เรื่อง : อธิวัฒน์ อุต้น
ภาพ : วิศรุต วีระโสภณ

เขาไม่ใช่คนเชียงใหม่ (แค่ชอบเชียงใหม่) ไม่ได้มีหุ้นส่วนในบริษัทใหญ่ (แค่นามสกุลเหมือน) ไม่ใช่นักร้องชื่อแสตมป์ (แค่หน้าคล้ายกัน) ไม่ใช่ศิลปิน (แค่มีความฝัน)…

เขาเป็นนักเดินทาง ใช้ชีวิตอิสระ ท่องเที่ยวไปตามเสียงเพลงและมีหัวใจนำทาง บทเพลงของเขาได้แรงบันดาลใจจากการใช้ชีวิต ความสัมพันธ์ของผู้คน ทั้งเต็มไปด้วยประกายของความฝัน โดยมีวัตถุดิบหลักซึ่งขาดไม่ได้เลยคือ “ธรรมชาติ”

เขามักจดบันทึกสิ่งสวยงามที่โลกมอบให้ไว้ในไดอะรี มองเห็นคุณค่าทั้งแง่ดีแง่ร้าย เชื่อมโยงสิ่งภายนอกกับตัวเอง แล้วถ่ายทอดออกมาผ่านบทเพลง บทเพลงซึ่งนอกจากจะช่วยเยียวยาตัวผู้รังสรรค์เองแล้ว ยังเข้าไปอยู่ในหัวใจใครอีกหลายคนด้วย

ก่อนฟังเพลงของเขา (หรือจะหลังฟังเพลงก็แล้วแต่สะดวก) ผมอยากชวนทุกคนไปทำความรู้จักกับเขา “เรืองฤทธิ์ บุญรอด” นักเดินทางผู้สร้างสรรค์บทเพลงจากธรรมชาติ

เรืองฤทธิ์ บุญรอด นักเดินทางผู้สร้างสรรค์บทเพลงจากธรรมชาติ

-1-

บ่ายแก่-วันที่แดดจ้าและลมโชยอ่อน บนม้านั่งใต้ร่มไม้ของคอนโดฯ ย่านชานเมือง เรามีโอกาสได้คุยกัน…

โดยกำเนิดเขาเป็นคนเพชรบูรณ์ ในเขตอำเภอวิเชียรบุรี เติบโตในครอบครัวชาวนา ท่ามกลางสภาพแวดล้อมแบบชนบท หลังบ้านมีทุ่งหญ้ามีภูเขา ตอนประถมฯ เรียนโรงเรียนแถวบ้าน ช่วงมัธยมฯ ย้ายไปเรียนในเมืองห่างจากบ้านราว 7 กิโลเมตร

เขามีความฝันอยากเล่นดนตรี ช่วงประถมฯ เคยลองหัดเล่นกีตาร์แต่ไม่สำเร็จ เลยล้มเลิกความตั้งใจ วันเวลาผ่านไป ความฝันนั้นกลับมาเด่นชัดอีกครั้งในวิชาเรียน “เป่าขลุ่ย”

“ล้มเลิกไปเพราะจับคอร์ดไม่ได้ พบว่าตัวเองน่าจะนิ้วสั้น พอตอนมัธยมฯ 3 มีวิชาเรียนขลุ่ย ช่วงนี้เลยเป็นการได้เริ่มรู้จักความเป็นดนตรีครั้งแรก มีความสนุกขึ้น รู้สึกว่าตัวเองชอบเป่าขลุ่ย เลยศึกษาด้วยตัวเอง ช่วงเวลาที่ได้ขลุกอยู่กับดนตรีมากขึ้น ทำให้อยากกลับไปฝึกกีตาร์ตามความตั้งใจอีกครั้ง นิ้วคงยาวขึ้นก็เริ่มจับได้ จากนั้นก็หัดเล่นเรื่อยมา”

