เรื่อง: ณฐาภพ  สังเกตุ
ภาพ: วันวิสาข์ คำบุญเรือง 

ชุบชีวิตการศึกษาคลองเตย  
ก้าวแรกโง่ ก้าวสองจน ก้าวสามเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่ที่เติบโตมาในชุมชนคลองเตย การดำเนินชีวิตตลอดช่วงวัยที่สำคัญสร้างความเจ็บปวดให้เสมอแค่เพราะอาศัยอยู่ใน “คลองเตย” เด็ก 2 คนเร่งฝีเท้าหน้าตาเฉยเมย สี่มือหอบหิ้วรองเท้า 1 ข้างและเซ็ตสีไม้พร้อมกระดาษวาดเขียน
klongtei learning02
การศึกษา free size กับเด็กนับร้อยที่ “มีไซส์” ห้องสมุดสาธารณะหรือห้องสมุดชุมชนที่เปิดให้เด็กหญิง 2 คน ขะมักเขม้นกับการทำที่คั่นหนังสือทำมืออย่างไม่ละความตั้งใจผ่าน “ครูอาสา” ที่ไม่ได้อาสามาแค่สอนแต่อาสามาเข้าใจเด็ก ๆ ด้วย เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้มีแค่ในหนังสือ เด็ก ๆ เค้าสนใจอะไร ก็ปล่อยให้เค้าทำไป แค่ไปชะเง้อคอแอบดูแอบสอนบ้างก็พอ

“เมื่อสังคมมันตราหน้า ว่าคลองเตยมันรากหญ้า หาว่าเราไม่ดี แต่พวกคุณมองพวกเราว่าไร้ค่า” 

ท่อนหนึ่งของบทเพลง  KLONGTOEY my City ของบุ๊ค-ธนายุทธ ณ อยุธยา หรือใช้ชื่อในวงการแรปว่า a.k.a Elevenfinger ได้รับการขับร้องออกมาในปี 2560 บทเพลงสะท้อนเรื่องราวในชุมชนคลองเตย ในฐานะของเยาวชนที่เติบโตมาในชุมชนแห่งนี้ 

หากกล่าวถึงชุมชนคลองเตยในช่วงเวลานี้ หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงแล้วในวงกว้างของสังคมไทย เราควรขับเคลื่อนเดินต่อไปข้างหน้า ไม่ใช่จมปลักอยู่กับปัญหาเดิมๆ ที่ถูกพูดถึงมาตลอดชั่วระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปีที่ผ่านมา 

 แต่ในเมื่อปัญหายังคงอยู่ ผ่านเรื่องราวจากบทเพลง ภาพยนตร์ และช่องทางการสื่อสารอื่นๆ สะท้อนความเหลื่อมล้ำในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาที่เปรียบเสมือนรากฐานสำคัญของการขจัดปัญหาต่างๆ ให้หมดไป ดังคำที่คนคลองเตยพูดกันมานานว่า “โง่ จน เจ็บ” คำซึ่งไม่เคยจางหายไปจากพื้นที่แห่งนี้  คลองเตยจึงเปรียบเสมือนภาพยนตร์เรื่องเก่าที่มีภาคต่อให้ได้ติดตามกัน จนกว่าคำว่า โง่ จน เจ็บ จะจางหายไปจากพื้นที่คลองเตย 

klongtei learning03
นักเรียนมุสลิมกับการเรียนการสอนในมัสยิด “บทสวดนำพาการใช้ชีวิตของพวกเธอด้วย พวกเธอต้องไปเจออะไรอีกเยอะพื้นฐานอะไรที่พอสอนได้เราก็ต้องสอนเองไปก่อน” อิหม่านพูดกลางห้อง

การศึกษา Free Size ยังไร้คุณภาพ  

เขตคลองเตยมีสถานศึกษาอยู่ทั้งหมด 21 แห่ง เป็นของเอกชน 17 แห่ง มีเพียง 4 แห่งเท่านั้นที่อยู่ในสังกัดกรุงเทพมหานคร คือ 1. โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ 2. โรงเรียนวัดคลองเตย 3. โรงเรียนวัดสะพาน และ 4. โรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนา   

 ในสี่แห่งนี้มีเพียงแห่งเดียวที่มีการเรียนการสอนถึงระดับชั้นมัธยมฯ 3 คือโรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนา นอกนั้นอีกสามแห่งต่างสิ้นสุดอยู่เพียงแค่ระดับชั้นประถมฯ 6 หากวัดผลเชิงปริมาณ การศึกษาคงยังไม่สามารถเข้าถึงเด็กคลองเตยได้ทั่วทุกคน และหากวัดผลเชิงคุณภาพล่ะ?   

