เรื่องและภาพ : กัญญาณัฐ คงพรปรารถนา
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว…ฉันได้ออกเดินทาง หลังจากนั้นก็มองเห็นโลกใบเดิมที่ไม่เหมือนเดิม
ถ้าให้เปรียบแล้วดวงตาคงทำหน้าที่เหมือนกล้องถ่ายภาพ ภาพที่เราเลือกจับจ้องก็คือภาพที่มองเห็นผ่านดวงตา
ผ่านองค์ประกอบต่าง ๆ
ผ่านเส้น ระนาบ และสีสัน
ดวงตาของคนแต่ละคนเลือกถ่ายภาพที่แตกต่างกัน
เหมือนมุมมองความคิด แม้จะมองภาพเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่าจะเห็นภาพที่เหมือนกัน
การเป็นนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มีสิ่งหนึ่งที่ควรเข้าใจ สิ่งนั้นคือ “ความงาม” หรือการมองเห็นความงามผ่านดวงตา เป็นสิ่งที่อาจารย์คอยพร่ำสอนมาตั้งแต่ชั้นปีที่ ๑ เพียงพริบตาเดียวฉันกลายเป็นนักศึกษาสถาปัตยกรรมปีที่ ๕ แล้ว ซึ่งทุกวันนี้คำว่า “ความงาม” ก็คงยังหาคำตอบตายตัวชัดเจนไม่ได้ ล้วนโดนตีความแตกต่างกันตามดวงตาแต่ละคู่ เรามองความงามต่างกันไปตามมุมมองของแต่ละคน
หนึ่งปีก่อน ฉันเริ่มต้นวันแห่งการเดินทางไกลโดยการมองท้องฟ้าสีสดใส แสงแดดยามเช้าส่องจ้า ครั้งนี้มีผู้ร่วมทางเป็นเพื่อนร่วมภาควิชาสถาปัตยกรรมเกือบ ๑๐๐ คน ฉันตื่นเต้นกับ road trip ที่มีระยะทางกว่า ๗๐๐ กิโลเมตร จากเมืองหลวงกรุงเทพมหานครขึ้นสู่จังหวัดเชียงใหม่ มุ่งสัมผัสวิถีชีวิตท้องถิ่นเป็นเวลา ๑๐ วัน เพื่อศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
เด็กเมืองกรุงอย่างฉันที่เติบโตมาท่ามกลางความหนาแน่นของอาคารและตึกใหญ่ ความวุ่นวายเร่งรีบของวิถีชีวิตคนเมืองคิดว่าการเดินทางที่นานกว่า ๑ สัปดาห์และมีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดธรรมชาติรวมถึงวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นเป็นเรื่องแปลกใหม่
“ทริปนี้ต้องสนุกมากแน่ๆ”
สิ่งที่ฉันคิดไว้คือการเดินทางครั้งนี้จะเหมือนการไปเที่ยวร่วมกับเพื่อนๆ เพื่อสร้างความทรงจำสนุกสนาน และหยุดพักจากกองงานมากมายที่ยังค้างคาอยู่ จนลืมไปเลยว่าเป็นทริปเพื่อการศึกษา แทบไม่ได้นึกถึงความเหนื่อยล้าจากที่ต้องพกกล้อง สมุดจด ฯลฯ และต้องพยายามตื่นตัวเรียนรู้สิ่งที่อาจารย์สอน
การกดถ่ายภาพผ่านกล้องแต่ละครั้งฉันพยายามจัดภาพตามหลักการองค์ประกอบศิลป์ที่ร่ำเรียนมา ทั้งให้มีระยะหน้า กลาง หลัง หรือลองแม้แต่หลักการสัดส่วนทองคำ
อาจารย์ท่านหนึ่งพกกล้องและออกเดินลัดเลาะตามหมู่บ้าน ตามทุ่งนา และโบราณสถานไปพร้อม ๆ กับเหล่านักศึกษา คอยบรรยายเรื่องราวและวิเคราะห์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เมื่ออาจารย์หยุดเดินและจัดวางขาตั้งกล้อง เล็งภาพถ่ายที่มุมใดก็ตาม เหล่านักศึกษาจะพากันรุมถ่ายภาพที่มุมเดียวกันนั้น
“มุมคัดสรร” อาจารย์เรียกมุมถ่ายภาพที่มองเห็นความงามผ่านดวงตาของท่านนั่นเอง
เพื่อนหลายคนพยายามเก็บภาพมุมเดียวกับอาจารย์ก็เพื่อศึกษาและเรียนรู้ความงามที่อาจารย์ได้เห็นผ่านดวงตาของท่าน แต่ใครจะรู้ล่ะว่าการที่เรามองภาพเดียวกับท่านแล้วจะเห็นสิ่งเดียวกับท่าน?
