“หัวใจห้องล่างซ้ายต้องหนากว่าค่ะ เพราะต้องส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ค่ะ” ฉันยืนมองน้องนักเรียนตอบคำถามอย่างงงๆ สำหรับเด็กสายศิลป์อย่างฉันคงได้แต่ยืนฟังเฉย ๆ

เสียงจากเครื่องระบายอากาศดังรบกวนฉันจนแทบจะฟังอาจารย์ไม่รู้เรื่อง

“ภายในหลอดเลือดก็มีลิ้นหัวใจ ถ้าเราส่องดูมันจะเป็นถุงๆ” ฉันยืดตัวขึ้นดูบ้างหลังอาจารย์พูดจบ

“ความดัน ไขมัน จะทำให้ผนังหลอดเลือดแดงเปราะและแข็ง” อันนี้ต้องจำเอาไว้ไปบอกพ่อ

“ไหวไหม? เป็นอะไรไหม? พี่เลี้ยงรับน้องออกไปด้านนอกหน่อยค่ะ” เสียงอาจารย์พูดด้วยความตกใจ หลังจากน้องนักเรียนผู้ชายคนหนึ่งในกลุ่มหน้าซีดและดูท่าทางไม่ค่อยสบาย

“เส้นแข็งๆ ผนังหนาคือเส้นเลือดแดง ส่วนด้านหลังผนังบางกว่าจะเป็นเส้นเลือดดำ” อาจารย์ยื่นมาให้ลองจับดูด้วย มันมีความรู้สึกต่างกันแค่นิดเดียวเอง แต่ถ้าคนมีประสบการณ์ก็คงจะดูออกได้ง่ายๆ เลย

“อันนี้หลอดเลือดแดงใหญ่ เอออร์ตา” ได้เห็นของจริงสักที ปรกติเห็นแต่ในซีรีส์ Grey’s Anatomy

แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วอาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์จะเป็นคนพูด แต่ครูเอ็มก็สอนดีเหมือนกัน อาจจะไม่ค่อยพูด แต่ก็คอยแสดงรายละเอียดต่างๆ ให้กับน้องนักเรียน ครูแมนก็เหมือนกัน ตอนแรกนึกว่าจะดุ แต่ที่จริงแล้วคุณครูทั้งสองกลับใจดีมากกว่าที่คิด ถ้าสงสัยอะไรครูทั้งคู่ก็สามารถแสดงรายละเอียดได้หมดเลย

ส่วนครูเฟรช จากการสอบถามอาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ครูเฟรชจะไม่ค่อยอยู่ห้องเท่าไร ส่วนมากจะอยู่ที่หน่วยศัลยศาสตร์ ออร์โทปีดิกส์ สูตินรีเวช เพราะครูเฟรชต้องไปสอนนักศึกษาที่หน่วยนั้นบ่อยๆ ก็เลยไม่ค่อยเจอครูเฟรชที่ห้อง

kruyai10
สตรีท่านนี้เดินทางมาจากจังหวัดกาฬสินธุ์เพื่อมาบริจาคร่างกายตามคำแนะนำของญาติ
kruyai03 resize
ห้องเรียนกายวิภาคศาสตร์ของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กำลังได้รับการจัดเตรียมไว้เพื่อการเรียนภาคการศึกษาถัดไปของนักศึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ และกายภาพบำบัด

ความรู้สึกต่อคุณครู

ฉันพบกับนักศึกษาหญิงปี 2 และนักศึกษาชายปี 5 ทั้งสองสวมเสื้อแขนยาวสีขาว ผู้ชายสวมกางเกงสแล็กสีดำถึงข้อเท้า ส่วนผู้หญิงสวมกระโปรงพลีต ใส่รองเท้าหุ้มส้น เป็นนักศึกษาที่ดูแต่งตัวถูกต้องตามระเบียบทุกอย่าง ดูท่าทางแล้วน่าจะเรียนเก่งพอควร แต่พวกเขาไม่ใช่เด็กนักเรียนมัธยมฯ ที่เข้าไปเรียนพร้อมกับฉันหรอก จากที่ถามมา พวกเขาทั้งคู่เคยเข้าไปเรียนกับคุณครูทั้งสามท่านมาเรียบร้อยแล้ว รวมถึงเพื่อนๆ ของพวกเขาทุกคนด้วย ฉันเลยมีโอกาสได้ถามไถ่ถึงประสบการณ์การเรียนกับครูทั้งสามท่านของพวกเขา