“หลักสูตรปัจจุบันเหมือนการตัดเสื้อเชิ้ต free size มาให้เด็ก เด็กจะ size ไหนก็จับยัดไป size เดียวที่มี เขาไม่สนใจว่าเด็กถนัดรูปแบบไหน มันง่ายสำหรับการจัดการ  หลักสูตรมาอย่างไรก็ใส่สิ่งที่เขาให้มากับเด็กแบบนั้น”  

จี้-เพ็ญวดี แสงจันทร์ ผู้จัดการมูลนิธิดวงประทีป กล่าวถึงสถานการณ์การศึกษาในเขตคลองเตยปัจจุบันว่า ในทางกายภาพเด็กสามารถเข้าเรียนได้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่การเข้าถึงการศึกษานั้นมันมีคำพ่วงท้ายอีกคำคือ “การเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพ” และสอดคล้องกับบริบทชุมชน อันนี้คือประเด็นสำคัญที่ชุมชนคลองเตยยังขาดอยู่  

“เราไม่โทษครู ไม่โทษ ผอ. มันเป็นเรื่องของโครงสร้างที่ใหญ่ ระบบทุกวันนี้มันทำร้ายคน มันทำให้คนหมดหวัง ทำให้คนหมดไฟ”  

เมื่อเปลี่ยนโครงสร้างไม่ได้ มูลนิธิดวงประทีปจึงลุกขึ้นมาผลักดันเรื่องการศึกษา จุดเริ่มต้นโดยครูประทีป อึ้งทรงธรรม และครูมิ่งพร อึ้งทรงธรรม จัดตั้งโรงเรียนวันละบาท ในปี 2511 โรงเรียนที่ผู้ปกครองจ่ายเงินแค่บาทเดียวต่อวันให้ลูกหลานได้มีโอกาสเล่าเรียน แต่โรงเรียนวันละบาทเป็นโรงเรียนเถื่อน ไม่ได้รับการยอมรับจากภาครัฐ เพราะครูประทีปยังไม่มีวุฒิบัตรครู  ต่อมากรุงเทพมหานครจึงรับโรงเรียนวันละบาทไว้ในสังกัด โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนหมู่บ้านพัฒนา” ในปี 2519 โดยตั้งครูประทีปเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน  จี้ เพ็ญวดี บอกเล่าถึงที่มาของมูลนิธิฯ สถานที่ทำงานที่เธอทำงานมาตั้งแต่ปี 2549  

“วิถีที่คนคลองเตยเขาพูดกันมานานคือ โง่ จน เจ็บ จนมันมาจากโง่ เพราะการศึกษาต่ำ เลยมีรายได้ต่ำเพราะเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ทำงานหนักแบกหามไม่ได้กินของดี สุดท้ายมันก็เจ็บ เจ็บแล้วไม่มีเงินมารักษาพยาบาล ยิ่งเจ็บก็ยิ่งจนซ้ำเข้าไปอีก  วัฏจักรมันวนอยู่แบบนี้”  

ขอเพียงอย่างน้อยวุฒิการศึกษามัธยมฯ 3 ให้คนสามารถไปสมัครงานตามห้างร้าน ทำใบขับขี่ขับรถรับจ้าง ให้อ่านออกเขียนได้ จะได้มีงานดีๆ ทำ มันจะได้ไม่จน พอไม่จนถึงวันที่เจ็บไข้มันยังพอมีแรงรักษา จี้ เพ็ญวดี ชี้ให้เห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของวัฏจักรนี้หากการศึกษาสามารถเข้าถึงทั่วทุกคนอย่างมีคุณภาพ  

“ปัญหาการศึกษาตอนนี้คือ โรงเรียนสร้างหลักสูตรแบบมาตรวัดเดียว เอามาใช้กับเด็กกลางๆ มันยังพอถูไถไปได้ แต่มาใช้กับเด็กที่มีความเป็นตัวของตัวเองมันไม่ง่ายจะปรับตัว พอเด็กปรับตัวไม่ได้คนจะมองว่าเด็กพวกนี้ขี้เกียจ ไม่รักดี ส่วนเด็กยิ่งเรียนยิ่งรู้สึกว่าตัวเองโง่ ทุกคนอยากได้ความภูมิใจในตัวเองทั้งนั้น  พอเขาทำเรื่องเรียนได้ไม่ดี เขาก็ไปทำเรื่องอื่นที่เพื่อนบอกว่าเขาเจ๋งนอกห้องเรียน  ลึกๆ ทุกคนอยากได้การยอมรับ ในเมื่อเขาทำให้ครูยอมรับในตัวเขาไม่ได้”  

จี้ เพ็ญวดี พยายามผลักดันให้เยาวชนไปทำงานอาสาสมัคร นอกเหนือจากเวลาทำงานประจำเพื่อให้เขาเรียนรู้ที่จะภาคภูมิใจในตัวเอง ไม่รู้สึกด้อยคุณค่าในตัวเอง  

“วันนี้มีคนเรียกผมว่าครูด้วยนะ” เด็กคนหนึ่งที่ออกจากระบบการศึกษา แต่ได้มีโอกาสไปทำงานอาสาสมัครดับเพลิงเดินมาบอกเล่ากับจี้ เพ็ญวดี “คือปรกติคนเรียกไอ้… แต่พอใส่ชุดดับเพลิงเด็กที่มาเรียนเรียกเขาว่าครู ความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ แต่ตราบใดที่ปัจจัยพื้นฐานมันยังไม่แข็งแรง การจะให้เขาข้ามไปถึงจุดที่มีความภูมิใจกับตัวเองมันไม่ใช่เรื่องง่าย”   