เขาหัวเราะชอบใจเมื่อพูดถึงเด็กคนนั้น

ruengrit02

-2-

ความฝันอยากเล่นดนตรีของเขาได้รับกำลังใจดีขึ้นไปอีก เมื่อมีกีตาร์ตัวแรกราคา 600 บาทที่แม่ซื้อให้ เป็นกีตาร์ไม้อัดสัญชาติเมียนมาร์ สมัยนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีครูในยูทูบ ตั้งสายก็ยังไม่เป็น วิธีการที่ดีที่สุดคือเปิดหนังสือเพลง แล้วจับคอร์ดเรียนรู้ด้วยกันไปกับกลุ่มเพื่อน โดยมีรุ่นพี่เป็นอาจารย์ผู้ฝึกสอน

ขึ้น ม. 5 เรืองฤทธิ์ได้เข้าร่วมวงดนตรีของโรงเรียน ประจำตำแหน่งกีตาร์ริธึ่ม แต่เส้นทางสายดนตรีก็ต้องหยุดลง เมื่อเพื่อนร่วมวงต่างแยกย้ายไปตามทางที่เลือกเดิน เขาเองไม่ได้เลือกดนตรี เพราะยังไม่ชัดเจนในสิ่งที่ตัวเองชอบ เวลานั้น “วิศวกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์” เป็นคำตอบของช่วงชีวิตวัยหนุ่มมหา’ลัย

“เราเรียนที่มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก ก่อนหน้านั้นก็คิดอยากเรียนดนตรีนะ แต่ยังบอกไม่ได้ว่าตัวเองชัดเจนขนาดที่จะเลือกไปทางดนตรีได้ แรงสนับสนุนฝั่งดนตรีของเรามันก็ไม่ค่อยมี คำตอบสำหรับตัวเองก็ไม่ได้แข็งแรง จะไปตอบคำถามที่บ้านยังไงในเมื่อเราก็ไม่ชัดเจนในเหตุผล

“ที่เลือกวิศวะ ส่วนตัวแล้วก็มีความชอบด้วยประมาณหนึ่ง แล้วก็ดูเป็นตัวเลือกที่ลงตัวที่สุด ที่บ้านคาดหวังเล็กๆ น้อยๆ ว่าอยากให้ได้คะแนนเยอะๆ เผื่อว่าจะได้ไปตามทางพี่ชายที่เรียนหมอ เผื่อจะได้ซัพพอร์ตช่วยเหลือกันได้ ตัวเราไม่ได้ฉลาดขนาดนั้น ก็เลยเลือกลุยไปตามรูปแบบของเรา”

แม้เพื่อนที่เคยร่วมชีวิตจะหายไป แต่ดนตรีไม่เคยหายไปจากชีวิตของเขา การได้ร่วมวงดนตรีกับเพื่อนที่คณะ ทำให้เขาขยับจากกีตาร์ริธึ่มสมัยมัธยมฯ มาเป็นมือโซโล่ และเริ่มขยับตัวเองด้วยการมีเพลงที่ลองแต่งเองบ้างแล้วในเวลานั้น แต่ท้ายที่สุดประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอยเดิม วงดนตรีไม่ได้ไปต่อ เพราะต่างแยกย้ายไปทำงานใช้ชีวิตคนละทาง

ถัดจากเสื้อผ้าสบายๆ ที่คุ้นตาตามสไตล์เรืองฤทธิ์ ด้านหลังผมเห็นกล่องกีตาร์วางนอนอยู่บนพื้น นั่นคือกีตาร์ตัวล่าสุดของเขาที่เพิ่งได้มาในราคาครึ่งแสน ผมคิดถึงเพลงหนึ่งของเขาที่ร้องว่า “ในวันที่แข้งขายังพอมีแรงเดินได้ ขอฉันได้อยู่กับมัน”

ruengrit03

-3-

หลังเรียนจบเว้นว่างไป 3 เดือน เขาได้งานประจำทำที่กรุงเทพฯ เป็นอาชีพที่เรียกว่า “โปรแกรมเมอร์” มีงานเสริมด้วยการเล่นดนตรี ไม่ใช่เพราะเงินเดือนน้อย แต่หลักๆ คือเขาอยากเล่นดนตรี เรืองฤทธิ์ขอลุยเดี่ยวเป็นนักร้องและเล่นกีตาร์ตามร้านอาหารในกรุงเทพฯ