“ก่อนที่เราจะเรียนกับคุณครูเรามีความรู้สึกอย่างไรครับ” ฉันถาม

“ตอนแรกก่อนเจอก็รู้สึกว่าน่ากลัว พอเจอจริงๆ ก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราคิด” นักศึกษาหญิงตอบ

“อะแหะ อะแหะ” เสียงไอดังขึ้นขัดจังหวะ

“ก็แอบลุ้นนิดนึงครับว่าตอนเรียนจริงจะเป็นอย่างไร” นักศึกษาชายตอบ

“แล้วก็วันแรกก่อนที่เรียนเราก็จะต้องไหว้ก่อนค่ะ” นักศึกษาหญิงพูดเสริม

“แล้วความรู้สึกกับคุณครูล่ะครับ” ฉันถาม

“ท่านเหมือนเป็นหนังสือเล่มหนึ่งเลยค่ะ เราจับต้องได้ ทำให้เข้าใจมากขึ้น เป็นคนที่มีพระคุณกับเรามากๆ เลย” นักศึกษาหญิงตอบ

“ขอบคุณครับ เพราะเขายอมให้คนที่ไม่รู้จักมาเห็นร่างกายเขาได้ ก็นับถือน้ำใจเขาครับ” นักศึกษาชายตอบ

“อึ อึ” เสียไอแหบแห้งดังขึ้นอีกครั้ง

ฉันละอยากจะหาที่เงียบๆ คุยกับนักศึกษาทั้งสองคน แต่ทำอย่างไรได้ เพราะที่นี่ออกจะวุ่นวาย เรียกได้ว่าตั้งแต่ตี 5 ก็เริ่มมีคนแล้ว ส่วนมากเป็นผู้สูงอายุมารับบัตรคิวกันแต่เช้าเลย อีกอย่างห้องเรียนที่เคยพูดถึง จริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้อยู่ในรั้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยหรอก แต่มันเป็นห้องเรียนในโรงพยาบาล เพราะว่าวันนี้ฉันอยู่ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นนั่นเอง

kruyai06 resize
ชายทั้งสองคนนี้เป็นเพื่อนกัน ตั้งใจมาบริจาคร่างกาย และกำลังส่งเอกสารบริจาคร่างกายต่อเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบความถูกต้องก่อนจะนำไปทำบัตรประจำตัวของผู้บริจาคร่างกาย

ว่าที่คุณครู

“ใครๆ ก็สามารถเป็นครูได้ขอแค่มีใจรัก” ตอนเป็นเด็กฉันได้ยินประโยคนี้บ่อยมาก แต่การจะเป็นครูที่นี่นั้นมีข้อจำกัดที่แตกต่างจากโรงเรียนอื่นมาก ต้องไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงอย่างโรคเอดส์ โรคไวรัสตับอักเสบ มะเร็งช่องท้อง หรือโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19

เขารับแต่ครูที่แข็งแรงเท่านั้น ไม่พิการหรือทุพพลภาพ อายุต้องเกิน 18 ปี บรรลุนิติภาวะเสียก่อน ส่วนอายุสูงสุดที่สมัครได้คือ 80 ปี แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป หากร่างกายยังสมบูรณ์ แข็งแรง ก็สามารถสมัครเป็นครูได้ และที่สำคัญคือ “พยาน” ครูจะต้องมีพยานมาด้วยเสมอ โดยเฉพาะเวลามาสมัคร

หากผ่านเกณฑ์ที่เป็นระเบียบบังคับทุกอย่าง เมื่อสมัครเสร็จก็จะได้บัตรประจำตัวครู ด้านหลังมีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อภาควิชากายวิภาคศาสตร์ เอาไว้เมื่อถึงเวลาพร้อมที่จะเป็นครูถึงจะติดต่อมา แต่ระหว่างนั้นว่าที่ครูก็สามารถใช้ชีวิตปรกติเพื่อรอเวลาที่จะได้เป็นครูตามที่ตั้งใจไว้

ฉันบังเอิญพบกับว่าที่ครู เป็นกลุ่มหญิงวัยกลางคนท่าทางยิ้มแย้มแจ่มใส ฉันเลยเข้าไปนั่งคุยด้วยสักพัก ถามถึงสาเหตุที่อยากมาเป็นครู หญิงวัยกลางคนคนหนึ่งบอกกับฉันว่า “ร่างกายเฮาก็บ่ได้เฮ็ดหยัง เผื่อมันสิมีประโยชน์”