 จี้-เพ็ญวดี แสงจันทร์ หญิงสาวท่าทางทะมัดทะแมงจริงจัง แต่แฝงไปด้วยความเมตตาผ่านดวงตาของเธอ กล่าวทิ้งท้ายขณะที่เธอต้องขอตัวไปทำภารกิจเพื่อชุมชนคลองเตย ชุมชนที่มิใช่บ้านเกิด แต่เป็นชุมชนที่ฟูมฟักอุดมการณ์อยากช่วยเหลือสังคมของเธอตั้งแต่สมัยเรียนประถมฯ 4 จากการดูภาพยนตร์การต่อสู้ของกรรมกรเรื่อง ดวงใจกันแสง ให้มั่นคงแน่วแน่จวบจนถึงปัจจุบัน  

klongtei learning04
กลุ่มคลองเตยดีจังและเด็ก ๆ ฝึกซ้อมดนตรีในบทเพลง “พ่อค้า พ่อค้า วันนี้มีผักอะไรบ้าง” ในช่วงเย็นของทุกสัปดาห์

ชุบชีวิตเด็กคลองเตย ไฝสัญชัย ยัมสัน  

โตขึ้นหนูฝันอยากเป็นยูทูบเบอร์…ผู้กำกับฯ…หมอ…แค่หาให้มันแดกก็แทบแย่แล้ว”…นักกี…ที…ช…ติ…นั…ร้…ง…นั…ด…ตรี…นั……..นั…….. 

พ่อแม่ของเด็กในคลองเตยส่วนใหญ่ล้วนทำงานอยู่ในแวดวงกรรมกร เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ต้องออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืด กว่าจะเลิกงานกลับถึงบ้านเป็นเวลาแดดร่มลมตกแล้ว เมื่อทำงานเหนื่อยสายตัวแทบขาด การเลี้ยงดูเอาใจใส่ลูกจึงขาดหายไป ไม่ใช่เขาไม่รักลูก แต่ปากท้องย่อมมาก่อนการศึกษา ไฝ-สัญชัย ยัมสัน หนุ่มใหญ่ท่าทางขึงขัง หัวหน้าโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชน มูลนิธิดวงประทีป ผู้เกิดและเติบโตมาในชุมชนคลองเตย เล่าถึงปัญหาการศึกษาที่เขาคลุกคลีมาตลอด 30 ปี โดยคำว่า “แค่หาให้มันแดกก็แทบแย่แล้ว” เสียงจากผู้ปกครองคนหนึ่งที่เคยกล่าวกับไฝ สัญชัย สะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในชุมชนคลองเตย คำพูดที่ดับความฝันของเด็กไปหลายคน  

“ล่าสุดผมกำลังช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้” ไฝ สัญชัย เดินไปหยิบกระดาษแผ่นหนึ่งจากพรินเตอร์ กระดาษซึ่งรวบรวมรายชื่อเด็กทั้ง 15 คน ที่อยู่ในการดูแลของเขา “ผมถามเขาว่า จบ ม.3 แล้วจะไปเรียนต่ออะไรกัน บางคนยังคิดไม่ได้เลยว่าจะไปเรียนต่ออะไร” ไฝขึ้นเสียงดังเมื่ออดเป็นกังวลไม่ได้ถึงอนาคตของเยาวชนที่ตนดูแลอยู่ ในความกังวลนั้นสัมผัสได้ถึงความห่วงใยในแบบฉบับของลูกผู้ชายอย่างแก   

“มีประมาณ 10 คน ไม่ได้อยู่กันครบครอบครัว คนนี้อยู่กับพ่อไม่มีแม่ คนนี้อยู่กับป้าพ่อป่วยเป็นโรคไต ไปเรียนตอนเที่ยงต้องกลับไปดูแลพ่อ ยังไม่แน่ใจเลยว่าจะเรียนต่อได้ไหม หรืออย่างคนนี้ยายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต พ่อแม่ไม่มีแล้วใครจะส่งมันเรียน ผมถามหน่อย?” ไฝวางกระดาษแผ่นดังกล่าวลงบนโต๊ะ สีหน้าเคร่งขรึมอย่างเห็นได้ชัด ก่อนกล่าวต่อไป  

 “ส่วนคนนี้แม่ติดยา มันจะไปอย่างไรต่อ เด็กพวกนี้เป็นเด็กหลังห้อง แต่ถ้าผมพัฒนาพวกเขาแล้วไปได้ไกล ผมถือว่าโคตรสุดยอด” ไฝพูดพร้อมยกมือชี้ขึ้นไปด้านบน ราวกับว่านี่คือดวงดาวสำหรับคนทำงานเช่นเขาเฝ้าฝันถึง  

ความฝันของไฝ สัญชัย คืออยากเห็นเด็กในคลองเตยเรียนจบปริญญาตรี เพราะอย่างน้อยชีวิตมันยังไปต่อได้ แต่เขาเน้นย้ำเสมอว่าการไปถึงจุดนั้นมันยากมาก ไฝรู้ดี เพราะกว่าตนเองจะเรียนจบปริญญาตรีก็แลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย ต้องไปทำงานแบกของที่ท่าเรือ เรียนอยู่ 7-8 ปี กว่าจะได้ใบปริญญามาติดฝาบ้าน   

