เรื่องและภาพ : Write กล้า

สวนชิดฟ้า นาใบไผ่ สายใยเกาะเกิด

ดิน ลม ฟ้า อากาศ ความชื้น น้ำ แสงแดด คือปัจจัยที่กำหนดชีวิตผลผลิตของเกษตรกร ที่หลายครั้งอยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ ทำให้การเกษตรเป็นเรื่องยากเย็นในสายตาของใครหลายคน

นอกเสียจากว่าจะเข้าใจองค์ประกอบเหล่านี้อย่างทะลุปรุโปร่ง และเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านี้จนสามารถจัดการทุกอย่างให้เข้าที่เข้าทาง เหมือนรินทร์-วรินทร์ทิพย์ ชัยดำรงชัย และ ธงธน ชัยดำรงชัย สองสามีภรรยา เกษตรกรเจ้าของแหล่งเรียนรู้ไร่นาสวนผสมประจำชุมชนเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

รถรางในชุมชนพาเราเคลื่อนผ่านเขตบ้านเรือนจนทิวทัศน์เปลี่ยนเป็นพื้นที่การเกษตร ซุ้มไผ่ทอดยาวนำทางสู่ผืนนาเขียวกว้างสุดลูกหูลูกตาตัดกับท้องฟ้าสดใส แสงแดดจ้ายามสายตกกระทบบนต้นข้าวส่องระยิบระยับ ก่อนเราจะพบกับสาวเจ้าของไร่สวนที่หมู่ ๗ หมู่สุดท้ายของชุมชนแห่งนี้

“ไม่มีอะไรสนุกไปกว่างานเกษตรแล้ว”

เกษตรกรสาวกล่าวพร้อมฉีกยิ้มตาหยี เธอนำทางไปชมคันล้อมรอบผืนนาขนาด 23 ไร่พร้อมลูกชาย เพราะสามีผู้รับบทบาท “หมอดินอาสา” ออกไปให้คำปรึกษาการบริหารท้องนาของเพื่อนบ้าน พร้อมเล่าให้เราฟังว่าทำอย่างไรถึงยืนหยัดอยู่ได้เหนืออุปสรรคใด

suanchitfa02
suanchitfa03

นากลางเกาะ

รินทร์เริ่มตั้งถิ่นฐานบนผืนดินนี้ในปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้เธอต้องวางแผนการจัดการให้เหมาะสมกับสภาวะที่ต้องเจอ

“เรายอมรับก่อนว่าพื้นที่นี้มีน้ำท่วม ทำความเข้าใจว่าฤดูแล้ง ฝน หนาว เป็นอย่างไร และเลือกพืชที่เหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อม”

แม้จะต้องประสบปัญหานี้อยู่ทุกปี แต่เธอและสามีก็เข้าใจในธรรมชาติ ทั้งไม่ยอมจำนน จนสร้างคันล้อมนาข้าวพันธุ์ กข 57 ขนาดกว้างกว่าเมตรครึ่ง พร้อมปลูกกล้วยน้ำว้าและไผ่กิมซุงหลายร้อยต้น เพื่อที่ว่าในบางปีที่น้ำท่วมจนไม่สามารถทำนาข้าวได้ พืชสองอย่างนี้บนคันดินก็ยังสามารถให้ผลผลิตเพื่อสนับสนุนการเงินในครอบครัวให้อยู่ได้

“ให้ธรรมชาติช่วยเราทำงาน”

คือวลีที่รินทร์พูดอยู่เสมอตลอดการเดินชมไร่สวนของเธอ

แรงงานไส้เดือนที่ช่วยพรวนดินและย่อยสลายซากไผ่ช่วยให้ดินบริเวณใต้โคนต้นทั้งร่วนและเป็นสีดำ มีแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์ เรียกว่าดินขุยไผ่

ด้วยมือคู่นี้ รินทร์สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ขายข้าวคุณภาพดีได้ในราคาสูงแม้แต่ในฤดูแล้ง เนื่องจากน้ำและตะกอนแร่ธาตุได้ถูกสะสมไว้ในดิน อีกทั้งข้าวบางส่วนก็ยังเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์ได้ต่อไป

suanchitfa11
suanchitfa12

เกาะกลางใจ

วิธีการบริหารจัดการพื้นที่ของครอบครัวชัยดำรงชัยคือการเข้าใจธรรมชาติ และดึงศักยภาพของสิ่งที่มีให้เกิดประโยชน์ ถือเป็นวิธีคิดแบบเดียวกันกับการบริหารชุมชนเกาะเกิด ผ่านอีกสองบุคคลที่มีบทบาทสำคัญ