ฉันละนับถือเธอจริงๆ รวมถึงว่าที่ครูที่กำลังกรอกใบสมัครเป็นครูรอบตัวฉันในตอนนั้นด้วย ฉันถึงได้รู้ว่าการจะเป็นครูมันไม่ได้เป็นกันได้ง่ายๆ แค่มีใจรักแบบที่เคยได้ยินมา นอกจากร่างกายต้องแข็งแรงแล้ว ว่าที่ครูทั้งหลายต้องก้าวข้าม “ความเชื่อ” ให้ได้เสียก่อน โดยเฉพาะความเชื่อของคนอีสานกับการบริจาคร่างกายที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเป็นครูอย่างมาก ความเชื่อที่ว่า “หากบริจาคร่างกาย ชาติหน้าเกิดมาอวัยวะจะไม่ครบ 32 ประการ”

“ผู้เฒ่าผู้แก่เล่ามา แต่บ่รู้ว่ามันสิเป็นความจริงบ่จริง บอกว่าถ้าบริจาค อย่างบริจาคตาไปจังเซี่ย เกิดซาติหน้า ตาสิบอดตั้งแต่เกิด” หญิงวัยกลางคนเล่าเรื่องราวความเชื่อให้ฉันฟัง

“แล้วคุณป้าไม่กลัวว่าถ้าเกิดชาติหน้าอวัยวะจะไม่ครบเหรอครับ” ฉันถาม

“อันนี้ก็บ่ฮู้ว่ามันจริงบ่จริง เพราะว่าซาติหน้าก็บ่ฮู้คือกันว่ามันสิมีแท้บ่แท้ แต่ที่รู้คือตายไปร่างกายเฮาก็บ่ได้เฮ็ดหยัง เฮาก็เผาถิ่มซือๆ บ่ได้เกิดประโยชน์” หญิงวัยกลางคนตอบ

“อ้าว! ทำไมถึงพูดอย่างนั้นล่ะครับ” ฉันถามออกไปด้วยน้ำเสียงตกใจ

“มันก็แค่เผาถิ่มเด้ แต่ถ้าเฮาบริจาคร่างกายเฮาก็ยังเป็นประโยชน์แก่ลูกๆ หลานๆ ไว้เรียน เป็นบุญครั้งสุดท้ายของเฮา” หญิงวัยกลางคนตอบคำถามฉันด้วยน้ำเสียงมั่นใจ

“ติ๊ง…ติ๊ง…ติ๊ง” เสียงลิฟต์เปิดที่ชั้น 3 ครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าที่ครูหรือ “ครูใหญ่” ตามที่คณะแพทยศาสตร์ที่นี่เรียก ก็ทยอยเดินออกมาจากลิฟต์ของโรงพยาบาลคนแล้วคนเล่า กลิ่นของความสงสัยของฉันในตอนแรกเมื่อมาถึงได้หายไปหมดแล้ว เปลี่ยนเป็นความชื่นชมและความยินดีกับว่าที่ครูทั้งหลายที่จุดบริจาคร่างกายบริเวณหน้าห้องเรียนที่ฉันได้เข้าไปเรียนกับครูใหญ่แทน

kruyai07 resize
ส่วนหนึ่งของอาคารสำหรับดอง “อาจารย์ใหญ่”

กว่าจะเป็นครูใหญ่

หลังจากว่าที่ครูหรือผู้บริจาคเสียชีวิต พยานหรือญาติจะต้องติดต่อภาควิชากายวิภาคศาสตร์ จากเบอร์โทรศัพท์ด้านหลังบัตรประจำตัวผู้บริจาค พนักงานรักษาศพจะเป็นคนเดินทางไปดูแลศพ และประเมินว่าเหมาะสมที่จะทำเป็นครูใหญ่แบบใด

แบบร่างดอง (conventional embalmed), แบบโครงกระดูก (human skeletal), แบบศพสด (fresh cadaver) หรือที่ฉันเรียกว่า “ครูเอ็ม ครูแมน ครูเฟรช” ก็ย่อมาจากชื่อภาษาอังกฤษของครูใหญ่ทั้งสามแบบ เมื่อประเมินเสร็จจึงให้ทางญาติประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เมื่อเสร็จสิ้นพิธีกรรมเจ้าหน้าที่จะกลับไปรับศพอีกครั้งเพื่อเข้าสู่กระบวนการการทำครูใหญ่ต่อไป