“ความจริงเราเบื่องานประจำตั้งแต่แรกๆ แล้ว เพราะเราไม่ชอบการตื่นเช้า (หัวเราะ) ไม่ชอบการทำงานที่เป็นเวลา ซึ่งเชื่อว่าหลายๆ คนก็น่าจะเป็นเหมือนกัน เพราะมันเลือกไม่ได้ แต่ต่อให้ไม่ชอบ เราก็ทำใจยอมรับ เพราะมันต้องทำ”

หลังใช้เวลาราว 3 ปีกับงานที่แรก เขาก็ตัดสินใจลาออกจากงานนี้ ก่อนย้ายไปประจำอยู่ออฟฟิศแห่งที่ 2 อยู่ในกรุงเทพฯ และเป็นโปรแกรมเมอร์เหมือนเดิม

ทางแยกสำคัญของชีวิตเริ่มต้นตรงนี้ เมื่อทำงานในออฟฟิศที่ 2 ได้ไม่นาน ทางบริษัทต้องการขยายสาขาอีกแห่งไปอยู่ที่เชียงใหม่และยื่นข้อเสนอให้เขา “เชียงใหม่” เป็นจังหวัดที่เขาเคยมีความตั้งใจจะไปอยู่ และสถาบันการศึกษาของที่นั่นก็เป็นตัวเลือกอันดับ 2 เมื่อครั้งสอบเข้ามหาวิทยาลัย เมื่อคำนี้เข้าหู เขาจึงตอบตกลงทันทีแบบไม่ลังเล

ก่อนหน้าจะรู้จักเขา ผมคิดว่าเขาเป็นคนเชียงใหม่มาตลอด เพราะพบกันบ่อยที่นั่น เขามีเพื่อนมากมายที่นั่น และยังชอบหลุดภาษาของที่นั่นโดยมีสำเนียงที่มีสำเนาถูกต้องมากๆ อยู่เสมอ

ruengrit04

-4-

ใช้ชีวิต ทำงาน และเล่นดนตรี ในเชียงใหม่เกือบ 2 ปี บริษัทก็หมดสัญญาเช่าตึกและยุบสาขานั้นลง เรืองฤทธิ์ย้ายกลับกรุงเทพฯ ไปตามบริษัท แต่ทว่าใจของเขาไม่ได้กลับมา มันยังคงติดอยู่กับความสัมพันธ์ในผู้คน ติดอยู่กับความผูกพันในสภาพแวดล้อมที่อยากใช้ชีวิต ความคิดอยากจะลาออกจากงานประจำตะโกนลั่นอยู่ในใจ

“เราโตมาในชนบท เราเป็นคนชอบธรรมชาติ ชอบภูเขา มันชิลล์ อยู่ตรงนั้นมันเหมือน…คืออยู่ในเมืองเชียงใหม่ มันก็มีความเจริญครบ ออกมานิดหนึ่งมันก็มีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เราว่าองค์ประกอบต่างๆ เหล่านั้นมันลงตัวสำหรับเรา

“ได้เล่นดนตรีตามร้าน ได้เจอผู้คนเชียงใหม่ที่ทำงานเพลงของตัวเอง เห็นว่าพวกเขาเป็นกลุ่มเป็นก้อน เพราะที่นี่ (เชียงใหม่) นักดนตรีพบเจอกันง่าย ด้วยความเป็นเมืองแบบนี้อาจทำให้เดินทางง่าย และด้วยจำนวนคนที่ไม่ได้มากเหมือนกรุงเทพฯ รู้สึกได้รับความอบอุ่นดีในกลุ่มนักดนตรี มีอะไรก็ปรึกษากัน”