“ไปเรียนต่อข้างนอกวันหนึ่งใช้เงินเป็นร้อยนะ ไหนจะค่ารถ ค่ากิน พ่อแม่ทำงานได้แค่ค่าแรงขั้นต่ำ และพอไปเรียนข้างนอก แน่นอนการเป็นเด็กคลองเตยมันย่อมโดนสายตาดูถูก สมัยก่อนครูบางโรงเรียนเขาบอก ถ้าเด็กคลองเตยมาเอาไว้ก่อน เพราะเด็กเราไปสร้างปัญหาให้โรงเรียนเขา ช่วงหลังก็น้อยลงไปมากแล้ว”  

เด็กส่วนใหญ่ในคลองเตยล้วนไปสิ้นสุดเส้นทางการเรียนที่ชั้นมัธยมฯ 3 เพราะการเรียนต่อนั่นเท่ากับต้องหาโรงเรียนภายนอกชุมชน หากภาครัฐขยายโอกาสโรงเรียนในชุมชนด้านวิชาชีพเฉพาะทาง ในระดับชั้น ปวช. ปวส. นอกเหนือจากโรงเรียนฝึกอาชีพของทาง กทม. ไฝ สัญชัยคิดว่ามีโอกาสเพิ่มขึ้นที่เด็กจะมีวิชาชีพติดตัวหาเลี้ยงตัวเองได้  

 การเสริมทักษะอาชีพเฉพาะด้านจะแปรเปลี่ยนจากแรงงานไร้ฝีมือมาเป็นการใช้ทักษะเฉพาะด้านซึ่งสามารถมีรายได้ที่ดีกว่างานโดยทั่วไป หรืออย่างน้อยการเรียนในสิ่งที่ตนเองชอบหรือสนใจ อยากจะช่วยเติมความฝัน และทำให้เด็กมีความมุ่งมั่นอยากเรียน หากเขารู้ว่าจะเรียนมันไปทำไม  

“เขามีความฝัน แต่ความจริงมันขาดขวัญกำลังใจ เพราะระหว่างทางมันจะค่อยๆ ลดทอนกำลังใจลงมาด้วยอุปสรรคชีวิต มีเด็กอยู่คนหนึ่งเรียนปริญญาตรีกำลังจะจบ พ่อแม่เลิกกัน น้องไม่มีคนดูแลต้องออกมาส่งเสียน้อง มันก็ต้องหยุดเป้าหมายของตัวเองไว้ก่อน เด็กคลองเตยมีความฝัน แต่ความจริงมันไปถึงไม่ง่าย”  

…นั…เขี…น… ช่…งภ…พ… ท…ายค…าม…ครูเชื่อว่าโลกใบนี้ยังมีพื้นที่สำหรับพวกเธอเสมอ”…แรปเปอร์…ดอกเตอร์…วิศวกร…แอร์โฮสเตส…คนทำงานเพื่อชุมชน…ครู   

klongtei learning05
“ผมเบื่อหนังสือแล้ว เรียนไปก็ไม่ได้อะไรหรอก เดี๋ยวก็ไม่ได้เรียนละ มาเล่นเกมไปแข่งเกมสนุกกว่า” โครงสร้างใหญ่ที่ทำร้ายคนมามากทำให้เด็กหลายคนหมดและมีความหวังไปพร้อม ๆ กัน

ครูใบเตย ความรัก ความเข้าใจ ยอมรับในสิ่งที่เด็กเป็น  

28/11/2018 บันทึกการสอนวันที่  7 ของครูใบเตย  

วันนี้มีเด็กเฟี้ยวๆ มาขอโทษที่ทำผิดในชั้นเรียน ครูหายโกรธเธอไปนานแล้ว ยอมรับว่าอาทิตย์นี้หนักหน่วงมาก และเหมือนจะหนักขึ้นเรื่อยๆ  เด็กคลองเตยไม่เหมือนที่ไหนในโลกจริงๆ มีเรื่องให้หมดหวังในความเชื่อต่อตัวเองต่อตัวเด็กอยู่ตลอดเวลา ใช่! คลองเตยไม่ได้สวยงาม แต่ใช่จะไม่มีความงาม แม้แสงสว่างดวงที่เล็กที่สุด มันก็ยังคงเป็นแสงสว่าง เพียงแต่ขอให้เรามีสายตาที่มองเห็นแสงนั้น และขอให้แสงสว่างที่เราเชื่อ ขยายขนาดของแสงออกไปเรื่อยๆ แม้ในช่วงเวลาที่มืดมิดที่สุด”  

ครูใบเตย เจริญพิทยา สาวผมสั้นอายุ 27 ปี ผู้พกความสดใส ร่าเริง ผ่านรอยยิ้มและน้ำเสียง

เธอเคยทำงานเกี่ยวกับเยาวชนและครอบครัวมาก่อน โดยในระหว่างช่วงเวลาตัดสินใจเปลี่ยนงาน เธอมาพบกับTech for Thailand โครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่ผ่านการอบรมคัดเลือก เข้าไปทำงานในบทบาทของครู ตามโรงเรียนที่ทางโครงการคัดเลือกมาให้เป็นระยะเวลา 2 ปี

ครูใบเตยเมื่อ 2 ปีก่อนในวัย 25 ปี เลือกโรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนาเพราะต้องการความท้าทาย และอยากรู้ว่าเด็กคลองเตยที่ว่าสอนยากๆ มันจะแค่ไหนกันเชียว  