เมื่อครูใหญ่ถึงโรงพยาบาลจะแยกครูใหญ่แบ่งออกเป็นสามระบบ แบ่งเป็นสำหรับ research education และ workshop ตามความเหมาะสมของร่างครูใหญ่ที่ได้รับ

ชานนท์ น้อยชมภู เจ้าหน้าที่รักษาศพประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ บอกกับฉันถึงขั้นตอนการฉีดยาศพว่า “ต้องฉีดยาให้เร็วที่สุด ถ้าปล่อยไว้นานอวัยวะภายในจะเสีย ต่อให้ฉีดอีก ศพก็จะเน่าอยู่ดี เพราะว่าข้างในมันเสียแล้ว”

การฉีดยาจะต้องฉีดบริเวณโคนขาที่เส้น femoral A ทั้งสองข้าง ก่อนจะนำลงอ่างดองภายใน 1-2 วัน หลังจากลงอ่างดองแล้วก็จะดองไว้ประมาณ 1 ปี เมื่อครบ 1 ปีก็นำร่างครูใหญ่ขึ้นมาตรวจสอบ สำหรับบางร่างสามารถใช้ในการเรียนการสอนได้เลย แต่สำหรับร่างที่ยังนิ่มจะถูกนำกลับไปดองต่อ

ครูใหญ่แบบร่างดองมักถูกใช้ในการเรียนการสอนเรื่องกายวิภาค และเป็นครูใหญ่ที่คนทั่วไปนึกถึงมากที่สุดเมื่อนึกถึง “ครูใหญ่” แต่นอกจากร่างดองแล้วยังมีครูใหญ่อีกสองแบบ คือ แบบศพสดและแบบโครงกระดูก ที่ถือว่าเป็นครูใหญ่เช่นกัน

สำหรับศพสดจะมีขั้นตอนการทำที่แตกต่างออกไปคือ เมื่อร่างครูใหญ่ที่ผ่านการพิจารณามาถึงโรงพยาบาล จะต้องนำร่างครูใหญ่เข้าตู้แช่แข็ง deep freezer ที่อุณหภูมิ -80 องศาเซลเซียส และก่อนการทำหัตถการต้องนำเข้าตู้อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ประมาณ 1 อาทิตย์ ก่อนจะถูกส่งไปยังแผนก ภาควิชา หรือหน่วยบริการต่างๆ ในโรงพยาบาล ตามความต้องการฝึกปฏิบัติ การเย็บแผลสด การส่องกล้อง การทำหัตถการ หรือการฝึกแพทย์เฉพาะทาง โดยเฉพาะหน่วยศัลยศาสตร์ ออร์โทปีดิกส์ สูตินรีเวช

ส่วนโครงกระดูกจะได้มาจากศพสด หลังจากเสร็จจากการทำหัตถการหรือฝึกปฏิบัติ เมื่อหมดหน้าที่ในส่วนศพสดแล้วก็สามารถนำมาทำเป็นโครงกระดูกได้ โดยการทำโครงกระดูกจะต้องมีการชำแหละเนื้อออกจากกระดูกแล้วนำไปหมักไว้ในบ่อหมัก ใช้เวลา 2-3 เดือน ก่อนจะนำมาทำความสะอาดอีกครั้งด้วยการต้ม การฟอก และตากแดด จากนั้นจึงนำกระดูกมาประกอบร้อยเป็นโครงและทาแล็กเกอร์

kruyai08 resize
ยุทธศักดิ์ ชินคำหาญ กำลังวัดความกว้างของกระดูก sacrum เพื่อร้อยต่อกับกระดูก hipbone เป็นขั้นตอนหนึ่งในการร้อยครูใหญ่แบบโครงกระดูก

ครูใหญ่มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สิ่งหนึ่งที่ครูใหญ่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นแตกต่างจากที่อื่นคือ “ชื่อเรียก” ตอนที่เข้าไปเรียนกับคุณครู ฉันก็เรียกคุณครูทั้งสามว่า “ครูเอ็ม ครูแมน ครูเฟรช” ฉันไม่ได้ใช้คำว่า “อาจารย์” หรือ “อาจารย์ใหญ่” ตามที่ฉันเคยได้ยินมา แต่ฉันกลับใช้คำว่า “ครู” หรือ “ครูใหญ่” แทน