สำหรับชีวิตอิสระ กรุงเทพฯ กับ เชียงใหม่ แน่นอนอย่างหลังมีกลิ่นหอมหวนกว่า พื้นที่โล่งกว้าง มีต้นไม้ภูเขา แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติซึ่งมีมากกว่ากรุงเทพฯ ทั้งผู้คน อาหาร และวัฒนธรรมก็หลากหลาย ทำให้เขาผู้ชื่นชอบความเป็นธรรมชาติและผูกพันกับสภาพชีวิตในเมืองเชียงใหม่ เลือกทิ้งงานประจำและวาดฝันจะมีชีวิตที่นั่น

ruengrit05

-5-

“ลาออกจากงานประจำมาเป็นฟรีแลนซ์ ช่วงแรกกลัวว่าจะไปไม่รอด จึงขยันรับงานจ้างให้เยอะไว้ก่อน จากออฟฟิศเดิมบ้าง รับจากที่อื่นๆ บ้าง จากเพื่อน จากคนรู้จัก ซึ่งเหมือนจะทำงานเยอะกว่าตอนอยู่ออฟฟิศด้วยซ้ำ ช่วงนั้นก็รู้สึกว่า ‘ก็อยู่ได้นี่หว่า’ พอเลี้ยงตัวเองได้ แต่พอสักพักงานก็เริ่มมาๆ หายๆ ลดน้อยลง”

เมื่อต้องเลือก ความจำเป็นและจำยอม ทำให้ชีวิตที่อยากใช้ไม่ราบรื่นอย่างที่คิด เพราะความตั้งใจแรกของเขาที่ตัดสินใจออกจากงานประจำคืออยากมีเวลาได้เขียนเพลง ได้อยู่กับดนตรีแบบเป็นผู้สร้างสรรค์ มากกว่าเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ

เมื่องานด้านโปรแกรมเมอร์ลดน้อยลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ สิ่งเดียวที่เขาจะหารายได้ได้คือการเล่นดนตรีกลางคืน เขาพบว่าความไม่แน่นอนทำให้ต้องคว้าสิ่งที่จับต้องได้ไว้ก่อน มีงานให้ทำก็ต้องทำ ทั้งยังได้อยู่กับดนตรีสมใจ แต่การอยู่กับดนตรีแบบนั้นทำให้เขาเริ่มรู้สึกหมดอาลัยตายอยาก มันคือความเบื่อหน่าย ซ้ำซาก ไม่สดใหม่ และสุดท้ายสิ่งที่เขาตั้งใจไว้แต่แรกคือการสร้างสรรค์งานเพลงก็กลับไม่มีเวลา ไฟที่เคยแรงเริ่มมอด

“เราแก้ทางด้วยการเล่นลดลง เพื่อที่จะยังรักษาความสดของดนตรีเอาไว้ และมองหาอีเวนต์ข้างนอกที่ได้เงินมากขึ้นกว่าเล่นที่ร้าน พอเราเริ่มหาหนทางได้มากขึ้น เรามีแรงเพิ่ม ก็ได้ทำเพลงของตัวเองมากขึ้น ทำไปทำมาก็เริ่มมีเพลงของตัวเองจำนวนหนึ่ง เริ่มมีงานที่สามารถเล่นเพลงของตัวเองได้ เริ่มรู้สึกว่ากลับมาสู่หนทางที่ชอบแล้ว สนุกขึ้น มันมีโจทย์ใหม่ๆ ได้ทบทวนและแก้ไขงานตัวเองมากกว่าเดิม ชอบความรู้สึกนี้ แปลว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่น่าจะเข้าใจอะไรบางอย่างได้ดีขึ้นในเส้นทางเพลงที่ตัวเองเลือก”

คิดยังไงกับทางที่ตัวเองเลือก-ผมถามต่อ

“ตอนทำแรกๆ เรามองตัวเองไว้ว่าแค่มีผลงานเอาไว้ชื่นชมเองก็พอใจ แต่ตอนนี้มีคนชอบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โชคดีมีพรรคพวกช่วยกันเยอะด้วย” เขาชวนหัวเราะด้วยมุกตลกเป็นธรรมชาติแบบเขา

