
จากหนึ่ง เป็นสอง เป็นสาม เป็นสี่ แล้วเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นมาห้าดวง น้ำในมหาสมุทรทั้งจักรวาลก็ไม่มีเหลือ
ครั้นมีพระอาทิตย์ดวงที่ ๖ โผล่ขึ้นมาอีก จักรวาลก็สะสมความร้อนจนเต็มที่ก็เริ่มระอุ ควันขึ้นคละคลุ้ง
“ไตรภูมิพระร่วง” กล่าวว่า “ร้อนเร่าเท้าทั่วจักรวาล แลเห็นเป็นตะวันลุกอยู่เต็มทั่วจักรวาลดั่งท่านเผาหม้อ แลร้อนเร่าระงมอยู่ในเตาหม้อนั้น”
แล้วสุดท้าย เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นครบเจ็ดดวง ความร้อนก็ทำให้ไฟลุกพรึบขึ้น
สถานการณ์นี้มิได้เกิดขึ้นลำพังจักรวาลเดียว แต่ลามต่อเนื่องกันไปทั้ง “แสนโกฏิจักรวาล” อย่างที่คัมภีร์ “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” นับจำนวนพระอาทิตย์ไว้ให้เสร็จสรรพ ว่าในเมื่อแต่ละจักรวาลมีพระอาทิตย์เจ็ดดวง ดังนั้น “พระอาทิตย์ประลัยโลกจักรวาลที่เจ็ดๆ เป็นพระอาทิตย์ถึง ๗ แสนโกฏิด้วยกัน”
ขณะนั้น ผืนแผ่นดินทั้งหมดอาบชุ่มอยู่ด้วยน้ำมันปลาที่ “เจียว” ออกมาจากปลายักษ์ในมหาสมุทรทั้งเจ็ดจำพวกซึ่งติดแห้งตายแหงแก๋กันมาพักใหญ่แล้ว ในเมื่อปลาเหล่านี้แต่ละตัวมีขนาดมโหฬาร คืออยู่ระหว่าง ๘๐๐-๙๐๐-๑,๐๐๐ โยชน์ น้ำมันปลาปริมาณมหาศาลจึงเอ่อท่วมขังอยู่ในแอ่งซึ่งเคยเป็นมหาสมุทร
ดังนั้น เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นถึงเจ็ดดวง น้ำมันปลาถึงจุดวาบไฟ ก็เกิดมหาเพลิงลุกไหม้
ปรากฏการณ์นี้ในคัมภีร์เรียกว่า “ไฟบรรลัยกัลป์” หรือ “ไฟประลัยกัลป์” เรียกย่อๆ ว่า “ไฟกัลป์”
“ไตรภูมิพระร่วง” พรรณนาว่า ไฟบรรลัยกัลป์เริ่มไหม้เขาอัสกรรณ เขาสัตตบริภัณฑ์ชั้นนอกสุดที่อยู่ติดกับมหาสมุทร รวมถึงพื้นดินชมพูทวีป ลุกลามไปยังเขาหิมพานต์ หมู่ทวีปน้อย ๒,๐๐๐ ที่เป็นบริวาร แล้วถึงมหาทวีปทั้งสามที่เหลือ ไหม้ลงไปจนหมดนรกทุกชั้น ตลอดถึงอเวจี
ขณะเดียวกัน ไฟลุกไหม้ลามเขาสัตตบริภัณฑ์ไล่ไปทีละชั้นๆ เผาสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เขาพระสุเมรุตลอดทั้งแท่ง นับตั้งแต่ดาวดึงส์ของพระอินทร์บนยอดเขาลงไปถึงพิภพอสูรข้างใต้ ตลอดจนวิมานเงินวิมานทองวิมานแก้วของเหล่าเทวดาที่ลอยคว้างอยู่กลางอากาศ เปลวไฟลุกท่วมขึ้นไปยังสวรรค์ ก่อนจะค่อยๆ ลุกลามไปติดสวรรค์ชั้นที่อยู่เหนือขึ้นไปเรื่อยๆ จนทั้งหกชั้นของสวรรค์กามาพจรพินาศสิ้น
ฉากตอนนี้กล่าวถึงใน “โองการแช่งน้ำ” คำสวดประกอบพิธีกรรมดื่มน้ำพระพิพัฒสัตยา (น้ำสาบาน) สมัยอยุธยาตอนต้นว่า
๏ เจ็ดปลามันพุ่งหล้าเป็นไฟ วาบจตุราบายแผ่นขว้ำ
ชักไตรตรึงษ์เป็นเผ้า แลบลํ้าสีลอง ฯ
(ถอดความว่า น้ำมันจากปลาทั้งเจ็ดพุ่งขึ้นเป็นไฟ เผาตั้งแต่อบายภูมิทั้งสี่ (จตุราบาย) คือเดรัจฉาน เปรต อสุรกาย และนรก จนถึงสวรรค์ดาวดึงส์ มอดไหม้กลายเป็นเถ้าธุลี)
เท่านั้นยังไม่พอ เปลวไฟประลัยกัลป์ยังลามต่อไปจนถึงสวรรค์ชั้นพรหมที่อยู่สูงขึ้นไปอีก
ปวงเทพที่ยังเหลือพาตะเกียกตะกายหนีขึ้นไปสู่สวรรค์ชั้นพรหมที่ไฟไหม้ไม่ถึง เบียดเสียดเยียดยัดกัน
“ไตรภูมิพระร่วง” ใช้คำว่า “ดุจดั่งแป้งยัดขนานนั้นแล”
นั่นคือหมู่ที่อพยพหนีไฟขึ้นไปบนสวรรค์ชั้นพรหมนั้นต้องเบียดเสียดกันราวกับแป้งที่อยู่ในทะนาน (ภาชนะจักสานชนิดหนึ่ง)
คำนี้คงตรงกับที่เรียกว่า “ยัดทะนาน” ในสำนวนไทยรุ่นหลัง อันมีความหมายว่าเบียดกันแน่น อัดกันแน่น ไม่มีที่ว่าง