ฉันเป็นคนหนึ่งที่พยายามตามเก็บภาพมุมเดียวกับอาจารย์หลายครั้ง แต่บางภาพนั้นต้องขอสารภาพเลยว่าไม่เข้าใจว่าท่านเห็นความงามอะไร ฉันเพียงกดถ่ายภาพตามเพราะเป็นมุมที่อาจารย์ท่านพูดแล้วว่าดี
มีครั้งหนึ่งเราหยุดรถที่กลุ่มอาคารเรือนไทยค่อนข้างทรุดโทรม เมื่อทุกคนแยกย้ายเก็บภาพ ฉันเห็นเพื่อนกลุ่มหนึ่งยืนรุมเพื่อถ่ายภาพกระเบื้องหลังคาเก่าๆ ที่มีต้นมอสขึ้น
“ก็แค่มอส ทำไมต้องรุมถ่ายด้วย” ฉันสงสัยแกมไม่เข้าใจว่าเพื่อนมองเห็นอะไร
“มันเห็นถึงสถาปัตยกรรมที่ก่อสร้างขึ้น ผ่านกาลเวลา สุดท้ายแล้วก็โดนธรรมชาติกลับมายึดคืน เหมือนที่เราออกแบบอาคารให้อยู่คู่กับธรรมชาติ แต่ภาพนี้ตรงข้ามที่ธรรมชาติพยายามอยู่คู่กับอาคารแทน ทำให้นึกถึง Quotes ที่ว่า Life always finds a way” สิ่งที่ฉันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากเพื่อนมาทำให้ประทับใจกับการมุมมองการตีความ ทั้งที่เราเห็นภาพเดียวกันแท้ๆ
มีอีกหลายครั้งที่ฉันเห็นการเล็งถ่ายภาพในมุมแปลกๆ เพื่อนคนหนึ่งเก็บภาพอิฐเก่าที่ผุพังทรุดโทรมหรือหินที่ผุจนเป็นรู สิ่งที่เพื่อนเห็นคือความงามของแพทเทิร์นการซ้ำเป็นจังหวะที่ไม่แน่นอน และการแปรเปลี่ยนสภาพของสัจจะวัสดุผ่านกาลเวลา
และมีอีกครั้งฉันเห็นเพื่อนคนหนึ่งกำลังเก็บภาพเงาของราวกันตกบริเวณระเบียงบ้านไม้ที่เราแวะสำรวจกัน การมองแสงแดดตกกระทบวัตถุจนเกิดเงาและปรับมุมกล้องเพียงเล็กน้อยทำให้มองเห็นภาพที่แปลกใหม่ได้
ตลอดการเดินทางที่ได้แลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดกับเพื่อนหลายคน ทำให้ฉันเรียนรู้วิธีการมองสิ่งรอบตัวในมุมใหม่ มองเห็นความงามของสิ่งเล็ก ๆ รอบตัวมากขึ้น
หากเปลี่ยนคำว่า “ความงาม” เป็นคำว่า “ความสุข”
การปรับโฟกัสของกล้อง เป็นการปรับมุมมองความคิดของเรา
การปรับโฟกัสของภาพถ่ายเล็กน้อย ก็เหมือนการมีมุมมองที่ต่างไปเล็กน้อย
การลองมองต่างมุม เก็บภาพในมุมใหม่ๆ ส่งผลแก่ภาพถ่ายมากกว่าที่คาดไว้มากนัก
การปรับมุมมองความคิดของเราก็จะส่งผลต่อการมองโลก การใช้ชีวิตของเราอีกมาก
ความสุขก็จะหาได้ง่ายมากในแต่ละวัน
ความงามอาจเป็นแค่การมองเห็นต้นมอสขึ้นแซมอิฐหรือหลังคาเก่า ความงามของสถานที่ทรุดโทรมผ่านกาลเวลา ความงามของดอกไม้เล็กๆ ริมถนน
ความสุขในชีวิตก็อาจเป็นแค่การมองเห็นเมฆ ท้องฟ้า สีท้องฟ้ายามเย็นที่เปลี่ยนไปทุกวัน ทุ่งดอกไม้ ธรรมชาติรอบๆ ตัว รอยยิ้มของครอบครัวและเพื่อนๆ การได้ฟังเสียงเพลง เสียงพูดคุย