สิ้นเสียงหัวเราะ ผมถามเขาว่า ความฝันยังคงเหมือนเดิมไหม

เหมือนเดิม” ไม่ทันต้องคิด เขาตอบสวนมาทันที

ruengrit06

-6-

วันนี้ในวัย 35 ปีของตัวเอง วางแผนอะไรต่อไป

เขานิ่งคิด ก่อนจะบอกว่า…

“เราเป็นคนไม่ค่อยวางแผนอะไรยาวนัก ชอบผัดไปเรื่อยๆ ผัดจนมาถึงตอนนี้ พอมันแก่ขึ้นเรื่อยๆ มันก็ฟ้องว่าจำเป็นแล้วนะ เริ่มต้องคิดบ้างแล้วนะ คนอื่นๆ เขาคงจะคิดกันตั้งแต่ 20 ปลายๆ แล้วแหละ แต่ก็เพราะเป็นเรา (หัวเราะ)

“ในพาร์ตของการทำงานเพลง เราก็คิดว่า ถ้าเป็นไปได้เราจะไม่เล่นดนตรีให้มันเยอะมากเหมือนช่วงวัยรุ่นที่ไปเล่นประจำหลายๆ ที่ และไปหาอาชีพอื่นทำ เพื่อที่เราจะรักษาความสดใหม่ของดนตรีและพลังที่เราจะเหลือให้กับดนตรีเอาไว้

“ส่วนเรื่องชีวิตโดยทั่วๆ ไป มันเริ่มเลยยุคไปงานแต่งของเพื่อนแล้ว และได้ไปงานศพของเพื่อนบ่อยขึ้น เพื่อนๆ เริ่มล้มหายตายจาก คิดแค่ว่าจะทำยังไงให้ชีวิตที่เหลืออยู่มันตายตาหลับ ไม่ได้อยากรีบตาย แค่กำลังคิดว่าจะทำยังไงให้เราชอบทุกๆ วันของเรา ไม่ต้องมีคุณค่ากับใครก็ได้ แต่ต้องมีคุณค่ากับตัวเอง ถ้าต้องตายในวันพรุ่งนี้หรือมะรืน อยากรู้สึกว่า ‘เสียดายน้อยแล้ว’ เพราะได้ทำอะไรที่อยากทำ ตอนนี้ก็ถือว่ามาเกินกว่าที่คิดไว้”

เขาบ่นกับผมว่าอยากกลับเชียงใหม่สุดๆ หากต้องอยู่ในเมืองต่อไปคงอึดอัดแย่ เขียนเพลงไม่ได้ ไม่สบายใจ คิดอะไรไม่ออก ขนาดนั่งคุยกันเขายังเลือกที่นั่งที่มีต้นไม้ ห่างไกลจากเสียงรถยนต์ ผมยิ่งเข้าใจมากขึ้นเมื่อเขาบอกว่า…

“เคยมีความรู้สึกว่าเพลงของเราถูกกำหนดจากธรรมชาติด้วยซ้ำไป เวลาเล่นอยู่ในเมืองเราจะคิดหรือรู้สึกตามสิ่งแวดล้อมมันกำหนด เรารู้สึกเขินมากเวลาที่เพลงของเราไปอยู่บนเวทีที่เป็นร้านเหล้า หรืออะไรที่มันค่อนข้างจะอึกทึกครึกโครมหรือที่ที่มีความสนุกสนาน เราจะรู้สึกว่าตรงนี้ไม่ใช่ที่ของเรา เพลงของเราไม่ค่อยทำงาน

“แต่พอไปเล่นอยู่ในป่าเขา บนดอย เรารู้สึกว่าจะไม่อยากเล่นอะไรที่มันกระโชกโฮกฮาก แต่อยากเล่นให้มันนวลๆ ไปกับบรรยากาศ เหมือนภูเขา เหมือนต้นไม้ เหมือนธรรมชาติที่แวดล้อมที่นั่น เลยคิดว่าบางทีธรรมชาติมันก็กำหนดเพลงเราให้ออกมาประมาณนี้ และส่วนใหญ่เพลงที่เราแต่งมันก็มาจากธรรมชาติ ป่าเขา ไม่แปลกที่ใครจะรู้สึกง่วงและได้ผ่อนคลาย