“บางทีเราอยู่ในห้องเขาก็ล็อกไม่ให้เราออก อยู่ข้างนอกบางทีก็ล็อกไม่ให้เราเข้า กระโดดจากระเบียงห้อง วิ่งไล่จับกันตรงระเบียง ครั้งหนึ่งถีบประตูจนหลุดออกมาทั้งยวง เทอมแรกคือครูไม่เข้าใจศิษย์ ศิษย์ก็ไม่เข้าใจครู”   

ครูใบเตยยอมรับว่าช่วงแรกที่เข้ามาสอน เธอไม่เข้าใจในความเป็นแก๊งสเตอร์ของเด็กที่นี่  เธอเติบโตมาในสังคมอีกแบบ ที่เชื่อว่ามาโรงเรียนก็ต้องเรียนหนังสือ ไม่ใช่มาเจี๊ยวจ๊าวไม่ตั้งใจเรียนแบบนี้   

“วันไหว้ครูมีเด็กคนหนึ่ง คือเด็กคนนี้เป็นหัวโจก  วันนั้นเขาไม่ได้ไหว้ใครเป็นพิเศษ เขานอนอยู่ริมระเบียง เราเดินผ่านเขาตอนกำลังหลับตาอยู่ แล้วเขาก็ยกมือไหว้ทั้งที่ยังหลับตา  จากที่ไม่ถูกกันเลย เราเริ่มมีความรู้สึกดีให้กัน  มันที่สุดแล้วสำหรับเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่จะแสดงความรักออกมา คือเขามีความรักมีหัวใจนะ แค่เขาแสดงออกไม่เป็นเท่านั้นเอง”  

ความรัก ความเข้าใจ คือสิ่งที่เด็กคลองเตยต้องการ อาจจะเพื่อชดเชยบางสิ่งที่ขาดหายไปตั้งแต่เด็ก ครูใบเตยจึงจำเป็นต้องยอมรับและเข้าใจในความเป็นเขา บางทีเด็กที่นี่ก็ไม่ได้น่ารัก บางทีเขาทำให้ครูใบเตยรู้สึกไม่อยากตื่นขึ้นมาสอน แต่ว่านั่นแหละคือสิ่งที่เขาเป็น เด็กทุกคนรอวันที่เขาจะได้เรียนรู้และเข้าใจอะไรบางอย่างในชีวิต โดยมีครูเป็นเพื่อนนำทาง  

“ครูส่วนใหญ่ในโรงเรียนน่ะเข้าใจเด็กจริงๆ  ครูประจำน่าจะเข้าใจมากกว่าตัวเราด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าเรามีโอกาสออกมาพูดได้มากกว่า ครูประจำที่นี่เขามีงานค่อนข้างเยอะ และบางครั้งจำเป็นต้องสอนวิชาเรียนอื่นที่ตนเองไม่ถนัด ไหนจะงานนอกเหนือการสอนอีก”   

เธออยากให้ครูในชุมชนคลองเตยสามารถมีเวลาดูแลเด็กได้มากกว่านี้ สิ่งแรกที่เราต้องยอมรับคือโรงเรียนในพื้นที่เขตคลองเตยมีความพิเศษ เด็กที่นี่จำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่จากครูอย่างใกล้ชิด แต่มันมีโครงสร้างบางอย่างที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นเข้ากับเด็กที่คลองเตยได้ ครูใบเตยกล่าวกับเรา ก่อนบอกเล่าประโยคที่เป็นเหมือนทางออกเฉพาะหน้าที่ครูที่นี่ต้องเผชิญ  

“ก็ต้องทำใจให้ได้ บางวันเรารู้สึกนะว่าทำอย่างไรก็ได้ให้มันรอดไปวันต่อวัน คือสุดท้ายเราไม่ต่างอะไรจากเด็กในชุมชนที่ต้องเอาตัวรอดไปในแต่ละวัน… ถ้าครูเหนื่อยกับงานอื่นจนหมดแรงแล้วจะเอาเรี่ยวแรงจากไหนมาสอนเด็ก ครูที่นี่ทำงานกันหนักมาก โครงสร้างทุกวันนี้มันเป็นอะไรที่ต้องเปลี่ยนจริงๆ”  

ไม่ใช่เรื่องง่ายกว่าที่ครูใบเตยจะหาจุดสมดุลในการสอนเจอ ครูใบเตยอยู่กับลูกศิษย์มาตั้งแต่วันที่ไม่เข้าใจกันเลย และสุดท้ายมาพบว่ามันก็ไม่ได้มีอะไร เพียงเปิดใจยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น ไม่เอามาตรฐานตัวเองมาตั้

“เป็นครูในแบบของเรานี่แหละ ไม่ได้เนี้ยบมาก แต่เราเป็นครูใบเตยที่หยวนๆ บ้าง ผ่อนปรนบ้าง พยายามหาตรงกลางกับเด็ก พอใจในสิ่งที่เราทำได้ มันอาจไม่ได้ดีที่สุดในแบบที่เราคิดไว้”  