ผศ. อำนาจ ไชยชุน อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ บอกกับฉันถึงสาเหตุที่ใช้คำว่า “ครูใหญ่” ให้ฉันฟังว่า “คำว่าครู คือเป็นผู้ให้ ครุแปลว่าหนัก เป็นภาระหนักที่จะให้ความรู้กับนักศึกษาหรือว่านักเรียนเพื่อให้เขาสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่เขามาเรียนรู้ คำว่าครูจึงมีความลึกซึ้งมากกว่าการใช้คำว่าอาจารย์ แสดงถึงความผูกพันระหว่างผู้สอนและผู้เรียน”

เมื่อแรกเริ่มก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ ครูใหญ่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการเรียนการสอน จึงต้องไปขอรับบริจาคจากศพไร้ญาติตามมูลนิธิ ต่อมาเมื่อการประชาสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการบริจาคร่างกายของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ทำให้เกิดแรงศรัทธาเป็นจำนวนมาก คนเริ่มเห็นคุณค่าของการเป็นครูใหญ่จากการบริจาคร่างกายเพื่อเป็นประโยชน์กับการศึกษามากขึ้น

จำนวนคนมาบริจาคร่างกายที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากข้อมูลผู้บริจาคร่างกายในปี 2559 มีจำนวนผู้บริจาคร่างกาย 12,926 ราย, ปี 2562 จำนวน 17,629 ราย และในปี 2563 แม้ว่าทางภาควิชากายวิภาคศาสตร์จะงดรับการบริจาคร่างกาย เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ไปหลายเดือน แต่ก็ยังมีจำนวนผู้บริจาคถึง 9,853 ราย

ส่งผลให้มีจำนวนครูใหญ่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ปี 2559 มีจำนวนครูใหญ่ที่นำมาดอง 129 ร่าง, ปี 2560 มี 126 ร่าง, ปี 2561 มี 144 ร่าง, ปี 2562 มี 141 ร่าง ทำให้ครูใหญ่ไม่ขาดแคลน และเหลือเพียงพอที่จะให้บริการแก่สถาบันอื่น

ผศ.อำนาจ กล่าวว่า “เราแบ่งครูใหญ่ไปใช้ในคณะแพทย์ขอนแก่นประมาณครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะถูกส่งไปเป็นครูใหญ่ตามสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศ เหมือนกับเป็นการบริการ”

นอกจากสถาบันการศึกษาแล้ว ครูใหญ่สามารถถูกส่งไปใช้กับสถาบันทางศาสนา หรือโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชนที่ต้องการโครงกระดูกเพื่อประโยชน์ต่อการศึกษา ก็สามารถนำครูใหญ่ไปประจำได้

หลังจากที่ครูใหญ่ถูกนำไปใช้ในการศึกษาประมาณ 1-2 ปี ระยะเวลาจะขึ้นอยู่กับแต่ละร่าง เมื่อครบกำหนดร่างของครูใหญ่จะถูกส่งกลับคืนมาที่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ เพื่อนำมาพระราชทานเพลิงศพประจำปีการศึกษา เมื่อประกอบพิธีเสร็จอัฐิส่วนหนึ่งจะถูกนำไปให้ญาติ อีกส่วนจะถูกนำไปลอยอังคารที่แม่น้ำโขง แต่สำหรับโครงกระดูก ทางภาควิชาจะไม่เผา เพื่อเก็บไว้ใช้ในงานวิจัยต่อไป แต่จะเก็บกระดูกบางส่วนเป็นชิ้นเล็กๆ ส่งกลับคืนให้ญาติแทน

kruyai09 resize
ผศ.อำนาจ ไชยชุน กำลังสอนกายวิภาคของหน้าอกให้กับแพทย์

คุณครูผู้ให้

ผศ.อำนาจ กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่นถึงความหมายของคำว่า “ครูใหญ่” กับฉันว่า “ครูใหญ่คือผู้ให้ ไม่ใช่ให้เพียงแค่การศึกษา แต่ให้ทุกอย่าง ให้เกิดเป็นภาควิชา ให้อาจารย์ได้มีงานทำ ให้ทุกคนได้ปฏิบัติงาน ถ้าไม่มีครูใหญ่ก็ไม่มีตำแหน่งอาจารย์มาสอนครูใหญ่ ไม่มีเจ้าหน้าที่ ไม่มีพนักงานรักษาศพ ก็จะไม่มีแพทย์ พยาบาล เภสัชฯ คุณูปการอาจจะยิ่งใหญ่กว่าคำว่าครูใหญ่ด้วยซ้ำไป เพราะเขาให้ทุกอย่าง ทั้งโลกจิตวิญญาณและโลกมนุษย์”