“เราชอบจดบันทึกไว้ในไดอะรี ไว้อ่านเองและไว้ใช้ทำงานเพลง เวลาเรากลับไปนั่งอ่านบันทึกของตัวเอง ส่วนใหญ่เรามักจะเขียนถึงธรรมชาติ เช่น ฤดูร้อนเราก็จะบรรยายว่ามันร้อนยังไง ใบไม้มันร่วงแบบไหน มีแดดมีฝุ่นขนาดไหน ตอนฝนมาก็สำรวจดูว่า เมฆมันดำ ฟ้ามันแลบยังไง เขียนไปตามที่รู้สึกกับธรรมชาติที่ที่เราได้อยู่ ที่ที่ได้เห็น และนำมาใช้ในการแต่งเพลง วัตถุดิบหลักๆ จึงเป็น ‘ธรรมชาติ’ เราชอบอยู่กับธรรมชาติ พออยู่ด้วยแล้วหัวเราโล่ง ยิ่งอยู่ในที่ที่สบายใจ เราจะยิ่งคิดออก เรียกว่าธรรมชาติเป็นพลังงานหนึ่งที่ทำให้เราคิดออก เราเชื่อว่า สิ่งแวดล้อมที่ดีมันทำให้เราได้มีไอเดียที่ดีมากขึ้น”

จากวันนั้นจนวันนี้ผ่านเวลามากว่า 10 ปี ชีวิตและความฝันพาให้ เรืองฤทธิ์ บุญรอด เป็นที่รู้จักพอประมาณ จากการมีผลงานเพลงหนึ่งอัลบัม และมีเพลงอีกจำนวนหนึ่งที่ร่วมทำกับเพื่อนๆ ศิลปิน

หลายคนรู้จักเพลง “ใจ” หรืออาจจะเป็น “วาดฝัน” บ้างก็น่าจะเคยดูภาพยนตร์เรื่องLow Season สุขสันต์วันโสด ที่มีเพลงอย่าง “ฤดูกาล” และเพลง “เธอ” ประกอบอยู่ และอีกส่วนใหญ่ก็อาจประทับใจกับจินตนาการแสนวิเศษในเพลง “เวทีดาว” ขณะที่ใครอีกหลายคนหลงใหลกับการบรรยายความจงรักภักดีของเพื่อนร่วมโลกในเพลง “หมา” รวมถึงคนที่กำลังครุ่นคิดถึงสิ่งที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ลงมือทำ ก็จะได้เพลง “ฝัน” เป็นแรงช่วยขับเคลื่อน

อยากชวนทุกคนหาโมงยามที่แสงแดดอุ่น สายลมพัดอ่อน ไม่ว่าจะกำลังนอนใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ นั่งอยู่ริมน้ำมองดูนกบินกลับรัง-ชมพระอาทิตย์ตกดิน หรือขณะที่ใจว่างโหวงหาคำตอบให้ตัวเองไม่เจอ หรืออยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ ไร้สรรพเสียงรบกวน หรือแม้แต่กำลังเดินทาง ลองเปิดตัวเองให้ได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติรอบตัว พร้อมเปิดใจไปกับหลากหลายเพลงที่ เรืองฤทธิ์ บุญรอด สร้างสรรค์ไว้

วันนั้นอาจเป็นวันหนึ่งที่เราพบว่า เสียงเพลงที่สร้างขึ้นจากแรงฝันของเขา โดยมีธรรมชาติเป็นวัตถุดิบ ช่วยให้เราได้ “พักใจ” หรือพบคำตอบที่กำลังตามหาอยู่ก็เป็นได้.

มาร่วมกับเป็นส่วนหนึ่งในการสานสัมพันธ์กับธรรมชาติด้วยกันใน
เฟซบุ๊กกรุ๊ป Park ใจ
.
ชวน Park ใจ โดย นิตยสารสารคดี นายรอบรู้ นักเดินทาง
สนับสนุนโดย เพจความสุขประเทศไทย และ ธนาคารจิตอาสา