มาวันนี้เด็กๆ  คลองเตยคงไม่ได้มีโอกาสเรียนกับครูสาวยิ้มสวยผู้นี้อีกแล้วเมื่อหมดสัญญาของโครงการ 2 ปี ครูใบเตยจำต้องเดินออกมาตามทางของตัวเอง แต่มีสิ่งหนึ่งที่ครูใบเตยอยากจะบอก ก่อนวันที่ครูและศิษย์จะได้กลับมาพบกันใหม่  

“ครูรู้ว่าชีวิตพวกเธอมันไม่ง่าย เธออาจจะชินกับมัน แต่ในฐานะที่ครูเข้ามาสอน ครูรู้สึกว่าถ้าครูเป็นแบบพวกเธอคงลำบากไม่น้อย… เด็กๆ อาจไม่ได้รู้สึกว่าเธอมีความสำคัญ มีคนรัก หรือมีคุณค่าในตัวเอง  มันไม่จริงนะ ครูเชื่อว่าทุกๆ ครั้งที่เราลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง ลุกขึ้นมาเตะบอลกับเพื่อนๆ หรือตั้งใจเรียน แม้มันจะเป็นสิ่งเล็กน้อย ครูอยากให้พวกเธอทำสิ่งนี้ต่อไป ครูเชื่อว่าต้นทุนมันมาจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราทำ วันข้างหน้ามันจะส่งผลให้ชีวิตเราดีขึ้น เธออยากทำอะไรก็ได้ แค่อยากให้แน่ใจว่าสิ่งนั้นมันทำให้เธอมีความสุขมีชีวิตที่ดีขึ้น ถ้าดีก็ทำไปเลย เธอทำได้เธอไม่ต้องกลัว ครูเชื่อว่าโลกใบนี้ยังมีพื้นที่สำหรับพวกเธอเสมอ ครูเชื่อในพวกเธอเสมอ”     

บันทึกการสอนวันที่ 4 วันนี้มีเด็กหน้านิ่งที่ชอบนั่งหลบมุมคนหนึ่งยิ้ม มันเป็นรอยยิ้มที่ดีมากเลย”   

klongtei learning06
“ถ้าตัดข้อจำกัดทุกอย่างออก เราอยากเป็นหมอนะ” ขวัญ ยุพา กันสร้าง พูดประโยคที่ทำให้ต้องเหลียวมอง หลายความฝันของเด็กคลองเตยต้องดับลงเพียงเพราะ “กลัวจะส่งเรียนต่อไม่ไหวให้เป็นทางเลือกอื่นแทนมั้ย” “แค่หาของให้กินก็แทบแย่แล้วจะเอาอะไรไปส่ง” “ฉันทำงานแทบขาดใจเพื่อเลี้ยงแก ไปช่วยทำงานดีกว่ามั้ย กว่าจะเรียนจบมันเสียเวลา”

ยากดีมีหนี้ ลูกฉันต้องได้เรียน  

หากในโรงเรียนครูมีส่วนสำคัญในการสอน แนะนำแนวทางให้เด็ก  ที่บ้านผู้ปกครองก็เป็นครูอีกคนหนึ่งที่มีส่วนในการดูแลเอาใจใส่ ประคองอนาคตการศึกษาของเด็ก ผ่านเรื่องราวบอกเล่าของ อำพร กันสร้าง หนึ่งในผู้ปกครองที่กล่าวกับเราว่า “ปากท้องมันก็สำคัญ แต่การเรียนมันสำคัญมากกว่า”   

อำพรเป็นหนึ่งในผู้ปกครองของเยาวชนคลองเตย เธออาศัยอยู่ในชุมชน 70 ไร่ บ้านเช่าราคา 4,500 บาทต่อเดือนของเธอนั้นมีผู้ร่วมชายคาทั้งหมดห้าคน เป็นเด็กสามคน หนึ่งในนั้นคือลูกสาวหัวแก้วหัวแหวนความหวังของเธอ อีกสองคนคือหลานที่เขามาฝากเธอเลี้ยงดู  รายได้ที่มีเข้ามาของเธอมีเพียงเงินจากการขายอาหารตามสั่งในตรอกเล็กๆ  ขายได้ต่อวันยังไม่หักต้นทุนอยู่ราวๆ  700 บาท ส่วนสามีทำงานรับจ้างทั่วไป บางวันมีงานบางวันก็ไม่มี  

“ถามว่าเหนื่อยไหม-เหนื่อย ท้อไหม-ท้อ แต่เราต้องสู้-สู้เพื่ออนาคตของลูก เรื่องการเรียนมันสำคัญ ตอนนี้ก็ยังเป็นหนี้เขาอยู่ กู้นอกระบบมาเพื่อส่งลูกเรียน  ลูกไปเรียนหนังสือไกล เงินที่มีมันไม่พอ”    

อำพรเล่าให้เราฟังว่า สมัยที่ลูกยังเรียนอยู่โรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนา ค่าเทอมไม่ต้องเสีย ค่าข้าวทั้งเช้าและกลางวันโรงเรียนจัดเตรียมให้ แต่พอจบมัธยมฯ 3 ออกไปเรียนข้างนอก ต้องหาเงินให้ลูกใช้ไปเรียนวันละ 200 บาท แบ่งเป็นค่ารถ 70 บาท ค่าข้าว 60 บาท ค่ากิจกรรมในโรงเรียนอีกวันละ 70 บาท ถ้าเหลืออำพรก็ให้ลูกเก็บเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เธอเองไม่ได้มีรายได้ประจำแน่นอน การกู้เงินนอกระบบจึงเป็นทางเลือกที่เธอเลี่ยงไม่ได้ เพื่อความอยู่รอดและอนาคตของลูกเธอ  

