ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน
เครือข่ายประชาชนไทย ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง : ภาพ

จากเขื่อนจิ่งหงถึงเขื่อนไซยะบุรี ผลกระทบลุ่มน้ำโขงครึ่ง (เดือน) แรกของปี ๒๕๖๔

เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๔ กระทรวงทรัพยากรน้ำ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ส่งเอกสารถึงสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แห่งราชอาณาจักรไทย ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงของฝ่ายไทย แจ้งให้ทราบเรื่องการปรับลดการระบายน้ำของเขื่อนจิ่งหงในมณฑลยูนนาน ใกล้ชายแดนจีน-พม่า ห่างจากจังหวัดเชียงรายประมาณ ๓๔๐ กิโลเมตร

เนื้อหาในหนังสือระบุถึงการระบายน้ำของเขื่อนจิ่งหงว่าจากที่เคยระบายน้ำวันละ ๑,๙๐๔ ลูกบาศก์เมตร/วินาที เมื่อเข้าสู่ช่วงวันที่ ๕-๒๔ มกราคม ๒๕๖๔ เขื่อนจะระบายน้ำลดลงเหลือวันละ ๑,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพื่อบำรุงรักษาสายส่งโครงข่ายระบบไฟฟ้า เมื่อแล้วเสร็จจึงจะปรับเพิ่มการระบายน้ำและเข้าสู่สถานะการทำงานปกติ

รุ่งขึ้นกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) จึงออกประกาศแจ้งเตือนเรื่อง “ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงจากลดการระบายน้ำของเขื่อนจิ่งหง” ต่อสาธารณะชน พร้อมประเมินระดับน้ำในแม่น้ำโขง สรุปได้ดังต่อไปนี้

  1. ระหว่างวันที่ ๒-๔ มกราคม ๒๕๖๔ ระดับน้ำโขงช่วงเหนือเขื่อนไซยะบุรีในพื้นที่ สปป.ลาว และบริเวณสถานีเชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย จะลดลง ๖๐ เซนติเมตร และระหว่างวันที่ ๕-๒๘ มกราคม มีแนวโน้มลดลงประมาณ ๓๐ เซนติเมตร
  2. แม่น้ำโขงช่วงท้ายเขื่อนไซยะบุรีในพื้นที่สปป.ลาว บริเวณสถานีเชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย สถานีหนองคาย สถานีนครพนม สถานีโขงเจียม ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนไซยะบุรี

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จึงทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง ๘ จังหวัดริมแม่น้ำโขง ทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน ได้แก่ เชียงราย เลย นครพนม หนองคาย มุกดาหาร บึงกาฬ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ให้ทราบสถานการณ์ เฝ้าระวังระดับน้ำ โดยจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชนอย่างใกล้ชิด

การบำรุงรักษาโครงข่ายระบบไฟฟ้าของเขื่อนในแม่น้ำโขงสร้างความผันพวนเรื่องระดับน้ำ ส่งผลกระทบไปทั่วทุกหย่อมย่าน สอดคล้องกับประกาศแจ้งเตือนของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยกตัวอย่างรายงานผลกระทบในจุดต่างๆ ตามแนวพรมแดนไทย-ลาว ของเครือข่ายประชาชนไทย ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง ดังนี้

jinghong01
อ.เชียงของ จ.เชียงราย
jinghong02
แม่น้ำกก

พื้นที่ตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย

กลุ่มรักษ์เชียงของลงพื้นที่สำรวจพบว่าระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๔ ระดับน้ำที่สถานีเชียงแสนอยู่ที่ ๒.๘๕ เมตร เมื่อถึงวันที่ ๔ มกราคม ลดลงเหลือเพียง ๑.๙๔ เมตร ทำให้เกิดการดึงน้ำจากลำน้ำสาขา เช่น แม่น้ำกก จนมีระดับน้ำลดลงมาก ทำให้เกิดความเสียหายและผลกระทบต่อเครื่องมือหาปลา การทำประมง และแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค

jinghong03
อ.เชียงคาน จ.เลย
jinghong04
อ.ปากชม จ.เลย

พื้นที่ .เชียงคาน จ.เลย

ชาญณรงค์ วงศ์ลา กลุ่มฮักเชียงคาน รายงานว่าระดับน้ำลงมากและเร็วผิดปกติ ทำให้แพหาปลาของกลุ่มประมงพื้นบ้านในเขต อ.เชียงคาน และแก่งคุดคู้ ติดอยู่กับหาดหินท้องน้ำแม่น้ำโขง ระดับน้ำที่ลดลงก่อนฤดูกาลและลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงปลายเดือนธันวาคมสร้างความกังวลใจให้คนท้องถิ่น เพราะชุมชนริมน้ำส่วนใหญ่ใช้น้ำโขง เป็นแหล่งน้ำดิบทำน้ำประปาทั้งในระดับหมู่บ้านและอำเภอ