ถ้ามีคนถามว่า “ได้อะไรจากการเดินทางครั้งนี้”
ฉันคงจะตอบว่า “ได้รู้ว่าความสุขหรือความทุกข์ในชีวิตขึ้นอยู่กับมุมมองของตัวเราเอง”
ถึงเวลากลับบ้าน ระยะทางกว่า ๗๐๐ กิโลเมตรจากจังหวัดเชียงใหม่สู่กรุงเทพมหานคร ถนนเส้นทางเดิมที่เป็นเพียงทางผ่านเมื่อ ๑๐ วันก่อนกลายเป็นถนนแห่งความงามที่ฉันอิ่มเอมกับภาพวิวทิวทัศน์ได้ตลอดทาง
“ระยะทางกว่า ๗๐๐ กิโลเมตรนี้เปลี่ยนแปลงตัวฉัน”
ความคิดก่อเกิด ณ ชั่วขณะนั้น บางทีการที่ฉันสบายใจและมีความสุขเวลาได้เดินทางนั้น อาจเป็นเพราะว่าวิถีชีวิตของฉันมักต้องอยู่ท่ามกลางผู้คนที่แสนเร่งรีบและวุ่นวาย พอออกจากบรรยากาศเดิมๆ ได้สัมผัสต้นไม้ใบหญ้า มองท้องฟ้าในบรรยากาศสงบนิ่ง ไร้ซึ่งความเร่งรีบใดๆ ความสุขสงบและผ่อนคลายจึงเกิดขึ้น
แต่หลังการเดินทางครั้งนี้ สิ่งที่ฉันได้ค้นพบนั้นมากกว่าความสุขจากการท่องเที่ยว
ฉันได้เก็บเกี่ยวความรู้สึก ความสุข ความทรงจำมากมายระหว่างทาง
ฉันใช้ระยะทางกว่า ๗๐๐ กิโลเมตรนี้เพื่อเรียนรู้มัน
ฉันหวังว่าคุณจะสามารถเข้าใจได้เร็วกว่าฉัน
แล้วคุณจะพบความสุขได้ง่ายมากในชีวิต
เพียงคุณเปลี่ยนมุมมอง เหมือนเปลี่ยนมุมของภาพถ่าย
โลกใบเดิมยังคงหมุนวนต่อไป สถานที่เดิม บุคคลที่พบเจอเป็นคนเดิมๆ วิถีชีวิตของฉันที่ยังคงเหมือนเดิม แต่ความคิดและมุมมองของฉันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แม้ความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่อาจเห็นได้ชัด แต่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ใด ๆ ในโลกล้วนเริ่มจากความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ทั้งนั้น
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับฉันอาจเป็นแค่มุมมองการมองโลกที่เปลี่ยนไป เป็นความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ แต่สุดท้ายแล้วมันจะเป็นการเริ่มต้นจุดประกายความสุขให้ตัวฉันเอง
ฉันมองเห็นความงามของทุ่งหญ้าธรรมดาๆ
ฉันมองเห็นความงามของดอกไม้ที่ร่วงโรยอยู่บนพื้น
ฉันรู้สึกถึงไออุ่นจากแสงแดดและท้องฟ้าสีส้มสวย
“จงมีความสุขกับทุกสิ่งรอบตัว มองหาข้อดีและความงามของทุกอย่างให้เจอ แล้วชีวิตจะง่ายขึ้นมาก เราจะพบความสุขแบบของตัวเองในทุกพื้นที่” ข้อคิดจากการออกเดินทางของฉันเอง