“ขวัญมันยังโชคดี ได้ทุนการศึกษาจากมูลนิธิดวงประทีป ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายไปได้เยอะ” อำพรกล่าวถึงโอกาสที่ลูกของเธอได้รับ พร้อมย้ำว่าหากมีโอกาสเธออยากให้ลูกของเธอทดแทนคุณของครูประทีป อึ้งทรงธรรม ผู้ก่อตั้งมูลนิธิฯ  ก่อนที่เราจะถามเธอต่อถึงความคาดหวังต่อตัวลูกสาวของเธอ   

“เราไม่เคยบังคับลูก แค่อยากให้เขาเรียนตามที่เรียนไหวและเราพอส่งเสียได้ ไม่ได้คาดหวังว่าลูกต้องเอาใบปริญญามาให้”  

อำพรคงเป็นเพียงผู้ปกครองคนหนึ่งในอีกหลายคน ณ ชุมชนคลองเตยแห่งนี้ ที่ต้องประสบปัญหาไม่ต่างกันคือ การมีรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการส่งเสียลูกหลานออกไปเรียนภายนอก เธออาจโชคดีมีลูกสาวเรียนเก่ง ใฝ่ดี และได้รับโอกาสจากมูลนิธิดวงประทีป แต่เด็กอีกหลายคนล่ะ มันยุติธรรมแล้วหรือที่ไม่สามารถเรียนต่อได้เพียงเพราะแค่ไม่มีเงินจึงไม่มีโอกาสได้เรียน    

“ลูกแม่ชอบทำงานชุมชน ไปช่วยงานที่มูลนิธิดวงประทีปตลอด เราภูมิใจที่ลูกเราไปช่วยเหลือชุมชน ถึงแม้ความภูมิใจมันจะกินไม่อิ่มก็ช่างมัน” อำพรกล่าวทิ้งท้ายก่อนที่เราจะเดินออกจากตรอกเล็กๆ ที่คับคั่งไปด้วยบ้านเรือน แต่กลับเงียบงันไร้ซึ่งเสียงของผู้คน

klongtei learning07
“ยังไม่เรียนก็ได้ แม่ไม่อยู่ต้องดูน้องก่อน เดี๋ยวน้องร้องเอา” เด็กนักเรียนที่พลาดการสอนของครูอาสาเพราะต้องดูแลเด็กเล็กวัย 2 ขวบที่ห้องสมุดชุมชน
klongtei learning08
.นักเรียนคนหนึ่งในห้องสมุดชุมชนมุดโต๊ะหนีครูอาสาที่กำลังจะพาเด็ก ๆ ไปสอนในห้องแยก โผล่หัวออกมาชูสองนิ้วเพราะคิดว่าตนแอบครูพ้นแล้ว แต่ไม่เลย…

ถ้าอยากเห็นคลองเตยวันข้างหน้าดีขึ้น มันต้องเริ่มจากรุ่นเรา  ขวัญยุพา กันสร้าง  

“เราไม่ได้อยากให้คนภายนอกมาสงสาร อยากขอให้เข้าใจซะมากกว่า เพราะว่าสลัมคลองเตยเด็กบางคนเกิดมาในครอบครัวไม่สมบูรณ์แบบ อุปสรรคแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่ต้องสงสารไม่ต้องเวทนา แค่อยากให้เข้าใจและให้โอกาสเรา”    

ขวัญ-ยุพา กันสร้าง อายุ 20 ปี เยาวชนต้นแบบของชุมชนคลองเตย ด้านสังคมและพัฒนาชุมชน ปี 2562 ขวัญเติบโตจากชุมชนคลองเตย เริ่มเข้าเรียนอนุบาลที่ศูนย์เด็กปฐมวัยเมอร์ซี่ ช่วงชีวิตเก็บเกี่ยวความทรงจำกับชุมชนคลองเตยจนเกิดเป็นความรัก ความผูกพัน แปรเปลี่ยนเป็นอุดมการณ์แน่วแน่ของเธอ 

“อีกไม่กี่เดือนขวัญก็เรียนจบ ปวส. แล้ว ขวัญคิดว่าจะไปทำงานอะไร”  

“เรายังยึดอุดมคติของตัวเองอยู่คือ กลับมาพัฒนาชุมชนคลองเตย อย่างน้อยมีเราสักคนกลับมาทำงานที่คลองเตย กลับมาเปลี่ยนน้องๆ เปลี่ยนชุมชน ยังดีกว่าที่เราจะไปทำงานข้างนอก” คำตอบของขวัญ ยุพา ไม่มีความลังเล ก่อนที่เธอจะเล่าที่มาของการกลับมาพัฒนาชุมชน  

 “อุดมการณ์ของเรามันเกิดขึ้นช่วงมัธยมฯ 3 เราเจอคนข้างนอกเขาถาม เฮ้ย! อยู่สลัมคลองเตยไม่กลัวเหรอ มีแต่ยาเสพติด?  ทำไมคุณไม่คิดว่าในพื้นที่สีดำมันก็ยังมีพื้นที่สีขาวอยู่ แต่เรารู้การเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์มันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สักวันเราจะทำมันให้ได้ เริ่มเปลี่ยนจากตัวเอง ให้เขารู้ว่าคนคลองเตยน่ะไม่ได้แย่ทุกคน”  