ลำพูน พรรณไวย อดีตผู้ใหญ่บ้าน เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ “การท่องเที่ยว” เข้ามามีอิทธิพลต่อผู้คนในพื้นที่ หลังจากคิดค้นสมุนไพรอายุวัฒนะจากภูมิปัญญาแพทย์แผนโบราณ ทำให้นักท่องเที่ยวและสื่อภายนอกเกิดความสนใจ แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องที่พัก ผู้นำชุมชนในขณะนั้นจึงออกแนวคิดการทำโฮมสเตย์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่แขกผู้มาเยือน

เมื่อชาวบ้านเล็งเห็นความสำคัญในการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวผ่านชุมชนมากขึ้น กลุ่มชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภูมิปัญญาวิถีไทยบ้านเกาะเกิดจึงถือกำเนิดขึ้นจากชายคนหนึ่งซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญคืออ๊อดสุชิน อุ้มญาติ ผู้นำชุมชน เป็นผู้รับช่วงต่อจากลำพูน อ๊อดเป็นคนรุ่นใหม่และเป็นคนเกาะเกิดโดยกำเนิด เขาได้ผนวกภูมิปัญญาของชาวบ้านและการจัดการเข้ากับเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจความเป็นอยู่ของชาวบ้านแล้วบันทึกข้อมูลจัดทำเป็นผังหมู่บ้านเพื่อความง่ายในการจัดการ อีกทั้งยังมีการจัดเก็บภูมิปัญญาไว้เป็นฐานข้อมูลเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อๆ ไป

“เราไม่ได้คิดจะทำการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจ ถ้าทำเป็นธุรกิจเมื่อไรกลุ่มเราจบแน่ ทุกวันนี้แค่พี่ได้เห็นรอยยิ้มของลุงๆ ป้าๆ ก็มีความสุขแล้ว” อ๊อดกล่าว

อ๊อดยังเล่าอีกว่า การทำท่องเที่ยวจะทำเท่าที่ชุมชนจะรับไหว หากรับนักท่องเที่ยวมากเกินไปชุมชนเองก็จะเป็นที่เดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะ หรือการสัญจรภายในพื้นที่ที่มากเกินถนนในชุมชนจะรับไหว

การท่องเที่ยวเป็นเพียงรายได้เสริมให้แก่คนในชุมชน ทุกๆ บ้านต่างมีรายได้หลักเป็นของตัวเอง แต่การท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงชาวบ้านในแต่ละกลุ่มอาชีพเข้าด้วยกัน

เมื่อชุมชนได้รับความสนใจจากผู้เยี่ยมชมทั้งชาวไทยและต่างประเทศ คงดีไม่น้อยหากทุกคนสามารถก้าวไปข้างหน้าได้พร้อมๆ กัน
นอกเหนือจากการให้ความรู้ในศาสตร์การแพทย์แผนโบราณ ความหลากหลายของวิถีชีวิตผู้คนเองก็เป็นเสน่ห์ที่ทำให้เกาะเกิดมีความน่าสนใจไปอีกระดับ รวมถึงยังช่วยดำรงไว้ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน จึงเกิดเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อถ่ายทอดข้อมูลด้านต่างๆ ทั้งการสาธิตการทำขนมโบราณ น้ำนมข้าวยาคู โรงเห็ด ไม้ยืนเพื่อสุขภาพ รวมถึงสวนของรินทร์ก็เป็นส่วนหนึ่งของการรวมกลุ่มนี้

“ทุกวันนี้เราอยู่ได้แล้ว ไม่ลำบาก แต่มองว่าการมีเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามามันช่วยกระชับสัมพันธ์กับคนในพื้นที่มากกว่า ให้เรายังรักษาความเป็นคนบ้านใกล้เรือนเคียงกันไว้ได้”

สิ่งที่รินทร์พูดอาจสะท้อนให้เห็นว่าการทำธุรกิจแบบเกื้อกูลของผู้คนอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชุมชนโดยตรง แต่แน่นอนว่าการท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญและเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นส่วนพิเศษ ที่ไม่เพียงแต่ส่งเสริมปากท้องของทุกคน แต่เป็นสิ่งที่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของทุกคนเข้าด้วยกัน มากกว่าจะเป็นเพียงธุรกิจที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่ชุมชน

__________________________________________________________