กลุ่มรักษ์เชียงคานยังรายงานว่าช่วงที่น้ำโขงแห้ง พืชชนิดหนึ่งที่พบเพียงแห่งเดียวริมน้ำโขงในเขตอำเภอเชียงคานคือ Crptocoryne Loeiensis จัดอยู่ในกลุ่มพืชเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ของ IUCN ได้โผล่พ้นน้ำ กระจายอยู่รอบๆ ท้องน้ำ โขดหิน ริมตลิ่งของ อ.เชียงคาน

jinghong05
จ.หนองคาย

พื้นที่ .สังคม จ.หนองคาย

สมจิตร พิมโพพัน ทีมวิจัยชาวบ้านน้ำไพร รายงานว่าชาวบ้านที่ปลูกพืชผักริมฝั่งโขง ทั้งแปลงเกษตร สวนผัก สวนยาสูบ ประสบปัญหาเรื่องน้ำสำหรับการเกษตร ชาวบ้านต้องต่อท่อสูบน้ำความยาวกว่า ๔๐๐-๕๐๐ เมตร สูบน้ำจากร่องน้ำลึกของแม่น้ำโขง ระดับน้ำโขงที่ลดลงอย่างรวดเร็วทำให้เรือติดอยู่บนฝั่ง เพราะเจ้าของมาขยับเลื่อนเรือตามระดับน้ำที่ลดไม่ทัน บางรายเกิดความกังวลว่าเครื่องยนต์เรือจะถูกขโมยหายไปจึงต้องถอดเครื่องยนต์ไปเก็บ ชาวบ้านหาปลาได้น้อยลง โดยเฉพาะปลาเอินหรือปลายี่สกไทย จากภาวะปกติจะว่ายอพยพจากแม่น้ำโขงตอนล่างมาผสมพันธุ์วางไข่บริเวณบ้านน้ำไพร-ตาดเสริม ต.บ้านม่วง อ.สังคม แต่ปีนี้ระดับน้ำผันผวน ชาวบ้านจับปลาเอินได้แค่ ๓-๔ ตัวเท่านั้น

ชัยวัตน์ ภาระคุณ ชาว ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย รายงานว่าเกิดภาวะน้ำโขงใส มีสาหร่ายสีเขียว หรือ “เทา” เป็นปรากฎการณ์สาหร่ายบลูม ไปตลอดเขต อ.เชียงคาน-ปากชม-สังคม เมื่อน้ำลดระดับลงอย่างรวดเร็วทำให้สาหร่ายแห้งตามหาดหินและแก่งหิน ระดับน้ำที่ขึ้นลงไม่สอดคล้องกับฤดูกาล สร้างกังวลใจเรื่องของการอพยพของปลาและการจับสัตว์น้ำเลี้ยงชีพ

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสานยังรายงานว่าแม่น้ำโขงบริเวณบ้านภูเขาทอง ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย มีระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง ชาวประมงจับปลาไม่ได้ เพราะมี “เทา” หรือสาหร่ายน้ำจืดเกิดหนาแน่นมาก สาหร่ายน้ำจืดมักติดอวนคนหาปลา ทำให้อวนหนักมากจนยกไม่ขึ้น

ผลกระทบที่เกิดในพื้นที่ต่างๆ ริมสองฝั่งโขงสอดรับกับข้อมูลของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC ที่ระบุว่าในบรรดาสถานีวัดระดับน้ำแม่น้ำโขงทั้ง ๑๕ สถานีในพื้นที่แม่น้ำโขงตอนล่าง ระยะทางกว่า ๒,๐๐๐ กิโลเมตร ตั้งแต่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ถึงปากแม่น้ำโขง ประเทศเวียดนาม สถานีหลวงพระบางมีระดับน้ำสูงที่สุด เนื่องจากการบริหารจัดการเขื่อนตอนบนและเขื่อนไซยะบุรี มีรายงานว่าระหว่างวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๓ – ๔ มกราคม ๒๕๖๔ ระดับแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว (Long Term Average)

ขณะที่ระดับแม่น้ำโขงแถบเมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว เพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว เนื่องจากผลกระทบของการบริหารจัดการเขื่อนตอนบนและเขื่อนไซยะบุรี โดยวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๓ ระดับน้ำที่สถานีหลวงพระบางมีค่า ๙.๔๔ เมตร ขณะที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ ๖.๔๓ เมตร ผันผวนมากถึง ๓.๖ เมตร

ข้อมูลของ MRC ยังระบุอีกว่า ระดับน้ำที่สถานีเชียงคาน สถานีเวียงจันทน์ และสถานีหนองคาย อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว จัดอยู่ในขั้นวิกฤตระดับเดียวกับปี ค.ศ.๒๐๑๙ (หรือ พ.ศ.๒๕๖๒) ระดับน้ำที่ลดลงต่ำมากอาจเกี่ยวข้องกับการบริหารเขื่อนตอนบน

วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๔ ระดับน้ำโขง ที่หนองคายอยู่ที่ระดับ ๑.๐ เมตร ซึ่งถือว่าต่ำมากกว่าค่าเฉลี่ยของระดับน้ำโขงในอดีตที่ผ่านมา และถือว่าเป็นวิกฤต ทั้งนี้ ตลอดระยะทางกว่า ๒๐๐-๓๐๐ กิโลเมตรจากเขื่อนไซยะบุรีถึง อ.เชียงคาน จ.เลย จนถึง จ.หนองคาย ไม่มีลำน้ำสาขาหรือเขื่อนขนาดใหญ่อื่นๆ ที่เป็นปัจจัยให้เกิดการผันผวนของระดับน้ำโขง

jinghong06
สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (ภาพ : กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ)

อนึ่ง เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๓ การทดสอบการทำงานของเครื่องจักรเขื่อนจิ่งหง เคยทำให้เขื่อนแห่งนี้ต้องลดกำลังการระบายน้ำลงจาก ๑,๔๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เหลือเพียง ๘๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จนระดับน้ำโขงลดฮวบอย่างฉับพลันถึง ๗๐ เซนติเมตรมาแล้ว

ขอขอบคุณ

  • เครือข่ายประชาชนไทย ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง
  • รายละเอียดเพิ่มเติม www.mymekong.org