ขวัญ ยุพา มีความฝันอยากเป็นแบบอย่างให้น้องๆ ดั่งที่เธอมีแบบอย่างจาก ดร.พรทิพย์ ปานอินทร์ ดอกเตอร์คนแรกจากสลัมคลองเตย จากดอกเตอร์คนที่ 1 ไม่นานก็มีคนที่ 2 และคงมีคนที่ 3 4 5 6 ตามมา ขวัญ ยุพา อาจเป็นดอกเตอร์คนที่ 7 เธอมีความมุ่งมั่นเต็มเปี่ยม เพียงแต่! การเติบโตมาในพื้นที่ชายขอบกลางเมืองกรุงแบบนี้ การไปถึงฝันนั้นมันไม่ง่ายเลย    

“ถ้าตัดข้อจำกัดทุกอย่างออกเราอยากเป็นหมอ แต่ด้วยความที่เราไม่มีต้นทุน ความฝันบางอย่างของเราจำเป็นต้องถูกตัดออก  เราเดินไปบอกแม่ว่าอยากเรียนหมอ แม่ตอบกลับมาว่า หมอมันต้องเรียนหนักนะ แถมต้องใช้เงินเยอะ แม่กลัวจะส่งเราไม่ไหว เลือกอาชีพที่สองไว้ได้ไหม สุดท้ายมาลงเอยเรียนต่อสายอาชีพ สาขาการบัญชี”  

เพราะเลือกเกิดไม่ได้ เธอจึงต้องเลือกใช้ความพยายามในข้อจำกัดของชีวิต เธอเรียนบัญชีเพราะบอกว่าชอบการคำนวณ เธอคือส่วนน้อยที่ได้เรียนต่อ เพื่อนของเธอหลายคนล้วนต้องไปหางานทำ มีบ้างบางคนที่อุตสาหะเรียนภาคเสาร์-อาทิตย์   

“เราคิดว่าพวกเราได้รับโอกาสน้อยมาก เพราะต้องรอโอกาสจากหน่วยงานจากภายนอกที่ไม่ใช่ภาครัฐ เช่น มูลนิธิดวงประทีป ศูนย์เมอร์ซี่ มูลนิธิสิกขาเอเชีย มัสยิดและภาคเอกชนอื่นๆ ส่วนมากที่สนับสนุนคือองค์กรเหล่านี้ ไม่ใช่ภาครัฐ” ขวัญ ยุพา หยุดพูดไปชั่วขณะหนึ่ง เธอก้มหน้าลงเหมือนกำลังใช้ความคิดอยู่กับตัวเอง ก่อนกล่าวต่อไป   

“อยากขอโอกาสให้เด็กคลองเตยบ้าง หนูเคยไปสมัครงานพาร์ตไทม์กับเพื่อนที่วิทยาลัย เขาถามเราว่ามาจากคลองเตยเหรอ …สุดท้ายเขารับเพื่อนเรา เขาไม่รับเรา”   

ไม่รู้ว่าเสียงเล็กๆ ของขวัญ ยุพา จะดังไกลออกไปได้เพียงใด แต่นั่นคงไม่สำคัญเท่าแสงแห่งเปลวเทียนของเธอได้ถูกจุดติดแล้ว มันคงเป็นแสงสว่างนำพาเยาวชนรุ่นต่อไปให้หลุดพ้นจากเงามืด แม้จะเป็นแสงสว่างดวงที่เล็กที่สุด แต่มันจะสว่างไสวมากที่สุดเมื่อมันอยู่ท่ามกลางความมืด เป็นแสงแห่งความหวัง ณ ชุมชนคลองเตย   

 “ถ้ามีพรวิเศษสามข้อเปลี่ยนแปลงชุมชน เราอยากขอให้ 1. เด็กๆ ทุกคนได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาจากสถานศึกษาภายนอกชุมชน 2. ขอให้มีครูสอนครบตามสาระวิชา เพียงพอต่อการดูแลเด็ก  3. อยากให้ความเป็นครอบครัวของคนในชุมชนคลองเตยมันสมบูรณ์ เราไม่อยากเห็นเพื่อนเราน้องเราต้องมาเจอกับปัญหาครอบครัวแตกแยกเหมือนทุกวันนี้”  

นาฬิกาเข็มสั้นกำลังชี้ไปที่เลข 12 ถึงเวลาที่ขวัญ ยุพา ต้องเตรียมตัวออกไปทำงานพาร์ตไทม์ ณ ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดชื่อดังในห้างสรรพสินค้าที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของเธอ 

แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 กล่าวไว้ว่า การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน รัฐต้องจัดให้เพื่อพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัย ให้มีความเจริญงอกงามทุกด้าน ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญด้านการศึกษา โดยมุ่งจัดการศึกษาให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสและความเสมอภาคในการศึกษาที่มีคุณภาพ พัฒนาระบบการบริหารจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยการพัฒนาสถานศึกษาทุกแห่งให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่เท่าเทียม