สำหรับตัวฉัน หนึ่งสิ่งที่ร่างครูใหญ่ได้มอบให้คือความรู้เรื่องอวัยวะภายในร่างกายของคน โดยเฉพาะหัวใจ ฉันเคยได้ยินแต่คนเตือนฉันว่าอย่ากินอาหารจำพวกไขมันเยอะ เพราะมันจะไปอุดตันเส้นเลือดหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย แต่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าแท้จริงแล้วเกิดขึ้นกับส่วนใดของหัวใจ หรือเป็นเพราะเส้นเลือดเส้นไหนกันแน่ที่อุดตัน แต่ครูใหญ่สามารถให้คำตอบกับฉันได้ เสมือนเป็นภาพสามมิติผ่านร่างกายของครูใหญ่เอง

“เส้นเลือดที่มาเลื้ยงกล้ามเนื้อหัวใจคือหลอดเลือดแดงโคโรนารีอาร์เตอรี แบ่งเป็นด้านขวาและซ้าย นำเลือดที่ผ่านการฟอกออกซิเจนจากปอดมาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจเกิดการบีบตัวได้ ถ้าหากเป็นโรคไขมันในเลือดสูงจะทำให้ผนังหลอดเลือดที่ควรจะยืดหยุ่นกลับแข็งและเปราะ นอกจากนั้นไขมันจะไปอุดอยู่ตามผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบ เมื่อเลือดไปเลี้ยงไม่ได้ กล้ามเนื้อหัวใจก็ทำงานไม่ได้ หัวใจก็จะหยุดเต้น เราเรียกว่าโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด”

ความรู้เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากความรู้ที่ฉันได้รับจากครูใหญ่ตลอดทั้งคาบเรียนที่ฉันจดลงในสมุดโน้ต แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ฉันมีโอกาสได้เรียนรู้กับครูใหญ่ แต่ความรู้ที่ฉันได้รับมานั้นยังคงเป็นภาพจำติดตรึงจวบจนทุกวันนี้

ประสบการณ์ใน 1 วันจากการที่ฉันได้เข้าไปสัมผัสมาด้วยตัวฉันเองจากห้องเรียนครูใหญ่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาได้จากที่อื่น แม้โลกแห่งจิตวิญญาณจะไม่สามารถตอบได้ว่าสุดท้ายแล้วครูใหญ่จะไปที่ใด แต่ร่างกายของครูใหญ่ที่ยังคงเหลือไว้ในโลกมนุษย์ ได้ให้ชีวิตใหม่กับการแพทย์มาแล้วนับไม่ถ้วน จากการบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษา

ด้วยความรู้ที่ฉันได้รับทำให้ฉันเห็นประโยชน์ของการบริจาคร่างกายเพิ่มมากขึ้นกับการเป็นครูใหญ่เพื่อใช้ประโยชน์จากร่างกายที่ไร้ชีวิตของคนเราเป็นครั้งสุดท้าย เหมือนกับคำพูดของครูใหญ่ท่านแรกของประเทศไทย พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ที่ได้กล่าวไว้ว่า “ฉันเป็นครู ตายแล้วขอเป็นครูต่อไป”

ขอบคุณครับคุณครู…

อ้างอิง

  • ชานนท์ น้อยชมภู. เจ้าหน้าที่รักษาศพประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.สัมภาษณ์. 4 ธันวาคม 2563.
  • อำนาจ ไชยชุน. อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. สัมภาษณ์. 4 ธันวาคม 2563.
  • Story Top Up. เรื่องจริงอาจารย์ใหญ่ ผู้ให้ที่ไม่สิ้นสุด. ค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2563. จาก https://www.blockdit.com/posts/5f6a3246b576b126b569358f

ขอขอบคุณ

  • โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอนแก่น
  • ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • และผู้ให้สัมภาษณ์ที่ไม่ประสงค์ออกนามทุกท่าน